เปิดข้อเสนอค่าแรงขั้นต่ำของ สนช. ‘ไม่เท่ากันทั่วประเทศ-มอบอำนาจ คกก.ค่าจ้าง’

หลังสภาหอการค้าชงประเด็นระบุว่าค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ 300 บาท ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ สนช. ทำรายงานศึกษาเสนอรัฐบาล ชี้ไม่ควรกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ มอบอำนาจให้ "คณะกรรมการค่าจ้าง" กำหนดค่าแรง ด้านตัวแทนองค์กรลูกจ้างระบุควรเพิ่มนักวิชาการเป็นภาคีที่ 4 ในคณะกรรมการค่าจ้าง ส่วนองค์กรนายจ้างวอนอย่าให้กลุ่มการเมืองแทรกแซงการขึ้นค่าแรง

เมื่อวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมาในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 53 ที่ประชุม สนช. ได้รับทราบรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง "แนวทางการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ" ที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน

โดยในรายงานระบุว่าคณะกรรมาธิการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้รับหนังสือจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอให้พิจารณาศึกษาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย สืบเนื่องจากนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งหมด 300 บาท ถือเป็นมิติใหม่สำหรับอัตราค่าจ้างของประเทศไทย และถือเป็นการปรับขึ้นมากที่สุดในหลายจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ขณะที่ความสามารถในการรองรับผลกระทบแตกต่างกันไป ในแต่ละกลุ่มธุรกิจ/อุตสาหกรรม และในแต่ละภูมิภาค ดังนั้น เพื่อการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปอย่างถูกต้องต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ด้านอุตสาหกรรม และด้านแรงงานอย่างรอบด้าน รวมทั้งรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตลอดจนการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและการเพิ่มผลิตภาพด้านแรงงานจึงขอให้คณะกรรมาธิการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาศึกษาการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย ที่มีความเหมาะสมและลดผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ

โดยคณะกรรมาธิการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการการแรงงาน พิจารณาศึกษาเรื่องดังกล่าวและได้ข้อสรุปดังนี้

1. ไม่ควรกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวกันทั่วประเทศโดยคงฐานไว้ที่ 300 บาท/วัน

2. ควรให้การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นอำนาจหน้าที่ของ "คณะกรรมการค่าจ้าง" โดยมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 ได้กำหนดกรอบ/ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ต้องนำมาใช้พิจารณา ดังนั้น เห็นสมควรที่คณะกรรมการค่าจ้างต้องดำเนินการตามมาตรา 87 โดยครบถ้วน อนึ่งเห็นสมควรส่งข้อมูลความเห็นที่รวบรวมได้ให้คณะกรรมการค่าจ้างเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาและควรปรับคณะกรรมการค่าจ้างเป็น "พหุภาคี" ที่มีนักวิชาการที่หลากหลาย ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

3. ควรมอบอำนาจให้ "คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด" พิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นตอนตามสภาพข้อเท็จจริงและความจำเป็นของแต่ละจังหวัด เนื่องจากข้อมูลข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบการพิจารณากำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละจังหวัด (เช่น สภาพเศรษฐกิจสังคมรายได้ประชาชาติต่อหัว สภาพ/จำนวนการจ้างงาน ประเภทและขนาดของธุรกิจ/อุตสาหกรรม ฯลฯ) จะแตกต่างกันมาก อนึ่งควรให้ "นายจ้าง/ลูกจ้าง" มีส่วนร่วมในการคัดเลือก "ผู้แทนนายจ้าง/ผู้แทนลูกจ้าง" ในคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดโดยตรง

4. ควรมีการส่งเสริมสนับสนุนผลักดันให้สถานประกอบการมี "การปรับค่าจ้างประจำปี" (ตามสภาพของธุรกิจ สภาพอุตสาหกรรม สภาพพื้นที่) ให้แก่ลูกจ้างที่มีอายุการทำงานกับนายจ้างมากกว่า 1 ปี โดยปรับปรุงอำนาจหน้าที่คณะกรรมการค่าจ้างที่มีอยู่ตามมาตรา 79 (2) ทั้งนี้ ควรมี "อนุกรรมการไตรภาคีด้านกฎหมาย" ในการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงความเห็นในการปรับปรุงข้อกฎหมายดังกล่าว

5. ควรมีการกำหนดและตรวจสอบให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแก่ลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือมาแล้ว ทั้งนี้การบริหารจัดการด้านการพัฒนาคุณวุฒิแห่งชาติการฝึกฝีมือพัฒนาทักษะ และการทดสอบมาตรฐานฝีมือ ควรบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงแรงงาน ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เพื่อให้การพัฒนาฝีมือแรงงานมีความหลากหลายและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

