Skip to main content
sharethis

 

จากการสำรวจขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ต่อการศึกษาของประเทศเยอรมนีในปี 2543 ผลออกมาว่าประสิทธิภาพการศึกษาและความเสมอภาคทางการศึกษาของเยอรมนีอยู่ในระดับน่าผิดหวังทำให้ประเทศเยอรมนีต้องกลับมาตรวจสอบตัวเองในเรื่องนี้เนื่องจากเยอรมนีมีความภาคภูมิใจในตัวเองมากในแง่วัฒนธรรมการให้ความเสมอภาคในสังคม ทำให้เยอรมนีพยายามปรับปรุงตัวเองหลังจากนั้น

การสำรวจดังกล่าวระบุในรายงาน "โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ" (PISA) ซึ่งทำการสำรวจจาก 43 ประเทศแล้วพบว่าในปี 2543 เยอรมนีมีคะแนนด้านความเสมอภาคต่ำที่สุด แต่ทว่าในอีก 12 ปีต่อมาคือปี 2555 ทาง OECD ทำการสำรวจอีกครั้งแล้วก็พบว่าเยอรมนีมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เหตุใดเยอรมนีถึงสามารถพลิกระบบการศึกษาของพวกเขาจากหน้ามือเป็นหลังมือได้

มิยะโกะ อิเคะดะ นักวิเคราะห์อาวุโสจากทีมงาน PISA กล่าวว่าเยอรมนีมีการเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาทั้งหมด ก่อนหน้านี้เยอรมนีมีการแบ่งแยกลำดับขั้นการศึกษาของเด็กตั้งแต่อายุ 10 ปี โดยแบ่งเป็นระดับ 'กิมนาสซิอุม' (Gymnasium) สำหรับเด็กเรียนเก่ง ระดับ 'เรอาชูเลอ' (Realschule) สำหรับเด็กเรียนปานกลาง และ 'ฮัปต์ชูเลอ' (Hauptschule) สำหรับเด็กเรียนอ่อน ซึ่งการแบ่งลำดับขั้นแบบนี้ถูกมองว่าเป็นความล้มเหลว ทำให้เกิดความไม่เสมอภาคจากการศึกษาเพิ่มมากขึ้น

การปฏิรูปการศึกษาของเยอรมนีมีการผ่อนคลายระบบมากขึ้นโดยการชะลอแบ่งลำดับขั้นการศึกษาจากอายุของเด็ก รวมถึงมีการยุบรวมชั้นเรียนเรอาชูเลอกับชั้นเรียนฮัปต์ชูเลอเข้าด้วยกัน ซึ่งซาสชา สโตลล์ฮันส์ อาจารย์พิเศษจากมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮมและตัวแทนจากโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยนเยอรมนีกล่าวว่าการปฏิรูปเช่นนี้ทำให้ลดการแบ่งแยกระหว่างนักเรียนสายวิชาการกับนักเรียนสายอาชีพ ทำให้เด็กมีความยืดหยุ่นในการเลือกเรียนได้มากขึ้นและทำให้เกิดการตีตราทางอัตลักษณ์น้อยลง

ทางด้านมาเรีย ลูจัน หัวหน้าภาควิชาภาษาโรมันวิทยาลัยนานาชาติแห่งดุสเซลดอร์ฟกล่าวว่าการยุบชั้นเรียนแบบ 'ฮัปต์ชูเลอ' ทำให้นักเรียนมีทางเลือกจะได้รับการศึกษาในสภาพแวดล้อมที่เป็นบวกมากขึ้น อีกทั้งการผนวกชั้นเรียนดังกล่าวเข้ากับชั้นเรียนปานกลางคือเรอาชูเลอเป็นการพัฒนาโอกาสการจ้างงานของนักเรียนเหล่านั้นไปในตัวด้วย โดยที่อิเคะดะกล่าวว่าการหันมาเน้นช่วยเหลือคนที่ประสบความสำเร็จทางการเรียนต่ำเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การศึกษาของเยอรมนีพัฒนาขึ้นด้วย

ทั้งนี้ PISA ยังประเมินพบว่ากลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษาต่ำส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้อพยพในเยอรมนีและสิ่งสำคัญที่จะแก้ปัญหานี้ได้คือการฝึกทักษะด้านภาษาให้กับพวกเขา จากที่แต่เดิมผู้อพยพมักจะถูกจัดไปอยู่ในกลุ่มฮัปต์ชูเลอเนื่องจากความสามารถด้านภาษาด้อยกว่าคนอื่น จึงต้องเน้นการผลักดันให้พวกเขาพัฒนาภาษาเพื่อมีส่วนร่วมในการศึกษาได้มากขึ้น ทั้งนี้ยังมีการส่งเสริมให้ครอบครัวผู้อพยพส่งลูกๆ เข้าเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลซึ่งลูจันบอกว่าจะช่วยให้สามารถวินิจฉัยได้แต่เนิ่นๆ ว่าเด็กคนไหนต้องรับการเรียนเสริมด้านภาษาเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม อลัน ดอลเลอร์ ครูชั้นมัธยมฯ ในเยอรมนีกล่าวว่าเป็นเรื่องยากที่จะพูดเจาะจงได้ชัดเจนว่าระบบการศึกษาของเยอรมนีโดยรวมเป็นอย่างไรเนื่องจากเยอรมนีมีนโยบายการศึกษาแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ แต่หลังจากเกิดภาวะที่เรียกว่า 'PISA ช็อค' ซึ่งหมายถึงความประหลาดใจจากผลการประเมินที่แย่มากในปี 2543 ทำให้เยอรมนีปรับให้มีหลักสูตรการศึกษาแบบมาตรฐานและให้มีการสอบในระดับประเทศ นอกจากนี้ยังมีลักษณะการเรียนการสอนที่มีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นและออกห่างจากการเรียนแบบท่องจำมาก เช่น การเน้นเรื่องทักษะการสื่อสารและการทำงานเป็นทีม มีการสอนเรื่องต่างๆ โดยโยงกับสิ่งรอบตัวในชีวิตประจำวันของนักเรียนรวมถึงคำนึงเรื่องอิทธิพลจากสื่อและพฤติกรรมการเสพสื่อของนักเรียน

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องของการตรวจสอบควบคุมคุณภาพการศึกษา สิ่งที่ทำให็เยอรมนีมีพัฒนาการด้านการศึกษามากขึ้นเนื่องมาจากพวกเขามีการตรวจสอบควบคุมคุณภาพเพียงเล็กน้อยเพื่อไม่ให้กระทบกับความคิดสร้างสรรค์ในการสอนของอาจารย์มากเกินไป

เดอะการ์เดียนระบุว่าสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญหลักๆ ที่ทำให้เยอรมนีสามารถพัฒนาระบบการศึกษาได้เป็นเพราะพวกเขามีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอื่นๆ แต่ก็ยังคงยึดมั่นใจหลักการให้การศึกษาฟรีและมีคุณภาพ สโตลล์ฮันส์กล่าวว่าการที่เยอรมนีไม่เก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาทำให้พวกเขาไม่มองนักเรียนนักศึกษาเป็นลูกค้า

นอกจากหลักปรัชญาเรื่องการศึกษาเรื่องไม่มองการศึกษาเป็นธุรกิจแล้ว นักวิจัยด้านการศึกษาชาวเยอรมนียังกล่าวอีกว่าอีกปรัชญาหนึ่งที่สำคัญในการศึกษาของเยอรมนีคือการ "ปล่อยให้เด็กยังเป็นเด็ก" ในขณะมีการเรียนรู้

อย่างไรก็ตามถึงแม้ระบบการศึกษาของเยอรมนีจะพัฒนาขึ้นมาก แต่ลูจันก็บอกว่าเยอรมนียังต้องแก้ไขปัญหาอีกหลายเรื่องอย่าง เช่น เรื่องการติดตามผลที่ไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติอย่างมาก "พวกเรายังต้องสร้างระบบที่ส่งเสริมให้นักเรียนทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยความพยายาม"

 

เรียบเรียงจาก

What can we learn from the great German school turnaround?, The Guardian, 25-11-2015

http://www.theguardian.com/teacher-network/2015/nov/25/what-can-we-learn-from-the-great-german-school-turnaround

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net