Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

“มาตรา 123/2 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต”

ม. 13 พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 3)

จากการที่ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 3) เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาสำคัญที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากเดิมที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ การบัญญัติให้มีโทษประหารชีวิตและการปรับแก้เนื้อหาให้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ ฯลฯ และได้มีกรรมการของ ป.ป.ช.และเลขาธิการฯได้ออกมาแสดงความเห็นเพื่ออธิบายเพิ่มเติมว่าเป็นการแก้ไขให้สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003(United Nations Convention against Corruption 2003) ไปแล้ว นั้น ผมเห็นว่าเป็นกล่าวอ้างที่คลาดเคลื่อนและไม่สอดรับกับเจตนาของอนุสัญญาฯแต่อย่างใด


ประเด็นการบัญญัติให้มีโทษประหารชีวิต

หลายคนอาจจะชอบใจหรือสะใจที่มีโทษแรงขึ้นเพราะเข้าใจไปว่ายิ่งโทษแรงคนจะยิ่งเกรงกลัว การกระทำผิดก็ย่อมจะน้อยลง แต่ในความเป็นจริงแล้วประเทศต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นในด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีแต่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตกันทั้งนั้น เพราะเราไม่สามารถยืนยันได้ว่ากระบวนการเอาตัวคนผิดมาลงโทษจะบริสุทธิ์ยุติธรรม 100 เปอร์เซ็นต์ และโทษประหารชีวิตเป็นการลงโทษที่โหดร้ายทรมานและไร้มนุษยธรรม แต่ของเรากลับถดถอยหรือมีพัฒนาการไปในทางตรงกันข้าม

ผมเห็นด้วยว่าผู้ทุจริตคอร์รัปชั่นต้องถูกลงโทษ แต่ไม่ใช่ลงโทษด้วยการประหารชีวิต เพราะมันไม่เข้ากับหลักว่าด้วยสัดส่วนของโทษกับความผิด กอปรกับ พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้เป็นการออกกฎหมายที่ค่อนข้างเร่งด่วนและไม่ได้รับฟังความเห็นกว้างขวาง เพราะกระบวนการเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบ ไม่ได้มีแค่กระบวนการลงโทษทางอาญาหรือความผิดทางอาญาเพียงอย่างเดียว มีประเด็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สังคมวิทยา ประเด็นแรงจูงใจ ประเด็นเรื่องกฎระเบียบซึ่งไม่รอบคอบ กระบวนการตรวจสอบที่ไม่ได้ผล หรือมีข้อบกพร่อง จึงต้องบูรณาการทั้งระบบ

 ปกติแล้วการลงโทษตามหลักอาชญาวิทยาต้องมีการลงโทษเพื่อให้เป็นการแก้ไขฟื้นฟู ไม่ใช่เป็นการ แก้แค้นทดแทน ไม่มีบทพิสูจน์ใดๆ เลยว่าการลงโทษประหารชีวิตจะเป็นการป้องกันหรือป้องปรามไม่ให้คนทำความผิด อีกทั้งมีการวิจัยเชิงวิชาการรองรับมากมายว่า หลายๆ ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว สถิติอาชญากรรมก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อมูลที่สนับสนุนความเห็นที่ว่าการประหารชีวิตไม่ช่วยในการป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชันดีขึ้นอีกข้อมูลหนึ่งก็คือดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี 2014 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ(Transparency International) ซึ่งประเทศที่มีภาพลักษณ์ดีลำดับต้นๆเช่น นิวซีแลนด์,ฟินแลนด์,สวีเดนและนอร์เวย์(อันดับ 2-5 ส่วนไทยเราอยู่ในลำดับที่ 85) นอกจากจะไม่นำโทษประหารชีวิตมาใช้กับคดีทุจริตแล้ว ยังยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิตในทุกกรณีอีกด้วย ส่วนเดนมาร์กที่อยู่ในลำดับที่ 1 นั้นไม่มีการลงโทษประหารชีวิตอย่างเด็ดขาดมาตั้งแต่ปี 1950 แล้ว

ในทางกลับกันประเทศที่มีการใช้โทษประหารชีวิตในคดีทุจริตกลับมีคะแนนความโปร่งใสอยู่ในลำดับที่ไม่ดีเลย เช่น จีนอยู่ในลำดับที่ 100,อินโดนีเซียอยู่ในลำดับที่ 107, อิหร่านอยู่ในลำดับที่ 136 ฯลฯ ฉะนั้น การอ้างโทษประหารชีวิตว่าจะช่วยป้องกันและกำจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นจึงฟังไม่ขึ้น

ที่สำคัญก็คือในประเด็นนี้ไม่มีเนื้อหาของบทบัญญัติใดในอนุสัญญาของสหประชาชาติฯฉบับนี้ที่กล่าวถึงการกำหนดให้มีโทษประหารชีวิตเลยแม้แต่ข้อความเดียว
 

ประเด็นการกำหนดเขตอำนาจให้รวมถึงเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ

ในประเด็นนี้น่าจะเป็นการตีความที่ผิดพลาดหรืออาจเป็นการจงใจให้ตีความเกินเลยจากอนุสัญญาฯ เพราะต้นฉบับเดิมใน Article 2. Use of terms ข้อ (c) บัญญัติไว้ว่า

(c)”Official of a public international organization” shall mean an international civil servant or any person who is authorized by such an organization to act on behalf of that organization ;

ซึ่งสามารถถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า “เจ้าหน้าที่ขององค์การภาครัฐระหว่างประเทศ” หมายถึง เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนระหว่างประเทศหรือบุคคลใดซึ่งได้รับมอบอำนาจจากองค์การระหว่างประเทศนั้น ให้ปฏิบัติหน้าที่ในนามขององค์การระหว่างประเทศดังกล่าว(public=ภาครัฐ-ผู้เขียน)

ฉะนั้น การบัญญัติว่า “เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ”ซึ่งสามารถตีความไปถึงองค์การเอกชนระหว่างประเทศด้วย จึงเป็นการบัญญัติเพิ่มเติมขึ้นมาจากความหมายเดิมของอนุสัญญาฯซึ่งจะหมายความเพียงเฉพาะ “เจ้าหน้าที่ขององค์การภาครัฐระหว่างประเทศ”เท่านั้น ซึ่งหมายถึงเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่องค์กรของรัฐทั้งหลายรวมกันจัดตั้งขึ้น เช่น สหประชาชาติ,อาเซียน,นาโต ฯลฯ เท่านั้น ซึ่งไม่รวมไปถึงองค์การระหว่างประเทศที่เป็นของเอกชน เช่น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล,ฮิวแมนไรท์วอซ์ท,โรตารี,ไลอ้อนส์ ฯลฯ

กล่าวโดยสรุปก็คือการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นไม่ได้ผลเพียงเพราะการมีโทษประหารชีวิตหรือการเพิ่มเติมความหมายของคำนิยามให้กว้างขวางขึนโดยการแก้ไขกฎหมายอย่างเร่งด่วนและไม่รอบคอบเช่นนี้ สมควรที่จะต้องมีการทบทวนโดยการมีส่วนร่วมจากผู้ที่เกี่ยวข้องจากหลายฝ่ายทั้งจากหลายมุมมอง ทั้งฝ่ายเศรษฐกิจ สังคมวิทยา แรงจูงใจ การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ องค์กรตรวจสอบ กระบวนการยุติธรรมธรรม ฯลฯ มิใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ในการเสนอกฎหมายแต่เพียงฝ่ายเดียวเช่นนี้

 

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 22 กรกฎาคม 2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net