Skip to main content
sharethis

24 ก.ค. 2558 ในการเสวนาหัวข้อ “การกำกับดูแลกันเองของสื่อใหม่เพื่อการตัดสินใจด้วยตัวเองของพลเมือง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเวทีสาธารณะ "คิดใหม่พรมแดนสื่อ: ประสบการณ์จากต่างประเทศและข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย" จัดโดยมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชนร่วมกับสำนักส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลกันเอง (สส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ

เอ็ดการ์โด พี เลกาสปี ผู้อำนวยการบริหารสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) กล่าวถึงการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า ภาพรวมของกฎหมายอินเทอร์เน็ตในอาเซียนมีลักษณะของการควบคุมและข้อห้าม โดยสามารถแยกได้ 3 ประเด็นได้แก่ การเข้าถึงที่ต้องห้าม เนื้อหาต้องห้าม และใครคือผู้รับผิด สำหรับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ฟิลิปปินส์มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิหลายด้านของประชาชนมากที่สุดโดยในภูมิภาคนี้ การใช้กฎหมายซึ่งไม่ได้เป็นไปเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ในภูมิภาคนี้ ประเทศที่มีกฎหมายที่สมเหตุสมผลที่สุดในการกำกับสื่อใหม่ คือ สิงคโปร์ ที่ไม่ได้ระบุถึงความรับผิดของตัวกลาง อย่างไรก็ดีสิงคโปร์มีใบอนุญาตที่ขึ้นอยู่กับเนื้อหา เช่น การรายงานข่าว และสิงคโปร์ยังไม่ใช่ประเทศที่ให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

สิ่งที่ควรพิจารณาต่อไปคือ ต้องมีการทบทวนกรอบคิดเกี่ยวกับสื่อในยุคสื่อหลอมรวมที่ทุกอย่างเป็นดิจิทัล โดยเลิกมองแบบแยกสื่อ ในแง่ของการกำกับดูแล กฎหมายใหม่ติดอยู่กับกรอบคิดแบบเก่าอยู่ สำหรับตนเองมองว่าการกำกับดูแลสื่อใหม่ควรยึดเสรีภาพในการแสดงออกเป็นพื้นฐาน

ล็อกแมน ซุย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วิทยาลัยวารสารศาสตร์และการสื่อสาร The Chinese University of Hong Kong อดีตที่ปรึกษานโยบาย กูเกิล เอเชีย แปซิฟิก ตั้งคำถามว่า การกำกับดูแลตัวเอง (self-regulation) เหมือนกับการตัดสินใจเอง (self-determination) หรือไม่ นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างสื่อเก่าและสื่อใหม่ว่า สื่อเก่า ทุกคนไม่สามารถผลิตสื่อเองได้ ทั้งในแง่ของเทคโนโลยีและการได้รับใบอนุญาต

ซุยเสนอให้คำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการกำกับดูแล โดยเฉพาะในมิตินวัตกรรม เขาเน้นไปที่ “นวัตกรรมที่ไม่ต้องขออนุญาต (innovation without permission)” โดยยกตัวอย่างเว็บไซต์สารานุกรมเสรีวิกิพีเดีย ที่เริ่มแรกเรามองว่าเป็นเว็บไซต์ที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะเป็นสารานุกรมที่ใครก็ตามเข้าไปแก้ไขได้ หรือการเกิดขึ้นของกูเกิลก็ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นกิจการที่ยิ่งใหญ่ เราเคยคิดว่าอินเทอร์เน็ตหรือวิกิพีเดียเป็นความคิดที่เป็นไปไม่ได้ ไม่น่าจะรอด แนวคิดใหม่ๆ หรือนวัตกรรมเป็นสิ่งที่เราคาดการณ์และวางแผนไม่ได้ ดังนั้นในการกำกับดูแลสิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ โอกาสของการเกิดขึ้นของความคิดใหม่ๆ เราจะทำอย่างไรให้นวัตกรรมเกิดขึ้นได้

จากประสบการณ์ทำงานด้านสิทธิเสรีภาพของกูเกิลกว่า 10 ปี ซุยมองว่าคำถามเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกควรจะคิดเป็นกระบวนการ ซุยยกตัวอย่างการจัดทำรายงานความโปร่งใสของบริษัทไอทีต่างๆ เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก เพื่อให้คนเห็นความสำคัญ รวมทั้งตระหนักถึงสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ พร้อมตั้งคำถามว่า แล้วเมื่อไรจะมีรายงานความโปร่งใสของประเทศไทยบ้าง ตอนนี้ที่ฮ่องกงมีแล้ว นอกจากนี้ในการกำกับดูแลไม่ควรมองจากมิติทางการเมืองเพียงอย่างเดียว ควรคำนึงถึงมิติทางเศรษฐกิจด้วย

ยู จุง ซอก ผู้จัดการฝ่ายบริหารนโยบาย Korea Internet Self-governance Organization (KISO) องค์กรกำกับดูแลกันเองด้านอินเทอร์เน็ตของภาคเอกชนได้อธิบายการทำงานของ KISO ว่า เป็นองค์กรที่ธุรกิจผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจัดตั้งขึ้นมาเอง และทำงานร่วมกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต KISO มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียน เมื่อมีผู้ยื่นขอเอาเนื้อหาออก จะตีพิมพ์คำวินิจฉัยทางอินเทอร์เน็ต และมีการประมวลเพื่อปรับปรุงเกณฑ์และนโยบายต่างๆ ตัวอย่างสมาชิกของ KISO เช่น บริษัทเนเวอร์ เจ้าของแอปพลิเคชันไลน์

นอกจากพิจารณากรณีต่างๆ ที่เกี่ยวกับสื่อออนไลน์ ยังได้จัดทำแนวปฏิบัติทางจริยธรรมสำหรับผู้ให้บริการและแนวปฏิบัติสำหรับผู้ใช้ ทำงานวิจัย รวมทั้งทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ บทบาทของ KISO ในประเทศเกาหลี ตั้งแต่ปี 2010 มีการวินิจฉัยด้านนโยบายจากคณะกรรมการนโยบาย 28 ครั้ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบล็อคเว็บชั่วคราว การค้นหาอัตโนมัติ การป้องกันการฆ่าตัวตาย ช่วงที่มีการเลือกตั้ง ส่วนคำวินิจฉัยอื่นๆ ระหว่างปี 2012-2015  มี 135 ครั้งเกี่ยวกับ การโพสต์ข้อความ การค้นหาแบบอัตโนมัติ การหมิ่นประมาทผู้มีชื่อเสียง หรือบุคคล

การทำงานของ KISO เน้นการสร้างความโปร่งใส โดยพิจารณาจากเรื่องร้องเรียน มีคณะกรรมการวินิจฉัย หลังจากนั้นจะเผยแพร่คำวินิจฉัย การทำงานของ KISO ที่ผ่านมาได้รับการกล่าวถึงจากสื่อมวลชนทำให้มีคนสนใจมากขึ้น

ยู จุง ซอง เห็นว่าในการกำกับดูแลสื่อใหม่ ควรคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วมาก ขณะที่กฎหมายอาจไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงนี้

สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและนโยบายสื่อ ศูนย์ศึกษาจริยธรรม กฎหมาย และนโยบายสื่อ สถาบันอิศรากล่าวว่า ในประเทศไทย การกำกับดูแลสื่อมวลชนจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับนโยบายการปกครองประเทศในแต่ละยุคสมัย ปัจจุบันมี พ.ร.บ. กำกับกิจการกระจายเสียงและโทรคมนาคม ซึ่งการตีความกฎหมายส่งผลต่อการกำกับดูแลสื่อและเสรีภาพสื่อ สุวรรณาตั้งข้อสังเกตถึงการใช้มาตรา  37 ของ กสทช.ที่กำลังครอบคลุมไปถึงเรื่องจริยธรรมดัวย ทั้งที่มีมาตรา 39 ที่เป็นเรื่องจริยธรรมโดยเฉพาะอยู่ ซึ่งกำหนดให้ กสทช. มีหน้าที่ส่งเสริมการรวมกลุ่มและกำกับกันเองเท่านั้น

สำหรับการกำกับดูแลสื่อ สุวรรณากล่าวว่าต้องนิยามความหมายการกำกับดูแลสื่อ ต้องคิดว่าใครบ้างที่เราจะมาอยู่ในวงล้อมในการกำกับ อะไรที่กำกับได้ ควรกำกับก่อนหรือไม่ สิ่งที่เราควรกำกับ คือ สื่ออาชีพหรือไม่ เริ่มจากคนทำวิชาชีพก่อนดีหรือไม่ จึงต้องนิยามความหมายก่อน เช่น ทำเป็นอาชีพหลัก ได้รับค่าตอบแทนจากผู้ประกอบอาชีพสื่อ

สุวรรณาเสนอให้เริ่มกำกับดูแลสื่อในระดับภายในองค์กร จากนั้นเป็นการกำกับดูแลรวมระหว่างสื่อ ขณะนี้แนวทางการกำกับดูแลที่ สปช.กำลังพิจารณาอยู่คือ มีองค์กรวิชาชีพ องค์กรสื่อ และมาตรฐานจริยธรรมกลาง โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแลสื่อภาคประชาชนและการรู้เท่าทันสื่อ นอกจากนี้ในรัฐธรรมนูญที่กำลังมีการร่างอยู่นั้น ในมาตรา 50 มีข้อความที่กล่าวถึงกิจการสารสนเทศซึ่งเกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต สุวรรณามองว่า ขณะที่สื่อใหม่ต้องทำให้คนของเรารู้เท่าทันสื่อ เพราะไม่สามารถกำกับดูแลได้หมด ส่วนสื่อเก่าต้องทำให้มีจริยธรรมและมีกฎหมาย

อัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อกล่าวจากมุมมองของผู้ปกครองโดยเห็นว่า ในการกำกับดูแลตนเองของสื่อใหม่ มีลักษณะที่เป็นการกำกับดูแลของสาธารณะและผู้ปกครอง จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นการตรวจสอบกันเองที่ทำให้บางฝ่ายไม่พอใจกับการตัดสิน นอกจากนี้พบว่า กลไกกำกับดูแลตามไม่ทัน ได้แก่ กระทรวงไอซีที กสทช. กระทรวงวัฒนธรรม ตนเองมีประสบการณ์การไปร้องเรียนกับหน่วยงานเหล่านี้ บุคลากรไม่พอและไม่เข้าใจประเด็น ทั้งหมดนี้เป็นการกำกับดูแลแยกส่วนกัน อัญญาอรเสนอว่าควรส่งเสริมบทบาทโรงเรียนกับผู้ปกครอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net