ภัควดี วีระภาสพงษ์: ถ้าไม่ใช่ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ...ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งผู้แทนถูกวิจารณ์อย่างมากในระยะหลัง ทั้งในแง่ที่ทำให้เกิดชนชั้นนักการเมืองขึ้นมาเป็นกลุ่มอิทธิพลอีกกลุ่มหนึ่งในหมู่ชนชั้นนำ ทั้งในแง่ของการขาดการยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในประเทศที่มีการรวมศูนย์อำนาจสูงอย่างประเทศไทย  ทั้งในแง่ของการเล่นประตูหมุนกับภาคธุรกิจและบรรษัท และทั้งในแง่ของการคอร์รัปชั่น  แต่ในแง่มุมหลังสุดนี้ คนที่ไม่คิดวิเคราะห์อย่างถ่องแท้และไม่เข้าใจกลไกการทำงานของทุนมักมองข้ามความเป็นจริงว่า ชนชั้นนักการเมืองจะคอร์รัปชั่นอย่างเป็นระบบไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากข้าราชการ ภาคธุรกิจ ศาล และชนชั้นนำ อาทิ กองทัพและสถาบันชนชั้นนำอื่น ๆ

แต่การหันหลังให้ระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งผู้แทนเพื่อกระโจนลงเหวของระบอบเผด็จการยิ่งไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง  เราสามารถปรับปรุงระบอบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งให้ยึดโยงกับประชาชนได้มากขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ส่งเสริมการจัดตั้งรวมตัวของประชาชน สร้างระบอบประชาธิปไตยทางตรงเข้ามาเสริม เช่น การจัดทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วม หรือการสร้างกลไกของระบอบประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือที่ประชาชนสามารถยื่นข้อเสนอและกำหนดนโยบายระดับต่าง ๆ ได้มากขึ้น

กระนั้นก็ตาม อีกมิติหนึ่งของระบอบประชาธิปไตยที่เรามองข้ามไม่ได้ก็คือประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ  หากเราปล่อยให้สังคมตกอยู่ใต้ระบอบเผด็จการทางเศรษฐกิจ ประชาธิปไตยทางการเมืองก็เป็นแค่ละครฉากเล็ก ๆ เอาไว้ปลอบใจชนชั้นล่างให้หลงคิดว่าตัวเองมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตัวเองนาน ๆ ครั้ง  หรืออย่างมากก็แค่ต่อรองได้ผลประโยชน์เล็กน้อยจากชนชั้นนักการเมือง  ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อไป จนชนชั้นล่างและแม้แต่ชนชั้นกลางก็ตกเป็นทาสระบบหนี้ทางเศรษฐกิจ อันเปรียบเสมือนสัญญาทาสที่ผลักดันให้ทุกคนต้องวิ่งรอกหมุนฟันเฟืองของระบบทุนนิยมประหนึ่งหนูถีบจักร

นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมมักเชื่อในทฤษฎีน้ำหยด กล่าวคือ แนวคิดว่าต้องส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจให้ชนชั้นบนก่อน เมื่อผลประโยชน์ข้างบนอิ่มตัวแล้ว หยาดน้ำแห่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะหยดลงจนถึงชนชั้นล่าง  แต่การณ์กลับปรากฏว่าความเป็นจริงก็ดังเช่นภาพการ์ตูนที่คนเขียนล้อเลียนกัน นั่นคือแก้วรองรับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชนชั้นบนนั้นใหญ่ขึ้นทุกที ๆ  แทบไม่เหลือหยาดผลประโยชน์กระเส็นกระสายลงมา ปล่อยให้คนเบื้องล่างแห้งเหือดลงทุกวี่วัน

ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจพลิกคว่ำแก้วทฤษฎีนั้น เมื่อปล่อยให้หยาดน้ำผลประโยชน์รดพื้นดินเบื้องล่างจนชุ่ม  ผืนดินย่อมผลิยอดไม้งามที่เจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านไพศาล  แนวคิดของประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจพลิกกลับทฤษฎีน้ำหยดนั้นใหม่  หากคนเบื้องล่างได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม  ก็ไม่ต้องห่วงหรอกว่าชนชั้นกลางและชนชั้นสูงที่มีความได้เปรียบเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจะไม่พลอยอุดมสมบูรณ์ตามไปด้วย

คนเบื้องล่างที่อยู่เบื้องล่างสุดกลุ่มหนึ่งของสังคมไทยก็คือชาวบ้านที่ยังเหยียบขาข้างหนึ่งอยู่ในวิถีชีวิตและวิถีการผลิตแบบดั้งเดิม  ชาวบ้านเหล่านี้อาจไม่แร้นแค้นยากจนเท่าคนจนเมือง  แต่พวกเขาดำรงชีวิตอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่ไม่มีหลักประกัน  ชีวิตของพวกเขาขึ้นอยู่กับฝนฟ้า สุขภาพของพวกเขาขึ้นอยู่กับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ต้องคอยต่อรองไม่ให้ชนชั้นนำยกเลิก  สถานะของพวกเขาถูกลดทอนลงทุกวันจากสัดส่วนของภาคเกษตรที่ต่ำต้อยในจีดีพี การศึกษาของพวกเขาต้องอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการลองผิดลองถูก เพราะระบบการศึกษาในโรงเรียนไม่เคยตอบโจทย์วิถีการผลิตของพวกเขา

ในระบอบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ที่ชนชั้นสูงตอบโต้กระแสปฏิวัติของชนชั้นล่างด้วยการทุบทำลายสายพานการผลิตให้กระจัดกระจายไปทั่วโลก รวมทั้งเพิ่มอำนาจให้ตัวเองด้วยวิถีการสะสมทุนแบบปล้นชิง  การแย่งชิงทรัพยากรหวนกลับมาเป็นวิถีการสะสมทุนที่ทรงประสิทธิภาพกว่าการขูดรีดแรงงาน  ชาวบ้านที่ยังต้องอาศัยวิถีการผลิตแบบดั้งเดิมครึ่งหนึ่งในการดำรงชีพกลายเป็นกลุ่มคนโชคร้ายแห่งศตวรรษที่ 21  พวกเขาตกอยู่ใต้คำสาปของความมั่งคั่ง เพราะผืนดินที่พวกเขาเหยียบยืนและเรียกว่า “บ้าน” บังเอิญตั้งทับทรัพยากรมหาศาลไว้ข้างใต้

การแย่งชิงทรัพยากรจึงเกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย  ไม่ว่าจะเป็นเหมืองทองที่วังสะพุง สัมปทานปิโตรเลียมที่บ้านนามูล-ดูนสาด อุตสาหกรรมเหล็กที่บางสะพาน-บ้านกรูด เหมืองแร่โปแตซที่อุดรธานี และที่อื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน  การต่อสู้ของชาวบ้านจำต้องผูกติดอยู่ในพื้นที่ กระจัดกระจายยากต่อการรวมตัวและหลายครั้งที่เสียงไม่ดังพอให้ใครได้ยิน  ยิ่งในประเทศที่รวมศูนย์อำนาจและรวมศูนย์ข่าวสารอย่างประเทศไทย  การต่อสู้ของชาวบ้านยิ่งต้องดำเนินไปอย่างโดดเดี่ยวเงียบเชียบ  หลายแห่งต้องพ่ายแพ้ท่ามกลางความเงียบงัน

แม้มีหลายแห่งที่การต่อสู้ของชาวบ้านดังพอให้ได้ยินในระดับประเทศ  แต่พวกเขาไม่เพียงต้องต่อสู้กับอำนาจรัฐและอำนาจทุนเท่านั้น พวกเขายังต้องผจญกับทัศนคติของบรรดาชนชั้นกลางเสรีนิยมที่คิดว่าตัวเองรอบรู้ถ้วนทั่วจักรวาล  นักเสรีนิยมเหล่านี้พยายามกดบีบให้ชาวบ้านยอมสยบต่ออำนาจทุนด้วยข้ออ้างของ “เสียสละเพื่อส่วนรวม” “ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” “โลกาภิวัตน์” “วิถีการผลิตเปลี่ยนไปแล้ว” และ “การผลิตในภาคเกษตรไม่คุ้มกับการลงทุน”

แต่สิ่งที่นักเสรีนิยมเหล่านี้มองข้าม ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามที ก็คือคำถามว่าทำไมชาวบ้านจึงต้องยอมสูญสิ้นวิถีชีวิตและปัจจัยการผลิตของตนเพื่อแลกกับค่าชดเชยเพียงน้อยนิด?  ในเมื่อทรัพยากรใต้ถุนบ้านของพวกเขามีมูลค่ามหาศาล  เหตุใดพวกเขาในฐานะเจ้าของพื้นที่จึงไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการกำหนดชะตากรรมของตัวเองและการกระจายความมั่งคั่งของทรัพยากรนั้น?  หากนักเสรีนิยมที่เชิดชูระบบทุนนิยมกลับไม่เข้าใจแม้แต่ตรรกะพื้นฐานของระบบทุนนิยมและเสรีนิยมข้างต้น  คำพูดของ “นักเสรีนิยม”(?) เหล่านี้ก็เปรียบเสมือนแค่การผายลมของคนท้องเสียเท่านั้นเอง

ผู้สันทัดกรณีบางคนให้เหตุผลว่า กระแสการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในปัจจุบันล้วนมุ่งเข้าหาเมือง เมืองจะขยายใหญ่ขึ้น ชนบทจะ “เล็กลง” เมืองคืออนาคตที่จะทำให้การต่อสู้ปฏิวัติสังคมง่ายขึ้น  แต่หากเป็นเช่นนั้นจริง เราอยากเห็นเจ้าของทรัพยากรอันมีค่ามหาศาลนั้นถอนรากจากวิถีชีวิตดั้งเดิมและมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองในลักษณะไหน?  ในลักษณะของคนจนไร้รากที่ต้องขายแรงงานในเมือง เป็นกำลังแรงงานไร้สิ้นศักดิ์ศรีที่ดิ้นรนเหนือเส้นความอดอยากเพียงปริ่ม ๆ เพื่อให้ประเทศนี้มีศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจแบบล้าหลัง?  หรือก้าวเข้าสู่เมืองในฐานะชนชั้นผู้ผลิตใหม่ที่สามารถปรับตัวเข้าสู่วิถีเมืองและระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่จะช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง?

ท่ามกลางการต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรนี้เอง การที่กลุ่มดาวดินก้าวเข้ามาเคียงบ่าเคียงไหล่ชาวบ้านในการต่อสู้กับอำนาจทุนและอำนาจรัฐ  มันจึงมิใช่แค่การต่อสู้ของกลุ่มคนในพื้นที่  แต่เป็นการต่อสู้เพื่อคนทั้งหมดในประเทศ  กลุ่มดาวดินและชาวบ้านกำลังต่อสู้เพื่อหลักการของนิติรัฐ นิติธรรม ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตย  มันเป็นการต่อสู้เพื่อยืนยันหลักการที่กลุ่มทุนจะต้องไม่ผลักภาระ  ความมั่งคั่งต้องมีการกระจายที่เป็นธรรม  ทรัพยากรต้องเป็นของส่วนรวมและยังประโยชน์แก่ส่วนรวม  ประชาชนต้องเป็นเจ้าของประเทศและเจ้าของทรัพยากรเท่า ๆ กัน การพัฒนาเศรษฐกิจต้องไม่ใช้วิธีการต่ำช้า และถึงที่สุดแล้ว หากวิถีชีวิตดั้งเดิมไม่อาจต้านทานกระแสความเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยที่สุด ประชาชนต้องได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสมและมีเวลาปรับตัวเพื่อก้าวตามความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีส่วนร่วม  หากการต่อสู้ของกลุ่มดาวดินและชาวบ้านประสบความสำเร็จ  ประชาชนทุกคนในประเทศก็ย่อมได้รับประโยชน์จากการความสำเร็จนี้เช่นกัน

เดวิด เกรเบอร์กล่าวไว้ว่า ประธานของการเปลี่ยนแปลงสังคมสมัยใหม่คือศิลปินและชนพื้นเมือง  ศิลปินคือผู้มีปัญญาสร้างสรรค์และลงมือกระทำ  กลุ่มดาวดินคือศิลปินในแง่นี้  ส่วนชนพื้นเมืองคือผู้มีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม  ชาวบ้านคือชนพื้นเมืองในแง่นี้  แต่ในทัศนะของข้าพเจ้า คนสองกลุ่มนี้ยังไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมยุคเสรีนิยมใหม่  ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ข้าพเจ้ามุ่งหวังว่าจะยื่นมือจับกันเป็นพันธมิตรสามเส้าของการเปลี่ยนแปลงสังคม นั่นคือ ศิลปิน ชนพื้นเมืองและแรงงานนอกระบบหรือแรงงานไร้หลักประกัน  การที่กลุ่มดาวดินผูกพันธมิตรกับนักศึกษากลุ่มก้าวหน้าในเมืองเป็นขบวนการประชาธิปไตยใหม่จึงเป็นย่างก้าวที่มีพลังอย่างยิ่ง

ขอให้ดาวดินเป็นศิลปินสร้างสรรค์สังคมใหม่ เป็นปัญญาชนคลุกขี้ดิน และส่องแสงนำทางที่ปลายตีนของประชาชนตลอดไป

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในจุลสารครบรอบ 12 ปี ดาวดิน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท