Skip to main content
sharethis

27 ส.ค. 2558 เว็บไซต์ NBTCRights เผยแพร่วาระการประชุมของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) โดยระบุว่า ในวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม 2558 มีหลายวาระที่น่าจับตา ได้แก่ เรื่องการปรับงบกลางปีของสายงานโทรคมนาคม เรื่องแก้ไขประกาศกระบวนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของกิจการโทรคมนาคม เรื่องเอกชนขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการให้บริการ Wi-Fi ฟรีบนรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ เรื่องพิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับปรุงการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน

วาระการปรับงบกลางปีของสายงานโทรคมนาคม
เรื่องปรับงบประมาณกลางปีนี้ เดิมทีมีการนำเสนอเข้าที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 8/2558 แล้วเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่ถูกที่ประชุมเขี่ยออกเนื่องจากยังไม่ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมบอร์ดเล็ก ทั้ง กทค. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม) และ กสท. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์) ซึ่งไม่เป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการ ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน กสทช. จึงต้องนำเสนอเรื่องนี้แบ่งตามสายงานให้ที่ประชุมบอร์ดเล็กพิจารณาให้ความเห็นชอบเสียก่อน ค่อยนำเสนอเข้าที่ประชุม กสทช. อีกครั้ง โดยพอคาดการณ์ได้ว่ากระบวนการหลังจากนี้คงเป็นไปอย่างรีบเร่งและรวบรัดตามห้วงเวลาที่เหลืออยู่ เพราะจนบัดนี้ก็ล่วงเลยเวลาจวนสิ้นไตรมาสที่สามของปีแล้ว

สำหรับในส่วนของสายงานกิจการโทรคมนาคมนั้น มีคำขอปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 จำนวน 43.868 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีคำของบประมาณรายจ่ายกลางปีเพิ่มจำนวน 36.762 ล้านบาท แม้ในทางตัวเลขเมื่อหักลบกลบหนี้แล้ว อาจถือว่าเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายลง 7.106 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้เป็นการปรับลดรายการค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานต่างประเทศถึง 4.118 ล้านบาท แต่หากพิจารณาในรายละเอียด ก็ชวนประหลาดใจเพราะวงเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายรายการนี้ประจำปี 2558 ตั้งไว้สูงถึง 32 ล้านบาท แต่ยอดการเบิกจ่ายและผูกพันสัญญา ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปีมีเพียงไม่ถึง 5 ล้าน นั่นหมายความว่ามีงบประมาณคงเหลือสูงถึง 23 ล้านบาท แม้จะมีการปรับลดงบประมาณลงแล้วก็ตาม จึงน่าสงสัยว่าหลังจากนี้อีกเพียงไม่กี่เดือนจะมีการใช้งบเดินทางไปปฏิบัติงานต่างประเทศนี้อย่างไร

นอกจากนี้ ในส่วนการปรับลดงบประมาณที่เป็นรายการค่าใช้จ่ายโครงการ จำนวน 39.750 ล้านบาท จำนวน 4 โครงการ เป็นการปรับลดงบประมาณลงจริงเพียงโครงการเดียว โดยมีการยกเลิกโครงการไป แต่อีก 3 โครงการกลับมีการนำมาขอปรับเพิ่มของบประมาณกลางปีใหม่ ซึ่งแปลความได้ว่าเป็นเพียงการสับขาหลอกเพื่อเลื่อนหรือขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ หาใช่การปรับลดงบประมาณโดยความหมายที่แท้จริง อีกทั้งยังมีข้อน่าสังเกตด้วยว่าทั้งสามโครงการมีการตั้งงบประมาณดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว จึงเข้าข่ายว่าเป็นการดำเนินโครงการล่าช้าและขาดประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้นการเลื่อนระยะเวลาดำเนินการดังกล่าว บางโครงการยังส่งผลให้เกิดภาระผูกพันงบประมาณไปยังปีงบประมาณต่อไป ทั้งที่เดิมโครงการเหล่านี้ควรต้องสิ้นสุดภายในปี 2558 แสดงให้เห็นว่ากระบวนการพิจารณางบประมาณตลอดเส้นทางที่ผ่านมา ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบในเรื่องการก่อภาระผูกพันงบประมาณ และเรื่องวินัยการบริหารงบประมาณเท่าที่ควร


วาระแก้ไขร่างประกาศเรื่องกระบวนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของกิจการโทรคมนาคม
วาระนี้เป็นวาระที่สำนักงาน กสทช. เสนอขอแก้ไขประกาศเรื่องกระบวนการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยระบุเหตุผลของการขอแก้ไขว่า เนื่องจากประกาศเดิมออกตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2543 ซึ่งเมื่อมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 จึงควรมีการปรับปรุงแก้ไขประกาศดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้สำนักงาน กสทช. ได้เคยนำเสนอต่อที่ประชุม กทค. มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อคราวการประชุม กทค. ครั้งที่ 10/2558 วันที่ 19 พฤษภาคม 2558 โดยที่ประชุมมีมติให้สำนักงาน กสทช. นำร่างดังกล่าวไปปรับปรุงแก้ไขตามความเห็นของที่ประชุม
               
ทั้งนี้โดยหลักการในการแก้ไขประกาศ ก็ควรเป็นการแก้ไขปรับปรุงให้กระบวนรับและพิจารณาเรื่องร้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคสามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้ง่ายขึ้น หากแต่การแก้ไขร่างประกาศในวาระนี้ โดยภาพรวมแล้วดูเหมือนจะไม่ตอบโจทย์ตามหลักการดังกล่าว ซ้ำยังมีบางประเด็นที่น่าจะเป็นปัญหา และควรได้รับการแก้ไข คือ

กระบวนการพิจารณาขาดประสิทธิภาพ แม้ร่างประกาศกำหนดให้การพิสูจน์ข้อเท็จจริงเป็นภาระของผู้ให้บริการ แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาในการจัดส่งเอกสารพยานหลักฐานแต่อย่างใด อีกทั้งประกาศเดิมกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องพิจารณาแก้ไขเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ร่างประกาศใหม่แก้ไขให้ผู้รับใบอนุญาตเร่งรัดการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ซึ่งถือเป็นเพียงบทเร่งรัด ไม่ใช่บทบังคับตามเดิม ดังนั้นผู้ให้บริการอาจประวิงเวลาในการส่งเอกสารและแก้ไขเรื่องร้องเรียน ทำให้การพิจารณาแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนล่าช้าออกไป

ตัดสิทธิผู้ร้องเรียนที่จะได้รับความคุ้มครอง ร่างประกาศฉบับนี้มีการตัดสาระสำคัญของประกาศฉบับเดิมในประเด็นที่ว่า หากเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาให้บริการหรือมาตรฐานการให้บริการที่ดี ผู้ให้บริการจะต้องหยุดการดำเนินการใดๆ อันเป็นเหตุแห่งการร้องเรียนซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนจนกว่าเรื่องร้องจะได้ข้อยุติ

เปิดให้ใช้ดุลยพินิจเกินจำเป็น ร่างประกาศฉบับนี้ระบุว่า กรณีเป็นเรื่องร้องเรียนที่ไม่ซับซ้อนต่อการดำเนินการแก้ไข ให้เลขาธิการเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยสั่งการ ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาในภายหลังว่าเรื่องร้องเรียนลักษณะใดที่เข้าข่ายไม่ซับซ้อน และเลขาธิการจะใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยสั่งการแก้ไขเรื่องร้องเรียนนั้นอย่างไร การเปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจที่กล่าวนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้

ไม่อำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคอย่างเพียงพอ ร่างประกาศฉบับนี้ยังคงกำหนดให้ผู้ร้องเรียนต้องส่งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนก่อนจึงค่อยเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน ซึ่งกลายเป็นภาระและอุปสรรคในการเข้าถึงความเป็นธรรมของผู้บริโภค เพราะปัญหาบางเรื่องเกิดการละเมิดสิทธิขึ้นแล้วและควรต้องมีการระงับการกระทำนั้นโดยเร็ว ดังนั้นจึงควรให้ผู้ร้องเรียนสามารถร้องเรียนทางวาจาโดยทางโทรศัพท์ได้ โดยไม่ต้องให้ส่งสำเนาบัตรประชาชนเพื่อประกอบการร้องเรียนก่อนแล้วจึงค่อยเข้าสู่กระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียน ทั้งนี้การแสดงบัตรประชาชนหรือสำเนาควรเป็นเพียงกระบวนการตรวจสอบหรือระบุตัวตนก็น่าจะเพียงพอ นอกจากนี้ หลังจากที่มีการรับเรื่องร้องเรียนแล้ว ก็ไม่มีการระบุขั้นตอนการแจ้งให้ผู้ร้องเรียนรับทราบ ซึ่งอาจเป็นช่องโหว่ให้เกิดการอ้างในภายหลังว่าไม่มีการร้องเรียนเกิดขึ้น


วาระเอกชนขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการให้บริการ Wi-Fi ฟรีบนรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ
บริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) ขอรับใบอนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบ Wi-Fi บนรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ โดยบริษัทได้ทำข้อตกลงไว้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ภายใต้นโยบายในการเพิ่มคุณภาพการให้บริการรถโดยสารประจำทางปรับอากาศให้กับประชาชน บริการอินเทอร์เน็ตดังกล่าวนี้เป็นการให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ผู้ใช้บริการต้องรับชมโฆษณาครั้งละ 10 วินาที ต่อการใช้งาน Wi-Fi ฟรีทุกๆ 15 นาที ซึ่งบริษัทจะมีรายได้จากการขายโฆษณาให้กับผู้สนับสนุนโครงการ อย่างไรก็ดี แม้บริการนี้จะเป็นการให้ใช้งานฟรี แต่สิ่งที่ กทค. ต้องเน้นย้ำกับบริษัทในการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการคือ ต้องรักษาคุณภาพบริการให้สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้จริงด้วย เพราะอยู่ภายใต้การประกอบกิจการโทรคมนาคมและเข้าข่ายรูปแบบการให้บริการที่เป็นลักษณะสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งในช่วงการเปิดให้บริการทดลองใช้งานที่ผ่านมา ก็เริ่มมีเสียงบ่นของผู้บริโภคแล้วว่าไม่สามารถใช้งานได้จริง และในช่วงการรับชมโฆษณาก่อนล็อคอินเข้าสู่ระบบ เป็นการใช้บริการผ่านดาต้าของผู้ใช้บริการเอง

วาระพิจารณาข้อเสนอเกี่ยวกับการปรับปรุงการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงิน
สืบเนื่องจากมีผู้ร้องเรียนไปถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี หนังสือลงวันที่ 19 มกราคม 2558 เสนอให้มีการปรับปรุงการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงิน เนื่องจากการกำหนดวันหมดอายุของการเติมเงิน ซึ่งถ้าจำนวนวันหมด ก็จะถูกระงับบริการ แม้จะยังมีเงินคงเหลืออยู่ในระบบก็ตาม เรื่องนี้จึงถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังมีผู้บริโภคจำนวนมากที่ไม่เข้าใจในระบบเติมเงิน เมื่อจำนวนวันหมดอายุ จึงถูกริบเงินที่เหลือในระบบไปโดยไม่รู้ตัว
               
ปัญหาเรื่องการกำหนดวันอายุบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงินเคยเป็นประเด็นที่ผ่านการวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงกันอย่างเข้มข้นในสังคมมาแล้ว ซึ่งโดยท้ายที่สุด ที่ประชุม กทค. ก็ได้มีมติเมื่อ 29 มกราคม 2556 กำหนดให้การเติมเงินทุกมูลค่าจะได้รับระยะเวลาใช้งานไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยมีระยะเวลาสะสมสูงสุดอย่างน้อย 365 วัน และเมื่อมีการยกเลิกสัญญาใช้บริการ ผู้ประกอบการจะต้องคืนเงินคงเหลือให้แก่ผู้ใช้บริการ ตามประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549
               
กรณีนี้หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงมติเป็นอื่น ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องเผยแพร่มติเดิมและทำความเข้าใจกับบริโภคทั่วไปถึงเงื่อนไขการเติมเงินและสิทธิในการขอเงินคืนให้แพร่หลายมากขึ้น รวมทั้งกำหนดให้ผู้ประกอบการประชาสัมพันธ์ข้อมูลไปยังผู้ใช้บริการของตนว่า หากยกเลิกสัญญาใช้บริการ จะสามารถรับเงินค่าบริการดังกล่าวคืนโดยวิธีการใดหรือช่องทางใดได้บ้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net