Skip to main content
sharethis

ศาลฎีกาเลื่อนพิพากษาคดีคลิตี้ไป 21 มิ.ย. นี้ เหตุเนื่องจากจำเลยที่ 1 บริษัทเลิกกิจการไปแล้วจึงไม่สามารถส่งหมายได้ ขณะที่ทนายจำเลยก็ปฏิเสธว่าไม่ได้รับหมาย ส่วนจำเลยทั้ง 2 แยกกันยื่นฎีกาคนละฉบับ ซึ่งศาลพบว่าจำเลยที่ 1 วางเงินค่าธรรมเนียมแล้ว 2 แสนบาท ส่วนจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้วางเงิน

26 เม.ย.2559 จากเดิมที่ศาลจังหวัดกาญจนบุรีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีสิ่งแวดล้อม คดีชาวบ้านกะเหรี่ยงคลิตี้ล่าง 8 คน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ฟ้องบริษัทเอกชนที่ปล่อยสารตะกั่วลงสู่ลำห้วย ให้ฟื้นฟูลำห้วย พร้อมเรียกค่าเสียหายกว่าร้อยล้าน ในวันนี้ (26 เม.ย.59) เวลา 9.00 น. ณ ศาลจังหวัดกาญจนบุรี นั้น

ล่าสุดวันนี้ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GREEN NEWS TV รายงานว่า ศาลไม่สามารถอ่านคำพิพากษาได้ เนื่องจากพบว่าจำเลยทั้ง 2 แยกกันยื่นฎีกาคนละฉบับ และจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ชำระค่าธรรมเนียมศาล ศาลจึงสั่งให้โจทก์ไปตรวจสอบที่อยู่ของจำเลยที่ 1 มาแถลงต่อศาลใน 3 วัน และให้จำเลยที่ 2 มาวางเงินในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ พร้อมรับฟังคำพิพากษาในวันเดียวกัน

สมชาย อามีน ประธานสภาทนายความจังหวัดกาญจนบุรี ในฐานะทนายความโจทก์ กล่าวว่า สาเหตุที่ศาลไม่สามารถอ่านคำพิพากษาได้ เนื่องจากมีปัญหาใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1.การส่งหมายให้จำเลยที่ 1 เนื่องจากบริษัทเลิกกิจการไปแล้วจึงไม่สามารถส่งหมายได้ ขณะที่ทนายจำเลยก็ปฏิเสธว่าไม่ได้รับหมาย 2. จำเลยทั้ง 2 แยกกันยื่นฎีกาคนละฉบับ ซึ่งศาลพบว่าจำเลยที่ 1 วางเงินค่าธรรมเนียมแล้ว 2 แสนบาท ส่วนจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้วางเงิน

“ศาลจะอ่านคำพิพากษาได้ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 มาวางเงินแล้ว ศาลจึงสั่งให้โจทก์ไปตรวจสอบที่อยู่ของจำเลยที่ 1 มาแถลงต่อศาลใน 3 วัน และให้จำเลยที่ 2 มาวางเงินในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ พร้อมรับฟังคำพิพากษาในวันเดียวกัน แต่ถ้าไม่มา ศาลจังหวัดจะส่งสำนวนกลับไปยังศาลฎีกาที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง เพื่อให้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด” สมชาย กล่าว
 
สมชาย กล่าวอีกว่า ส่วนตัวเชื่อว่าจำเลยที่ 2 จะไม่มาวางเงิน ซึ่งแนวทางก็คือศาลฎีกาคงจะจำหน่ายฎีกาของจำเลยที่ 2 ออกไป ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีผลกระทบต่อคำพิพากษา แต่ก็ทำให้กระบวนการล่าช้าออกไป
 
สำหรับคดีดังกล่าว ชาวกะเหรี่ยงคลิตี้ใช้เวลาต่อสู้มานานถึง 13 ปี โดยชาวบ้าน 8 ราย ซึ่งมีหลักฐานเป็นใบรับรองแพทย์ว่าร่างกายได้รับการปนเปื้อนจากสารตะกั่ว เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 2 ต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 30 ม.ค.2546 เรียกร้องค่าเสียหาย 119 ล้านบาท และศาลได้พิพากษาในวันที่ 16 ส.ค.2549 ให้จำเลยจ่ายชดเชยเป็นเงิน 4.26 ล้านบาท
 
จากนั้นทั้งโจทก์และจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น โดยเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2551 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยทั้ง 2 ร่วมกันจ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้ง 8 เป็นเงินรวม 29.55 ล้านบาท
 
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทตะกั่วฯ จำเลยที่ 1 ได้ปิดกิจการไปแล้ว และนายคงศักดิ์-จำเลยที่ 2 เสียชีวิตแล้ว
 
สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 13 ปี ตั้งแต่ชาวบ้านตัดสินใจยื่นฟ้องจนถึงมีคำพิพากษาศาลฎีกา ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาโดยตลอด และแม้ว่าโจทก์ทั้ง 8 รายจะยังมีชีวิตอยู่ แต่ชาวบ้านอีกหลายรายกลับเสียชีวิตไปแล้ว นั่นจึงเป็นความยุติธรรมที่ล่าช้า
 
สุรพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ก็คือการบังคับคดี เนื่องจากบริษัทตะกั่วฯ ปิดกิจการไปแล้ว และประธานกรรมการฯ ก็เสียชีวิตไปแล้ว จึงต้องหาแนวทางการดำเนินการต่อไป
 
“คำพิพากษาศาลฎีกาที่จะเกิดขึ้น ถือเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้กับคดีสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เนื่องจากเป็นคดีแรกที่ฟ้องตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ต่อสู้กันถึง 3 ศาล และศาลได้วางแนวทางให้ผู้ก่อมลพิษต้องแสดงความรับผิดชอบ” สุรพงษ์ กล่าว
 
ภาพประกอบจาก สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net