เปิดคำอุทธรณ์-แก้อุทธรณ์ คดี 112 ‘เฉลียว’ ช่างตัดเสื้ออัพโหลดคลิปบรรพต

3 ก.ย.2558 เว็บศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่รายละเอียดคดีของนายเฉลียว (สงวนนามสกุล) อายุ 56 ปี อาชีพช่างตัดเสื้อ จำเลยในคดีความผิดมาตรา 112 จากกรณีอัพโหลด ‘คลิปบรรพต’ ขึ้น 4Share
ในวันนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุก 5 ปีรับสารภาพลดกึ่งหนึ่ง ไม่รอการลงโทษ จากเดิมที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 ปีรับสารภาพเหลือกึ่งหนึ่ง รอการลงโทษไว้ 2 ปี (อ่านรายละเอียดที่นี่)

เนื้อหาที่ศูนย์ทนายความฯ เผยแพร่มีการสรุปคำพิพากษาศาลชั้นต้น ประเด็นอุทธรณ์ของอัยการ และโดยเฉพาะการแก้อุทธรณ์ของจำเลย รายละเอียดมีดังนี้

คำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2557 ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) (5) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน พิเคราะห์แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือนต่อครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี และให้จำเลยทำงานบริการสังคมและสาธารณะประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ริบของกลางทั้งหมด

อัยการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น

ต่อมา 8 ต.ค. 2557 อัยการได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาว่า โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่วางโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกเพียง 1 ปี 6 เดือน และไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้รอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี 

โจทก์จึงขอยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ โดยอ้างว่าการที่จำเลยนำคลิปเสียงที่มีลักษณะเป็นการหมิ่นประมาท และดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ มาโพสต์ลงใน http://www.4shared.com โดยการแชร์หรือแบ่งปันคลิปเสียงดังกล่าวมา อันมีผลให้บุคคลอื่นที่เข้าไปใน http://www.4shared.com พบเห็นและเปิดฟังคลิปเสียงดังกล่าวนั้น โดยมีข้อมูลหรือข้อความปรากฏตามเอกสารแนบท้ายฟ้อง ย่อมทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเป็นภัยต่อความมั่นคงและความสงบสุขของประเทศชาติโดยรวม นอกจากนี้ยังทำให้ประชาชนคนไทยแตกความสามัคคี แบ่งพรรค แบ่งพวก เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนคนไทย ทำให้สังคมและประเทศชาติล่มสลาย ถือเป็นพฤติการณ์การกระทำความผิดร้ายแรงสมควรที่จะต้องลงโทษจำเลยในอัตราโทษขั้นสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยไม่รอการลงโทษ

ในคำอุทธรณ์ อัยการยังระบุด้วยว่า โจทก์เห็นว่าศาลชั้นต้นกำหนดโทษหรือวางโทษจำเลยน้อยเกินไป ไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์และผลกระทบในการกระทำความผิดของจำเลยซึ่งมีต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างร้ายแรง โจทก์จึงขอศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยในสถานหนัก เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น

คำแก้อุทธรณ์

เฉลียวได้ทำคำแก้อุทธรณ์ยื่นต่อศาล มีใจความว่า จำเลยขอเรียนต่อศาลอุทธรณ์ ว่าอุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น  ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้ศาลอุทธรณ์กลับหรือแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้  และจำเลยขอถือเอาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของคำแก้อุทธรณ์ฉบับนี้ด้วย  ซึ่งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี และลดโทษกึ่งหนึ่งตามกฎหมายและรอการลงโทษจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี นั้น ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษและการลงโทษชอบด้วยเหตุผลและชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยจำเลยขอแก้อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหมดในแต่ประเด็นดังต่อไปนี้

1. อุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นแรกที่ว่า “พฤติการณ์การกระทำความผิดร้ายแรงสมควรที่จะต้องลงโทษจำเลยในอัตราโทษขั้นสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยไม่รอการลงโทษ” นั้น

จำเลยขอเรียนต่อศาลว่า ตามการกระทำที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องคดีนี้ จำเลยมิได้เป็นผู้ผลิตเนื้อหาของคลิปเสียงดังกล่าวขึ้นเอง จำเลยเป็นเพียงแค่ผู้นำไฟล์เสียงดังกล่าวมานำเข้าขึ้นบนเว็บไซต์โฟแชร์ดอทคอมเท่านั้น ซึ่งเว็บไซต์โฟรแชร์นั้นการนำเข้ามีลักษณะเป็นการนำข้อมูลเข้าไว้ในพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งคนที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้นั้น ผู้ที่จะเข้าถึงต้องเป็นสมาชิกของเว็บไซต์โฟร์แชร์เท่านั้น คนโดยทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้อย่างสะดวก นอกจากนั้นการค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์โฟร์แชร์ต้องใช้คำค้นหาที่ถูกต้องแน่นอนเท่านั้น หากคนที่ต้องการค้นหาข้อมูลแต่ไม่ทราบคำค้นหาที่ถูกต้องแน่นอนก็ไม่สามารถจะเข้าถึงข้อมูลได้ ต่างจากการค้นหาข้อมูลบนเว็บไซต์ยอดนิยมอย่าง ยูทูป กูเกิ้ล หรือยาฮู ที่ผู้ต้องการค้นหาข้อมูลสามารถระบุคำกว้างๆ ที่เกี่ยวข้องและระบบของเว็บไซต์จะจัดเนื้อหาที่เกี่ยวข้องมานำเสนอให้โดยง่าย ดังนั้น การอัพโหลดลงบนเว็บไซต์โฟแชร์จึงเป็นวิธีการที่ไม่ได้ทำให้ข้อมูลเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง และถูกเข้าถึงอย่างง่ายดาย คนทั่วไปที่ไม่เคยรู้จักกับเนื้อหาชิ้นนี้มาก่อนก็ไม่อาจจะเข้าถึงเนื้อหาด้วยวิธีการค้นหาบนอินเทอร์เน็ตแบบง่ายๆ ได้ จึงไม่ใช่การนำเนื้อหาออกสู่สาธารณะในวงกว้างอันจะเป็นพฤติการณ์การกระทำที่ร้ายแรงดังที่โจทก์กล่าวอ้างมาในอุทธรณ์  อุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่อาจรับฟังได้

จำเลยขอเรียนต่อศาลอุทธรณ์ว่า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันแห่งราชอาณาจักรไทย ทรงมีพระราชกรณียกิจที่เป็นประโยชน์ต่อปวงชนชาวไทยมาอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องยาวนาน คนไทยที่อาศัยอยู่ภายใต้ร่วมพระบารมีย่อมตระหนักรู้ถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ดีอยู่แล้ว จากการรับรู้ผ่านสื่อมวลชนต่างๆ ข่าวพระราชสำนักทางโทรทัศน์ และการศึกษาในระดับประถมและมัธยมศึกษาในสถาบันการศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน  การเข้าถึงข้อมูลในคลิปเสียงดังกล่าว จำนวนหนึ่งคลิป บนอินเทอร์เน็ต ย่อมเป็นเพียงข้อมูลเล็กๆ ที่ไม่มีน้ำหนักพอจะโน้มน้าวจิตใจของประชาชนชาวไทยที่มีความจงรักภักดี ให้เปลี่ยนความคิดความเชื่อไปในทางอื่นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักได้ ดังนั้น การกระทำที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องและฟ้องอุทธรณ์ จึงไม่ได้เป็นพฤติการณ์การกระทำความผิดร้ายแรงสมควรที่จะต้องลงโทษจำเลยในอัตราโทษขั้นสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยไม่รอการลงโทษตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องอุทธรณ์แต่อย่างใด  อุทธรณ์ของโจทก์ส่วนจึงนี้ไม่อาจรับฟังได้

2. อุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นต่อมาที่ว่า “ศาลชั้นต้นกำหนดโทษหรือวางโทษจำเลยน้อยเกินไปไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์และผลกระทบในการกระทำความผิดของจำเลย” นั้น

จำเลยขอเรียนต่อศาลอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยนั้น โดยพฤติการณ์เป็นเพียงการ “นำเข้า” ข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยหากกล่าวถึงการกระทำของจำเลยที่เพียงแต่นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ขึ้นบนเว็บไซต์นั้น ในทางทฤษฎีของกฎหมาย เรื่องความผิดอาญานั้น พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลย มิได้เป็นความผิดอาญาที่เป็นความผิดในตัวเอง (mala in se) แต่เป็นการกระทำที่เป็นความผิดที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นความผิด (mala prihibita) ความผิดเช่นนี้ไม่สามารถมองเห็นหรือรู้สึกว่าเป็นความชั่วร้ายในตัวเอง แต่ที่เป็นความผิดก็เพราะกระทำในสิ่งที่กฎหมายห้ามเท่านั้น พฤติการณ์ของการกระทำหากเปรียบเทียบกับความผิดอื่นที่มีโทษอย่างเดียวกันแล้วไซร้ การกระทำของจำเลยหาได้มีความร้ายแรงถึงขนาดจะต้องลงโทษจำเลยในสถานหนักตามที่โจทก์กล่าวในอุทธรณ์ไม่