6. ควรสนับสนุนแนวทางการดำเนินการของกระทรวงแรงงานที่จะให้มีระบบค่าจ้าง (อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ) ตามการพัฒนาเศรษฐกิจ 18 กลุ่มจังหวัด โดยเฉพาะกลุ่มจังหวัดที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษกลุ่มจังหวัดที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวของจังหวัดใกล้เคียงกัน สำหรับการพัฒนาให้มีระบบค่าจ้างตามกลุ่มอุตสาหกรรม ควรเกี่ยวข้องกับโครงสร้างการบริหารค่าจ้างค่าตอบแทนเนื่องจากแต่ละจังหวัดไม่ควรมี "ค่าจ้างขั้นต่ำ" หลายอัตราตามประเภทอุตสาหกรรมที่มีในแต่ละจังหวัด

7. ควรส่งเสริมสนับสนุนให้สถานประกอบการส่วนใหญ่มี "ค่าจ้างในลักษณะผสมผสาน" คือ ค่าจ้างขั้นต่ำ (หรือค่าจ้างแรกเข้าทำงาน) ค่าจ้างตาม "แท่งค่าจ้าง" หรือการปรับค่าจ้างประจำปี ตามข้อ 4 ข้างต้น และค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ เช่นเดียวกับที่มีการปฏิบัติอยู่ในสถานประกอบการขนาดใหญ่ปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจาก "ค่าจ้างในลักษณะผสมผสาน" นี้จะนำไปสู่ "ระบบค่าจ้างลอยตัว" ในที่สุด

 

ตัวแทนองค์กรลูกจ้าง-นายจ้างคิดเห็นอย่างไร?

ทั้งนี้ในรายงานฉบับนี้ระบุว่า ผู้แทนองค์กรลูกจ้าง ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานที่ผ่านมาของ "คณะกรรมการค่าจ้าง" หลายประการ เช่น การทำงานของ "คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด" ที่ให้พิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัด ซึ่งอำนาจดังกล่าวไม่มีจริงเพราะท้ายสุดแล้วคณะกรรมการค่าจ้างจากส่วนกลางเป็นผู้ตัดสินใจ ดังนั้นควรยกเลิกคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ขณะเดียวกัน "ข้อแนะนำการปรับค่าจ้างประจำปี" ของคณะกรรมการค่าจ้างไม่มีอำนาจบังคับภาคเอกชนให้ปรับค่าจ้างแก่ลูกจ้างที่ทำงานมาแล้วมากกว่า 1 ปี เป็นเพียงขอแนะนำเท่านั้น ส่งผลให้ลูกจ้างจำนวนมากยังติดอยู่ในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับ "ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ" นั้น ซึ่งกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแก่ลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแล้วยังไม่มีผลการบังคับอย่างจริงจังให้เป็นเป็นรูปธรรม เป็นต้น

สำหรับแนวทางการพัฒนาระบบค่าจ้าง/รายได้ ของลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน ผู้แทนองค์กรลูกจ้างมีความเห็นที่น่าสนใจคือ

1. ควรเพิ่มนักวิชาการเป็นภาคีที่ 4 ในคณะกรรมการค่าจ้างและการพิจารณาปรับปรุงอัตราค่าจ้าง ควรพิจารณาตามปัจจัยที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 มาตรา 87

2. ควรให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมในการคัดเลือก "ผู้แทนลูกจ้าง" ในคณะกรรมการค่าจ้าง โดยเฉพาะการใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งโดยตรงตามการใช้สิทธิเลือกตั้งโดยตรงตามหลัก 1 คน 1 เสียง

3. ควรเปลี่ยน "ค่าจ้างขั้นต่ำ" เป็น "ค่าจ้างแรกเข้า" ใช้เฉพาะลูกจ้างที่เข้าทำงานปีแรกสำหรับลูกจ้างที่ทำงานเกิน 1 ปี ให้นายจ้างปรับค่าจ้างรายปี โดยใช้ผลการประเมินของลูกจ้าง ดัชนีค่าครองชีพ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ลูกจ้างที่มีอยู่มามากกว่า 1 ปี ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่า "ค่าจ้างแรกเข้า" ความจำเป็นในการปรับ "ค่าจ้างแรกเข้า" หมดไป (จะมีการพิจารณาปรับเฉพาะกรณีมีปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงเท่านั้น)

ส่วน ผู้แทนองค์กรนายจ้าง ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ทั่วประเทศในหลาย ๆ ประเด็น เช่น บริษัทที่ไม่ได้ใช้แรงงานเป็นหลัก (เช่น สื่อสาร ธนาคาร บริษัทขนาดใหญ่ที่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้) จะไม่เสียหายจากการปรับค่าจ้างดังกล่าว ส่วนผู้ประกอบการท้องถิ่นขนาดเล็ก/กลาง (โดยเฉพาะบริษัทที่ใช้แรงงานจำนวนมากในการดำเนินธุรกิจ) และ SMEs (ที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน) ต้องแบกภาระเพิ่มขึ้น การขยายธุรกิจสะดุด บางบริษัทขาดทุน ต้องเลิกจ้างคนงาน/ปิดกิจการ ดังนั้น ควรรอการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้เวลาผู้ประกอบการรายย่อยปรับตัวเตรียมการแข่งขันทางการค้าให้พร้อมกว่านี้ ขณะเดียวกันต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างจริงจัง ไม่ให้ค่าแรงที่ปรับใหม่ต้องหมดไปกับค่าใช้จ่ายประจำวันที่เพิ่มมากขึ้น อนึ่งสำหรับลูกจ้างที่พัฒนาตนเอง/ทำงานดี นายจ้างจะมีการพิจารณาให้ค่าจ้างเกินกว่า 300 บาท/วัน อยู่แล้ว

สำหรับแนวทางการพัฒนาระบบค่าจ้าง/รายได้ของลูกจ้างผู้ใช้แรงงาน ผู้แทนองค์กรนายจ้างส่วนใหญ่ มีความเห็นโดยสรุปดังต่อไปนี้

1. ยังมีความจำเป็นต้องกำหนด "ค่าจ้างขั้นต่ำ" เพื่อความเป็นธรรมทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง ให้เป็นไปตามอนุสัญญาเกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำของ ILO เพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ การไม่มีธรรมาภิบาลและไม่ให้เกิดการกดขี่แรงงานแต่ไม่ควรกำหนดให้เท่ากันทุกจังหวัด ทั้งนี้เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีสภาพเศรษฐกิจสังคม รายได้ประชาชาติต่อหัว การจ้างงานนอกภาคเกษตร ประเภทธุรกิจ/อุตสาหกรรม ฯลฯ แตกต่างกันมาก

2. ควรให้คณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้พิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยปราศจากการแทรกแซงจาก (กลุ่ม) การเมือง ทั้งนี้ปัจจัยที่นำมาพิจารณาควรประกอบด้วยดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต ความสามารถของธุรกิจ อัตราการว่างงาน GDP มาตรฐานฝีมือแรงงาน ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาพรวมการลงทุนเชิงมหภาคของประเทศในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และสภาพเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น

3. การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรให้ "คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด" เป็นผู้พิจารณา โดยคำนึงถึงผลิตภาพแรงงาน/มาตรฐานฝีมือแรงงาน และควรแยกตามประเภทอุตสาหกรรม/ธุรกิจ แยกตามสภาพเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่

4. ควรมีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประเภทธุรกิจ และเนื่องจากประเทศไทยแทบจะไม่มีคนว่างงาน ขณะที่การแข่งขันทางธุรกิจมีสูงขึ้นเรื่อย ๆ ควรพิจารณาให้มี "ค่าจ้างลอยตัว" เป็นไปตามกลไกตลาด

5. รัฐบาลต้องส่งเสริม/พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน ในขณะเดียวกันสถานประกอบการควรมีการพัฒนา/สร้าง "ระบบค่าจ้างในสถานประกอบการ" โดยพิจารณา/ประเมินค่าจ้างแรงงานจากทักษะฝีมือ และปรับค่าจ้างเมื่อลูกจ้างผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือ และปรับค่าจ้างเมื่อลูกจ้างผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือระดับ 1, 2, 3 มีประสิทธิภาพ/ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น

6. แรงงานแรกเข้ายังไม่มีความรู้และประสบการณ์ จำเป็นต้องรับค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อมีความรู้ในงานมีฝีมือ/ทักษะ/ความชำนาญและประสบการณ์เพิ่มขึ้น นายจ้างจะประเมินและเพิ่มค่าจ้างให้ตามผลงานตามโครงสร้างการบริหารค่าตอบแทนของสถานประกอบการโดยอาจจะมีกฎหมายกำหนดรองรับเพื่อดูแลความเป็นธรรมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

 

อนึ่งตัวแทนองค์กรลูกจ้างที่ได้ให้ความเห็นกับคณะอนุกรรมาธิการการแรงงาน ในคณะกรรมาธิการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้แก่สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย, สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย, สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย, สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย, สภาองค์การลูกจ้างไท, สภาองค์การลูกจ้างแรงงานอิสระแห่งประเทศไทย, สภาองค์การลูกจ้างองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย, สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

ส่วนตัวแทนจากองค์กรนายจ้างได้แก่ตัวแทนจาก สภาองค์การนายจ้างอุตสาหกรรมไทย, สภาองค์การนายจ้างธุรกิจอุตสาหกรรมไทย, สภาองค์การนายจ้างการเกษตรธุรกิจอุตสาหกรรมไทย,  สภาองค์การนายจ้างและธุรกิจอุตสาหกรรมแห่งชาติ, สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย, สภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ, สภาองค์การนายจ้างธุรกิจการค้าและบริการไทย, สภาองค์การนายจ้างไทยสากล และสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท