Skip to main content
sharethis


วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม 2005 15:42น. 

ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


 


แนวคิดสมานฉันท์มิใช่การชักชวนผู้ที่ขัดแย้ง ต่อสู้ใช้ความรุนแรงต่อกันให้มายิ้มแย้มคืนดีกันและหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้นเอง แต่เป็นความพยายามแก้ปัญหา โดยมิได้ใช้วิธีความรุนแรงมาแก้ปัญหาความรุนแรง


 


การทำงานสร้างความสมานฉันท์ในสังคมเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงในระยะยาวให้เกิดสันติสุขและความยุติธรรมอย่างแท้จริง คงเป็นไปได้ยากถ้าผู้คนไม่ยอมให้อภัยกัน เงื่อนไขสำคัญของการให้อภัยกันคือ การธำรงความทรงจำเพื่อปลดปล่อยตนเองออกจากพันธนาการแห่งอดีต การปลดปล่อยนี้เป็นไปได้โดยอาศัยการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจด้วยสันติวิธี


 


แต่ทั้งความทรงจำและสันติวิธีก็ยังไม่เพียงพอความยุติธรรมก็จำเป็น เพื่อให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมการเมืองเดียวกัน ความยุติธรรมคงไม่เกิดขึ้นถ้าสังคมซึ่งผ่านอดีตอันรุนแรงมาแล้วไม่ยอมเผชิญกับ "ความจริง" ในบางลักษณะ


 


เมื่อความจริงปรากฏ ยังต้องหาวิธีให้ผู้คนที่กระทำผิดมี "ความพร้อมรับผิด" เพื่อสร้างความมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมของสังคมด้วย เพราะกระบวนการยุติธรรมก็เป็นส่วนหนึ่งของอำนาจทางการเมืองที่กำหนดสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คน


 


แต่ทั้งหมดนี้เป็นหนทางที่ต้องเสี่ยง การยอมรับความเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยทดสอบความไว้วางใจที่ผู้คนมีต่อสังคมการเมือง


 


วิธีแก้ไข  : ยุทธศาสตร์พระราชทานกับแนวคิดสมานฉันท์ 9 ประการ


แนวทางสมานฉันท์ในสังคมไทยเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงในระยะยาว สร้างสันติสุขและความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศ น่าจะประกอบด้วยความคิดหลัก 9 ประการ


 


1. การเปิดเผย  "ความจริง"  ให้ความสำคัญกับความจริงทั้งในฐานะเครื่องมือและเป้าหมายของสังคมสมานฉันท์เพื่อสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน ขณะเดียวกันก็หาหนทางให้สังคมไทยตระหนักถึง"ราคา"ในการเปิดเผย"ความจริง"นั้นด้วย


 


2.ความยุติธรรม ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ด้วยการส่งเสริมแนวคิดวิเคราะห์ในสังคมไทยให้เรียนรู้การแยก "คนผิด" ออกจาก "ความผิด" ตลอดจนเรียนรู้วิธีการมองปัญหาความรุนแรงในบริบทเชิงโครงสร้าง และวัฒนธรรมให้เห็นคนบริสุทธิ์กลุ่มต่างๆ ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง


 


3.ความพร้อมรับผิด ส่งเสริมระบบและวัฒนธรรมความพร้อมรับผิดในระบบราชการ เปิดโอกาสให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการจับกุมผู้ต้องหาให้ครบถ้วน


 


4.การให้อภัย ให้ตระหนักถึงความทุกข์ยากของเหยื่อความรุนแรง ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงศักยภาพของสามัญชนที่จะให้อภัยผู้ที่ทำร้ายต่อตนเองและครอบครัว ก้าวพ้นความเกลียดชังผู้คนที่ต่างจากตน และเป็นผู้ทำร้ายคนที่ตนรัก


 


5.การเคารพความหลากหลายทางศาสนา วัฒนธรรม ส่งเสริม สานเสวนา (dialogue)ระหว่างกัน ให้ความสำคัญกับขันติธรรมในฐานะคุณค่าทางการเมือง การเรียนรู้ศาสนาต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในประเทศไทย ทั้งแนวปฏิบัติและหลักธรรมคำสอน ทั้งนี้โดยถือว่าสานเสวนาระหว่างศาสนา เพื่อสร้างความลุ่มลึกในศาสนธรรมของตน โดยเคารพความเชื่อของผู้อื่นพร้อมกันไป เป็นปัจจัยเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคมไทยบนฐานแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรม


 


6.ถือเอาสันติวิธี เป็นทางเลือกเผชิญความขัดแย้ง ส่งเสริมให้สังคมไทยตระหนักในภัยของความรุนแรงต่อสังคม และแสวงหาทางออกเชิงสันติวิธีในฐานะทางเลือกหลักเมื่อเผชิญความขัดแย้ง


 


7.การเปิดพื้นที่ให้ความทรงจำที่เจ็บปวด ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย ให้ผู้คนในสังคมไทยเข้าใจการเมืองของประวัติศาสตร์ เพื่อให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์มิใช่บันทึก"ความจริง" แต่เป็นความจริงทางการเมืองที่ถูกเลือกสรรโดยระบบความรู้ที่ถูกหนุนอยู่โดยฝ่ายที่ครองอำนาจในที่สุด


 


8.มุ่งแก้ปัญหาในอนาคตด้วย จินตนาการ  เพราะจินตนาการทางการเมืองใหม่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสังคมการเมืองที่ยั่งยืน ให้พร้อมเผชิญปัญหาใหม่ๆ ที่สำคัญต้องลด "ภยาคติ" ลักษณะต่างๆ เสริมสร้างความมั่นใจในตนเองบนฐานของความเป็นจริง เพื่อให้เห็นว่าสังคมไทยมั่งคั่งในทรัพยากรทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา และมั่นคงพอจะเผชิญกับการท้าทายรูปแบบต่างๆ ได้เช่น พิจารณา "คนสองสัญชาติ" ในฐานะทรัพยากรบุคคลของชาติ เพราะคนเหล่านี้คือแรงงานคุณภาพที่สามารถหาเงินทองเข้าประเทศได้จากทักษะทางวัฒนธรรม  ทั้งสองอย่างที่ตนมี ไม่ใช่ในฐานะภัยคุกคามความมั่นคงของชาติ


 


หรือร่วมกันกำหนดรูปแบบทางการเมืองที่เหมาะสมสำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคต โดยเน้นหนักหลักกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รวมทั้งนำเสนอแนวทางความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เน้นหนักการมีส่วนร่วมของผู้คนในสังคม เพื่อกำหนดชะตากรรมทางการเมืองของตนเอง และสร้างเสริมความมั่นคงแห่งชาติจากประชาชนมาสู่รัฐ


 


9.การยอมรับความเสี่ยงทางสังคม เพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน เรื่องนี้มีความหมายเพราะ การยอมรับความเสี่ยงเป็นเงื่อนไขสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ บนฐานแห่งความไว้วางใจ อันเป็นคุณลักษณ์สำคัญของแนวคิดสมานฉันท์


 


ข้อเสนอต่างๆ ที่ กอส.เสนอต่อสังคมและรัฐบาล เช่นการเสนอให้เปิดเผยรายงานสอบสวนกรณี กรือเซะ และ ตากใบ ก็เป็นไปเพราะการเปิดเผยความจริง เป็นส่วนสำคัญของการสมานฉันท์ การให้ความสำคัญกับการเยียวยาจนรัฐบาลตั้งรัฐมนตรีมาดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ ก็เป็นเพราะความทรงจำที่เจ็บปวดของเหยื่อความรุนแรงมีความหมาย


 


ไม่ว่าบิดาหรือญาติเขาจะทำอะไร แต่ผู้หญิงและเด็กๆ ไม่ได้กระทำผิดไปด้วย และความทรงจำของเขาต้องได้รับการเยียวยา ศักยภาพในการให้อภัยของเขาควรต้องได้รับการสนับสนุน


 


มาตรการระยะสั้น เช่น การเสนอให้ใช้นิติวิทยาศาสตร์เป็นแนวทางสืบสวนคดีความรุนแรงทั้งปวง ก็เพื่อให้ความจริง ปรากฏเป็นที่ยอมรับ การเสนอให้อาวุธปืนเป็นสิ่งผิดกำหมายในเขต 3 จังหวัด เว้นแต่ปืนของเจ้าหน้าที่ ก็เพื่อลดความรุนแรง ยิ่งกว่านั้นการให้ปืนอยู่แต่ในมือของเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการสร้างความชัดเจนซึ่งทำให้ความพร้อมรับผิดเป็นไปได้


 


ยุทธศาสตร์พระราชทานกับแนวคิดสมานฉันท์ 9 ประการ


พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี กล่าวในการประชุมสัมมนาวิชาการเรื่อง "การรวมพลังแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ตามแนวพระราชดำรัส" โดยขยายความยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ว่าเป็นปัญหาสองฝ่าย ระหว่างรัฐกับผู้ก่อความไม่สงบ "ซึ่งเรายังไม่รู้ชัดว่าเป็นใคร"


 


"การเข้าใจ รัฐต้องเข้าใจผู้ปฏิบัติ คือ การปฏิบัติของฝ่ายเรา และของอีกฝ่ายหนึ่ง รัฐต้องเข้าใจทั้งฝ่ายเราและฝ่ายเขา...ส่วนการเข้าถึง คือ เมื่อรัฐมีความเข้าใจชัดเจนแล้ว รัฐต้องเข้าถึงความต้องการของทั้งสองฝ่ายในทุกมิติ ส่วนการพัฒนาคือรัฐต้องพัฒนาทั้งสองฝ่าย พัฒนาความเข้าใจ พัฒนาความเข้าถึง พัฒนาความรู้ พัฒนาอาชีพ พัฒนาสุขภาพ พัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและสงบ และที่สำคัญมากคือ การนำกระแสพระราชดำรัสไปใช้ ต้องกระทำทั้งทางกายสามารถแตะต้องได้ และทางใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาจิตใจของทั้งสองฝ่าย"


 


ยุทธศาสตร์พระราชทานช่วยให้เห็นได้ว่า หากจะทำงานด้วยแนวทางสร้างสมานฉันท์ในสังคมไทยเพื่อยุติปัญหาความรุนแรงในระยะยาว สถาปนาสันติสุข และความเป็นธรรมให้เกิดกับทุกฝ่ายโดยเสมอหน้านั้น แม้ต้องลงมือทำการในปัจจุบัน แต่ก็ต้องคำนึงถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และหาทางสร้างเงื่อนไขเพื่ออนาคตของสังคมไทยไปพร้อมกัน หมายความว่า หากน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานมาใช้ด้วยความใคร่ครวญ น่าจะส่งผลในทาง


 


 ๐ รักษาอดีต


 ๐ แก้ไขปัจจุบัน


 ๐ ป้องกันพิทักษ์อนาคต


 


 และภาพแนวคิดสมานฉันท์ตามยุทธศาสตร์พระราชทานก็คือ


 ๐ เข้าใจ ปัญหาของอดีตด้วย ความจริง ความยุติธรรม ความพร้อมรับผิดและการให้อภัย


 ๐ เข้าถึง แนวทางแก้ไขความรุนแรงในปัจจุบันด้วย สันติวิธีและสานเสวนา


 ๐ พัฒนา อนาคตสังคมไทยด้วยความทรงจำ จินตนาการ และความไว้วางใจ / พร้อมรับความเสี่ยง


 


ส่วนสำคัญของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ต้องเข้าใจว่าเหตุรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต มีข้อเท็จจริงที่หลายเรื่องรอวันสะสางด้วยความยุติธรรม ความจริงเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฆ่ารายวัน การอุ้มทนายสมชาย นีละไพจิตร หรือเหตุการณ์ฆ่าคนที่ร้านน้ำชาและการตายของนาวิกโยธินที่ตันหยงลิมอ


 


เมื่อความจริงปรากฏก็ต้องดำเนินการเพื่อให้ความยุติธรรม ซึ่งนอกเหนือจากความสูญเสียจะถูกชดเชยเยียวยาแล้ว คนที่ทำผิดก็ควรต้องพร้อมรับผิดตามกฎหมายบ้านเมือง เพราะชีวิตของทุกคนมีค่าและมีความหมาย ดังนั้นในประเทศนี้ไม่มีใครควรต้องตายเปล่า แต่เมื่อรู้ความจริงแล้ว คนผิดก็รับผิดไปแล้ว ความยุติธรรมตามกฎหมายก็เกิดขึ้นแล้ว วิธีจะอยู่กับอดีตของลูก เมีย พ่อ แม่ ญาติมิตรของผู้สูญเสียมิให้ขมขื่น เกลียดชังคือ หนทางแห่งอภัยวิถี เพราะอย่างไรอดีตก็ไม่มีวันหวนคืนมาได้อีก


 


ดังเช่นที่ท่านองคมนตรีได้กล่าวไว้ ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปัจจุบันเป็นปัญหาของทั้งสองฝ่าย และสองฝ่ายที่ว่านั้น เป็นสองฝ่ายที่แตกต่างกันทั้งอำนาจในสังคมและในทางวัฒนธรรม ด้วยเหตุนี้การเข้าถึงเพื่อเผชิญกับปัญหาความรุนแรงในปัจจุบันตามแนวทางสมานฉันท์ จึงหมายความถึงการเข้าถึงวิธีการแก้ปัญหาด้วยอาศัยสันติวิธีเป็นหลัก


 


การเข้าถึงสันติวิธีหมายถึงเข้าใจว่า ความรุนแรงไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และไม่สามารถสร้างสรรค์สายสัมพันธ์ที่เข้มแข็งทั้งระหว่างรัฐและประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันเอง จึงต้องเข้าถึงสันติวิธีในฐานะทางเลือกเพื่อการแก้ปัญหา ทั้งนี้เพราะต้องถือว่าคนส่วนใหญ่ล้วนเป็นพลเมืองไทยที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง การที่รัฐจะเข้าถึงพวกเขาด้วยสันติวิธี จึงเป็นหนทางที่สมควร ขณะเดียวกัน เนื่องจากพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้และสังคมไทย เป็นพื้นที่แห่งความหลากหลายทางศาสนาวัฒนธรรม การเข้าถึงปัจจุบันด้วยสานเสวนาระหว่างศาสนา อาศัยทั้งผู้นำศาสนา และศาสนิกชนทั่วไปทุ่มเทหัวใจปกป้องคุ้มครองกันและกันด้วยสันติวิธี น่าจะเป็นการรักษาแผลในปัจจุบันมิให้อักเสบไม่รู้จักหายเช่นในอดีตได้อีก


 


นอกจากนั้นก็ต้องหาหนทางสร้างสันติสุข และความมั่นคงของสังคมไทยในอนาคต แม้อดีตจะไม่หวนคืนมา แต่ความทรงจำเกี่ยวกับอดีตก็มักไม่ลืมเลือนไปได้โดยง่าย ไม่มีใครไม่เคยทำผิด ไม่มีชาติไหนไม่เคยผ่านอดีตที่ขมขื่น ดังนั้นการกดทับอดีตที่เจ็บปวดอาจทำให้แผลเก่าลุกลามจนกลายเป็นร่องรอยแห่งความร้าวฉาน วิธีจัดการกับความทรงจำเช่นนี้ คือพัฒนาพื้นที่ให้กับความทรงจำที่เจ็บปวดของผู้คนที่หลากหลายในสังคม และประสงค์จะจดจำอดีตของตัว ให้มีที่มีทางในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ขณะเดียวกันก็ต้องหาญกล้าจินตนาการถึงแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐของเรา ระหว่างกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ระหว่างศูนย์กลางกับท้องถิ่น


 


อนาคตของสังคมไทยขึ้นอยู่กับพลังที่จะจินตนาการอนาคตในกรอบกติกาของสังคม ซึ่งผู้คนในประเทศยอมรับ ถ้าไม่เลือกพัฒนาแนวทางกำหนดอนาคตในวันนี้ อาจต้องเผชิญกับอนาคตชนิดที่ไม่พึงปรารถนา และถูกกำหนดโดยอำนาจจากภายนอก ยิ่งกว่าจะเกิดขึ้นโดยพลังจินตนาการถึงความสัมพันธ์ทางการเมืองในอนาคต เพื่อแก้ปัญหาในปัจจุบัน และป้องกันความรุนแรงในอนาคต เป็นเรื่องต้องเสี่ยง แต่สังคมไทยก็ต้องพัฒนาความสามารถที่จะไว้ใจตนเอง ในภูมิปัญญาของผู้คน ในความปรารถนาดีของคนสามัญ


 


ที่สำคัญต้องไว้ใจในสายสัมพันธ์ที่เคยร้อยประสานผู้คนในสังคมนี้ให้อยู่กันมาได้ด้วยดีตามสมควร แม้ถุกภัยความรุนแรงกัดกร่อนจนอ่อนแอลงไป แต่ก็ยังสามารถฟื้นฟูพัฒนาให้สายสัมพันธ์ทั้งระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างผู้คนหมู่เหล่าต่างๆ กลับมามั่นคงเข้มแข็งเพียงพอที่จะทำให้เดินไปในเส้นทางสมานฉันท์ได้ ทั้งหมดนี้เพื่อ "ร่วมแรงร่วมใจกันหาทางยุติปัญหาดังกล่าวของประเทศในระยะยาว เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ สันติสุข และความยุติธรรมขึ้นอย่างแท้จริง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net