Skip to main content
sharethis

1 ก.ย. 2558 ศาลจังหวัดภูเก็ต มีคำสั่งยกฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 2161/2557 ที่กองทัพเรือดำเนินคดีกับสำนักข่าวภูเก็ตหวาน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 จากการเผยแพร่รายงานพิเศษของสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งระบุว่าทหารไทยได้รับผลประโยชน์จากการค้ามนุษย์ผู้อพยพทางเรือ

โดยทีมงาน iLaw และทีมทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและสำนักงานกฎหมายเอสอาร์ รายงานว่า ศาลได้วินิจฉัยใน 3 ประเด็น คือ

1.      โจทก์และผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้หรือไม่
เห็นว่า ผู้เสียหายเป็นหน่วยงานรัฐได้มอบอำนาจให้ น.อ.พัลลภ โกมลทก เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีนี้ ซึ่ง น.อ.พัลลภ เบิกความต่อศาลว่า ไม่ประสงค์ดำเนินคดีกับข้อความในพาดหัวข่าว ติดใจดำเนินคดีนี้เนื้อในของข่าวเท่านั้น น.อ.พัลลภ เบิกความว่า กองทัพเรือในภาษาอังกฤษ คือ The Royal Thai Navy ดังนั้น คำว่า Naval Forces ที่ปรากฏในเนื้อข่าวนั้น จึงไม่ได้หมายถึงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง แต่หมายถึงกองกำลังทางน้ำ ซึ่งมีหลายหน่วยงาน รวมทั้ง กอ.รมน.ที่มีเรือสำหรับดูแลทางน้ำด้วย และคำว่า Forces มี s ซึ่งแปลว่ามีหลายหน่วยงาน ประชาชนทั่วไปอาจเข้าใจได้ว่า Naval Forces หมายถึงกองทัพเรือด้วย ผู้รับมอบอำนาจของกองทัพเรือจึงมีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ได้

2.  การกระทำของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหรือไม่
เห็นว่า จำเลยนำข้อความมาจากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ ซึ่งเป็นสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ตรวจสอบได้ เชื่อว่าผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ ตรวจสอบข้อเท็จจริงถูกต้องแล้ว เนื้อหาที่จำเลยตีพิมพ์ในข่าวก็อ้างว่าเอามาจากรอยเตอร์ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสามเขียนขึ้นเอง การกระทำจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328

3.  การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 หรือไม่
เห็นว่า การนำข้อความจากสำนักข่าวรอยเตอร์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ปรากฏว่าข้อความใดเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน และไม่เป็นความผิดตามหมวดความมั่นคงของประมวลกฎหมายอาญา ทั้งเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ไม่ได้มุ่งเอาผิดกับความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ที่ได้บัญญัติไว้แล้วในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328
               
สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ระบุว่า นี่เป็นชัยชนะของเสรีภาพสื่อ และที่สำคัญกว่านั้น ศาลยังระบุว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่สามารถใช้ในความผิดหมิ่นประมาทได้ ซึ่งพัฒนาการนี้จะมีนัยสำคัญต่อคดีจำนวนมากที่ถูกฟ้องด้วยกฎหมายนี้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ในหัวข้อ "การยกฟ้องคดีต่อนักข่าวภูเก็ตหวานเป็นก้าวย่างเล็กๆ ในทิศทางที่ถูกต้อง" โดยระบุว่า การยกฟ้องคดีต่อนักข่าวสองท่านในไทยในการพิจารณาคดีที่มีการนำบางส่วนของบทความเกี่ยวกับการค้ามนุษย์มาตีพิมพ์ซ้ำ นับเป็นแนวโน้มที่น่ายินดีสำหรับเสรีภาพด้านการแสดงออก แต่อันที่จริงบุคคลทั้งสองไม่ควรต้องเข้ารับการไต่สวนตั้งแต่แรก
               
Josef Benedict  ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า การยกฟ้องคดีต่อผู้สื่อข่าวทั้งสองท่านเป็นคำวินิจฉัยในเชิงบวก แต่อันที่จริงพวกเขาไม่ควรต้องเข้ารับการไต่สวนตั้งแต่แรกหรือเผชิญความเสี่ยงที่อาจถูกจำคุกหลายปี โดยการดำเนินคดีนี้แสดงให้เห็นอีกครั้งถึงการเพิกเฉยต่อเสรีภาพในการแสดงออกทางการไทย
               
“ข้อบัญญัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มีลักษณะกำกวม และได้ถูกใช้อย่างมิชอบเพื่อเป็นเครื่องมือปิดปากและคุกคามสื่ออิสระ กฎหมายดังกล่าวประกอบด้วยข้อบัญญัติซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชน และควรได้รับการยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ”
               
“การฟ้องร้องนี้ถือเป็นปฏิบัติการครั้งล่าสุดที่มีมาอย่างยาวนานในการโจมตีเสรีภาพในการแสดงออกและสำนักข่าว นับแต่กองทัพยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ทางการไทยต้องยุติการแสดงความสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชนที่ปราศจากความจริงใจ ต้องยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอย่างมิชอบด้วยกฎหมายโดยทันที รวมทั้งยกเลิกข้อกล่าวหาทางอาญาและบทลงโทษจำคุกต่อนักโทษทางความคิดที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น”

สำหรับรายงานของรอยเตอร์ที่ภูเก็ตหวานนำมาอ้างอิงนั้น เป็นรายงานพิเศษเรื่องการกดขี่ชาวโรฮิงญา ที่เผยแพร่เมื่อปี 2556 และต่อมา ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ปี 2557

               
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net