Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เส้นทางสู่ความยุติธรรมนั้นมีอยู่จริง แต่มันไม่ง่ายนักที่หลายคนจะเดินไปถึงได้โดยง่าย โดยเฉพาะผู้นำสหภาพแรงงาน รวมทั้งแกนนำในการก่อตั้งสหภาพแรงงานหรือแม้แต่ผู้ที่ลุกออกมาเรียกร้องสิทธิเพื่อคนยากไร้ เพราะขึ้นชื่อว่า “คนจน” แล้วอะไรมันก็ดูจะตีบตันและมืดมนไปหมด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้นักสหภาพแรงงานทั้งหลายต้องยอมจำนน เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า “ที่ใดมีการกดขี่ที่นั่นย่อมมีการลุกขึ้นสู้”

เช่นเดียวกันกับกลุ่มแกนนำในการก่อตั้งสหภาพแรงงาน ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย ซึ่งหลังจากที่เขาเหล่านี้เป็นแกนนำพนักงานยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทฯเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2556 และสามารถเจรจาตกลงกันได้ในวันที่ 25 ธันวาคม 2556 ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ค่อยดีนักเนื่องจากพนักงานจำนวนหนึ่งถูกผู้แทนนายจ้างข่มขู่ให้สละการสนับสนุนข้อเรียกร้อง ผู้แทนในการเจรจาข้อเรียกร้องฝ่ายลูกจ้างจึงจำเป็นต้องยินยอมตามข้อเสนอของนายจ้าง โดยทั้งสองฝ่ายมีการทำข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่มีการกลั่นแกล้งหรือเลิกจ้างผู้ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง

แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2556 บริษัทฯ ได้มีการเลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงานจำนวน 9 คนและในเดือนมกราคม 2557 ได้มีการเลิกจ้างเพิ่มอีก 1 คน รวมเป็น 10 คน นักสหภาพแรงงานทั้งสิบคนไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ในวันที่ 17 มกราคม 2557

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2557 คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ได้มีคำสั่งว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 ให้บริษัทฯ รับลูกจ้างจำนวน 9 คนกลับเข้าทำงาน ยกเว้นนายสุรัตน์ เภาดี โดยอ้างเหตุผลว่าไม่ผ่านทดลองงาน แต่บริษัทฯ ยังคงไม่รับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 9 คน กลับเข้าทำงาน เพราะไม่เห็นด้วยกับคำสั่งจึงได้ยื่นอุทธรณ์เพื่อเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวต่อศาลแรงงานกลาง ในวันที่ 12 มิถุนายน 2557 และศาลฯ ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 โดยศาลได้มีคำพิพากษามีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

  1. ให้บริษัทฯรับลูกจ้างทั้ง 9 คนกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และสภาพการจ้างเดิมทุกประการ
  2. ให้บริษัทฯจ่ายโบนัสตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2556 พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับตั้งแต่วันครบกำหนดชำระจนกว่าจะชำระเสร็จ
  3. ให้บริษัทฯให้จ่ายค่าเสียหายรวมถึงสวัสดิการต่างๆที่ลูกจ้างได้รับก่อนถูกเลิกจ้าง นับตั้งแต่เลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงานพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของค่าจ้างนับตั้งแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน
  4. ให้บริษัทฯให้ปรับค่าจ้างประจำปี 2556 จำนวนร้อยละหกของเงินเดือน และให้ปรับเงินเดือนตามตำแหน่งหน้าที่ของโครงสร้างเงินเดือน

ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำพิพากษา ได้เกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดขึ้น กล่าวคือ ในวันที่ 15 มีนาคม 2558 นายสุรัตน์ เภาดี แกนนำในการก่อตั้งสหภาพแรงงานฯ ต้องฆ่าตัวตายเนื่องจากสาเหตุปัญหาทางครอบครัวที่ได้รับผลกระทบต่อการเลิกจ้าง

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ลูกจ้างทั้ง 9 คนได้ทำหนังสือขอกลับเข้าทำงานแก่บริษัทฯแต่บริษัทฯเพิกเฉยไม่รับลูกจ้างทั้ง 9 คนกลับเข้าทำงาน และเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 สหภาพแรงงาน ซูซูกิ มอเตอร์ประเทศไทยก็ได้ยื่นหนังสือขอให้รับผู้ที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 9 คนกลับเข้าทำงานแต่ไม่มีคำตอบแต่อย่างใด

และเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 พนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 9 คน ได้แสดงเจตนาจะกลับเข้าทำงานแต่ถูกนายจ้างปฏิเสธโดยสิ้นเชิง จากการกระทำที่กล่าวมาข้างต้นของนายจ้างจึงเป็นการจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง อันเป็นความผิดต่อกฎหมายและหลักการ OECD GUIND LINE และอนุสัญญาระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ98 เรื่องการรวมกลุ่มการเป็นสหภาพแรงงานและการเจรจาต่อรองร่วม

ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมและรักษาไว้ซึ่งความเป็นธรรมตามกฎหมายจึงขอให้บริษัทฯ รับสมาชิกสหภาพแรงงานซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย ทั้ง 9 คน กลับเข้าทำงานทันทีโดยไม่มีเงื่อนไขโดยทันที

 

อุทิศแด่ นายสุรัตน์ เภาดี ผู้เสียสละชีวิตเพื่อเพื่อนพนักงาน ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย ทุกท่าน (ดูข่าวเพิ่มเติมกรณี สุรัตน์ เภาดี)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net