Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




ท่ามกลางความร้อนระอุของการลงพื้นที่ในเขตชุมชนเหมืองแร่ของ รัฐมนตรีว่าการสามกระทรวง ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สังคมเฝ้าจับตามองผลที่จะเกิดขึ้นจากการลงพื้นที่ของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคราวนี้ 

การลงสำรวจพื้นที่บริเวณเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)ในเขตจังหวัดพิจิตร เพื่อร่วมกันพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงของปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำ ของสามกระทรวงเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นไปตามคำสั่งของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีการเรียกร้องของชาวบ้านในเขตทับคล้อ และ เขาเจ็ดลูกในเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดขึ้นอันน่าจะมาจากการขุดเหมืองทองในเขตชุมชน

ในฐานะที่ผมเป็นนักวิจัยที่นำทีมวิจัยลงพื้นที่สำรวจประเด็นด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในเขตชุมชนนี้มาชั่วเวลาหนึ่ง ผมขอเสนอมุมมองทางวิชาการที่น่าสนใจในเรื่อง “ผลกระทบของเหมืองแร่ที่มีต่อสตรี”  ในชุมชนนี้ เนื่องจาก ประเด็นด้านผลกระทบทางสังคมของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่มีต่อบุคคลหลากกลุ่ม ที่นอกเหนือจากด้านสุขภาพนั้น ยังไม่ได้รับการพูดถึงมากนักในสื่อและงานวิจัยในประเทศไทย โดยข้อมุลจากการเขียนบทความนี้ ผมและคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที (Royal Melbourne Institute of Technology) แห่งประเทศออสเตรเลีย สถาบันประชากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ลงพื้นที่ในช่วงปีที่ผ่านมาและพูดคุยกับตัวแทนจากบริษัท ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน รวมไปถึงเอ็นจีโอในชุมชนเหมืองแร่


สภาพเหมืองแร่

ประเด็นที่หนึ่ง: อุตสาหกรรมเหมืองแร่และการจ้างแรงงานสตรี

อุตสาหกรรมเหมืองแร่นับได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมระหว่างประเทศที่ได้รับการจับตามองและวิพากษ์มากที่สุด ทั้งนี้เนื่องมาจากขนาดของอุตสาหกรรม รูปแบบการลงทุนที่มักจะเป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัทระหว่างประเทศ และ ผลกระทบจากอุตสาหกรรมทั้งในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพต่อชุมชน

ในกรณีของเหมืองแร่ชาตรีนั้นเป็นรูปแบบการรวมทุนของบริษัทอัครารีซอสเซสและบริษัทคิงส์เกตจากออสเตรเลีย โดยที่บริษัทอัครานั้นได้รับสัมปทานการทำเหมืองแร่ทองคำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเหมืองแร่ชาตรีนั้นกินอาณาเขตของพื้นที่ในเขตจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์

ประเด็นทางสังคมประเด็นสำคัญที่บริษัทเหมืองแร่ข้ามชาติในทุกประเทศได้รับการวิจารณ์มากคือ รูปแบบและวิธีการจ้างงาน และผลกระทบของอุตสาหกรรมที่มีต่อคนหลากกลุ่ม เช่น ชนพื้นเมือง กลุ่มผู้ด้อยโอกาส เด็กและสตรีในพื้นถิ่น โดยผลกระทบที่เห็นชัดคือลักษณะงานในอุตสาหกรรมนี้มีความเป็น ’ชาย’ และ  ‘ชนกลุ่มใหญ’ ค่อนข้างชัดเจน และอาจทำให้ผู้ด้อยโอกาสยิ่งขาดโอกาสมากทวีขึ้น ยกตัวอย่างเช่นในประเทศออสเตรเลีย ที่ผู้เขียนทำงานและพำนักอยู่ เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่มาก ทว่า ยังมีรายงานด้านความไม่เท่าเทียมกันในการจ้างงานและโอกาสในการได้รับผลประโยชน์จากเหมืองแร่ระหว่างเพศชายและหญิง และพบตัวเลขที่น่าตกใจคือ มีผู้หญิงที่สามารถขึ้นไปสู่ตำแหน่งในผู้บริหารระดับสูงของอุตสาหกรรมนี้เพียง 2.6% และ มีผู้หญิงเพียง 16% เท่านั้นทำงานในอุตสาหกรรมหลักของประเทศเช่นนี้ (Australian Government, 2015)  ความเท่าเทียมระหว่างชายหญิงในอุตสาหกรรมเหมืองแร่จึงเป็นประเด็นใหญ่ในหลายประเทศที่ต้องเฝ้าระวัง

หันกลับมามอง ในบริบทของชุมชนเหมืองแร่ในพิจิตรและพิษณุโลกนั้น ทางบริษัทมีนโยบายในเรื่องของความเท่าเทียมกันในการจ้างงานและมีการส่งเสริมให้สุภาพสตรีเข้าสู่กระบวนการจ้างงานในตำแหน่งที่หลากหลาย ในอดีตนั้นผู้หญิงอาจจะถูกจำกัดบทบาทของตนให้อยู่แค่ในสำนักงานและทำงานเอกสารให้กับบริษัท แต่ทีมวิจัยพบว่ามีผู้หญิงที่ทำงานในลักษณะงานที่ต้องใช้กายภาพเทียบเท่ากับเพศชายมากขึ้น เช่น ขับรถขนแร่ วิศวกรเหมืองแร่ หรือ งานบริหารชุมชนสัมพันธ์เป็นต้น การส่งเสริมบทบาทให้ผู้หญิงมีความหลากหลายในการทำงานนั้นช่วยให้พวกเธอมีความมั่นใจ และ รู้สึกว่าตนเองมีความเท่าเทียมกันกับทุกคนในองค์กร อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาทีมผู้บริหารของบริษัทเราพบผู้หญิงเพียงหนึ่งคนในบทบาทด้านบัญชีและผู้บริหารชายถึงห้าคนจากจำนวนผุ้บรหารทั้งหมดของบริษัท

ประเด็นหนึ่งที่เราพบในการลงพื้นที่คือ มีสมาชิกในชุมชนซึ่งอยู่ในพื้นที่มานาน แต่ขาดคุณวุฒิทางการศึกษา หรือ ทักษะในการทำงานที่เหมาะสม คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง เนื่องจากค่านิยมที่ส่งเสริมผู้ชายให้มีโอกาสทางการศึกษามากกว่าหญิงในหลายครอบครัว สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้พวกเธอรู้สึกว่าไม่ได้รับโอกาสในการทำงานในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่เกิดขึ้นในชุมชนของพวกเธอ พวกเธอมักกล่าวในทำนองตัดพ้อว่าบริษัทเลือกเอาคนนอกพื้นที่มาทำงานเพราะเขาหรือเธอมีปริญญาบัตร การตัดโอกาสในการจ้างงานอาจทำให้สมาชิกในชุมชนหลายคนไม่พอใจและ ประเด็นเหล่านี้อาจทับถมในใจของชาวบ้านมาชั่วระยะเวลาหนึ่งในด้านความเท่าเทียมและโอกาสทางเศรษฐกิจ

                

กลุ่มคนงานผู้สนับสนุนเหมืองแร่ : (ภาพจาก สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จังหวัดพิจิตร)

ประเด็นที่สอง เหมืองแร่ทองคำกับผลกระทบต่อโอกาสทางเศรษฐกิจของสตรี

จากการลงพื้นที่และพูดคุยกับชุมชน เราพบว่า ข้อมูลในเรื่องของผลกระทบของเหมืองแร่ที่มีต่อโอกาสในชีวิตนั้น เป็นข้อ   มุลกระแสหลักที่ชาวบ้านในชุมชนกล่าวถึง แน่นอนว่าประเด็นเรื่องโอกาสทางเศรษฐกิจตามที่ได้กล่าวข้างต้นนั้นมีผลกระทบต่อผู้หญิงและผู้ชายในชุมชน การได้รับโอกาสเข้าทำงานในบริษัทเหมืองแร่ และการมีรายได้ประจำจากการทำงานกับบริษัทดูจะเป็นสิ่งที่ชาวบ้านหลายคนต้องการ เพราะนั่นหมายถึงสถานะทางสังคม และ โอกาสที่เพิ่มขึ้นในชีวิต

โอกาสในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้หญิงในชุมชนนับได้ว่าเป็นประเด็นที่สมาชิกชุมชนและตัวแทนจากทางบริษัทกล่าวถึง ยกตัวอย่างเช่น ในโครงการชุมชนสัมพันธ์หรือพัฒนาชุมชนนั้น บริษัทจำเป็นต้องมีกองทุนหมู่บ้านในรูปแบบต่างๆและการจัดการเงินจำนวนที่ต่างกันในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อลงสู่กลุ่มสมาชิกชุมชนต่างๆ รวมถึงผู้หญิง โอกาสเช่นนี้ เป็นการสร้างมูลค่าทางสังคมและเศรษฐกิจให้กับผู้หญิงหลายคนในชุมชนเหมืองแร่ที่พิจิตร ผู้หญิงหลายคนกลายมาเป็นผู้นำกลุ่มอาชีพต่างๆ เช่น เย็บผ้า กสิกรรม เลี้ยงสัตว์ หัตถกรรม โดยเงินที่ใช้ดำเนินการมาจากโครงการต่างๆของบริษัทเหมืองแร่

อย่างไรก็ตามมีผุ้หญิงและสมาชิกในชุมชนอีกหลายกลุ่มที่วิพากษ์ว่า กระบวนการจัดสรรเงินเพื่อเข้าสู่ชุมชนนั้น มีผู้ชายเป็นผู้นำ ทั้งในระดับหมู่บ้าน และ ตำบล และมักจะผ่านผู้ใหญ่บ้าน และ นายก อบต ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเพศชาย การที่ผุ้หญิงไม่สามารถเข้าไปมีเสียงอย่างเต็มที่ในกระบวนการการจัดสรรทรัพยากรนั้น อาจนำไปสู่ การพัฒนาจากมุมมองของชายเท่านั้น เช่นผู้หญิงสามารถทำได้แค่หัตถกรรม เย็บผ้า ปลูกผัก ในขณะที่ความต้องการที่แท้จริงของผุ้หญิงอาจจะไม่ได้รับการตอบสนองเนื่องจากการไร้ตัวแทนเพศหญิงที่เข้มแข็งในชุมชน นอกจากนี้ความเท่าเทียมกันในจำนวนเงินที่จัดสรรให้แต่ละหมู่บ้าน และ การเข้าถึงกองทุนหมู่บ้าน ล้วนถูกกล่าวถึงโดยสตรีหลากกลุ่มในทุกหมู่บ้าน กล่าวได้ว่า เหมืองแร่มีผลกระทบต่อโอกาสในชีวิตของผู้หญิงทั้งบวกและลบ


ประเด็นที่สาม เหมืองแร่ทองคำกับบทบาททางการเมืองและครอบครัวของสตรี

ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทเหมืองแร่กับชุมชนนั้นมีความซับซ้อนเนื่องจากบทบาทที่ทับซ้อนของเหมืองแร่ต่อหมู่บ้านต่างๆ คนงาน ผุ้นำชุมชน องค์กรทางการปกครอง เช่น อบต และ เอ็นจีโอ กล่าวได้ว่าลักษณะความสัมพันธ์นั้นเป็นในเชิง ‘ทั้งรักทั้งเกลียด’ (love-hate relationship) นั่นคือ ชุมชนมองเห็นความสำคัญของการมีอยู่ของเหมืองแร่ เพราะนั่นคือการเปลี่ยนชีวิตและวิถีชุมชน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรและผลประโยชน์จากเหมืองแร่ และ อำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองของบริษัทก็ล้วนแต่สร้างความแคลงใจของชุมชนต่อเหมืองแร่

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้นำในการการต่อสู้กับเหมืองแร่ในด้าน สุขภาพ และ สิ่งแวดล้อม ล้วนแล้วแต่เป็นผุ้หญิง ที่เคยทำงานกับบริษัทเหมืองแร่ พวกเธอบอกว่าความเป็นหญิงทำให้ระดับความรุนแรงในการต่อสู้ไม่ดุเดือดจนเกินไป พวกเธอมองว่าการใช้ความเป็นสตรีมาต่อสู้กับบริษัท จะทำให้ปฏิกริยาจากทางบริษัทไม่สามารถถึงขั้นรุนแรงได้ในระดับที่น่ากลัว พวกเธอไม่ต้องการให้ผุ้ชายในครอบครัวลุกขึ้นมาต่อสู้เพราะเกรงว่าปฏิกริยาตอบจากฝ่ายตรงข้ามอาจดุเดือดถึงขั้นอันตราย ดังนั้นเราจึงอนุมานได้ว่าการมีอยู่ของบริษัทเหมืองแร่มีความสัมพันธ์กับบทบาทในการต่อสู้ทางการเมืองของผู้หญิงในชุมชน (Pimpa and Moore, 2015)

นอกจากนี้สตรีหลายคนที่มองตนในฐานะเพศแม่ ให้ข้อมูลว่า การมีอยู่ของเหมืองในทศวรรษที่ผ่านมาทำให้ลูกๆของพวกเธอกลับมาจากกรุงเทพมหานครและสามารถมาใช้ชีวิตแบบครอบครัวใหญ่ได้อีกครั้ง เพราะโอกาสในทางเศรษฐกิจและการศึกษาเปิดกว้างขึ้นสำหรับลูกและหลานของพวกเธอ 


บทสรุป

บทบาทของบริษัทเหมืองแร่นั้นมีความสลับซับซ้อนและหลากมิติ องค์กรทางธุรกิจ เช่น บริษัทเหมืองแร่นั้น มีหน้าที่ที่สำคัญคือการผลิตและสร้างผลกำไร อย่างไรก็ตามทฤษฎีทางธุรกิจด้านการจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อธุรกิจ (Stakeholder Theory, Freeman 1984) สามารถนำมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนเหมืองแร่แห่งนี้ได้ ความหลากหลายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ความคาดหวังและความต้องการของแต่ละกลุ่มย่อมต่างกัน ดังนั้น การจัดการทรัพยากรและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมในการทำเหมืองแร่โดยบริษัทเหมืองแร่นั้นจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มบุคคลอันหลากหลาย สมาชิกทุกภาคส่วนในชุมชนต้องมีเสียงในการจัดการทรัพยากรในชุมชน

ปัญหาเรื้อรังด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดขึ้นในเวลานี้ จำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตรโดยองค์กรที่มีความเป็นกลาง และ ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยอาศัยผลทางวิทยาศาตร์เป็นตัวตั้ง มากกว่าผลลัพธ์ทางการเมือง

อย่างไรก็ตามผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่นั้น อาจจะไม่สามารถใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาตรวจสอบได้ทั้งหมด ดังนั้นกระบวนการทางสังคมศาสตร์ที่อาศัยผู้เชี่ยวชาญหลากด้านของสังคมจึงเป้นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำอย่างต่อเนื่องเพื่อการพัฒนาชุมชนอันเป้นมรรคผล และ เพื่อป้องกันปัญหาที่หมักหมมตามทีเกิดขึ้นในปัจจุบัน 

 

อ้างอิง

Australian Government (2015), Gender Equality Spotlight: Mining, Interim Report, Canberra. Also available at: https://www.wgea.gov.au/wgea-newsroom/gender-equality-spotlight-mining
Freeman, E. (1984), Strategic Management: A stakeholder approach. Boston: Pitman

Pimpa, N. and Moore, T. (2015), Kingsgate’s Thai mine a lesson in failed community management, The Conversation, Australia. Also available at: http://theconversation.com/kingsgates-thai-mine-a-lesson-in-failed-community-management-37588

เกี่ยวกับผู้เขียน: รศ.ดร. ณัฐวุฒิ พิมพา เป็นอาจารย์และนักวิจัยด้านการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ณ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที (Royal Melbourne Institute of Technology) ประเทศออสเตรเลีย โดยเน้นงานวิจัยเรื่องธุรกิจระหว่างประเทศและความเสมอภาคระหว่างชายและหญิงในออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานวิจัยเรื่องเหมืองแร่และสตรีในประเทศไทยและลาวฉบับนี้ได้รับเงินอุดหนุนวิจัยจากกระทรวงการต่างประเทศและการค้าแห่งประเทศออสเตรเลีย และสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://seabiz.asia

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net