Skip to main content
sharethis

ผู้สนับสนุนประเด็นนี้พากันเฉลิมฉลองด้วยแฮชแท็ก #LoveWins ในอินเทอร์เน็ต หลังจากศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ตัดสินคดีที่รัฐโอไฮโอไม่ยอมรับการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันที่จดทะเบียนจากรัฐอื่นโดยอ้างมาตรา 14 ของบทแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยพลเมืองทุกคนได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม

27 มิ.ย. 2558 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาศาลสูงสุดของทางการกลางสหรัฐอเมริกามีมติ 5 ต่อ 4 ตัดสินให้การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันในทุกรัฐของอเมริกาเป็นเรื่องถูกกฎหมาย และการสั่งห้ามการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันถือเป็นการขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ

ศาลสูงสุดสหรัฐฯ ตัดสินคดีที่ชื่อ Obergefell v. Hodges ซึ่งเป็นคดีที่คู่รักเพศเดียวกันในรัฐโอไฮโอฟ้องร้องกรณีที่รัฐโอไฮโอไม่ยอมรับการแต่งงานของคู่แต่งงานเพศเดียวกันที่จดทะเบียนแต่งงานจากรัฐอื่นคือแมรีแลนด์ที่เป็นรัฐที่อนุญาตให้มีการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันได้ตั้งแต่ปี 2556

โดยศาลตัดสินให้คู่แต่งงานเพศเดียวกันมีสิทธิ์โดยชอบธรรมตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มาตรา 14 ซึ่งระบุถึงสิทธิของพลเมืองที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน โดยในบรรทัดแรกของคำตัดสินจากศาลระบุว่า "บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ มาตรา 14 กำหนดให้รัฐ (โอไฮโอ) จดทะเบียนสมรสให้กับคนสองคนที่เป็นเพศเดียวกันได้ และกำหนดให้รัฐยอมรับสภาพของทั้งสองคนในฐานะคู่สมรสที่จดทะเบียนภายนอกรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้"

เว็บไซต์ดิแอตแลนติคระบุว่าคตัดสินคดีนี้เป็นที่รอคอยของทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน โดยผู้พิพากษาชาวคริสต์นิกายคาโธลิก แอนโธนี เคนเนดี หนึ่งในผู้ลงมติระบุว่าการตัดสินใจแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันถือเป็นเรื่องทางเลือกส่วนบุคคล และการแต่งงานถือเป็นการสนับสนุนการใช้ชีวิตร่วมกันของคนสองคนที่แตกต่างจากพันธะร่วมกันระหว่างบุคคลในรูปแบบอื่น คู่รักเพศเดียวกันมีสิทธิที่จะอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกับคู่รักที่เป็นคนต่างเพศ

ถึงแม้ว่าในเวลาต่อมาผู้พิพากษาจะมีท่าทีลังเลโดยส่วนหนึ่งระบุว่าการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันจะเป็นอันตรายต่อเด็กและครอบครัวและเกรงว่าจะทำให้ระเบียบในสังคมอมเริกันที่มีมานานสูญเสียไป แต่เคนเนดีก็ระบุว่ากลุ่มคู่รักต่างเพศเองก็ไม่ได้ถูกบังคับโดยกฎหมายให้ต้องมีลูกและฝ่ายคนรักเพศเดียวกันก็สามารถมีลูกได้โดยการอุปการะลูกเลี้ยงหรือด้วยวิธีการทางพันธุกรรมศาสตร์ และในข้อถกเถียงเกี่ยวกับ "ระเบียบในสังคม" เคนเนนีก็ระบุว่าการแต่งงานถือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างระเบียบในสังคม และการกีดกันคนรักเพศเดียวกันออกจากสถาบันหลักทางสังคมก็ถือเป็นเรื่องที่เสื่อมเสีย และสถาบันการแต่งงานเองก็มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย

"จุดกำเนิดของการสมรสมีลักษณะความเป็นศูนย์กลางในตัวเอง แต่มันก็ไม่ได้แยกห่างออกจากการพัฒนาทางสังคมและการพัฒนาด้านกฎหมาย" ผู้พิพากษาเคนเนดีระบุ

หลังคำตัดสินในครั้งนี้ทั้งนักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศที่รณรงค์เรื่องคดีนี้เสมอมารวมถึงผู้คนที่สนับสนุนการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันพากันแสดงความยินดีโดยบอกว่ามันคือ "ชัยชนะของความรัก" ในเว็บไซต์ไซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างทวิตเตอร์มีผู้คนพากันโพสต์แสดงความยินดีพร้อมแฮชแท็ก #LoveWins พร้อมรูปหัวใจสีรุ้ง

ผู้คนที่รอฟังคำตัดสินอยู่นอกศาลก็พากันแสดงความยินดีทั้งรอยยิ้มและน้ำตารวมถึงการสวมกอดคู่รักของพวกเขา มีผู้คนที่ชุมนุมตามท้องถนนในที่อื่นๆ ของประเทศก็พากันแสดงความยินดีด้วยการโบกธงสีรุ้งและธงชาติสหรัฐฯ

สำนักข่าวเดอะการ์เดียนระบุว่าคำตัดสินในครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญสหรัฐฯ ทำให้จำนวนรัฐที่อนุญาตให้มีการแต่งงานระหว่างคนรักเพศเดียวกันได้เพิ่มขึ้นจาก 37 รัฐ เป็น 50 รัฐ ซึ่งนับเป็นจำนวนรัฐทั้งหมดในอเมริกาและทำให้สหรัฐฯ นับเป็นประเทศที่ 21 ที่มีการยอมรับการแจ่งงานของคนรักเพศเดียวกันได้ทั่วประเทศ

ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ของสหรัฐฯ กล่าวว่าคำตัดสินของศาลในครั้งนี้ถือเป็น "ชัยชนะของอเมริกา"

"การตัดสินในครั้งนี้เป็นการยืนยันว่าชาวอเมริกันนับล้านคนมีความเชื่อในหัวใจตัวเองอยู่แล้วว่า เมื่อชาวอเมริกันทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค พวกเราทุกคนก็จะมีเสรีภาพมากขึ้นด้วย" บารัค โอบาม่ากล่าว

อย่างไรก็ตามมาร์ค ทาคาโนะ ส.ส. จากรัฐแคลิฟอร์เนียที่เปิดเผยว่าตนเองเป็นคนรักเพศเดียวกันกล่าวว่า กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยังคงต้องต่อสู้ในอุปสรรคเรื่องอื่นๆ ต่อไปเพื่อยืนยันในสิทธิความเป็นพลเมืองของตนเอง เช่น การต่อสู้เรื่องการเลือกปฏิบัติในด้านที่พักอาศัยหรือการจ้างงาน แต่เขาก็มองในแง่ดีว่าคำตัดสินในครั้งนี้


เรียบเรียงจาก

Gay Marriage Is Now a Constitutional Right in the United States of America, The Atlantic, 26-06-2015

Gay marriage declared legal across the US in historic supreme court ruling, The Guardian, 26-06-2015

 


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Obergefell_v._Hodges

https://twitter.com/hashtag/lovewins

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net