Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เรายังควรสอนศีลธรรมในสถาบันการศึกษาหรือไม่? ผมคิดว่าควรอย่างยิ่งทีเดียว แต่ก่อนจะคุยกันเรื่องนี้ต่อไป ต้องแน่ใจก่อนว่า เราเข้าใจคำว่า "ศีลธรรม" ตรงกันหรือไม่

"ศีลธรรม" ในความหมายที่แท้จริงคือความคิดและความรู้สึกที่เกี่ยวกับคนอื่น สัตว์อื่น และสิ่งอื่น คือไม่ใช่ความคิดที่เกี่ยวกับประโยชน์ตน ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม พูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้นคือความคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับส่วนรวม การไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนั้น หากสมาทานศีลข้อนี้ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้อายุยืน ความเชื่อนี้ไม่เกี่ยวกับศีลธรรม หรือแม้แต่เชื่อว่าเป็นการฝึกใจตนเองให้อ่อนโยนด้วยความเมตตากรุณา ก็ไม่ใช่ความคิดทางศีลธรรมอยู่นั่นเอง เพราะไม่เกี่ยวกับคนอื่น สัตว์อื่น และสิ่งอื่น แต่อาจเป็นความคิดทางศาสนา (ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละศาสนา) ตรงกันข้าม หากไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ด้วยความเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตอื่นก็รักตัวกลัวตายเหมือนกัน จึงไม่ควรไปเบียดเบียนเขา อย่างนี้เป็นความคิดความรู้สึกทางศีลธรรม

ผมเข้าใจว่าพระพุทธศาสนา (และเข้าใจว่าศาสนาอื่นด้วย) สอนไม่ให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทั้งสองอย่าง คือเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านด้วย หากสอนศีลธรรมของพระพุทธศาสนาก็ต้องว่าด้วยประโยชน์ท่าน

สำนึกถึงประโยชน์ท่านนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามความรับรู้ของผู้คน ดังนั้น ศีลธรรมจึงไม่เคยเป็นกฎตายตัว การกระทำที่ครั้งหนึ่งไม่เห็นว่าเป็นการผิดศีลธรรม มาถึงอีกยุคสมัยหนึ่งก็อาจกลายเป็นผิดศีลธรรมไปก็ได้

การกินเนื้อสัตว์นั้น คือการส่งเสริมให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ในสมัยหิน โปรตีนที่หาง่ายที่สุดคือเนื้อสัตว์ (จากการล่า ไม่ต้องเลี้ยง) ง่ายกว่าการหาโปรตีนจากพืชเสียอีก (อย่างน้อยถั่วเหลืองก็ต้องตระเวนเก็บจากธรรมชาติ หรือต้องปลูก) นี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้มนุษย์รู้สึกว่าเนื้อสัตว์เป็นโปรตีนที่อร่อยที่สุดจนถึงปัจจุบัน แต่ถึงแม้ยอมจำนนต่อการยึดติดของลิ้น ก็ต้องรู้ว่าการเลี้ยงสัตว์เพื่อตลาดในโลกปัจจุบันได้กลายเป็นการทารุณสัตว์อย่างเหี้ยมโหดไปเสียแล้ว เพื่อทำกำไรสูงสุดแก่ผู้ลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว เนื้อไก่-ไข่ไก่ เนื้อหมู ฯลฯ

จึงเหลือทางเลือกทางศีลธรรมแก่ผู้กินเนื้อสัตว์อยู่เพียงสองทาง หนึ่ง-คือเลิกกินเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงขึ้นเชิงพาณิชย์ หรือสอง-ร่วมจัดตั้งพลังของผู้บริโภคกดดันให้ผู้ผลิตคิดถึงใจไก่ ใจหมู ใจวัวให้มากขึ้น

ครับ..ศีลธรรมคือความคิดความรู้สึกต่อคนอื่น, สัตว์อื่น, สิ่งอื่นก็จริง แต่เป็นความคิดความรู้สึกที่ก่อให้เกิดพันธะทางสังคมต่อตัวเราด้วย

ในขณะเดียวกัน เพราะนัยยะทางศีลธรรมของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกและในชีวิตประจำวัน อาจเข้าถึงได้จากการทำความเข้าใจด้วยข้อมูลและเหตุผล อีกทั้งจะเข้าใจความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องก็ต้องใช้ความคิด ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการถกเถียงเพื่อมองเห็นวิธีมองได้หลากหลายแง่มุม ดังนั้น การเรียนรู้ศีลธรรมจึงทำได้เฉพาะในบรรยากาศแห่งเสรีภาพเท่านั้น ไม่มีกฎเกณฑ์หรือค่านิยมอะไรของใครให้ต้องท่องจำ อย่าลืมว่าศีลธรรมไม่ได้มีไว้ให้เรียนเพื่อรู้ (หรือสอบ) แต่รู้เพื่อให้เกิดพันธะทางสังคมแก่ตนเอง การเรียนแบบเปิดกว้างจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีวันที่จะเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพได้เลย

ดังเช่นค่านิยม 12 ประการที่สั่งลงมาจากเบื้องบน

ด้วยเหตุฉะนี้แหละครับ ที่ทำให้ผมคิดว่าไม่มีใครสามารถคิดหลักสูตรวิชาศีลธรรมขึ้นได้ ไม่พักต้องพูดว่า ไม่มีใครสอนวิชาศีลธรรมที่ลอยอยู่โดดๆ โดยไม่สัมพันธ์กับบริบทชีวิตจริงของผู้เรียนได้ ที่เขาพูดว่าพ่อแม่เป็นครูสอนศีลธรรมคนแรกนั้นใช่เลย เพราะท่านไม่ได้สอน "วิชา" ศีลธรรม แต่นำเอามิติทางศีลธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องกับประสบการณ์จริงในชีวิตของลูก (เช่น คุยกันว่าจะแก้ปัญหาถูกเพื่อนรังแกอย่างไรโดยไม่ใช้ความรุนแรง เพราะความรุนแรงเป็นภัยต่อส่วนรวม...เป็นการแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ตนก็จริง แต่วางบนพื้นฐานของประโยชน์ท่าน)

ถึงแม้ไม่มี "วิชา" ศีลธรรมให้ใครสอน แต่โรงเรียนไปถึงมหาวิทยาลัยควรสอนศีลธรรมในทุกวิชาที่เรียน เพราะไม่ว่าจะเป็นความรู้อะไร ก็ล้วนมีมิติทางศีลธรรมแฝงอยู่ทั้งสิ้น เคมีตอบสนองตลาดงานจ้างก็ควรรู้ แต่เคมีทำให้ชีวิตของคนอื่นดีขึ้นได้อย่างไรก็ควรรู้ด้วย โตขึ้นมาหน่อยก็ควรรู้ด้วยว่า เคมีในโลกปัจจุบันถูกใช้เพื่อเอาเปรียบคนอื่นอย่างไร และควรมีเวลาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และอภิปรายกันถึงทางออกจากความไม่มีศีลธรรมของธุรกิจขนาดใหญ่ได้อย่างไร

ไม่ต้องพูดถึงวิชาสังคมศึกษา-สังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์ ซึ่งมิติทางสังคมเป็นฐานที่ขาดไม่ได้ของการเรียนรู้วิชาเหล่านี้

ศีลธรรมจึงไม่เกี่ยวกับศาสนา จะเป็นพุทธ, มุสลิม, คริสต์, ฮินดู ฯลฯ ก็สามารถนำมิติทางศีลธรรมเข้าไปในการเรียนรู้ได้ทั้งนั้น แม้คนที่ไม่นับถือศาสนาใดเลย ก็อาจคิดและรู้สึกทางศีลธรรมได้ และหลายคนที่ผมรู้จักมีสำนึกเรื่องนี้แหลมคมกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ หรือในทางตรงข้ามเป็นพุทธ, มุสลิม, คริสต์, ฮินดู หรือไม่มีศาสนา ฯลฯ แล้วไม่เคยคิดและรู้สึกในทางศีลธรรมเลยก็ได้

มิติทางศีลธรรมเป็นสิ่งที่แทบจะพูดได้ว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ฝูงที่นึกคิดอะไรนอกสัญชาตญาณได้ การคงอยู่ของฝูงจึงมีความสำคัญต่อการคงอยู่ของมนุษย์ เหมือนสัตว์ฝูงประเภทอื่นซึ่งอาจมีศีลธรรมตามสัญชาตญาณ (นักสัตวศาสตร์ปัจจุบันเริ่มเห็นจากการทดลองว่าสัตว์บางชนิดมีความคิดทางศีลธรรมเหมือนกัน)

ผมคิดว่าความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงของผู้จัดการศึกษาในแบบของไทย นับตั้งแต่เริ่มการศึกษาแผนตะวันตกในประเทศไทย คือดูเบาศีลธรรมและเข้าใจผิดว่าศีลธรรมมีได้เฉพาะในศาสนาเท่านั้น เหตุดังนั้นจึงสอนวิชาพุทธศาสนาเป็นวิชาศีลธรรม แล้วไม่เคยสอนศีลธรรมในวิชานี้เลย นอกจากบังคับให้เด็กท่องจำหมวดธรรมคิหิปฏิบัติไว้หลายหมวดเพื่อสอบ อันที่จริงท่องบัญญัติสิบประการ หรือท่องอัลหะดิษ ก็ได้ผลเท่ากัน คือไม่ได้ผลอะไรในทางศีลธรรมเลย

(เช่นเดียวกับวิชาหน้าที่พลเมืองนะครับ หน้าที่พลเมืองตามกฎหมายนั้นอ่านเองได้ แต่การฝ่าอันธพาลการเมืองไปเข้าคูหาเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นหน้าที่พลเมืองหรือไม่ หรือใช่แต่ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ซึ่งต้องช่วยกันวิพากษ์และหาคำตอบร่วมกัน ทำให้หน้าที่พลเมืองต้องเรียนกันในบรรยากาศแห่งเสรีภาพและเคารพความเห็นของกันและกัน นักกฎหมายไม่ใช่คนที่รู้หน้าที่พลเมืองดีที่สุด ยกเว้นแต่เราเห็นพลเมืองเป็นข้าไพร่อีกชนิดหนึ่งเท่านั้น)

หากศีลธรรมไม่ใช่ศาสนา คำถามที่ตามมาทันทีก็คือ เราควรสอนศาสนาในสถาบันการศึกษาหรือไม่ ผมเห็นว่าควรครับ แต่สอนในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่สำคัญอย่างหนึ่ง ผู้สอนอาจไม่ศรัทธาต่อศาสนาใดเลย แต่ต้องเข้าใจความศรัทธาทางศาสนาอย่างที่เอมิล เดอร์ไคม์พูดไว้ ดังนั้น ศาสนาจึงเป็นส่วนหนึ่งของวิชาสังคมศึกษาในโรงเรียน และอาจเป็นศาสตร์เพื่อการค้นหาความจริงเกี่ยวกับศาสนาในระดับอุดมศึกษา เช่นเดียวกับปรากฏการณ์ทางสังคมอื่นๆ เช่น รัฐ, รัฐบาล, ความโกรธ, อำนาจ, วัฒนธรรม ฯลฯ นักวิชาการด้านศาสนาอาจนับถือศาสนาใดก็ได้ หรือไม่นับถือศาสนาใดก็ได้ คนที่รู้จักพุทธศาสนาในแง่ปรากฏการณ์ทางสังคมที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่พระภิกษุ เช่นเดียวกับคนที่รู้จักอิสลามในฐานะปรากฏการณ์ทางสังคมที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่บาบอ

ถ้ากระนั้น ศาสนาในแง่ที่เป็นคำตอบให้แก่ปัญหาส่วนบุคคลยังจำเป็นสำหรับการเรียนรู้ของมนุษย์ในโลกปัจจุบันหรือไม่ ผมคิดว่าจำเป็นอย่างยิ่ง มนุษย์ในโลกสมัยใดก็ตามต้องรู้จักตัวเอง ผมคิดว่าส่วนที่ลึกที่สุดของทุกศาสนาคือความรู้จักตนเอง เพื่อให้เกิดความสามารถจัดการกับตนเองได้ เมื่อหญิงม่ายมุสลิมในภาคใต้ตอนล่างพูดเบื้องหน้าความตายของสามีจากเหตุความไม่สงบว่า "แล้วแต่พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า" เธอรู้อย่างซึมซาบทีเดียวว่าเธอเป็นเพียงสิ่งสร้างของพระเจ้า เล็กจนเกินกว่าจะยึดมั่นถือมั่นตัวเองเป็นตัวเป็นตนเหมือนศูนย์กลางจักรวาล

และด้วยเหตุดังนั้นจึงสามารถจัดการกับความโศกเศร้าและความเคียดแค้นในใจของตนได้ อย่างน้อยก็บรรเทามันได้ก่อนจะเสียสติ

ผมอยากเตือนด้วยว่า ความ "รู้แจ้ง" (ผมใช้ในความหมายว่ารู้จนกำหนดบุคลิกภาพของผู้รู้) เช่นนี้โดยเฉพาะในโลกปัจจุบัน อาจบรรลุได้จากความรู้อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับศาสนาก็ได้ เช่น หญิงม่ายผู้นั้นอาจใช้ความรู้ความเข้าใจในเชิงสังคมศาสตร์ถึงเหตุปัจจัยอันสั่งสมมานานในสังคมภาคใต้ตอนล่าง (และความสัมพันธ์กับรัฐไทย) จนเห็นว่าความตายเช่นนี้เป็นผลที่ต้องเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ส่วนจะเกิดแก่สามีของเธอหรือสามีของคนอื่น สังคมศาสตร์ยังอธิบายถึงที่สุดว่าทำไมถึงเป็นสามีเธอไม่ได้ แต่ก็พอเพียงที่จะให้เธอยอมรับชะตากรรมนั้นอย่างไม่เสียสติ และอาจมีสติพอจะคิดอะไรสร้างสรรค์จากชะตากรรมอันเลวร้ายนี้ก็ได้

ไม่ว่าจะเป็นศาสน์หรือศาสตร์ นี่คือส่วนลึกที่สุดของมัน ซึ่งผมไม่เชื่อว่าใครจะสอนใครในการศึกษามวลชนได้ แต่เราทุกคนล้วนเคยเรียนรู้แบบ "นิสิต" มาในชีวิตทั้งสิ้น (นิสิตแปลว่าผู้เข้าไปนั่งใกล้) ได้เคยเห็นพ่อแม่จัดการกับความทุกข์ของตน โดยอาศัยความเชื่อลึกๆ บางอย่าง เคยคุยกับคนอื่นอย่างลึกๆ (ซึ่งไม่อาจทำได้ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก) ฯลฯ มาแล้ว รวมทั้งตนเองก็เคยมีประสบการณ์ทางอารมณ์ความรู้สึก ที่ต้องเที่ยวค้นหาคำตอบจากการคิดและจากผู้อื่น

และส่วนนี้ของศาสนาแหละครับ ที่ผมคิดว่าทุกคนควรมีโอกาสได้เรียน แต่ไม่ใช่ในหลักสูตร หากเรียนรู้ในชีวิต ครูอาจารย์พอช่วยได้เหมือนพ่อแม่ คือมีโอกาสได้ฟังอย่างเปิดอก (ฉะนั้น จึงต้องมีความสัมพันธ์ที่นักเรียนไว้วางใจ) มีโอกาสจะเสนอประสบการณ์ของตนเองและคนอื่นให้ฟัง ช่วยให้ได้เห็นมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น แทนการยัดเยียดศรัทธาของตนเองให้เขา แต่ที่เหนือกว่าสิ่งที่ครูอาจารย์ทำได้คือโอกาสที่นักเรียนได้เรียนรู้จากชีวิตจริง และตรงนี้แหละครับที่ผมเห็นว่านักเรียนและนักศึกษาไทยไม่มีโอกาส ไม่มีเวลา ไม่มีแรงกระตุ้นที่จะเรียน เพราะโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเอาโอกาสและเวลาของเขาไปหมด อีกทั้งไม่กระตุ้นให้เขาได้เรียนรู้อะไรจากประสบการณ์ในชีวิตจริง (เช่น เมาเหล้าแล้วสอนอะไรให้ได้บ้าง) ครูชอบคิดว่าตัวมีอำนาจกำหนดประสบการณ์ในชีวิตนักเรียนได้ มากกว่ายุให้นักเรียนเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และอาจไม่เคยเกิดกับครูเลย เช่น ช่วยแม่เข็นรถขายของไปให้ถึงที่ก่อนมาโรงเรียนสายและถูกลงโทษ

ถ้าเชื่อในคุณค่าของส่วนลึกในศาสนาจริง โรงเรียนและมหาวิทยาลัยก็สอนให้น้อยลงสิครับ พยายามให้นักเรียนได้เรียนเองบ้าง เพราะส่วนใหญ่ของสิ่งที่สอนกันนั้นไม่จำเป็นต้องสอน เช่น ข้อมูลดิบจำนวนมากซึ่งล้วนอ่านเองได้ทั้งนั้น แบบเรียนไม่ได้มีไว้ให้ครูสอน แต่มีไว้ให้สอนตัวเอง แต่ละวิชาอาจใช้เวลาในห้องเรียนน้อยลงมาก และห้องเรียนอาจเป็นที่ซึ่งนักเรียนนักศึกษาต้องใช้ความคิดและฝึกการจับประเด็นเสนอประเด็นจนพูดกับคนอื่นรู้เรื่อง และมีความสามารถคิดต่อยอดความคิดของคนอื่นได้

สรุปก็คือ ควรสอนในสถาบันการศึกษาทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นศีลธรรม ศาสนาทั้งในส่วนที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและวิถีล้ำลึกเพื่อเข้าใจตนเอง แต่จะสอนอย่างไรโดยไม่ต้องมีในหลักสูตรต่างหากที่สำคัญกว่า ผมเชื่อว่าครูอาจารย์ไทยทำได้ ถ้าได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้อง และไม่ต้องเสียเวลาและความนับถือตนเองในการกรอกคำถามงี่เง่าในการประเมินของ สมศ.

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชน รายวัน 3 สิงหาคม 2558

ที่มา: มติชนออนไลน์

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net