Skip to main content
sharethis

กลุ่มช่างภาพสตรีเพื่อสันติภาพ Bunga Raya Imagine Photographer เธอคือดอกไม้ที่ฉายภาพสันติ จากจุดเริ่มต้นความสนใจส่วนตัวไปสู่การเป็นผู้สร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยา


ในห้วงระหว่างวันที่ 15 – 19 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา อันเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างก่อนและต้นเดือนรอมฎอน ที่โรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา มีกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจที่น่าจะให้ความรู้สึกผ่อนคลายสบายใจให้กับคนไข้ รวมทั้งญาติและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอยู่ไม่น้อย นั่นคือกิจกรรมมหกรรมคุณภาพของโรงพยาบาลรามัน ชื่องานอาจจะฟังดูธรรมดาๆ แต่นี่คือส่วนหนึ่งของการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยา หลังจากพวกเขาส่วนหนึ่งได้เผชิญกับผลกระทบจากความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจโดยตรงมาแล้ว หรือที่เรียกว่า Healing Environment

ในงานมีกิจกรรมการประกวดผลงานต่างๆ ของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เช่นเดียวกับงานประกวดทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบงานทั่วไป หรือ CQI การประกวดเรียงความเล่าเรื่องที่ตัวเองประทับใจ การประกวดนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การผลิตที่ชาร์ตแบตเตอรี่เครื่องวัดออกซิเจนในร่างกาย การผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพ การผลิตน้ำยาล้างจาน เป็นต้น

แต่ที่ดูไม่ธรรมดาคือมีการประกวด Photo voice หรือภาพเล่าเรื่อง โดยให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสวมบทช่างภาพ ถ่ายภาพต่างๆ ส่งเข้าประกวดเป็นครั้งแรก หลังจากที่ทางโรงพยาบาลรามันได้รื้อฟื้นกิจกรรมนี้ขึ้นมาใหม่หลังจากหยุดไปหลายปี เนื่องจากต้องการกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ทำงานคุณภาพ และได้มีผลงานไปจัดแสดงหรือส่งเข้าประกวดในที่อื่นได้ด้วย

กิจกรรมนี้ถูกออแกไนซ์โดยกลุ่มช่างภาพสตรีเพื่อสันติภาพ หรือ Bunga Raya Imagine Photographer ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรามันนั่นเอง

ถามว่าการเป็นบุคลาการสาธารณสุขกับการเป็นช่างภาพมันจะเข้ากันได้มั้ย หรือภาพถ่ายต่างๆ นั้น มันจะช่วยสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยาได้อย่างไร


(จากซ้ายไปขวา) ไซนี อามาสาเระ เจ้าหน้าที่โสตทัศนศึกษา ประจำโรงพยาบาลรามัน - ฟูรียา เบ็ญฮาวัน พยาบาลวิชาชีพ ประจำโรงพยาบาลรามัน ประธานกลุ่มกลุ่มช่างภาพสตรีเพื่อสันติภาพ - นิซาฟิยะห์ มะมิง เจ้าหน้าที่โสดทัศนศึกษา ประจำโรงพยาบาลรามัน

นางสาวฟูรียา เบ็ญฮาวัน พยาบาลวิชาชีพ ประจำโรงพยาบาลรามัน จ.ยะลา ในฐานะประธานกลุ่มกลุ่มช่างภาพสตรีเพื่อสันติภาพ บอกว่า การเป็นช่างภาพเป็นงานอดิเรก เป็นความชอบส่วนตัว และภาพถ่ายบางภาพยังช่วยในการเยียวยาจิตใจได้ด้วย เยียวยาทั้งคนไข้ รวมทั้งญาติคนไข้และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลด้วย

เธอเล่าว่า ที่ผ่านมา ภาพถ่ายหลายชิ้นในกลุ่มของเธอ รวมทั้งภาพที่เข้าประกวดถูกนำไปติดโชว์ที่ห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ และจะตั้งแสดงให้ผู้ที่มาโรงพยาบาลได้ชมด้วย นอกจากเพื่อความสวยงามแล้วยังเป็นการผ่อนคลายได้ด้วย เป็นการช่วยเยียวยาคนทำงานไปด้วย เพราะเวลาเครียดๆ ก็หันไปมองดูภาพก็จะรู้สึกสบายขึ้น

“ที่สำคัญคือ บางภาพก็เป็นการเตือนสติให้เราต้องทำงานคุณภาพมากขึ้นด้วย เพราะสิ่งที่ได้จากการถ่ายภาพหรือคนที่คลุกคลีอยู่กับภาพถ่าย จะเป็นคนอ่อนโยน มีจิตบริการมากขึ้น ลดความใจร้อนได้ ทำให้มีความละเอียดในการทำงาน เพราะดูภาพไปคิดไปด้วย แล้วแต่ว่าภาพแต่ละภาพจะสื่ออะไร”

ยิ่งถ้าได้ฟังเจ้าของภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดได้อธิบายว่าต้องการสื่ออะไรด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้เห็นคุณค่าของภาพถ่ายนั้นด้วยแทนที่จะดูแค่ผ่านๆ ทั้งที่บางภาพนั้นก็ดูธรรมดาๆ เช่น มีอยู่ภาพหนึ่งที่เห็นขาคนไข้ที่นอนอยู่บนเตียง และเห็นพยาบาล 2 คนทำอะไรสักอย่างอยู่ที่ขาคู่นั้น มันก็เหมือนการทำหน้าที่ปกติของพยาบาล

แต่เมื่อให้เจ้าของภาพมาอธิบายว่า พยาบาลสองคนนี้ต้องการที่จะดูแลเจ้าของขาคู่นั้นให้ดูดีที่สุดก่อนที่จะส่งตัวเขากลับบ้านไปเป็นครั้งสุดท้าย

“พยาบาลสองคนนั้นกำลังแต่งศพอยู่ค่ะ เขาโดนระเบิด” เธอให้คำตอบก่อนที่จะย้ำว่า แน่นอนว่าการประกวดภาพถ่ายจะยิ่งทำให้เพิ่มจิตสาธารณะมากขึ้น ทั้งคนถ่ายภาพ คนบรรยายภาพและคนฟัง

ฟูรียา ยกตัวอย่างอีกภาพหนึ่งซึ่งเป็นภาพที่ชนะเลิศในการประกวดครั้งนี้ คือภาพที่ชื่อ “ความสุขของคนไข้จิตเวช” ที่มีภาพคนไข้จิตเวช หมอ รวมทั้งพยาบาล ทุกคนต่างยิ้มแย้มแจ่มใสมาก ซึ่งทุกคนดูแล้วมีความสุขมาก ซึ่งแน่นอนว่า ถ้านำไปตั้งแสดงแล้ว คนที่มาชมโดยเฉพาะคนไข้จะรู้สึกคลายเครียดไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางโรงพยาบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จึงพยายามจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเยียวยานั่นเอง

ด้านนางสาวนิซาฟิยะห์ มะมิง เจ้าหน้าที่โสตทัศนศึกษา ประจำโรงพยาบาลรามัน ซึ่งเป็นเจ้าของภาพถ่าย “ความสุขของคนไข้จิตเวช” จากจำนวน 57 ภาพ บอกว่า ภาพนี้ได้รางวัลเพราะเป็นภาพที่ทุกคนดูแล้วมีความสุขมาก คนไข้รายนี้เองก็รู้สึกมีความสุขมากที่เขาสามารถเลี้ยงแพะเองจนคลอดลูกออกมาได้ ไม่ตายไปเสียก่อน ทั้งๆ ที่เขาเองก็มีปัญหาทางจิตเวช ถ้าแพะที่เขาเลี้ยงเกิดตายก่อน ความรู้สึกของเขาก็จะเป็นไปอีกแบบหนึ่ง

แต่ฟูรียาบอกว่า บางภาพอาจจำเป็นต้องเซ็นเซอร์บ้าง โดยเฉพาะภาพที่ปรากฏใบหน้าของคนไข้ชัดเจน ซึ่งตามกฎของโรงพยาบาลคือจะเผยแพร่ต่อสาธารณะไม่ได้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิคนไข้ ยิ่งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเองเป็นคนเผยแพร่ยิ่งต้องระวัง เพราะไม่รู้ว่าคนดูภาพแล้วจะคิดอย่างไร เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ฟูรียาบอกว่า ที่แน่ๆ ปีหน้ามีเจ้าหน้าที่อยากส่งภาพถ่ายเข้าประกวดมากขึ้น เพราะหลายคนรู้สึกเสียดาย บางคนอายเพราะมีแต่กล้องโทรศัพท์มือถือ ไม่มีกล้องใหญ่ จึงไม่กล้าส่งเข้าประกวด ทั้งที่ไม่ได้จำกัดว่าต้องถ่ายจากกล้องอะไร แต่หลายคนก็ส่งภาพจากกล้องโทรศัพท์มือถือเข้าประกวด

จุดเริ่มต้นกลุ่มช่างภาพสตรีเพื่อสันติภาพ
ฟูรียาเล่าว่า จุดเริ่มต้นมาจากตนเองชอบถ่ายภาพ เวลาเครียดจากงานก็มักจะออกไปถ่ายภาพ และติดตามเฟซบุ๊กช่างภาพในพื้นที่หลายคนในช่วงราวปี 2556 ทำให้ทราบว่าตอนนั้นกลุ่มช่างภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะตั้งกลุ่ม PPS ขึ้นมา หรือกลุ่มช่างภาพเพื่อสันติชายแดนใต้ (Photo Peace of South : PPS) จึงอยากจะเข้าร่วมด้วย

“เราทำงานด้านจิตเวชและทำงานเยียวยาไปด้วย จึงคิดว่าภาพถ่ายจะช่วยในการเยียวยาได้ จึงขอเข้าร่วมกลุ่มนี้ด้วย แต่เพราะเราเป็นผู้หญิงคนเดียว จึงชวนเพื่อนผู้หญิงเข้ามาร่วมด้วย จากนั้นได้เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม PPS มาตลอด และได้เจอช่างภาพหญิงอื่นๆ อีกหลายคน”

เธอเล่าต่อไปว่า มีผู้หญิงหลายคนชอบถ่ายภาพแต่ไม่มีกล้องใหญ่จึงไม่กล้าเข้าร่วม ด้วยความที่เป็นหญิงด้วยกันจึงเข้าใจความต้องการของผู้หญิงกลุ่มนี้ดี จึงคิดที่จะตั้งกลุ่มช่างภาพผู้หญิงต่างหาก เพื่อจะได้ทำกิจกรรมกับผู้หญิงด้วยกันมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีกล้องตัวใหญ่ จึงปรึกษาพี่ๆ ในเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้ เช่น แบฟูอัดแตออ หรือบอย ปิยะศักดิ์ อู่ทรัพย์ กระทั่งสามารถตั้งกลุ่มช่างภาพสตรีขึ้นมาได้

“ตอนนั้น ยังไม่รู้ว่าจะตั้งชื่อกลุ่มอะไรดี แต่พยายามดูว่าช่วงนั้นมีกระแสอะไรบ้าง ก็พบว่ามีเรื่องสันติภาพ จึงตั้งชื่อว่า กลุ่มช่างภาพสตรีเพื่อสันติภาพ และต้องมีสัญลักษณ์ด้วย ตอนนั้นเห็นมีการโพสต์รูปดอกชบาในเฟซบุ๊กบ่อยมาก จึงตั้งชื่อภาษาอังกฤษว่า Bunga Raya Imagine Photographer และใช้ดอกชบามาเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม เพราะสื่อถึงสันติภาพได้ดีที่สุด”

สมาชิกหลักๆ กลุ่มช่างภาพสตรีเพื่อสันติภาพตอนนี้มี 8 คน ส่วนคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็สามารถเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มช่างสตรีเพื่อสันติภาพนี้ได้เลยไม่จำกัด

ส่วนการจัดกิจกรรมส่วนใหญ่จะร่วมกับเครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้และกลุ่ม PPS เช่น การจัดบูธในงานวันสื่อทางเลือกชายแดนใต้ หรือการร่วมแสดงภาพวิถีชีวิตรอมฎอนที่มัสยิดกลางปัตตานีเมื่อเดือนรอมฎอนปีที่แล้ว

กิจกรรมล่าสุดคือการจัดนิทรรศการแสดงภาพในงาน Thank you Patani Yateem ที่หาดตะโละสะมิแล อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีการออกทริปถ่ายภาพตามสถานที่ต่างๆ ล่าสุดคือออกทริปถ่ายภาพในงานคืนความสุขที่สายบุรี โดยได้ไปถ่ายภาพโรงพยาบาลคริสเตียนที่ถูกทิ้งร้าง การจัดอบรมถ่ายภาพเบื้องต้นให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลด้วย เป็นต้น

เธอคือดอกไม้ที่ฉายภาพสันติสู่การเป็นผู้สร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเยียวยาจริงๆ

ติดตามผลงานของกลุ่มช่างภาพสตรีเพื่อสันติภาพได้ที่ Bunga Raya Imagine Photographer

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net