Skip to main content
sharethis

สำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศได้นัดหมายเพิ่มเวลา 1 วินาที โดยสถาบันมาตรวิทยานัดหมายหน่วยงานในประเทศไทยเพิ่มเวลา 1 วินาที เมื่อเวลา 06:59:60 น. วันที่ 1 ก.ค. 2558 เพื่อให้ตรงกับจุดอ้างอิงของเวลาที่กรีนิชซึ่งเป็นเวลาเที่ยงคืนก่อนเข้าสู่วันที่ 1 ก.ค. - ขณะที่นับตั้งแต่ พ.ศ. 2501 มีการปรับเวลามาตรฐานมาแล้ว 36 วินาที

1 ก.ค. 2558 - กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) เปิดเผยเมื่อ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา ถึงกรณีที่จะมีการบวกเพิ่มเวลา 1 วินาที ในเวลา 7 นาฬิกาของวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 นี้ ว่า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ในฐานะผู้รับผิดชอบในการรักษามาตรฐานทางด้านเวลาและความถี่ของประเทศไทย และยังเป็นสมาชิกของสำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ (Bureau International des Poids et Measure: BIPM) ประเทศฝรั่งเศส ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมรองรับการเพิ่มเวลา 1 วินาที (Leap Second) หรือ อธิกวินาที พร้อมให้ภาคธุรกิจและประชาชนรับการถ่ายทอดเวลาที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ตามมาตรฐานสากล

โดยสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) ซึ่งใช้นาฬิกาอะตอมซีเซียมทั้ง 3 เรือนในการกำหนดมาตรฐานเวลาร่วมกับนาฬิกาอะตอมอีกกว่า 400 เรือนจากทั่วโลก อีกทั้งยังทำการเปรียบเทียบเวลากับเวลามาตรฐานสากลผ่านระบบดาวเทียมนำทาง (GPS) ทั้งนี้หากภาคธุรกิจและภาคประชาชน มีความกังวล ก็สามารถที่จะทำการปรับเวลาที่ถูกต้องผ่านระบบการถ่ายทอดเวลามาตรฐานประเทศไทยผ่านช่องทางดังต่อไปนี้

1. ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต Network Time Protocol (NTP) โดยสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมเวลามาตรฐานประเทศไทยได้ที่ www.nimt.or.th ซึ่งทางสถาบันมีข้อแนะนำและขั้นตอนในการปรับเทียบเวลาทางอินเตอร์เน็ตแสดงไว้ในแต่ละขั้นตอน ภายใต้หัวข้อ "วิธีการปรับเทียบเวลามาตรฐานประเทศไทยด้วยโปรแกรม Freeware"

2. ผ่านทางสถานีวิทยุระบบ FM RDS ซึ่งจะทำการส่งสัญญาณเวลามาตรฐานไปพร้อมกับคลื่นวิทยุ FM โดยอาศัยคลื่นวิทยุของสถานีวิทยุกระจายเสียง เช่น คลื่นวิทยุความถี่ 102.5 MHz ของกองทัพอากาศ หรือ คลื่นวิทยุความถี่ 95.0 MHz ของ อสมท. ซึ่งผู้ที่จะทำการรับสัญญาณจะต้องมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถรองรับสัญญาณวิทยุจากระบบ RDS ได้ ซึ่งมีมากมายหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น นาฬิกาที่สามารถรับการควบคุมโดยสัญญาณวิทยุจากระบบ RDS, โทรศัพท์มือถือ, วิทยุ FM ระบบนำทางในรถยนต์ เป็นต้น

ซึ่งทั้ง 2 ระบบนี้จะรองรับการเพิ่มอธิกวินาที ทำให้ผู้ใช้งานมั่นใจได้ว่าการเพิ่มเวลา 1 วินาทีในครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ กับการใช้เวลามาตรฐานประเทศไทยของท่าน

ปิยพัฒน์ พูลทอง นักมาตรวิทยา มว. กล่าวว่า ปัจจุบันระบบการรักษาเวลาที่ใช้ในโลกของเรา แบ่งออกได้เป็น 2 ระบบ คือ 1. ระบบเวลาสุริยะ (Universal Time: UT1) ซึ่งเป็นเวลาที่ได้จากการวัดและคำนวนทางดาราศาสตร์ เช่น การหมุนรอบตัวเองของโลก เป็นต้น โดยมีหน่วยงาน International Earth Rotation and Reference Systems Service (IERS) เป็นผู้รับผิดชอบ และ 2. ระบบเวลามาตรฐานสากลเชิงพิกัด (Coordinated Universal Time: UTC) ซึ่งได้เวลามาจากนาฬิกาอะตอมซีเซียม ที่ใช้เป็นมาตรฐานทางด้านเวลาและความถี่ที่มีความถูกต้องแม่นยำสูงมาก โดยมีสำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ หรือ BIPM เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ เพื่อให้ระบบการรักษาเวลามาตรฐานทั้งสองระบบมีค่าสัมพันธ์กัน เมื่อความแตกต่างระหว่างระบบเวลาสุริยะ และระบบเวลามาตรฐานสากลเชิงพิกัดมีค่าใกล้กับ 0.9 วินาที จะต้องมีการปรับเวลาให้เวลาทั้ง 2 ระบบมีความสอดคล้องกัน คล้ายกับกรณีที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ซึ่งใช้เวลา 365.242 วันใน 1 ปี ทำให้ต้องมีการปรับเพิ่มวันทุกๆ 4 ปี ให้มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์

"โลกหมุนช้าลงทุกๆ วันอันเนื่องมาจาก วิถีการโคจรของดวงจันทร์ การเกิดน้ำขึ้นและน้ำลง การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือแม้กระทั่งการละลายของน้ำแข็งทั่วโลก ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยโลกจะหมุนช้าลงประมาณ 1 ใน 1,000 วินาทีในแต่ละวัน ทำให้ในแต่ละปี (365 วัน) โลกจะหมุนช้าลงประมาณ 3 ใน 10 ของวินาที โดยตามมาตรฐานสากลหากเวลาช้าลงสะสมกันใกล้เคียงกับค่า 9 ใน 10 ของวินาที จะต้องมีการปรับเพิ่มเวลาให้กับนาฬิกา 1 วินาที ซึ่งในปีนี้ มว.จะเพิ่มเวลามาตรฐานของประเทศไทยพร้อมกับนานาประเทศ โดยมีการประกาศให้เพิ่มเวลาที่วินาทีที่ 60 ในช่วงเวลาเที่ยงคืน ของวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ณ จุดอ้างอิงของเวลาสากลเชิงพิกัดที่เมืองกรีนิช ซึ่งตรงกับเวลา 7 โมงเช้าของวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ในประเทศไทย โดยในช่วง 5 วินาทีในขณะนั้นนาฬิกาของประเทศไทย จากเดิมเวลาปกติจะเดินเป็น 6:59:58, 6:59:59, 7:00:00, 7:00:01, 7:00:02 เปลี่ยนอธิกวินาทีจะเดินเป็น 6:59:58, 6:59:59, 6:59:60, 7:00:00, 7:00:01" ดร. ปิยพัฒน์ กล่าว

จากข้อมูลใน วิกิพีเดีย การปรับอธิกวินาที หรือ Leap second เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการใช้ระบบมาตรฐานสากลเชิงพิกัด (UTC) ซึ่งคำนวณเวลาจากนาฬิกาอะตอมซีเซียม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) โดยพบว่าเวลา UTC ตามหลังเวลาอะตอม (TAI) 10 วินาที จึงมีการปรับเวลาให้ตรงกับเวลาอะตอม จากนั้นมีการคำนวณเวลาและปรับอธิกวินาทีโดยตลอด โดยการปรับอธิกวินาทีมีการประกาศครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2515 (ค.ศ. 1972) ขณะที่การปรับอธิกวินาที 2 ครั้งล่าสุดคือ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555 และล่าสุดคือ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ดังกล่าว รวมแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีการปรับอธิกวินาทีแล้วทั้งสิ้น 36 วินาที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net