จำเลยขอเรียนต่อศาลอุทธรณ์ที่เคารพว่า หากมองย้อนกลับไปในทางประวัติศาสตร์ อัตราโทษที่ถูกกำหนดในการกระทำความผิดที่อาศัยข้ออ้างในการกระทำความผิดเช่นเดียวกับจำเลยนั้น หาได้มีความร้ายแรงเท่ากับปัจจุบันไม่  โดยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดหรือเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ รศ.118 มาตรา 4 ซึ่งระบุโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 1,500 บาท หรือทั้งจำและปรับ  ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2500 ได้มี “ประมวลกฎหมายอาญา” ในมาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี  และในภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519  มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาโดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 41 โดยเพิ่มโทษเป็นโทษจำคุกขั้นต่ำ 3 ปี ไม่เกิน 15 ปี

จำเลยขอเรียนต่อศาลอุทธรณ์ว่า ในประเทศต่างๆที่ยังคงธำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ เช่น เยอรมนี นอร์เวย์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ สเปน จอร์แดน เดนมาร์ก ล้วนมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดให้พระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะที่ละเมิดหรือกล่าวโทษไม่ได้ แต่เมื่อเปรียบเทียบอัตราโทษแล้ว  อัตราโทษของประเทศไทยมีบทลงโทษที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเหล่านั้น โดยอัตราโทษที่ต่ำที่สุดของประเทศไทย เท่ากับอัตราโทษที่สูงที่สุดของประเทศจอร์แดน และอัตราโทษขั้นสูงที่สุดของประเทศไทยมากกว่าประเทศส่วนมากในภูมิภาคยุโรปถึงสามเท่า เช่น ประเทศสเปนจำคุก 6 เดือน ถึง 2 ปี ประเทศนอร์เวย์ ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำและโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี  ประเทศเนเธอร์แลนด์ จำคุกไม่เกิน 5 ปี และมีโทษปรับ  ประเทศสวีเดนจำคุกไม่เกิน 7 ปี ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดอง (คอป.) ซึ่งได้เคยมีหนังสือด่วนที่สุด ยื่นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับอัตราโทษ ของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2554 ในข้อ 3 ถึง 5 ว่า อัตราโทษนั้นควรเบาลง และเสนอให้มีการแก้ไขอัตราโทษเป็นระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ซึ่งสอดคล้องกับอัตราโทษเดิมก่อนอัตราโทษล่าสุด  รายละเอียดปรากฏตามเอกสารท้ายคำแก้อุทธรณ์หมายเลข 2

จำเลยขอเรียนต่อศาลอุทธรณ์ว่า  ในคดีนี้จำเลยเองได้ให้การรับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและสอบสวน ตลอดจนให้การเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดี อันเนื่องด้วยมาจากความสำนึกผิดในการกระทำของตน  และได้ถูกกักขังมาแล้วในระยะเวลาที่สมควรแล้ว และในอีกมุมหนึ่งนั้น การกระทำของจำเลยข้างต้น นอกจากการถูกกำหนดโทษในกระบวนการยุติธรรมแล้ว ในสังคมภายนอกเอง จำเลยก็ถูกมาตรการทางสังคมในการลงโทษจำเลยและครอบครัว ให้ต้องรู้สึกผิดบาป และอยู่ในสังคมอย่างลำบากอยู่แล้ว ดังนั้น การกำหนดโทษหรือวางโทษจำเลยของศาลชั้นต้นจำคุกจำเลย 3 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 1 ปี 6 เดือน และรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นั้น  จึงเหมาะสมและยุติธรรมที่สุดแล้วกับพฤติการณ์และผลกระทบในการกระทำความผิดของจำเลย  ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลยน้อยเกินไปและไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดีและขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนัก จึงไม่อาจรับฟังได้

3. จำเลยขอเรียนต่อศาลอุทธรณ์ที่เคารพว่า  ข้อเท็จจริงในฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ ซึ่งอ้างถึงคำให้การพยานในชั้นสอบสวน ตลอดจนเอกสารท้ายอุทธรณ์ที่แนบมา ทั้ง 10 ฉบับ นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ได้ว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น  คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยให้การรับสารภาพโจทก์จึงไม่ติดใจสืบพยาน ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังได้ตามฟ้องโจทก์เท่านั้น  ส่วนเอกสารทั้ง 10 ฉบับ ที่ปรากฏท้ายอุทธรณ์ก็ไม่ได้ปรากฏอยู่ในคำฟ้องหรือเอกสารท้ายคำฟ้องแต่อย่างใด การที่โจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงในส่วนนี้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 ประกอบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 โจทก์ไม่อาจยกขึ้นอ้างในการยื่นอุทธรณ์ได้  และศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวประกอบอุทธรณ์ของโจทก์ได้

อีกทั้งการดำเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์เช่นนี้ย่อมเป็นการเอาเปรียบจำเลยในการต่อสู้คดี  เพราะจำเลยไม่มีโอกาสได้คัดค้านข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในเอกสารหรือซักค้านพยานบุคคลดังมีรายชื่อปรากฏอยู่เอกสารคำให้การของพยานดังกล่าวได้  ศาลอุทธรณ์จึงไม่อาจรับฟังเอกสารดังกล่าวมาพิจารณาประกอบการกำหนดโทษดังที่โจทก์อุทธรณ์ได้

4. ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อทุกประเด็นไม่ต้องด้วยระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา  ว่าด้วยการไม่รับคดีซึ่งข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่อุทธรณ์หรือฎีกาจะไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณาไว้พิจารณาพิพากษา  พ.ศ.2551 เพราะอุทธรณ์ของโจทก์ นั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงและวินิฉัยกำหนดโทษไว้โดยชอบด้วยเหตุผลและชอบด้วยข้อกฎหมายแล้ว  ประกอบกับอุทธรณ์ของโจทก์ล้วนเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เป็นสาระในอันที่จะให้ศาลฎีกาได้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด  อุทธรณ์ของโจทก์ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้ศาลอุธรทณ์จะกลับหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้  จำเลยจึงขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด

5. ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงที่จำเลยนำเรียนต่อศาลอุทธรณ์โดยตลอดแล้ว  จะเห็นได้ว่าอุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะโต้แย้งหรือหักล้างคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้  และไม่อาจทำให้ศาลอุทธรณ์กลับหรือแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้  จำเลยขอเรียนต่อศาลที่เคารพว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาครั้งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต ไม่เคยกระทำความผิดอาญาอื่นใดมาก่อน และไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดเป็นนิสัย หรือเป็นอาชญากรโดยสันดาน  อีกทั้งความผิดที่จำเลยกระทำมิได้ก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลอื่น  จำเลยเข็ดหลาบและหลาบจำในความผิดที่จำเลยได้กระทำลงแล้ว  หากศาลอุทธรณ์ได้โปรดเมตตามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นรอการลงโทษให้แก่จำเลยเพื่อให้โอกาสแก่จำเลยในการกลับตัวเป็นพลเมืองที่ดี จะเป็นประโยชน์กับสังคมโดยรวมมากกว่าที่จะจำคุกจำเลยไปเสียทีเดียวดังที่โจทก์อุทธรณ์  จำเลยจึงขอศาลอุทธรณ์ได้โปรดพิจารณาและมีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ได้แก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น และลงโทษจำคุกเฉลียว 5 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ดังกล่าวข้างต้น

ความเป็นมาแห่งคดี

เฉลียว ขณะถูกดำเนินคดี อายุ 55 ปี อาชีพช่างตัดผ้า ไม่เคยมีประวัติทำกิจกรรมทางการเมืองร่วมกับกลุ่มใด เขาถูกกล่าวหาว่า เผยแพร่ข้อมูลที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ จากการอัพโหลดคลิปบรรพตไว้ในhttp://www.4shared.com และถูกควบคุมตัวหลังเข้ารายงานตัว ณ ห้องจามจุรี สโมสรทหารบก เทเวศร์ ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 44/2557 ในวันที่ 3 มิถุนายน 2557 เฉลียวถูกสอบสวน 3 ครั้ง โดยเป็นการสอบสวนด้วยเครื่องจับเท็จ 2 ครั้ง

วันที่ 9 มิถุนายน 2557 หลังถูกควบคุมตัวครบ 7 วัน เฉลียวถูกนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยพนักงานสอบสวนอนุญาตให้กลับบ้านได้ในคืนนั้น และนัดหมายให้ไปพบกันที่ศาลอาญาในวันรุ่งขึ้นเพื่อขอฝากขังและยื่นขอประกันตัว

วันที่ 10 มิถุนายน 2557 เฉลียวและครอบครัวเดินทางไปที่ศาลอาญา พนักงานสอบสวนขอฝากขัง ขณะที่ญาติยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์มูลค่า 800,000 บาทเพื่อขอประกันตัว แต่ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเพราะเห็นว่าเป็นการเผยแพร่ต่อข้อมูล เป็นความผิดร้ายแรง เฉลียวจึงถูกควบคุมตัวไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครฯ กระทั่งอัยการยื่นฟ้องต่อศาล

ถูกฟ้องร้อง

อัยการยื่นฟ้องต่อศาล เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2557 ว่า เฉลียวมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม หรือเท็จ

คำบรรยายฟ้องระบุว่า “เมื่อประมาณปลายปี พ.ศ.2554 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2555 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยนี้ได้บังอาจหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และได้บังอาจนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร กล่าวคือ จำเลยได้บังอาจคัดลอกแฟ้มข้อมูลเสียง ชื่อ banpodj 1.mp3 ของบุคคลที่ใช้ชื่อว่า บรรณพต ซึ่งมีเนื้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี มาเก็บไว้ในกล่องเก็บข้อมูล (Hard disk) ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย แล้วนำแฟ้มข้อมูลเสียงดังกล่าวมานำเข้าเผยแพร่หรือส่งต่อเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในเว็บไซต์ โฟร์แชร์ดอทคอม (www.4shared.com) ในบัญชีผู้ใช้ของจำเลยที่ใช้ชื่อ (Username) ว่า chandang@gmail.com ให้มีสถานะใช้ร่วมกัน ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงแฟ้มข้อมูลเสียงดังกล่าวได้ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นการกระทำให้ปรากฏซึ่งข้อความ ข้อมูล ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ในสภาพที่ระบบคอมพิวเตอร์อาจประมวลผลได้ และเชื่อมการทำงานของอุปกรณ์ หรือชุดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันโดยได้มีการกำหนดคำสั่ง ชุดคำสั่ง หรือสิ่งอื่นใด และแนวทางปฏิบัติงานให้อุปกรณ์ หรือชุดอุปกรณ์ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลโดยอัตโนมัติ รายละเอียดข้อมูล หรือข้อความอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี ดังกล่าวข้างต้น ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายฟ้องนี้

เหตุตามฟ้องเกิดที่ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานครฯ

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557 เจ้าพนักงานได้ตัวจำเลยนำส่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำการสอบสวนแล้ว และต่อมาเจ้าพนักงานยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ (PC) จำนวน 1 เครื่อง ชุดจอมอนิเตอร์ จำนวน 1 ชุด, ฮาร์ดดิสก์ (กล่องเก็บข้อมูลความจำ) จำนวน 4 ชิ้น ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้อง ไว้เป็นของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน

ของกลาง เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้

ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ

ระหว่างสอบสวน จำเลยไม่ถูกควบคุมตัวแต่พนักงานสอบสวนได้สั่งให้จำเลยไปที่ศาลอาญา และพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อขอฝากขังจำเลยในวันที่ 10 มิถุนายน 2557 และศาลได้อนุญาตให้ฝากขังจำเลยตามคดีหมายเลขดำที่ พ.1306/2557 จึงขอศาลได้โปรดเบิกตัวจำเลยมาพิจารณาพิพากษาต่อไป หากจำเลยขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาล โจทก์ขอให้เป็นดุลพินิจของศาล

คดีนี้มีลักษณะเป็นคดีความผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน และมีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงของประเทศ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) (ก) (ข) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2543 ประกอบกับมีพฤติการณ์การนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นคดีความผิดทางอาญาตามบัญชีท้ายประกาศ กคพ. (ฉบับที่ 5, ออกตามความในมาตรา 21 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547) ซึ่งจะต้องดำเนินการสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 และการสอบสวนคดีนี้ได้กระทำที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานครฯ อยู่ในเขตอำนาจของศาลนี้

พฤติการณ์การกระทำผิดตามฟ้องของจำเลยในคดีนี้เป็นเรื่องที่กระทบถึงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาขน เพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์จึงขอศาลได้สั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับด้วย

ทั้งนี้ เอกสารท้ายฟ้องจำนวน 23 แผ่น เป็นคำถอดเทปจากไฟล์ที่เฉลียวอัพโหลดไว้บน http://www.4shared.com

ข้อสังเกตเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าในชั้นสอบสวนและการต่อสู้คดีในศาลชั้นต้น เฉลียวไม่มีทนายความสำหรับต่อสู้คดี และคำฟ้องของอัยการไม่ชัดเจน เนื่องจากมีเพียงเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นคำถอดเทป จำนวน 23 แผ่น โดยไม่มีการระบุหรือยกข้อความขึ้นมาว่าข้อความส่วนหรือตอนใดที่เป็นความผิด

ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ม.158 (5) ระบุว่า คำฟ้องจะต้องมีการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำผิดนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควร เท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี

ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หนังสือ ภาพขีดเขียน หรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวข้องกับข้อหาหมิ่นประมาท ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์ หรือติดมาท้ายฟ้อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท