Skip to main content
sharethis

บทความจากเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ FPIF ระบุถึงบรรยากาศในการต่อต้านทางเลือกของผู้หญิงในการทำแท้งทั่วโลก ซึ่งไม่เพียงแค่ในประเทศที่มีการห้ามหรือจำกัดการทำแท้งเท่านั้น ฝ่ายต่อต้านทางเลือกในประเทศที่การทำแท้งถูกกฎหมายก็มีการพยายามจำกัดสิทธิที่จะได้รับการทำแท้งอย่างปลอดภัยเช่นกัน

8 ต.ค. 2558 นาทาลี แบ๊บติสต์ ชาวเฮติ-อเมริกันผู้เขียนเรื่องเกี่ยวกับละตินอเมริกาและแถบแคริบเบียนเขียนบทความลงในเว็บไซต์ด้านการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ (Foreign Policy In Focus หรือ FPIF) เกี่ยวกับเรื่องกระแสการต่อต้านแนวคิดให้ผู้หญิงมีทางเลือกในการทำแท็งค์ในหลายประเทศ แม้กระทั่งในประเทศที่การทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมายอย่างในสหรัฐฯ

แม้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา นักกิจกรรมผู้สนับสนุนการให้ผู้หญิงมีทางเลือกในการทำแท้งจากทั่วโลกรวมตัวกันในวันปฏิบัติการรณรงค์ส่งเสริมสุขภาวะด้านการเจริญพันธุ์ แต่อย่างไรก็ตามพวกเธอต้องเผชิญกับความยากลำบากจากกระแสของโลกที่มีการต่อต้านแนวคิดให้ผู้หญิงมีทางเลือกในเรื่องนี้เพิ่มขึ้น

ผลสำรวจล่าสุดจากศูนย์เพื่อสิทธิด้านการเจริญพันธุ์ระบุว่าในทุกปีมีผู้หญิง 47,000 คนเสียชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นใน 66 ประเทศที่สั่งห้ามการทำแท้งนอกจากนั้นยังเกิดขึ้นในอีก 59 ประเทศ ที่มีเงื่อนไขให้ทำแท้งได้ถ้าหากมีเหตุผลทางการแพทย์

บทความของแบ๊บติสต์ระบุว่าในขณะที่กฎหมายสั่งห้ามหรือจำกัดการทำแท้งจะส่งผลให้ผู้หญิงไม่สามารถได้รับการทำแท้งอย่างปลอดภัยได้ สิทธิในการทำแท้งยังถูกโจมตีในหลายๆ แห่งของโลกด้วย

แบ๊บติสต์ยกตัวอย่างกรณีของเอลซัลวาดอร์ที่มีการสั่งห้ามการทำแท้งอย่างเข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประเทศนี้มีสถิติการฆ่าตัวตายของหญิงตั้งครรภ์อายุ 10-19 ปี มากถึงร้อยละ 57 จากการที่เอลซัลวาดอร์มีการทำโทษจำคุกผู้หญิงที่ต้องสงสัยว่าทำแท้งหรือแม้กระทั่งคนที่แท้งลูกโดยไม่ได้ตั้งใจ

แบ๊บติสต์ยกตัวอย่างอีกประเทศหนึ่งคือไอร์แลนด์ที่มีการห้ามเข้มงวดเช่นกัน โดยถึงแม้ว่าจะมีข้อยกเว้นให้ทำแท้งได้ถ้าหากแม่มีความเสี่ยงทางการแพทย์ แต่กับผู้มีความเสี่ยงดังกล่าวเองก็เข้าถึงการทำแท้งได้ยาก โดยแบ๊บติสต์ยกตัวอย่างกรณีเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมามีหญิงวัย 31 ปี แท้งลูกโดยไม่ได้ตั้งใจและเสียชีวิคจากการติดเชื้อในกระแสเลือดหลังจากที่ถูกปฏิเสธไม่ให้ทำแท้ง และแม้ว่าประชาชนชาวไอร์แลนด์จะเห็นด้วยว่าเหยื่อที่ถูกข่มขืนควรจะได้รับสิทธิให้ทำแท้งได้แต่รัฐบาลไอร์แลนด์ก็ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่าควรจะให้เหยื่อที่ถูกข่มขืน "พิสูจน์" ในเรื่องที่เธอถูกข่มขืนด้วยหรือไม่

ตัวอย่างถัดมาที่ระบุถึงในบทความคือประเทศเฮติที่การทำแท้งผิดกฎหมายแต่ก็มีอุตสาหกรรมยาที่ไม่ได้รับการควบคุมจากรัฐทำให้ผู้หญิงหลายคนใช้ยาทำแท้งที่ชื่อไมโซพรอสทอลที่หาซื้อได้ในเฮติโโยไม่ต้องมีการรับรองจากบุคลากรทางการแพทย์ เรื่องนี้ทำให้เกิดปัญหาการใช้ยาอย่างผิดวิธีจนทำให้เกิดการตกเลือด การติดเชื้อในกระแสเลือด หรืออาการอื่นๆ และมักจะทำให้เกิดการเสียชีวิตตามมา ซึ่งผู้ใช้ยาก็ไม่กล้าขอความช่วยเหลือเนื่องจากกฎหมายสั่งห้ามการทำแท้ง

แบ๊บติสต์ระบุว่าไม่เพียงแค่ประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกเท่านั้นที่สั่งห้ามการทำแท้ง ในประเทศมุสลิมอนุรักษ์นิยม ประเทศที่มีแนวคิดนับถือผี และประเทศที่มีชาวพุทธเป็นคนส่วนใหญ่อย่าง พม่า, ศรีลังกา และไทย ก็มีการห้ามหรือจำกัดการทำแท้งเช่นกัน

แต่ปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในประเทศที่มีการห้ามหรือจำกัดการทำแท้งเท่านั้น แม้แต่ในประเทศที่การทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมายผู้หญิงก็มีอุปสรรคในการแสวงหาการทำแท้งที่ปลอดภัย รวมถึงส่วนหนึ่งในสหรัฐฯ ด้วย แม้ว่าศาลทางการกลางสหรัฐฯ จะเคยตัดสินการทำแท้งเป็นสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตั้งแต่ปี 2516 แต่สมาชิกสภานิติบัญญัติฝายต่อต้านทางเลือกก็พยายามทำลายการเข้าถึงการทำแท้งด้วยการออกบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม 2 บทหลังจากนั้นไม่นาน

บทบัญญัติเพิ่มเติมฉบับหนึ่งสั่งห้ามไม่ให้มีการใช้งบประมาณรัฐบาลกลางในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อกรณีการทำแท้งทำให้เจ้าหน้าที่รัฐและคนจนที่ต้องอาศัยสวัสดิการสุขภาพเข้าถึงการทำแท้งได้จำกัด บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมอีกฉบับหนึ่งส่งผลในเชิงนานาชาติคือบทที่ระบุห้ามไม่ให้ใช้เงินทุนช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในเรื่องการทำแท้งหรือการวางแผนครอบครัวรวมถึงการให้คำปรึกษาในเชิงส่งเสริมให้เกิดการทำแท้ง ทำให้เป็นการจำกัดความช่วยเหลือด้านการวางแผนครอบครัว ซึ่งแบีบติสต์ระบุว่านโยบายจากกลุ่มต่อต้านทางเลือกในสหรัฐฯ ส่งผลทางลบต่อประเทศที่กำลังพัฒนา

อาราม ชวี จากศูนย์เพื่อสิทธิการเจริญพันธุ์กล่าวว่า บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ ส่งผลต่อการให้ความช่วยเหลือเรื่องการทำแท้งอย่างปลอดภัยในต่างประเทศ

รวมถึงผู้หญิงที่ถูกข่มขืนในช่วงสถานการณ์การสู้รบและผู้หญิงที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการตั้งครรภ์ ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ถือเป็นอุปสรรค์ต่อเป้าหมายการส่งเสริมด้านความเท่าเทียมทางเพศสภาพและด้านสุขภาวะของสหรัฐฯ เอง เนื่องจากทำให้มีแต่ผู้หญิงที่ร่ำรวยเท่านั้นที่มีสิทธิเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย ผู้หญิงที่ยากจนจึงได้รับผลกระทบจากการไม่สามารถเข้าถึงการทำแท้งที่ปลอดภัยได้จนอาจทำให้พวกเธอต้องเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต

บทความระบุอีกว่าถึงแม้ว่าในระดับกฎหมายของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ อนุญาตให้มีการทำแท้งแต่กลุ่มสภานิติบัญญัติในระดับรัฐที่ต่อต้านทางเลือกของผู้หญิงก็พยายามทำให้ผู้หญิงเข้าถึงการทำแท้งได้ยากโดยอาศัยอำนาจของตนเอง เช่นในบางรัฐมีการพยายามออกกฎหมายตั้งเงื่อนไขต่างๆ ให้กับผู้ที่ต้องการทำแท้งและมีการควบคุมคลินิคทำแท้งให้ปฏิบัติตามกฎเข้มงวดอย่างไม่จำเป็น

ไม่เพียงแค่การใช้อำนาจบีบบังคับเท่านั้น แบ๊บติสต์ระบุอีกว่านักการเมืองฝ่ายต่อต้านทางเลือกของผู้หญิงยังใช้วิธีการใส่ร้ายป้ายสีองค์กรวางแผนครอบครัวที่ชื่อ 'Planned Parenthood' โดยอาศัยวิดีโอที่มีการตัดต่อหลายจุด รวมถึงมีการข่มขู่ว่าจะทำให้เกิดการปิดหน่วยงานราชการถ้าหากสภาคองเกรสไม่ยอมลงมติยกเลิกการให้ผู้หญิงหลายล้านคนสามารถเข้าถึงการคุมกำเนิด และการแพทย์ด้านอื่นๆ อย่างการตรวจหามะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และตรวจโรคเอดส์

"การปฏิเสธไม่ให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกว่าอะไรดีต่อร่างกายของพวกเธอเองถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน" แบ๊บติสต์ระบุในบทความ

"การทำแท้งไม่ควรจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย มันควรจะเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้และปลอดภัย" แบ๊บติสต์ระบุในบทความ

เรียบเรียงจาก

Abortion Rights Are Under Attack All Over the Globe, Nathalie Baptiste, FPIF, 02-10-2015 http://fpif.org/abortion-rights-are-under-attack-all-over-the-globe/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net