Skip to main content
sharethis

1 ก.ย. 2558 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association) แจ้งว่า พรุ่งนี้ (2 ก.ย. 58) เวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดเพชรบุรี มีนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีการขอให้ปล่อยตัว พอละจี รักจงเจริญ หรือ ‘บิลลี่’ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ที่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงขอเชิญสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังคำพิพากษาตามวันและเวลาดังกล่าว

โดย สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ ระบุว่า เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 58 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำร้อง ในคดีหมายเลขดำที่ พิเศษ 1/2557 ที่นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัว บิลลี่ จากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 32 มีใจความว่า จากการไต่สวนพยานทั้งปาก ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่อุทยาน 4 คน รวมถึงนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ให้การสอดคล้องกันว่าได้มีการปล่อยตัว บิลลี่ ไปแล้ว แม้คำเบิกความจะมีข้อแตกต่างกันบ้างก็เป็นเพียงรายละเอียดหาใช่ข้อสาระสำคัญอันเป็นพิรุธไม่  พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่ามีการคุมขังนายบิลลี่ไว้โดยไม่ขอบด้วยกฎหมาย คำร้องขอผู้ร้องจึงไม่มีมูล ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

ซึ่ง พิณนภา ผู้ร้อง ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าว จึงได้ยื่นฎีกาในประเด็นดังต่อไปนี้

1. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฯ มีความขัดแย้งกับ บิลลี่ ในกรณีการเผาทำลาย ไล่รื้อ บ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จึงอาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ฯ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดำเนินคดี และนำไปสู่การควบคุมตัวนายบิลลี่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  อันอาจทำให้เกิดอันตรายต่อเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของ บิลลี่

2. การพิสูจน์ว่า บิลลี่ ได้รับการปล่อยตัวไปแล้วหรือไม่นั้น โดยหลักการรับฟังพยานหลักฐาน ภาระการพิสูจน์เป็นของฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการควบคุมตัว ไม่ใช่ภาระการพิสูจน์ของญาติผู้ถูกควบคุมตัว และตุลาการจะต้องทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้ถึงที่สุดว่า บิลลี่ ได้รับการปล่อยตัวไปแล้วจริง เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานบันทึกการจับ บันทึกของกลาง และบันทึกการปล่อยตัว จึงไม่อาจเชื่อได้ว่า บิลลี่ ได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว  และเชื่อได้ว่า บิลลี่ ยังคงอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ฯ 

3. พยานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับฟังล้วนแล้วแต่อยู่ใต้บังคับบัญชาและการดูแลของ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ซึ่งเบิกความขัดแย้งกับคำให้การในชั้นสอบสวนในประเด็นการปล่อยตัวนายบิลลี่อันเป็นข้อสำคัญในคดี  โดยพนักงานสอบสวนได้พบพยานหลักฐานใหม่ที่ยืนยันว่า นายบิลลี่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว จึงขอให้ศาลฎีกาไต่สวนพยานเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และมีสาระสำคัญถึงขนาดที่จะทำให้เปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลฎีกาได้

สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ภายหลังจากยื่นฎีกาและคำร้องขอให้ศาลฎีกาไต่สวนพยานเพิ่มเติม ปรากกฎว่ายังไม่มีคำสั่งให้ไต่สวนพยานเพิ่มเติมแต่อย่างใด

คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 57 บิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย  ถูก ชัยวัฒน์  ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวและได้หายตัวไปในระหว่างการควบคุมตัวดังกล่าว ภรรยาของนายบิลลี่จึงดำเนินการใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ต่อศาล เพื่อขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉิน ในการค้นหาความจริงของการควบคุมตัวนายบิลลี่ และจากกรณีการควบคุมตัวนายบิลลี่ดังกล่าว พนักงานสอบสวนตำรวจภูธรภาค 7 ได้ตั้งข้อหาเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด  หรือปฏิบัติ  หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และส่งสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2558 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2558 นางสาวพิณนภาได้ยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อขอให้รับคดีการหายตัวของนายบิลลี่เป็นคดีพิเศษ เนื่องจากคดีดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นทำให้มีอุปสรรคในการสืบสวนสอบสวน เกิดความหวาดกลัวของพยาน และมีความยากลำบากในการสืบหาพยานหลักฐาน

คณะทนายความ เห็นว่าคดีนี้ เป็นคดีที่มีความสำคัญต่อนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรม การบังคับให้บุคคลใดสูญหายเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องกำหนดมาตรการอย่างเด็ดขาดในการสืบสวนหาความจริง  เพื่อไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก โดยองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศต่างมีข้อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ให้มีความคืบหน้าโดยเร็วและอย่างเป็นอิสระ แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีการกำหนดความรับผิดทางอาญากรณีมีการบังคับให้บุคคลสูญหายตามกฎหมายของไทย แต่ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายแล้ว ในฐานะรัฐภาคีจึงควรใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อป้องกันการบังคับให้สูญหายและไม่ให้ผู้กระทำลอยนวลพ้นผิดเนื่องจากความผิดฐานบังคับให้สูญหาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net