Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่ จ.เชียงใหม่ ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ โดยมีหลักการประกอบด้วย

1.เห็นชอบให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี โดยแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ มีเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

2.มอบหมายให้ทุกหน่วยงานจัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี

3.มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี คือนายวิษณุ เครืองาม นำกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ไปหารือกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อให้แนวทางปฏิรูปดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

4.มอบหมายให้ สลค. และสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) จัดทำแนวทางการปรับปรุงกลไกการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในรูปของคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลในภาพรวม เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป

ส่วนอำนาจหน้าที่ในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น คือ

1.จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยนำนโยบายรัฐบาล 11 ข้อ ประเด็นปฏิรูปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 11 ด้าน และประเด็นปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ 36 กิจกรรม มาใช้เป็นกรอบในการจัดทำ และให้เสนอร่างยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อใช้เป็นกรอบการดำเนินงานในระยะที่ 2 ของรัฐบาล และกรอบการปฏิรูปในระยะที่ 3 ต่อไป

2.เชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือคณะกรรมการอื่นที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงให้ข้อมูล และแสดงความคิดเห็นตามความจำเป็นหรือตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

3.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อช่วยปฏิบัติงานของคณะกรรมการได้ตามความจำเป็น

4.ดำเนินการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี วิษณุให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุม ครม.จะให้นำแนวทางของรัฐบาลไปพูดคุยกับทาง สปช. ก่อนที่ สปช.จะมีการร่างแนวทางการปฏิรูปมายังรัฐบาลเพื่อนำไปปรับปรุง เพราะเวลาที่ สปช.ส่งมา รัฐบาลก็ต้องนำมาปรับให้เข้ากับแนวทางของรัฐบาลอยู่ดี ทางที่ดีส่งของเราไปให้ สปช.ก่อน โดยจะทยอยส่งแนวทางเป็นชุด สปช.จะเป็นคนเสนอแนวทางปฏิรูปด้านต่างๆ ให้รัฐบาลดำเนินการ โดยมีการกำหนดช่วงระยะเวลาการปฏิรูป จะมีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์รัฐบาลเข้ามาดูในเรื่องนี้ ในการพิจารณากำหนดระยะเวลาการปฏิรูป จะกำหนดเป็นระยะๆ ไม่ใช่จะกำหนดว่าจะทำอะไรบ้างใน 20 ปี แต่ต้องแบ่งเป็นระยะเวลา 3-4 ช่วง เพราะฉะนั้นบางเรื่อง จะไม่เสร็จภายใน 2-3 ปีแรก ต้องส่งไปในช่วงที่ 2 และ 3 และต้องทำบางเรื่องให้เสร็จในช่วงแรก และเรื่องอะไรต้องเสร็จในช่วงต่อไป ทางคณะกรรมการยุทธศาสตร์จะเป็นคนไปคิด

ทั้งนี้กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เลขาธิการครม. และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นรองประธาน

กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.อ.ณัฐวุฒิ ภาสุวณิชยพงศ์ พ.อ.นิมิตต์ สุวรรณรัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งอีก 6 คน ภาคเอกชน 3 คน และอื่น ๆ 3 คน โดยมีรองเลขาธิการครม. ที่ได้รับมอบหมาย และรองเลขาธิการ สศช. ที่ได้รับมอบหมาย เป็นเลขานุการร่วม และมีพล.อ.สกล ชื่นตระกูล พล.อ.จีระศักดิ์ ชมประสพ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษา

โดยในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เขียนไว้อยู่มาตราหนึ่งว่าคณะรัฐมนตรีไม่ว่าจะเป็นใครจะต้องบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายตามแนวทางนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และตามยุทธศาสตร์ชาติ เลยต้องมาตั้งยุทธศาสตร์ชาติ แต่ทั้งหมดก็จะเปิดช่องให้กับรัฐบาลหน้าที่จะเข้ามา ได้คิดยุทธศาสตร์ชาติบางส่วนของเขาเองบ้างเหมือนกับรัฐบาลที่ผ่านๆ มา เมื่อมาเจอแผนพัฒนาเศรษฐกิจไม่ว่าจะฉบับไหนก็ตาม ถ้าไม่พอใจก็ต้องแก้แผน คราวนี้ก็จะมีอีกแผนหนึ่งควบคู่กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ก็คือแผนยุทธศาสตร์ชาติ

วิษณุกล่าวว่า อะไรที่เป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ อาจจะต้องทำเป็นประกาศพระบรมราชโองการ นำเข้าสู่การพิจารณาของสภาด้วย เพื่อกำหนดให้ทำตามว่า ถ้าใครเป็นรัฐบาล ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ก็ให้แก้ยุทธศาสตร์ชาติ เหมือนแก้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ จะไม่ใช่เป็นการที่ว่ารัฐบาลชุดนี้ไปเขียนบังคับให้รัฐบาลชุดหน้าทำ มันไม่เป็นธรรม โดยการเลือกตั้งเขาก็ต้องมีสิทธิของเขา แต่รัฐบาลก็ต้องทำเป็นกรอบไว้ให้ก่อน เพื่อการดำเนินการ ตรงนี้เป็นกรอบที่นายกรัฐมนตรีอยากให้ความชัดเจนว่า แผนยุทธศาสตร์ 20 ปีนั้น 5 ปีแรกจะทำอะไร และ 5 ปีต่อไปจะทำอะไร คือแบ่งเป็น 4 ระยะ ระยะละ 5 ปี ต้องการเห็นประเทศเดินไปในทิศทางใดบ้าง โดยแผนยุทธศาสตร์ชาติจะแบ่งเป็น 5 ด้านใหญ่ๆ คือ ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม การต่างประเทศ และด้านกฎหมาย ตรงกับงานของรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 5 ด้าน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net