นักวิชาการเผยบรรษัทสหรัฐฯ ค้าอาวุธกับชาติตะวันออกกลาง หนุนความขัดแย้ง

นักวิชาการด้านความมั่นคงจากสหรัฐฯ เขียนบทความกรณีบรรษัทในสหรัฐฯ ค้าอาวุธสงครามให้กับกลุ่มประเทศตะวันออกกลางโดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดความขัดแย้งและก่อความเสียหายต่อพลเรือน เกิดเป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรม ที่แม้แต่นักการเมืองในสหรัฐฯ ก็เรียกร้องให้ตรวจสอบตัวเอง เนื่องจากการส่งเสริมด้านอาวุธต่อกลุ่มที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายสหรัฐฯ

23 พ.ย. 2558 บทความในเว็บไซต์ศูนย์ศึกษานโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคละตินอเมริกา (CIP Americas) ระบุถึงกรณีที่สหรัฐฯ ส่งออกอาวุธให้กับภูมิภาคตะวันออกกลางมากขึ้นในช่วงรัฐบาลโอบามาซึ่งพวกเขาชี้ว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง

วิลเลียม ดี ฮาร์ตตุง ผู้อำนวยการโครงการศึกษาด้านอาวุธและความมั่นคงจากศูนย์ศึกษานโยบายต่างประเทศและที่ปรึกษาอาวุโสขององค์กรช่วยเหลือจับตาความมั่นคงเขียนบทความใน CIP ระบุว่าในยุคของรัฐบาลโอบามามีการค้าอาวุธโดยส่วนใหญ่ให้กับตะวันออกกลางและกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งประเทศที่ตกลงค้าอาวุธด้วยมากที่สุดคือซาอุดิอาระเบีย เรื่องนี้ส่งผลต่อความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางมากโดยยกตัวอย่างเรื่องการที่ทางการซาอุฯ ใช้อาวุธของสหรัฐฯ ในปฏิบัติการแทรกแซงเยเมนด้วยกำลังอาวุธ

ฮาร์ตตุงระบุอีกว่ารัฐบาลโอบามาใช้การค้าอาวุธเป็นเครื่องมือหลักๆ ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศซึ่งทำให้พวกเขาสามารถใช้อิทธิพลทางการทหารได้โดยไม่จำเป็นต้องลงมือส่งกองกำลังของตัวเองเข้าไปในพื้นที่แบบเดียวกับที่รัฐบาลบุชเคยส่งกองทัพสหรัฐฯ ไปในสงครามอิรักแล้วก็ทำให้เกิดผลลัพธ์เสียหายตามมา

เรื่องนี้ยังกลายเป็นผลประโยชน์มหาศาลสำหรับบรรษัทค้าอาวุธในสหรัฐฯ ซึ่งไม่ใช่แค่ทำให้พวกเขาส่งออกอาวุธได้มากขึ้นแต่ทำให้กระบวนการผลิตของบรรษัทพวกเขายังคงดำเนินต่อไปได้เนื่องจากทางกลาโหมสหรัฐฯ มีการสั่งซื้ออาวุธจากบรรษัทเหล่านี้น้อยลงเรื่อยๆ โดยเว็บไซต์ CIP ยกตัวอย่างเรื่องการขายเครื่องบิน F-18 ของบริษัทโบอิ้งให้กับคูเวต การขายรถถัง M-1 ของบริษัทเจเนอรัลไดนามิกส์และแผนการพัฒนายุทโธปกรณ์รถถังให้กับซาอุดิอาระเบีย

แต่ฮาร์ตตุงก็ระบุว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องเงินเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงในตะวันออกกลางเพราะอาวุธที่พวกเขาขายให้ซาอุฯ ถูกใช้ไปในการแทรกแซงด้วยกำลังทหารต่อเยเมนสร้างหายนะทางมนุษยธรรมในประเทศนั้น โดยยกตัวอย่างกรณีการทิ้งระเบิดใส่พลเรือนในงานแต่งงานทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วมากกว่า 130 ราย ถือเป็นตัวอย่างของการใช้กำลังแบบไม่มีการแยกแยะ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากสงครามที่ส่วนมากเป็นพลเรือนมีมากกว่า 2,300 รายแล้ว

นอกจากเรื่องการโจมตีแบบที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนทั่วไปแล้ว การใช้กำลังอาวุธยังส่งผลให้เกิดการปิดกั้นความช่วยเหลือทางน้ำต่อประชาชนในเยเมน จากข้อมูลของโครงการอาหารโลกของสหประชาชาติระบุว่าประชากร 12.9 ล้านคนในเยเมนกำลังอยู่ในสภาพขาดแคลนอาหารและเด็ก 1.2 ล้านคนในเยเมนกำลังประสบปัญหาทุพโภชนาการ นอกจากนี้ถ้าหากความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังอาวุธยังคงดำเนินต่อไปในเยเมนก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะอดอยากของประชาชนจำนวนมากได้

กลุ่มสิทธิมนุษยชนอย่างฮิวแมนไรท์วอทช์และแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลยังเก็บรวบรวมหลักฐานความขัดแย้งในเยเมนพบว่าอาวุธที่มีการใช้โจมตีแบบที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนนั้นมีระเบิดดาวกระจาย (cluster bomb) ที่ซื้อมาจากสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วย ซึ่งระเบิดดาวกระจายนี้เป็นอาวุธโจมตีแบบไม่เลือกเป้าหมายที่มีสนธิสัญญาสากลสั่งห้ามใช้อาวุธชนิดนี้ แต่สนธิสัญญาดังกล่าวไม่มีสหรัฐฯ และซาอุฯ ร่วมลงนามด้วย

ฮาร์ตตุงระบุอีกว่าไม่เพียงแค่ซาอุฯ เท่านั้นที่ใช้อาวุธของสหรัฐฯ แต่อาวุธบางส่วนก็อาจจะตกไปอยู่ในมือกลุ่มกบฏฮูตีหรือแม้กระทั่งกลุ่มอัลกออิดะฮ์ในคาบสมุทรอาหรับด้วย ทั้งนี้ กองทัพเยเมนยังมีการแบ่งแยกฝักฝ่ายระหว่างกลุ่มที่อยู่ข้างอดีตประธานาธิบดีซาเลห์ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกับกลุ่มกบฏฮูตีกับอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ฝ่ายซาอุฯ และอดีตประธานาธิบดีฮาดิ แต่ทั้งสองกลุ่มต่างก็เคยได้รับการฝึกฝนและได้รับอาวุธจากสหรัฐฯ มาก่อน

องค์การอ็อกแฟมสาขาอเมริกา เคยเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยุติการให้ความช่วยเหลือต่อซาอุฯ ในการทิ้งระเบิดโจมตีเยเมน เรียกร้องให้มีการแลกเปลี่ยนและขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคตามท่าเรือเยเมนได้อย่างเสรี และขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติดำเนินการให้เกิดสนธิสัญญาหยุดยิงอย่างไม่มีเงื่อนไขและแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการทางการเมืองอันจะสามารถยุติสงครามได้

นอกจากนี้ นักการเมืองบางส่วนของสหรัฐฯ ก็ยังตั้งคำถามและเรียกร้องให้รัฐบาลโอบามากลับมาพิจารณาเรื่องการสนับสนุนปฏิบัติซาอุฯ อีกครั้ง เช่น วุฒิสมาชิกแพทริค ลีฮีย์ ผู้สนับสนุนให้เกิดกฎหมายลีฮีย์กล่าวว่าการที่สหรัฐฯ ช่วยเหลือด้านอาวุธแก่ซาอุฯ อาจจะถือว่าสหรัฐฯ มีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นด้วย จากที่กฎหมายลีฮีย์ระบุห้ามไม่ให้สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือแก่กองกำลังหรือตำรวจต่างชาติที่มีประวัติชัดเจนว่ากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรงโดยยังคงลอยนวลไม่ได้รับผิด

นอกจากนี้ยังมีจดหมายจากนักการเมืองคนอื่นๆ ของสหรัฐฯ ส่งถึงบารัค โอบามาเรียกร้องให้มีการยับยั้งการกระทำที่จะเกิดความเสียหายต่อพลเรือนในเยเมนและขอให้ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีทางการทูตเพื่อยุติความขัดแย้ง ทางด้านฮาร์ตตุงมองว่าการที่สหรัฐฯ เลิกให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ซาอุฯ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการยับยั้งความเสียหายต่อพลเรือน

 

เรียบเรียงจาก

U.S. Arms Sales Are Fueling Mideast Wars, CIP Americas, 17-11-2015
http://www.cipamericas.org/archives/17463

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท