Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์ศูนย์เทคโนโลยีทางทหาร หรือ ศูนย์ไซเบอร์ของกองทัพบก กรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก เผยแพร่กำหนดการกิจกรรม ArmyCyber Contest 2015 วันที่ 9 ก.ย. 2558 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 15.00 น. ณ กองบัญชาการกองทัพบก โดยมี พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก มาเป็นประธานในงานดังกล่าว

โดยผู้ร่วมงานประกอบด้วย กำลังพลจากกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กองบัญชาการกองทัพไทย และกระทรวงกลาโหม ที่สำคัญจะมีการแข่งขันทักษะด้านการปฏิบัติการไซเบอร์ระหว่างเหล่าทัพขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อ เสริมสร้างและพัฒนาขีดความสามารถ ศักยภาพ ทักษะ และประสบการณ์ให้กับกำลังพลให้มีความพร้อมรับมือกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ 

วิดีโอคลิปประชาสัมพันธ์กิจกรรม

นอกจากการแข่งขันแล้ว ในงานดังกล่าวยังมีการเสวนาเบื้องต้น เรื่อง “โลกยุคหน้ากับเทคโนโลยีดิจิตอล (ทิศทางและความท้าทาย)” โดย พ.อ.รศ.ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ การบรรยายเรื่อง “แนวคิดการจัดตั้งกองบัญชาการไซเบอร์ (Cyber Command) ภายใต้ศูนย์บัญชาการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (National Cybersecurity)” โดย พล.อ.บรรเจิด เทียนทองดี ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และที่ปรึกษาด้าน ICT Cyber security สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ  

การบรรยายเรื่อง “ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กับภารกิจค้นหา Thailand Cybersecurity Got Talent” พล.อ.ภูดิท วีระศักดิ์ ประธานคณะอนุกรรมการความมั่นคงเครือข่าย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และบรรยายเรื่อง รูปแบบใหม่ของการฝึกอบรมบุคลากรด้านไซเบอร์ ระหว่าง “Role –Based Cyber security Training” และ “Gamafication” โดย ปริญญา หอมอเนก ผู้อำนวยการศูนย์รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

รวมทั้ง สาธิตการเจาะระบบโดยผู้เชี่ยวชาญทางไซเบอร์ บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัลเซ็นเตอร์ จำกัด

รายละเอียดการแข่งขัน

นอกจากนี้ เว็บ RTA เรารักกองทัพบก ให้รายละเอียดการแข่งขันไว้ด้วยว่า การจัดการแข่งขันฯ จะมีทีมเข้าร่วมการแข่งขันในรอบสุดท้าย จำนวน 8 ทีมๆ ละ 2 – 4 คน โดยแต่ละทีมจะมีการติดตั้ง Server ของฝ่ายตนจำนวน 3 เครื่อง บนระบบปฏิบัติการเครือข่าย ( Network Operation System : NOS ) Windows และ Linux ซึ่งแต่ละทีมจะต้องดำเนินการหามาตรการเชิงรับ ( Defensive ) โดยการป้องกันและขัดขวางการเจาะระบบและการโจมตีของทีมฝ่ายอื่นๆ อีก 7 ทีม ที่จะทำการตรวจสอบช่องโหว่ ( Vulnerability Assessment ; VA ) ของระบบ Server เพื่อทำการหาวิธีการเจาะระบบฯ ให้สำเร็จและได้คะแนนสะสมในแต่ละเครื่องที่สามารถเข้ายึดครอง Server ได้

แต่ละทีมที่เข้าแข่งขันนอกจากจะต้องคิดค้นหามาตรการเชิงรับ โดยป้องกันการเจาะ การโจมตี Server จำนวน 3 เครื่อง ของฝ่ายตนเอง เพื่อไม่ให้เสียแต้มให้กับทีมอื่นๆ แล้ว ยังจะต้องหามาตรการเชิงรุก ( Offensive ) โดยการเจาะระบบฯ การโจมตีเป้าหมาย Server ของทีมฝ่ายอื่นๆ อีก 7 ทีมๆ ละ 3 เครื่อง รวมทั้งสิ้น 21 เครื่อง เพื่อเก็บคะแนนสะสมให้ได้มากที่สุด ก็จะเป็นทีมที่ชนะเลิศตามลำดับคะแนน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net