กรุงเทพโพลล์ เผยครึ่งหนึ่งไม่เชื่อมั่น-ไม่แน่ใจจะเลือกตั้งได้ตามโรดแม็ป 2560

9 ต.ค. 2558 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ความคาดหวังประชาชนต่อการทำหน้าที่ของ กรธ. และ สปท.” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,004  คน พบว่า ประชาชนร้อยละ 66.3 อยากให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับเก่าที่ไม่ผ่านประชามติมาปรับปรุงใหม่ โดยแก้ไขจุดที่บกพร่อง ขณะที่ร้อยละ 18.2 อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และร้อยละ 15.5 ไม่แน่ใจ

เมื่อถามว่า “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ควรเชิญพรรคการเมืองใหญ่ในประเทศ มาเสนอแนะข้อคิดเห็นก่อนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” ส่วนใหญ่ร้อยละ 64.8 เห็นว่า “ควรเชิญ” ขณะที่ร้อยละ 24.5 เห็นว่า  “ไม่ควรเชิญ” ส่วนที่เหลือร้อยละ 10.7 ไม่แน่ใจ

เมื่อถามว่าคาดหวังเพียงใดต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่าจะสามารถนำพาประเทศไปสู่การปฏิรูปและสร้างความปรองดองได้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 54.9 คาดหวังค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 45.1 คาดหวังค่อนข้างน้อยถึงไม่คาดหวัง

ส่วนความเชื่อมั่นต่อการมีเครือข่ายนักการเมืองเข้าร่วม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ว่าจะสามารถทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติได้พบว่า ร้อยละ 45.7  เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 44.7 เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 9.6 ไม่แน่ใจ

สุดท้ายเมื่อถามว่า เชื่อมั่นหรือไม่ว่าหลังจากการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แล้วจะสามารถเลือกตั้งได้ตามโรดแม็ปปี 2560 ส่วนใหญ่ร้อยละ 49.9 เชื่อมั่นว่าทำได้ ขณะที่ร้อยละ 41.5 ไม่เชื่อมั่นว่าจะทำได้ และร้อยละ 8.6 ไม่แน่ใจ

รายละเอียดการสำรวจ

วัตถุประสงค์การสำรวจ

1)    เพื่อสะท้อนความเห็นต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ของ กรธ. ชุดใหม่  

2)    เพื่อสะท้อนความคาดหวังต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะสามารถนำพาประเทศไปสู่การปฏิรูปและสร้างความปรองดองได้

3)    เพื่อสะท้อนความเห็นต่อการเชิญพรรคการเมืองใหญ่ในประเทศ มาเสนอแนะข้อคิดเห็นก่อนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

4)    เพื่อสะท้อนความเชื่อมั่นต่อการมีเครือข่ายนักการเมืองเข้าร่วม สภาปฏิรูปประเทศ (สปท).จะสามารถทำให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติได้

ประชากรที่สนใจศึกษา การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป โดยการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานข้อมูลของกรุงเทพโพลล์ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบ Simple Random Sampling แล้วใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error) การประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน  ± 4% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%

วิธีการรวบรวมข้อมูล

ใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล

ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล     :  6-8 ตุลาคม 2558

วันที่เผยแพร่ผลสำรวจ           :  9 ตุลาคม 2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท