Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

รัฐบาลประกาศความคึกคักในการจองที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ในรูปแบบ “โครงการบ้านยั่งยืน” ซึ่งมิใช่โครงการใหม่มาจากไหน แต่เป็น “โครงการบ้านเอื้ออาทร” ที่ดำเนินการโดยการเคหะแห่งชาติ ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปัดฝุ่นปรับปรุงใหม่ หลายโครงการที่ร้างไม่มีผู้จอง หรือหลุดจากการผ่อนชำระค้างอยู่หลายยูนิต และที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างอีกจำนวนหนึ่ง ถูกนำมาเปิดให้จอง โฆษณาใหม่อีกรอบ จำนวน 13,393 ยูนิต

หลังจากที่ประกาศวันเปิดจองตั้งแต่วันแรกวันที่ 28 สิงหาคม 2558 มีประชาชนจำนวนมากไปยืนรอต่อรอรับบัตรคิวตั้งแต่ตี 4 เนื่องจากราคาที่ต่ำจึงเป็นที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับประชาชนรากหญ้าที่พอจะมีกำลังจ่ายไหวกัน โดยเริ่มต้นราคาที่ 242,000 บาท

ผู้เขียนเองได้มีโอกาสสังเกตการณ์บรรยากาศที่สำนักงานใหญ่การเคหะแห่งชาติ (กคช.) เนื่องจากทราบข่าวช้าเลยกว่าจะถึง กคช.ก็กินเวลาไปเกือบจะ 11.00 น. ปรากฏว่าโครงการที่อยู่อาศัยที่มีราคาต่ำกว่า 300,000 บาทต่อยูนิต ถูกจองไปหมดเกลี้ยงแล้ว และอีกหลายยูนิตที่ราคา 4 – 5 แสนบาท ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก็ถูกจองไปแทบจะหมด ที่เหลือส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่อยู่ต่างจังหวัด

บรรยากาศด้านหน้า สำนักงาน กคช. เต็มไปด้วยรถยนต์นานาชนิดที่จอดเรียงรายเพื่อรอการเข้าจองที่อยู่อาศัยในงานนี้ ภาพเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอะไรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการที่อยู่อาศัยของคนเมืองซึ่งยังคงเป็นความต้องการลำดับต้นๆ ดูได้จากความกระตือรือร้นมารอคิวกันตั้งแต่เช้า กระนั้นที่อยู่อาศัยที่ กคช.จัดให้จองนั้นยังคงไม่เพียงพอต่อประชาชน

หากจะดูให้ละเอียดลงไป ผู้เขียนมีคำถามว่า กลุ่มคนที่มาจองนั้นใช่ผู้ที่ขาดแคลนที่อยู่อาศัยจริงหรือไม่? หรือเป็นกลุ่มที่มีที่อยู่อาศัยอยู่แล้วต้องการเพิ่มเติมจากเดิม? เช่น เดิมมีบ้านแล้วอยู่กัน พ่อ แม่ ลูก แต่ลูกออกมาขอใช้สิทธิ์ในการซื้อเพียงคนเดียวเป็นบ้านหลังที่ 2 ของครอบครัว เนื่องจากคุณสมบัติผู้ที่จะสามารถจองซื้อที่อยู่อาศัย “โครงการบ้านยั่งยืน” ไม่ได้เข้มงวดมากนัก


ภาพวันเปิดจองโครงการบ้านยั่งยืนวันแรก 28 ส.ค. 58 ที่สำนักงาน กทช.


หากจะลองย้อนมาดูกฎเกณฑ์ กติกา ผู้ที่จะมีคุณสมบัติในการได้รับการช่วยเหลือจากโครงการนี้ มีดังนี้

คุณสมบัติผู้ทำสัญญา

1.มีสัญชาติไทย
2.บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีขึ้นไป)
3.ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่ติด BLACK LIST หรือ เครดิตบูโรจากสถาบันการเงิน
4.มีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 40,000 บาท/เดือน
5.สามารถรับภาระและเงื่อนไขการเช่าซื้อได้ โดยผ่านเกณฑ์การพิจารณาจากการเคหะแห่งชาติ

ส่วนหลักฐานในการทำสัญญา นอกจากเอกสารยืนยันตัวตนที่ทางราชการออกให้ ที่สำคัญต้องมีหนังสือรับรองรายได้ตนเองและคู่สมรส หนังสือรับรองรายได้จากหน่วยงาน สลิปเงินเดือน หรือสำเนาบัญชีเงินฝาก หากไม่มีสลิปเงินเดือนจะต้องมีรูปถ่ายกิจการของตนเอง

หากดูผ่านๆ ก็คล้ายว่ามีการคัดกรองเอาเฉพาะประชาชนผู้มีรายได้น้อย (จากข้อ 4) แต่นั้นก็ไม่ใช่สิ่งการันตีว่าบุคคลอื่นที่มีรายได้ครอบครัวมากกว่า 40,000 ต่อเดือน จะไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยโครงการบ้านยั่งยืนได้ ถ้าหากผู้ซื้อนั้นในปัจจุบันพักอาศัยเพียงคนเดียว หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าอยู่อาศัยเพียงคนเดียว ก็จะทำให้บุคคลที่มี “เงินเดือนไม่เกิน 40,000 บาทต่อเดือน” สามารถซื้อบ้านโครงการบ้านยั่งยืนได้ และนั้นก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ผู้เขียนไม่แปลกใจที่โครงการเหล้าเก่าในขวดใหม่นี้ถูกจองหมดไปด้วยความรวดเร็ว

นอกจากนั้น อาจเกิดขบวนการเก็งกำไรที่อยู่อาศัยตามโครงการต่างๆ ที่ทาง กทช. เปิดให้ประชาชนจองขึ้นได้ เนื่องจากการกำหนดและติดตามตรวจสอบที่ผ่านมาของโครงการบ้านเอื้ออาทรเดิมนั้นเอื้อต่อขบวนการดังกล่าว ประกอบกับข้อจำกัดของพนักงาน กทช. ที่มีจำนวนน้อยไม่สามารถตรวจสอบได้ละเอียดกับทุกราย ทุกโครงการที่มาซื้อที่อยู่อาศัย

ครั้นจะมองถึงการแก้ปัญหาประชาชนรากหญ้าที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด จากประสบการณ์ของชุมชนสมาชิกในเครือข่ายสลัม 4 ภาคนั้น การแก้ปัญหาชุมชนด้วยการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ดีขึ้นโดยส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่เดิมของชาวชุมชนให้น้อยที่สุด เป็นสิ่งจำเป็น

ที่ผ่านมา หลังจากที่ต่อสู้เรียกร้องจนได้ที่ดินที่มั่นคงมา ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการเช่าที่ดินระยะยาวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือการรวมกลุ่มตั้งสหกรณ์เคหะสถานเพื่อซื้อที่ดิน สมาชิกเครือข่ายสลัม 4 ภาค จะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ผ่าน “โครงการบ้านมั่นคง” ซึ่งกำกับดูแลโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) เพื่อมาพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


ภาพการก่อสร้างที่อยู่อาศัยโดยช่างชุมชน โดยใช้งบประมาณจากโครงการบ้านมั่นคง

ระบบการบริหารโครงการ “บ้านมั่นคง” ต่างจาก โครงการ “บ้านยั่งยืน” อย่างสิ้นเชิง โดยสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างได้ ดังนี้

รูปแบบ โครงการบ้านมั่นคง โครงการบ้านยั่งยืน
การเลือกทำเล ที่ตั้งชุมชน ชุมชนร่วมกันตัดสินใจจะเอาที่ไหน ลักษณะแบบใด การเคหะฯ เป็นผู้เลือกให้
การออกแบบบ้าน ที่อยู่อาศัย ชุมชนออกแบบเอง ตามกำลังใช้จ่ายของแต่ละครอบครัว พิจารณาโดยชุมชน ซึ่งมีแบบที่หลากหลาย วัสดุอุปกรณ์ตรงตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย การเคหะฯ เป็นผู้ออกแบบให้ มีไม่กี่แบบให้เลือก
การใช้สินเชื่อ จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เป็นเครดิตในการใช้สินเชื่อกับทางรัฐบาลดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 4 บาทต่อปี คงที่ตลอด 15 ปี ต้องมีสลิปเงินเดือน มีธุรกิจ กิจการที่มั่นคง ดอกเบี้ยตามธนาคารทั่วไป
การติดตามการชำระรายงวด มีความยืดหยุ่น เจรจากันในชุมชน ช่วยเหลือกันในกลุ่ม ผ่อนปรนไม่แข็งตัว หากค้างชำระ 3 งวด ติดต่อกัน ยึดกลับคืนทันที ฟ้องร้องตามกฎหมาย ผ่อนปรนไม่ได้

ดังนั้น สำหรับประชาชนรากหญ้าที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด “โครงการบ้านยั่งยืน” จึงไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของหลักเกณฑ์ผู้จะซื้อ หรือแม้แต่ทำเลที่ตั้ง อีกทั้งรูปแบบที่อยู่อาศัยที่ส่วนใหญ่ออกแบบเป็นลักษณะอาคารห้องชุดเป็นหลัก ซึ่งไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนจนเมือง


โครงการประชานิยม กับคำถามต่อความยั่งยืนของชุมชน

การเข้าถึงของประชาชนรากหญ้าในชุมชนแออัด หรือถ้าจะให้ตอบกันตรงๆ และชัดเจนแล้ว “โครงการบ้านยั่งยืน” ไม่ได้สอดคล้องกับวิถีชาวสลัม ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเงิน อาชีพ และด้านสังคม ความเป็นอยู่ในลักษณะครอบครัวซึ่งอยู่กันหลายคน ชาวสลัมส่วนใหญ่จึงตอบรับการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในรูปแบบ “โครงการบ้านมั่นคง” ขณะที่ “โครงการบ้านยั่งยืน” นั้นตอบโจทย์ความต้องการกับประชาชนชนชั้นกลางมากกว่า

ทำให้นึกไปถึงสถานการณ์ประเทศไทยในปัจจุบันที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างมาก และรัฐบาลพยายามหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ ถึงขนาดงัดเอานโยบายประชานิยมออกมาใช้ใหม่ ทั้งที่โดนคัดค้านและถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้มเหลวในรัฐบาลที่ผ่านมา เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง กองทุนหมู่บ้าน รวมถึงโครงการบ้านยั่งยืนที่ถูกปัดฝุ่นขึ้นมาจากโครงการบ้านเอื้ออาทร โดยอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนรากหญ้า

แต่แท้จริงแล้วนั้น โครงการประชานิยมเหล่านี้จุดประสงค์คือต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้มีการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยใช้โครงการของรัฐอัดเม็ดเงินลงไปที่ชุมชน หมู่บ้านซึ่งเป็นกลุ่มมีความตอบสนองเร็วในการใช้งบประมาณของรัฐในลักษณะเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างถึงความเหมาะสม

สุดท้าย เม็ดเงินหลักหลายหมื่นล้านที่ลงไปซ้ำรอยประชานิยมของรัฐบาลในอดีตที่ผ่านมานั้น จะสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงเหล้าเก่าในขวดใหม่ เพียงเปลี่ยนยี่ห้อ แต่คุณภาพไม่แตกต่างจากเดิม ในส่วนนี้ภาคประชาชนเองคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดกันต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net