สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 25 มิ.ย.-1 ก.ค. 2558

อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดกรุงเทพมหานครพิจารณาหลักเณฑ์ในการใช้ ปรับค่าแรงขั้นต่ำ คาดจะได้ข้อสรุปภายในเดือนกรกฎาคมนี้
 
นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ได้หารือร่วมกับผู้แทนนายจ้าง ลูกจ้าง กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความจำเป็นในค่าครองชีพของลูกจ้าง และความสามารถในการจ่ายค่าแรงของนายจ้าง ตลอดจนภาพรวมของเศรษฐกิจและสังคม
 
อย่างไรก็ตาม แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะนำข้อมูลไปศึกษารายละเอียด ว่าจะปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรือคงไว้ที่ 300 บาทเท่าเดิม โดยจะเสนอที่ประชุมอีกครั้ง ในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนกรกฎาคม ก่อนเสนอคณะกรรมการค่าจ้างต่อไป
 
(VoiceTV, 25/6/2558)
 
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ค้านข้อเสนอลอยตัวค่าแรง พร้อมเรียกร้องปรับค่าแรงขั้นต่ำ
 
นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พร้อมด้วยกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อคัดค้านกรณีที่ กระทรวงแรงงาน จะเสนอให้มีการประกาศลอยตัวค่าแรง และเรียกร้องค่าแรง 360 บาท ทั่วประเทศ ผ่าน นายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษา ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
 
โดย นายสาวิทย์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับกรณีที่ กระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอลอยตัวค่าจ้าง เพราะจะทำให้เกิดปัญหาแรงงานย้ายถิ่น แต่ถ้าค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ โดยกระจายงานไปยังภูมิภาคต่าง ๆ และทำให้แรงงานสามารถอยู่ในพื้นที่ของตนเองได้ นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ให้อยู่ที่ 360 บาท ทั่วประเทศ เพราะค่าแรง 300 บาท ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย ซึ่งการเพิ่มค่าแรงจะเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศด้วย
 
(ไอเอ็นเอ็น, 25/6/2558)
 
นายกไม่รับข้อเสนอขึ้นค่าแรง 360 บ. เท่ากันหมดระบุต้องประเมินตามคุณภาพ
 
(25มิ.ย.58)พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกลุ่มนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลว่า เป็นเรื่องของกลุ่มดังกล่าว แต่หากผิดกฎหมายต้องดำเนินการตามกฎหมาย
 
 ทั้งนี้อยากให้คิดถึงความเดือดร้อนของพ่อแม่และผลกระทบต่อการศึกษา และขอประชาชนอย่าเข้าร่วมการเคลื่อนไหว และอยากให้ทำความเข้าใจว่าปัญหาของประเทศคืออะไร รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาเรื่องใดบ้าง เพื่อให้ประเทศเดินหน้า และย้ำว่ารัฐบาลทำงานเพื่อคนไทยที่เห็นด้วยและคนไทยที่ยังยากลำบาก และขอให้สื่อมวลชนช่วยทำความเข้าใจ กับประชาชน ถึงสิ่งที่รัฐบาลทำ เพราะมีเวลาจำกัด โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์กับประเทศ
 
ขณะเดียวกันระบุไม่โกรธที่สมาคมนักข่าวนักหนังสื่อพิมพ์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ถึงการทำงานของสื่อมวลชนกับนายกรัฐมนตรี แต่ยอมรับมีอารมณ์เป็นธรรมดาและเห็นว่าสื่อไม่ได้มีอำนาจเหนือตนเอง ขณะที่ตนก็ไม่ได้มีอำนาจเหนือสื่อ และจะไม่มีการเชิญผู้บริหารสื่อสิ่งพิมพ์มาร่วมหารืออีก เพราะเคยพูดคุยกันแล้วไม่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น พร้อมทั้งยังมีการเขียนโจมตีอยู่ ดังนั้นควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน อย่าก้าวก่ายกัน
 
ส่วนกรณีคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยหรือ คสรท. ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรง 360 บาททั่วประเทศ นั้น ยืนยันไม่สามารถขึ้นค่าแรงได้เท่ากันหมดได้ แต่เรื่องดังกล่าวควรไปหารือกับกระทรวงแรงงาน ซึ่งต้องประเมินจากความรู้ความสามารถ ฝีมือแรงงาน จะเรียกร้องให้ขึ้นเท่ากันไม่ได้
 
(TNN, 25/6/2558)
 
ก.แรงงานเดินหน้า "หางานทำได้ทุกที่ทุกวัน" ลด "สังคมเหลื่อมล้ำ"
 
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ในการบันทึกเทปรายการ เดินหน้าประเทศไทย ว่ากระทรวงแรงงานได้จัดศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) ตามแนวนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องการลดความเหลื่อมล้ำให้คนในชาติ ทำอย่างไรให้คนไทยมีงานที่ดีทำ มีรายได้ที่สูงขึ้น เป็นการลดช่องว่างทางสังคมอีกทางหนึ่ง โดยศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย เปิดให้บริการ ณ กระทรวงแรงงาน กรุงเทพ เป็นแห่งแรก เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา โดยในปี 2558 ดำเนินการเปิดศูนย์ฯ ที่จังหวัดสงขลา นครราชสีมา ระยอง นครปฐม และเชียงใหม่ รวมแล้ว จำนวน 6 แห่ง ตั้งเป้าเปิดศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ การให้บริการของศูนย์ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ทำให้เป็นแหล่งกลางที่รวมงาน ตรวจสอบหาตำแหน่งงานว่าง การแนะแนว/ฝึกอาชีพ ซึ่งทำได้ 2 แบบ คือ การใช้บริการที่บ้านผ่านศูนย์ฯ บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ท และการมาพบเจ้าหน้าที่เพื่อรับคำแนะแนว มารับบริการ จับคู่คนกับงาน ทำให้การหางานสามารถทำได้ทุกที่ทุกวัน ตอบโจทย์คนอยากมีงาน คนจบใหม่ คนอยากเปลี่ยนงาน ทหารปลดประจำการ ผู้พ้นโทษ ได้งานทำได้ นอกจากนี้ เป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ได้แก่แรงงานนอกระบบที่อยากหาอาชีพอิสระ กลุ่ม คนพิการที่ต้องการหางาน ผลการจับคู่หางานช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีผู้มาใช้บริการหางานประมาณ 9 แสนคน สามารถหางานให้ได้แล้วประมาณ 4 แสนคน ทั้งนี้ ยอดผู้มาใช้บริการรวมคนที่ตกงานแล้วต้องหางานใหม่ที่หมุนเวียนกันเข้ามาด้วย
 
รมว.แรงงาน กล่าวต่ออีกว่า วิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ใช้วิธีสร้างความใกล้ชิดกับผู้มาใช้บริการ เจ้าหน้าที่พูดด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าใจได้ ดังนั้น ในการทำงาน ข้าราชการต้องยื่นมือออกไปหาประชาชนให้สุดแขน เป็นการให้บริการจัดหางานสำหรับคนไทย สำหรับแรงงานต่างชาตินั้นจะทำงานได้ต้องมีนายจ้างจ้างก่อนจึงจะเข้ามาทำงานได้
 
ขณะนี้ได้ให้นโยบายแก่ข้าราชการกระทรวงแรงงานว่าต้องเดินเข้าหาประชาชน เกียรติของข้าราชการคือการได้ทำงานให้ประชาชน ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษกับผู้มารับบริการ ซึ่งกระทรวงแรงงานดูแลคุ้มครองด้านสิทธิแรงงาน ทั้งด้านความปลอดภัยในการทำงาน ป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี มีการเจรจาตกลงกันได้ที่สถานประกอบกิจการ ไม่ใช่ให้จบที่ศาล และต้องทำให้ประเทศไทยมีการคุ้มครองแรงงานตามมาตรฐานสากล ซึ่งด้านแรงงานมีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เป็นหน่วยงานหลักระดับโลกดูแล และที่ผ่านมาได้มีโอกาสได้ไปกล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมใหญ่ประจำปีของ ILO ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยได้นำนโยบายของนายกรัฐมนตรีไปชี้แจงถึงความมุ่งมั่นที่รัฐบาลไทยเตรียมจะให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ จำนวน 4 ฉบับ การประกาศนโยบายการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ มีนโยบายให้คนไทยทุกคนมีงานทำ ทั้งนี้ได้มีการพบปะพูดคุยกับ Mr.Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่ ILO  ซึ่งได้แสดงความชื่นชมประเทศไทยที่กำลังก้าวไปสู่การมีมาตรฐานระดับสากล
 
สำหรับทิศทางต่อไปในอนาคต ด้านแรงงานของไทยต้องมีงานทำให้มาก พัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ตามทางของนายกรัฐมนตรี "ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ดังนั้นจะต้องมีการปรับโครงสร้างการทำงานของข้าราชการกระทรวงแรงงานในหลายๆหน่วยงานที่เป็นหน่วยให้บริการประชาชน ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาอยู่
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 25/6/2558)
 
แคดดี้สนามงูบุกทำเนียบยื่นหนังสือร้อง 'นายกฯ ตู่'
 
นายปรีชา บุญพรม และนางนุชนารถ ไวยวารี ซึ่งเป็นตัวแทนแคดดี้สนามกานตรัตน์ (สนามงู) พร้อมด้วยเพื่อนร่วมงานกว่าร้อยคน เดินทางเข้าทำเนียบยื่นหนังสื่อร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมี นายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ เจ้าหน้าที่ตัวแทนศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล เป็นตัวแทนรับเรื่องดังกล่าว ตามหนังสื่อข้อเรียกร้องของแคดดี้สนามกาน ตรัตน์ฯ มีดังนี้
 
ข้อเรียกร้องพนักงานถือถุงกอล์ฟ (แคดดี้) สนามกานตรัตน์ (สนามงู)
1.ต้องการให้ผู้บริหารหยุดการบริหารงานในสนามกอล์ฟ อันเนื่องมาจากเหตุผลดังนี้
1.1 การบริหารงานของผู้บริหารผิดพลาด ไม่โปร่งใสส่อในทางทุจริตไม่ชอบ ซึ่งมีหลักฐานชัดเจน ทั้งพยานบุคคล และพยานวัตถุ
 
1.2 สร้างกฎระเบียบในการออกรอบของนักกอล์ฟ จนทำให้ไม่มีนักกอล์ฟมาเล่นกอล์ฟเหมือนเช่นเดิม อันเป็นที่มาของรายได้ที่ลดน้อยลง จนไม่พอจะยังชีพ
 
1.3 ใช้คำพูดไม่ให้เกียรตินักกอล์ฟ ซึ่งเป็นผู้มีอุปการคุณ และใช้วาจาข่มขู่พนักงานถือถุงกอล์ฟ (แคดดี้) ซึ่งผู้บริหารคนก่อนๆ ไม่เคยกระทำ จึงก่อให้เกิดความไม่น่านับถือจากผู้ใต้บังคับบัญชาและบุคคลทั่วไป
 
1.4 สร้างความแตกแยกและไม่มีความยุติธรรมในหมู่พนักงานถือถุงกอล์ฟ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นในสมัยใดมาก่อน
 
1.5 จากการใช้อำนาจหน้าที่ข่มขู่พนักงาน และผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างไร้เหตุหล จนมีพนักงานถูกพักงาน และปลดออกจำนวนหนึ่ง จึงขอให้ผู้บริหารรับพนักงานที่เต็มใจจะกลับเข้ามาทำงานเช่นเดิม
 
2.สุดท้ายนี้ ขอให้พนักงานที่เป็นแกนนำ และผู้ร่วมลงชื่อเรียกร้องในครั้งนี้ ต้องไม่มีความผิดและรับโทษใดๆ
 
(บ้านเมือง, 26/5/2558)
 
บีโอไออนุมัติส่งเสริมลงทุนภาคตะวันออก พ.ค.58 สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนหลายเท่า
 
ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 (แหลมฉบัง) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทน (บีโอไอ) เปิดเผยการลงทุนในภาพรวม 8 จังหวัดภาคตะวันออกเดือนพฤษภาคม 2558 ว่า ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติ 44 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 20,624.00 ล้านบาท จ้างงาน 3,997 คน ทั้งนี้ จ.ระยอง มีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมากเป็นอันดับ 1 คือ 16 โครงการ หรือร้อยละ 36.36 เงินลงทุน 11,980.00 ล้านบาท หรือร้อยละ 57.94
       
อันดับ 2 คือ จ.ชลบุรี มี 14 โครงการ หรือร้อยละ 31.81 เงินลงทุนรวม 3,694.00 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.86
       
เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่า เดือนพฤษภาคม 2558 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนถึง 44 โครงการ มากกว่าปี 2557 ที่มีเพียง 20 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 20,674 ล้านบาท สูงกว่าเดือนพฤษภาคม 2557 ที่มีเพียง 3,168 ล้านบาท รวมทั้งยังมีการจ้างแรงงานสูงกว่าอีกด้วย
       
ประเภทกิจการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์โลหะเครื่องจักร และอุปกรณ์การขนส่ง รองลงมา คือ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ กระดาษและพลาสติก กิจการบริการและสาธารณูปโภค อุตสาหกรรมทางการเกษตรและผลิตผลจากการเกษตร และอุตสาหกรรมเหมืองแร่ เซรามิก และโลหะมูลฐาน
       
ขณะที่ภาพรวมการลงทุนในช่วง 5 เดือนของปี 2558 (1 มกราคม-31 พฤษภาคม) มีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนใน 8 จังหวัดภาคตะวันออก 443 โครงการ มูลค่าการลงทุน 171,300 ล้านบาท จ้างงาน 39,463 คน
       
จังหวัดที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมากเป็นอันดับ 1 ยังคงเป็น จ.ระยอง 173 โครงการ มูลค่า 77,119 ล้านบาท รองลงมา คือ จ.ชลบุรี 142 โครงการ มูลค่า 43,714 ล้านบาท จ.ปราจีนบุรี วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 30,640 ล้านบาท ฉะเชิงเทรา 16,508 ล้านบาท และสระแก้ว 3,162 ล้านบาท จันทบุรี 100 ล้านบาท และตราด 57 ล้านบาท
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 27/6/2558)
 
ผู้บริหารไทยทีวีวอนพนักงานสมัครใจลาออก แบกรับต้นทุนไม่ไหว 
 
จากกรณี นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ "เจ๊ติ๋ม" เจ้าของธุรกิจสื่อบันเทิงยักษ์ใหญ่ทีวีพูล ในฐานะประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยทีวี จำกัด ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เพื่อขอยกเลิกทีวีดิจิตอล 2 ช่อง คือ ช่องไทยทีวีและช่องโลก้า พร้อมประกาศจุดยืนว่าจะไม่จ่ายค่าสัมปทานงวดที่ 2 เพราะที่ผ่านมาธุรกิจขาดทุนมากกว่า 300 ล้านบาทนั้น
 
ล่าสุดวานนี้ (26 มิ.ย.) ทวิตเตอร์ ‏@pakapong_report ระบุว่า นางพันธุ์ทิพา ได้ส่งข้อความผ่านไลน์ถึงพนักงานในบริษัท โดยขอให้พนักงานของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสมัครใจลาออก เพื่อลดค่าใช้จ่าย ไม่เช่นนั้นช่องไทยทีวีจะขาดทุนเดือนละ 10 ล้าน
 
โดยปีหน้าทีวีพูลมีแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมาเลี้ยงไทยทีวีตลอดไปไม่ได้ พร้อมย้ำว่าไม่มีใครลำบากจากการลาออก เพราะยังรับเงินจากประกันสังคมได้ 3 เดือน หากใครมีที่ไปก็ขอให้ไปก่อน เพื่อความอยู่รอดของบริษัท
 
ข้อความทั้งหมดระบุดังนี้...
 
"สำนักข่าวต้องจ่ายถึงเดือนละ 1.9 ล้าน ยังไม่รวมข่าวภูมิภาคอีกประมาณ 1 แสน และค่าน้ำมันรถ และค่าเสื่อมมากมายกว่าจะได้ข่าวมาแต่ละชิ้น เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยตรง เราจึงต้องลดค่าใช้จ่าย และจะลดลงไปเรื่อยๆ ให้เหลือเท่าโต๊ะข่าวบันเทิง คือประมาณ 600,000 บาท ขอย้ำว่าเราจะไม่ไล่ใครออก เพราะจะทำให้พนักงานคนนั้นๆ เสียประวัติไปตลอดชีวิตการทำงาน
 
ใครยังไม่ทางไปจะอยู่ก็ไม่ว่านะคะ เพราะถ้าลาออกเราก็สามารถรับเงินจากประกันสังคมได้ 3 เดือน เพราะบริษัทเราส่งประกันสังคมเดือนละหลายล้านบาท การลาออกไม่มีใครลำบากหรอก แต่จะทำให้บริษัทอยู่ได้ ทีวีพูลจะมาเลี้ยงไทยทีวีตลอดไม่ได้ เพราะทีวีพูลมีแผนเข้าตลาดหลักทรีพย์ปีหน้า ต้องทำกำไรโชว์ในตลาดด้วยนะคะ"
 
"เราต้องลดคนเพราะประชุมฝ่ายขายแล้วยอดรายได้ไม่ได้ตามเป้า ขายได้เดือนละ 3-4 ล้าน เฉพาะเงินเดือนพนักงานของไทยทีวี 8.5 ล้าน รวมค่าเช่าดาวเทียม HD แล้ว เป็นเงินเดือนละ 13.5 ล้าน บริษัทต้องลดค่าใช้จ่ายทุกประเภท มิฉะนั้นไทยทีวีจะขาดทุนเดือนละ 10 ล้าน จะให้ทีวีพูลมาเลี้ยงทุกเดือนก็ไม่ไหว ใครที่มีทางไปก็ไปก่อน เมื่อมีรายได้เพิ่มเราจะเรียกกลับมาใหม่ หรืออาจมารับเป็น Freelance ก็ได้ ขอบคุณ"
 
(sanook.com, 27/6/2558)
 
ย้ำชัด!อาชีพไกด์สงวนให้คนไทยเท่านั้น
 
นางสาววรรณสิริ โมรากุล รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กรมการท่องเที่ยวขอยืนยันว่ามักคุเทศก์ (ไกด์) คนไทยที่พูดภาษาจีนได้ที่มีอยู่จำนวน 5,600 คน เพียงพอที่รองรับนักท่องเที่ยวชาวจีนที่จะมาท่องเที่ยวประเทศไทยตลอดปีนี้ ที่ภาคเอกชนคาดว่าจะมากถึง 7.45 ล้านคน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากดังกล่าวไม่ได้มาทีเดียวและกระจายมาตลอดทั้งปี ซึ่งปัจจุบันไกด์ไทยที่พูดภาษาจีนได้และถูกจ้างไปทำงานอยู่ที่ 4,856 คน ส่วนคนที่เหลืออาจต้องฝึกทักษะเพิ่มเติม
 
ส่วนที่มีการพูดกันว่าไกด์ที่พูดภาษาจีนไม่เพียงพอน่าจะเป็นข้ออ้างของบริษัททัวร์ที่อยากใช้ไกด์คนจีน ซึ่งทำไม่ได้เพราะผิดกฎหมายไทย ที่ไม่อนุญาตคนต่างชาติมาเป็นไกด์ในประเทศไทยอย่างเด็ดขาด หากมีบริษัททัวร์ที่นำคนต่างชาติมาเป็นไกด์ จะมีโทษทั้งจำทั้งปรับและถึงขั้นถูกสั่งพักใบอนุญาต อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าไกด์คนไทยที่พูดภาษาเกาหลียังไม่เพียงพอ โดยปัจจุบันมีอยู่ 447 คน จะต้องมี 1,296 คน จึงจะเพียงพอ
 
“กรณีที่มีกระแสข่าวว่ากรมการท่องเที่ยวได้ขึ้นทะเบียนมัคคุเทศก์ให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาประกอบอาชีพในไทยเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน กรมฯไม่มีนโยบายเรื่องนี้แต่อย่างใด และตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป จะให้ไกด์ทุกคนเริ่มต้นสวมเครื่องแบบและตั้งแต่ 1 ม.ค.2559 ไกด์คนใดไม่ปฏิบัติจะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท”.
 
(ไทยรัฐ, 27/6/2558)
 
ก.แรงงานเตรียม 20 ล้านจ้างงานเกษตรกรรับภัยแล้ง
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้เตรียมงบประมาณไว้ประมาณ 20 ล้านบาท รองรับโครงการจ้างงานเร่งด่วนชั่วคราว เพื่อเป็นการลดผลกระทบให้กับเกษตรกรที่ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ในช่วงเกิดวิกฤติภัยแล้งรุนแรง โดยให้แรงงานจังหวัดว่าจ้างแรงงานภาคการเกษตรเพื่อทำงานในโครงการต่างๆ ในชุมชน อาทิ การขุดลอกคูคลอง จะได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เพื่อลดผลกระทบชั่วคราวในช่วงที่เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกได้
 
ขณะที่มีตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรม รวมประมาณ 5 แสนตำแหน่ง เพื่อรองรับแรงงานจากภาคเกษตร ในช่วงที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 27/6/2558)
 
ไทยพาณิชย์แจงสื่อสารผิดพลาด กรณีรับสมัครงานเฉพาะผู้จบจาก 14 สถาบัน
 
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ธนาคารไทยพาณิชย์ออกเอกสารข่าวชี้แจงเรื่องการรับสมัครงานว่า 
 
ตามที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ลงประกาศโฆษณารับสมัครงานในตำแหน่ง Financial Advisor Trainee ทาง website หางาน โดยได้มีการระบุชื่อมหาวิทยาลัยจำนวน 14 สถาบันนั้น 
 
ธนาคารขออภัยอย่างสูงที่มีการผิดพลาดในการสื่อสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องการรับนิสิตนักศึกษาเข้าทำงานเพราะในความเป็นจริงนั้น นโยบายของธนาคารเปิดรับนิสิตนักศึกษาจากทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และก็ได้ดำเนินการตามนโยบายนี้ตลอดมา ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันพนักงานของธนาคารกว่า 22,000 คนนั้นก็ประกอบไปด้วยนิสิตนักศึกษาจากหลากหลายสถาบันทั่วประเทศ สำหรับโครงการ Financial Advisor Trainee นี้ก็เช่นเดียวกันซึ่งในขณะนี้ ทางธนาคารก็ยังมีความต้องการสรรหาบุคลากรทางด้านนี้โดยเปิดรับสมัครและดำเนินการคัดเลือกนิสิตนักศึกษาจากทุกสถาบันเพื่อเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ในโลกออนไลน์มีผู้โพสต์ในทำนองติติงประกาศการรับสมัครงานของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งระบุไว้ว่าจะรับเฉพาะนักศึกษาจาก 14 สถาบันเท่านั้น
 
(ข่าวสด, 29/6/2558)
 
บอร์ดสปส.ฝ่ายลูกจ้าง นักวิชาการหนุนสปส.เป็นองค์กรอิสระ เหตุอยู่ในระบบราชการลงทุนไม่คล่องตัว หวั่นเงินกองทุนแสนล้าน ไม่มั่นคง
 
นายชินโชติ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการประกันสังคมฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า การที่สปส.อยู่ในระบบราชการ ทำให้มีปัญหาการลงทุนไม่คล่องตัว ขณะนี้สปส.มีเงินประมาณ 1 แสนล้านบาทที่ไม่สามารถนำไปลงทุนได้เพราะระเบียบของสปส.ไม่สามารถแบ่งลงทุนเป็นรายย่อยได้ จะต้องลงทุนครั้งละ 1-2 หมื่นล้านบาท และที่น่าห่วงคือเงินจำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ไม่สามารถนำไปลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ ทำให้กระทบต่อความมั่นคงของกองทุนในระยะยาว เนื่องจากกองทุนต้องทยอยจ่ายเงินสิทธิประโยชน์ชราภาพทุกปี อาจมีปัญหาเงินหมดภายใน 30 ปี ทั้งนี้ แม้สปส.จะศึกษาแนวทางแก้ปัญหาไว้ เช่น การขยายอายุเกษียณจาก 60 ปีเป็น 65 ปี การเก็บเงินสมทบเพิ่ม แต่ยังไม่ดีเท่ากับการนำเงินไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลกำไร
 
จึงเห็นว่าสปส.ต้องออกนอกระบบราชการ แต่จะเป็นรูปแบบไหนทุกฝ่ายต้องร่วมกันออกแบบ อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่คือ แม้ว่าฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างสนับสนุนแนวคิดนี้ แต่สปส.ก็ไม่ตอบรับเห็นได้จากแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของสปส.ที่ไม่ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้ ด้านนายมนัส โกศล เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค) บอกว่า ข้อเสนอ คปค. ต้องกาสรผลักดันให้เกิดความเป็นอิสระกับกองทุนประกันสังคมซึ่งอาจะต้องเสนอให้มี พ.ร.บ.ตั้งหน่วยงานหรือองค์กรประกันสังคมในรูปแบบมหาชน ที่แยกการบริหารจัดการออกจากหน่วยงานราชการ "กฏหมายตั้งองค์กรประกันสังคมในรูปแบบที่เป็นอิสระเช่นออก กฏหมายจัดตั้งองค์กรในลักษณะมหาชน ไม่อยู่ภายใต้รัฐมนตรีมีคณะกรรมการในการตัดสินใจทำงานร่วมกัน มีอิสระในการบริหารไม่อยู่ภายใต้ระบบราชการ
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 29/6/2558)
 
สภาองค์การนายจ้างฯ หนุนปรับค่าแรงขั้นต่ำตามพื้นที่ ชี้หากขึ้นอีกมีผลกระทบรุนแรง
 
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (ECONTHAI) กล่าวว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยที่จะให้มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่ต่างกันไป เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดค่าจ้าง เช่น แหล่งวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ซึ่งหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างอีกจะส่งผลให้ไม่เกิดการลงทุนใหม่เพิ่มเติม
 
พร้อมระบุว่า หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 360 บาท/วัน ผู้ประกอบการ 90% เห็นว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงมาก
 
"ขณะนี้กำไรแทบไม่มี ไม่ใช่กำไรแคบนะ ธุรกิจแค่พยุงตัวอยู่ได้เท่านั้น" นายธนิต กล่าว
 
ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้ง ได้ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากทำให้กำลังซื้อราว 50% ที่มาจากภาคเกษตรหดหายไป
 
ส่วนเรื่องสภาวะการจ้างงานนั้นจะสัมพันธ์กับภาวะเศรษฐกิจ วันนี้จะนำผลสำรวจความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ 13 กลุ่มอุตสาหกรรมมาประเมินร่วมกัน ซึ่งผลสำรวจพบว่าผู้ประกอบการ 40% เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังทรงตัว และอีก 40% เชื่อว่าดีขึ้น ส่วนที่เหลือ 20% เชื่อว่าหดตัว
 
"ผู้ประกอบการในปริมณฑลยังเชื่อมั่นว่าดีขึ้น แต่ในต่างจังหวัดยังสับสน เพราะมีปัญหาเรื่องภัยแล้งเข้ามา ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อจากภาคเกษตรหายไป" นายธนิต กล่าว
 
ทั้งนี้ เห็นว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ผู้ประกอบการยอมรับได้หากจะมีการปรับขึ้นหากภาวะเศรษฐกิจในปีหน้าฟื้นตัวคือ 310-320 บาท/วัน
 
"ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นค่าจ้างก็จะปรับขึ้นเพราะเกิดการแย่งแรงงานไปโดยปริยาย ซึ่งเอกชนเห็นว่าค่าจ้างที่เหมาะสมหากจะปรับขึ้นในปีหน้าคือ 310-320 บาท/วัน" นายธนิต กล่าว
 
สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจของไทยในช่วง H2/58  ยังเป็นเรื่องของการส่งออกที่มีสัดส่วนถึง 60%ของจีดีพี และมีความเกี่ยวพันกับห่วงโซ่เศรษฐกิจหลายสาขา ซึ่งคาดว่าการส่งออกปีนี้จะหดตัวไม่ต่ำกว่า 2%
 
"ถ้าแก้เรื่องส่งออกไม่ได้ เศรษฐกิจก็ฟื้นตัวยาก เพราะเกี่ยวกันกับธุรกิจหลายอย่าง...ฟันธงได้เลยปีนี้ส่งออกติดลบมากกว่า 2%" นายธนิต กล่าว
 
ส่วนปัญหาค่าเงินก็มีผลต่อการแข่งขัน ถึงแม้บาทจะอ่อนค่า 4-5% แต่ในภูมิภาคก็อ่อนค่าเหมือนกัน พอเกิดปัญหากรีซมีโอกาสที่จะเข้าสู่กระบวนการล้มละลายสูง ทำให้นักลงทุนไปถือครองดอลลาร์อาจทำให้บาทอ่อนค่าเกินปกติ
 
นอกจากนี้ยังเห็นว่าควรมีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการไตรภาคีให้มีความเป็นกลาง ปลอดการแทรกแซงทางการเมือง เพราะผลจากนโบายประชานิยมที่ผ่านมาเป็นการผลักภาระให้กับผู้ประกอบการ
 
ด้านนายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การพิจารณาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำในขณะนี้อยู่ระหว่างรอคณะกรรมการฯ ระดับจังหวัดส่งผลสรุปมาให้ภายในเดือน ก.ค.นี้ หลังจากนั้นคณะกรรมไตรภาคีจะนำข้อมูลมาพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในเดือน ส.ค.นี้
 
"เดือนสิงหาคมนี้จะมีความชัดเจนแน่นอน ส่วนจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ต้องพิจารณาตามความเหมาะสม"ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว
 
พร้อมระบุว่า การประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้กำหนดตายตัวว่าต้องเป็นวันที่ 1 ม.ค. และหากจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างจริงก็ต้องมีการประกาศแจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการรับทราบก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 2 เดือน
 
(ryt9.com, 30/6/2558)
 
อัตราว่างงานไทยต่ำ 0.9% คาดครึ่งปีหลังจ้างงานเพิ่มอีก 26%
 
นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังประชุมระดมความเห็นเรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นการจ้างงานครึ่งปีหลัง พ.ศ. 2558” จัดโดยสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (ECONTHAI) ว่า อัตราการว่างงานถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีที่อัตรา 0.9% ซึ่งถือว่าต่ำมาก เนื่องจากเรามีงานรองรับแรงงานไทยได้ค่อนข้างมาก และเป็นเหตุให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องมีความระมัดระวังเรื่องแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาแทนที่งานของคนไทยได้ในอนาคต แรงงานไทยจึงต้องเร่งพัฒนาตนเองอยู่เสมอ สังคมไทยต้องเป็นแรงงานมีฝีมือ มีทักษะ และต้องเป็นภาษาที่สอง และภาษาที่สามด้วยจึงจะมีโอกาสก้าวขึ้นสู่หัวหน้างานได้
       
ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภา ECONTHAI กล่าวว่า จากรายงานผลการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีแรก ตั้งแต่ ม.ค. - มิ.ย. 2558 ของสภาองค์การนายจ้างฯ พบว่า ภาพรวมของสภาวะการจ้างงาน ผู้ประกอบการร้อยละ 63.33 การจ้างงานยังอยู่ในระดับคงที่ มีผู้ประกอบการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 20 และมีผู้ประกอบการที่จ้างงานลดลงร้อยละ 16.7 ผู้ประกอบการร้อยละ 21.05 ลดเวลาการทำงานและลดการทำงานล่วงเวลา ทั้งนี้ กลุ่มผู้ส่งออกและขายในประเทศมีความสอดคล้องกันในด้านการจ้างงานที่ผ่านมาว่ายังคงจ้างในอัตราคงที่ แต่มีการลดล่วงเวลา ส่วนกลุ่มที่จ้างงานลดลงให้ข้อมูลว่าการลดแรงงานจะลดในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ด้านกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมของภาครัฐของไตรมาสแรกอยู่ที่ 58 - 60 และกำลังการผลิตของเอสเอ็มอีอยู่ที่ 42.8
       
“ส่วนความเชื่อมั่นการจ้างงานครึ่งปีหลัง ตั้งแต่ ก.ค. - ธ.ค. 2558 พบว่า ผู้ประกอบการร้อยละ 67 ยังคงจ้างงานในอัตราเท่าเดิม ขณะที่ผู้ประกอบการร้อยละ 26.34 อาจมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น มีเพียงร้อยละ 6.6 ที่จ้างงานลดลง โดยผู้ประกอบ 2 กลุ่มทั้งกลุ่มส่งออกเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะดีขึ้นร้อยละ 30.3 และผู้ประกอบกลุ่มขายภายในประเทศเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะดีขึ้นร้อยละ 22.9 ตามลำดับ” ดร.ธนิต กล่าว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 30/6/2558)
 
ไทยพาณิชย์ยันรับพนักงานใหม่กว่า 4,000 คน จากหลายสถาบัน
 
กลายเป็นกระแสและดราม่าตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ถูกกระแสในโลกออนไลน์รุมถล่มจากกรณีการแชร์ภาพประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งที่ปรึกษาทางการเงินฝึกหัด (Financial Advisor Trainee) ที่มีการระบุมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน จนทำให้เกิดกระแสวิจารณ์การเลือกปฏิบัติ ซึ่งในเวลาต่อมาทางธนาคารไทยพาณิชย์ได้ออกมาประกาศขออภัย พร้อมชี้แจงว่า มีการผิดพลาดในการสื่อสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องการรับนิสิตนักศึกษาเข้าทำงาน เพราะในความเป็นจริงนั้นนโยบายของธนาคารเปิดรับนิสิตนักศึกษาจากทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ แต่กระแสวิจารณ์ทางลบต่อธนาคารยังดูเหมือนจะยังต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดมีความเคลื่อนไหวจาก 40 สถาบันราชภัฎทั่วประเทศจะมีการหารือประกาศทบทวนเลิกทำธุรกรรมกับธนาคารหรือไม่ โดยจะมีการหารือและรอมติร่วมกันในวันที่ 3 กรกฎาคม
 
ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก SCB Thailand ซึ่งเป็นเพจของ ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนว่า พร้อมเผยข้อมูลพนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน ปี 2558 ซึ่งมีจำนวนกว่า 4,000 คน โดย ทางเพจ SCB Thailand ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ระบุข้อความว่า 
 
"แบ่งปันข้อมูลจำนวนพนักงานใหม่ที่เข้ามาอยู่ในครอบครัว SCB ตั้งแต่ปี 57 จนถึงปัจจุบัน (พ.ค.58) มีจำนวนกว่า 4,000 คน ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถจากหลากหลายสถาบันทั่วประเทศค่ะ"
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 1/7/2558)
 
สำนักงานสถิติฯ เปิดตัวเลขทำงานเดือนพ.ค. พบภาคเกษตรลด 8.7 แสนคน แห่ไปสาขาก่อสร้างเพิ่มมากสุด 1.9 แสนคน
 
รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือนพ.ค.58จากจำนวนผู้ที่มีอายุตั้งแต่15ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นผู้ที่มีงานทำ37.57ล้านคน พบว่า จำนวนผู้ที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมได้ปรับลดลงเหลือ11.43ล้านคน หรือลดลง870,000คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งการลดลงดังกล่าวอาจเกิดจากสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนตัดสินใจย้ายการทำงานมาสู่อาชีพอื่นมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนผู้ที่ทำงานนอกภาคเกษตร ที่มีมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า680,000คน โดยเฉพาะสาขาก่อสร้างที่มีจำนวนคนทำงานเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง190,000คน
 
ขณะเดียวกันจำนวนผู้ทำงานนอกภาคเกษตรยังเพิ่มขึ้นในสาขากิจกรรมบริการอื่นๆ เช่น กิจกรรมบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างกาย ดูแลสัตว์เลี้ยง บริการซักรีด และซักแห้ง มากถึง180,000คน สาขาการขนส่ง ขายปลีก ซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ และการศึกษา100,000คน กิจกรรมอสังหาริมทรัพย์70,000คน กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย60,000คน สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า40,000คนสาขาบริหารราชการ การป้องกันประเทศและการประกันสังคมภาคบังคับ10,000คน
 
(เดลินิวส์, 1/7/2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท