รีรันเพื่อความทันสมัย: รู้ลึกเรื่องศาลทหาร

ประชาไทเคยนำเสนองานชิ้นนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดกับนักศึกษาและนักกิจกรรมทั้ง 14 คนล่าสุด ทำให้หลายคนอาจรู้สึกอยากทำความเข้าใจระบบศาลทหารอย่างจริงจังมากขึ้น 

หมายเหตุ สรุปความจากโครงการสัมมนาทางวิชาการ หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน รุ่นที่ 16 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 14 มีนาคม 2558

ปิยบุตร แสงกนกกุล นำเสนอภาพรวมของระบบศาลทหารในโลกนี้และมาตรฐานอันเป็นที่ ‘พอยอมรับได้’ ในทางสากลของศาลทหาร

สาวตรี สุขศรี นำเสนอระบบศาลทหารของไทย ความความต่างกับศาลพลเรือน รวมถึงร่างแก้ไขใหม่ที่น่ากลัวกว่าเดิม

ภาวินี ชุมศรี นำเสนอสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงของผู้ต้องหาพลเรือนในศาลทหารปัจจุบัน และเรื่องจริงในห้องพิจารณาที่ปิดลับ

สำหรับผู้ต้องการทราบเฉพาะรายละเอียดลักษณะของศาลทหารโดยย่อ อ่านตารางสรุปของสาวตรีที่นี่

หัวข้อ

ศาลทหาร (พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498)

เหตุผลที่อ้างว่าต้องมีศาลทหาร

1.หลักเอกภาพในการบังคับบัญชา
2.ความเป็นระเบียบวินัยของทหาร
3.ความสงบเรียบร้อย รวดเร็ว เด็ดขาด

สังกัด

กระทรวงกลาโหม **ท่านอยู่ที่นี่**

ประเภทของศาลทหาร

1.ศาลทหารในเวลาปกติ
2.ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ  **ท่านอยู่ที่นี่**
3.ศาลอาญาศึก

ลักษณะของศาลทหารในเวลาไม่ปกติ

บุคคลที่ต้องถูกพิจารณาจะเป็นทั้งทหารและพลเรือน ที่กระทำความผิดในคดีอาญาที่มีการประกาศให้ต้องขึ้นศาลทหารเพิ่มเติมในเวลาไม่ปกติ **ท่านอยู่ที่นี่**

 

 

การแต่งตั้งถอดถอนตุลาการศาลทหาร

1.กษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอน ตุลาการศาลทหารสูงสุดและศาลทหารกลาง
2.ผู้บังคับบัญชาทหารและรัฐมนตรีกลาโห เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนตุลาการในศาลทหารชั้นต้น **ท่านอยู่ที่นี่**

คุณสมบัติตุลาการ

1.”ตุลาการพระธรรมนูญ” ต้องเป็นนายทหารสัญบัตร จบนิติศาสตร์
2. “ตุลาการ” เป็นนายทหารสัญบัตร มียศสูงหรือเท่าจำเลย ไม่ต้องจบนิติศาสตร์

สัดส่วนผู้พิพากษา

ชั้นต้น = ตุลาการพระธรรมนูญ 1 นาย+ตุลาการ 2 นาย **ท่านอยู่ที่นี่**
ชั้นกลาง=ตุลาการพระธรรมนูญ 2 นาย+ตุลาการ 3 นาย
ศาลทหารสูงสุด = ตุลาการพระธรรมนูญ 3 นาย+ตุลาการ 2 นาย

วิธีการพิจารณาความ

1.การควบคุม

-ผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งควบคุมตัว “บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหร ที่กระทำผิดคดีอาญาทั้งที่อยู่ และไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหารได้ 90 วัน (กำลัพยายามให้อำนาจนี้ใช้กับการควบคุมตัว “พลเรือน” ได้ด้วยในร่างแก้ไข **ท่านกำลังจะอยู่ที่นี่**)

2.การสอบสวน

-สอบสวนโดยนายทหารพระธรรมนูญหรืออัยการทหาร รวมทั้งนายทหารสัญบัตรอื่นๆ ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา
-ไม่ถูกจำกัดให้อยู่เฉพาะเขตพื้นที่

3.การฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา

-อัยการทหารเท่านั้นที่จะป็นโจทก์ได้
-คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา อัยการทหารเรียกร้องให้คืนทรัพย์หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐบาลเท่านั้น

4.การพิจารณาคดี

-จำเลยแต่งทนายู้คดีในศาลทหารได้ ยกเว้นศาลอาญาศึก
-พิจารณาลับหลังจำเลยได้ ถ้าจำเลยรับสารภาพหรือไม่ติดใจฟัง

5.การอุทธรณ์/ฎีกา

-อุทธรณ์ฎีกาได้เฉพาะศาลทหารในเวลาปกติ ฉะนั้น เวลานี้เป็นศาล
-ทหารในเวลาไม่ปกติจึงไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาได้ **ท่านอยู่ที่นี่**
ผู้มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาคือ คู่ความ ภายใน 15 วัน และผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการหรือผู้มีอำนาจสั่งลงโทษ ภายใน 30  วัน

หมายเหตุ มีการปรับเปลี่ยนตารางต้นฉบับเล็กน้อยเพื่อความกระชับ

หมายเหตุ
1.ข้อมูลอัพเดทถึงวันที่ 6 มี.ค.58 (ไม่รวมกรณีปาระเบิดศาลอาญา) 
2.ตัวเลข 66 กรณี ข้อหาขัดคำสั่ง คสช.ไม่มารายงานตัว ในจำนวนนี้รวมข้อหา ม. 116 ปลุกปั่นยั่วยุ 6 กรณี  ข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาด 5 กรณี และข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน หมิ่นประมาทคนตาย 1 กรณี

 

ภาวิณี ชุมศรี : ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น พลเรือนไทยในศาลทหาร

หลังรัฐประหารมา มีการควบคุมตัวบุคคลในช่วงกฎอัยการศึกมากมาย ทนายความและญาติไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ ไม่เปิดเผยว่าควบคุมตัวไว้ที่ไหนเป็นเวลา 7 วัน นี่คือการบังคับให้สูญหายชั่วคราว 

คสช.ออกประกาศห้ามชุมนุมซึ่งกำหนดโทษด้วย หากมีการฝ่าฝืนบุคคลเหล่านี้จะถูกตั้งข้อหา 2 วันแรกหลังการรัฐประหารจะขึ้นศาลยุติธรรม แต่ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.เป็นต้นมาจะขึ้นศาลทหาร นอกจากนี้ยังรวมถึงการฝ่าฝืนคำสั่งไม่รายงานตัวด้วย

ส่วนที่เราพบแล้วไม่เป็นข่าวเลย คือ คดีประกาศคสช.ฉบับที่ 50/2557 ซึ่งส่งผลกระทบเป็นการทั่วไป ใครก็ตามที่มีอาวุธโดยผิดกฎหมายก็ต้องขึ้นศาลทหาร เราเจอกรณีของคนทั่วไปแม้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเลย เช่น วัยรุ่น คนชนเผ่าในภาคเหนือ พวกเขาก็ต้องขึ้นศาลทารเพราะมีปืนที่ไม่มีใบอนุญาต มีปืนโบราณ ฯลฯ

“คดีศาลทหาร ไม่มีการเปิดเผย แต่เราคาดว่าน่าจะเป็นร้อยคดีขึ้นไป”

ก่อนมีการรัฐประหาร จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการประการกฎอัยการศึกอยู่ก่อนแล้ว แต่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีประกาศให้พลเรือนที่มีความผิดข้อหาความมั่นคงไปขึ้นศาลทหารแต่อย่างใด ผู้ต้องหายังขึ้นศาลปกติ มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้ปกติ

คดีละเมิดสิทธิร้ายแรง เช่น หากลูกของใครสักคนถูกทหารซ้อมเสียชีวิต ในประเทศไทยนอกจากทหารคู่กรณีจะได้ขึ้นศาลทหารแล้ว ผู้เสียหายอาจจะเป็นพ่อหรือแม่ จะฟ้องที่ศาลทหารเองไม่ได้ ในขณะที่ระบบศาลยุติธรรม ถ้าตำรวจอัยการไม่ฟ้อง เรายื่นฟ้องเองได้หากเห็นว่าไม่เป็นธรรม 

เคยมีกรณีอิหม่ามในภาคใต้อยู่ในความควบคุมของทหาร ถูกซ้อมเสียชีวิต มีการไต่สวนแล้วว่าทหารเป็นผู้ทำ แต่อัยการไม่ฟ้องเสียที ผู้เสียหายจะไปฟ้องเองก็ไม่ได้

“กล่าวง่ายๆ คือ ไม่สามารถนำทหารขึ้นศาลพลเรือนได้”

ที่ศาลฎีกามีประกาศฉบับที่ 40/2557 นั้น (ใครคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวพันกับคดีทั้ง 3 แบบขึ้นศาลทหารไปด้วย แม้จะเกิดก่อน 25 พ.ค.57) ที่ผ่านมามีการนำมาใช้หลายกรณี  เช่น เคส 112 มีกรณีอัดเสียงจากรายการวิทยุอัพโหลดเข้าระบบอินเตอร์เน็ตปี 2556 ผู้ต้องหาระบุว่าไม่ได้อัพโหลด เขาเป็นคนพูดในรายการวิทยุตอนปี 2556 เท่านั้น คนอื่นเป็นผู้เอาไปขึ้นยูทูป ศาลยุติธรรมก็ตีความผลักเป็นคดีเกี่ยวโยงที่ต้องขึ้นศาลทหาร ทั้งที่เหตุเกิดก่อน 25 พ.ค.2557

และสำหรับคดีมาตรา 112 โทษก็เป็นสองเท่าของศาลยุติธรรม  ศาลยุติธรรมมักจะลงโทษจำคุกกรรมละ 5 ปี แต่ศาลทหารลงโทษจำคุกกรรมละ 9-10 ปี

นี่ยังไม่นับรวมปัญหา การไม่ให้ประกัน, อุทธรณ์คดีไม่ได้ , สั่งพิจารณาคดีลับก็อุทธรณ์ไม่ได้ , สั่งให้ทนายไม่ให้คัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาคดีก็อุทธรณ์ไม่ได้

ในเรื่องการฝากขัง ตำรวจต้องมายื่นขอฝากขังทุก 12  วัน ในครั้งแรกแม้ผู้ต้องหาจะได้รับการประกันก็ต้องถูกเอาตัวไปเรือนจำเพื่อเข้าสู่กระบวนการเรือนจำแล้วจึงปล่อยที่เรือนจำ ขณะที่ศาลอาญาสามารถปล่อยตัวที่ศาลได้เลย

ในเรื่องการฟ้องคดี หากมีการยื่นฟ้องวันนี้ คำฟ้องใช้เวลาเดินทางนานมากกว่าจะมาถึงเรือนจำที่ผู้ต้องหาถูกคุมขังอยู่ และแม้คำฟ้องมาถึงผู้ต้องหาแล้วก็ยังไม่นัดพิจารณาคดีเสียที บางทีใช้เวลาสองสามเดือน อย่าลืมว่าสองเดือนนี้คือเสรีภาพของเขา อย่างไรก็ตาม ตามป.วิอาญา หรือกระบวนการของศาลปกติจะต้องเอาตัวจำเลยจากเรือนจำมายังศาลเพื่ออ่านฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยจะได้เตรียมการวางแผนกับทนายในการสู้คดี   

ในเรื่องการพิจารณาคดีลับ ศาลทหารก็สั่งเยอะกว่าศาลยุติธรรม อย่างกรณีคดี 112 ที่ขึ้นศาลทหารจะปิดลับทุกคดี ขณะที่ถ้าเป็นศาลอาญาจะปิดลับแค่บางกรณีเท่านั้น อีกทั้งศาลทหารยังไม่อนุญาตให้ผู้เข้าสังเกตการณ์คดีอื่นๆ ที่ไม่ใช่ 112 จดบันทึกด้วย

นอกจากนี้ศาลทหารยังไม่มีกระบวนการสืบเสาะ เรื่องนี้สำคัญ หากจำเลยรับสารภาพ การที่จะศาลจะลงโทษที่เหมาะสมกับการทำผิดและภูมิหลังพฤติกรรมที่ผ่านมาของเขา จะต้องใช้กระบวนการนี้มาประกอบการพิจารณา

ท้ายที่สุดความไม่เป็นอิสระ ศาลทหารจะถูกนำมาใช้ในช่วงการยึดอำนาจการปกครองประเทศ ศาลทหารอยู่ภายใต้การสั่งการของผู้ยึดอำนาจ เรียกว่า เป็นองค์กรชี้ขาดข้อพิพาทอยู่ใต้ฝ่ายบริหาร ไม่ใช่ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจในระบอบประชาธิปไตย จำเลยบางประเภทเป็นจำเลยที่ไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจหรือการบริหาร เราพยายามสู้คดีว่าจำเลยกระทำไปโดยบริสุทธิ์ใจ เป็นการต่อต้านการยึดอำนาจ แต่ศาลทหารไม่รับฟังระบุว่ามีคำสั่ง คสช.แล้ว บังคับใช้แล้ว

สาวตรี สุขศรี : ศาลทหารไทย วิเคราะห์ปัญหาเมื่อเทียบกับศาลพลเรือน

ประกาศ คสช. มี 3 ฉบับที่เกี่ยวข้อง คือ 37/2557, 38/2557, 50/2557 เป็นการขยายอำนาจศาลทหารครอบคลุมพลเรือน ฉบับที่ 37 กำหนดความผิดที่ต้องขึ้นศาลทหาร คือ ความผิดด้านความมั่นคง, ความผิดขัดคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 38 กำหนดความผิดที่ต้องขึ้นศาลทหารว่าอะไรที่เกี่ยวโยงกับฉบับแรกให้ขึ้นศาลทหารให้หมด เช่น ในการชุมนุมมีการเผาอะไรสักอย่าง การเผาเป็นสิ่งเกี่ยวโยงต้องขึ้นศาลทหารด้วย  ฉบับที่ 50 กำหนดให้คดีอาวุธต้องขึ้นศาลทหาร

การออกประกาศ คสช.นี้ ชอบด้วยหลักการหรือไม่ ?

พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาลทหาร มีมาตรา 36 พูดถึงศาลทหารในเวลาไม่ปกติ มีอำนาจในการพิจารณาคดีเหมือนศาลทหารในเวลาปกติ แต่อาจขยายอำนาจออกไปได้ โดยผู้ประกาศกฎอัยการศึกสามารถประกาศต่างหากแยกออกมาเพื่อขยายอำนาจศาลทหารมีอำนาจพิจารณาคดีใดๆ อีก ซึ่งต้องสั่งตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก เมื่อดูมาตรา 7 พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ผู้ประกาศสามารถขยายขอบเขตอำนาจศาลได้ แต่ความผิดที่ขยายต้องเป็นไปตามกฎอัยการศึกซึ่งมีบัญชีต่อท้าย ดังนั้น ความผิดมาตรา 107-112, 113-118 ตามคำสั่งคสช.ถือว่าอยู่ในบัญชีแนบท้ายกฎอัยการศึก  แต่ความผิดอย่างการขัดคำสั่งคสช.และความผิดเกี่ยวโยงทั้งหลาย ไม่ได้อยู่ในบัญชีท้ายประกาศกฎอัยการศึกเลย

“คำถามคือใช้อำนาจตรงไหนอ้างอิงให้คดีเหล่านี้ขึ้นศาลทหาร”

เมื่อศาลยุติธรรมยินดีมอบอำนาจตนให้ศาลทหาร

อีกประเด็น คือ มันซ้อนทับหรือซ้อนกับอำนาจของศาลยุติธรรม น่าสนใจว่า ศาลยุติธรรมมีปฏิกริยาอย่างไร เราจะเห็นว่าเขาไม่ว่าอะไรกับการยึดอำนาจ และยอมบังคับใช้กฎประกาศต่างๆ ที่ออกมา แต่ที่น่าสนใจคือ ศาลฎีกาเคยออกคำสั่งที่ 40/2557 วินิจฉัยว่า ประกาศ 3 ฉบับคสช.มีสถานะอย่างไร

หากพิจารณาดูจะเห็นว่า ฉบับที่ 37 ขยายให้คลุมความผิด 3 แบบที่ว่าไป ฉบับที่ 38  ระบุความผิดเกี่ยวโยง แต่ไม่ด้พูดถึงเงื่อนเวลา คำสั่งที่ 40 ของศาลฎีกาขยายความให้เลยว่า ความผิดเกี่ยวโยงทั้งหลายนั้นแม้จะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 25 พ.ค.2557 ก็ให้ขึ้นศาลทหารด้วย

“นอกจากไม่ต่อต้านการยึดอำนาจแล้ว ยังยกอำนาจส่วนของตนให้เขาอีก”

ศาลทหารของไทยเป็นอย่างไร ?

พ.ร.บ.พระธรรมนูญศาล พ.ศ.2498 โดยหลักการจะเหมือนศาลยุติธรรม แต่มีการผนวกเนื้อหาอีกสองส่วนคือ วิธีพิจารณาความ และการแต่งตั้งถอดถอนตุลาการ

ปัจจุบัน ฝ่ายทหารอ้างความจำเป็นต้องมีศาลทหาร คือ

1. หลักเอกภาพในการบังคับบัญชา เป็นหลักยุทธ์สากล ผู้บังคับบัญชามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การมีศาลทหารแสดงถึงการรวมอำนาจและเป็นเอกภาพ เพราะผู้บังคับบัญชาของจำเลยจะเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกพิจารณาคดี มีอำนาจในการอุทธรณ์ฎีกา อำนาจในการควบคุมตัว

2. ความมีระเบียบวินัย ความสงบเรียบร้อย เพราะทหารมีลักษณะพิเศษ ต้องมีกฎหมาย มีกระบวนพิจารณาความพิเศษ การเกิดจากคนที่เป็นทหารด้วยกันจะได้รู้ที่มาที่ไป แต่เอาเข้าจริงเป็นแหรียญสองด้าน ด้านหนึ่งบอกว่าเขาจะลงโทษหนักขึ้นเพราะขัดระเบียบวินัยทหาร เกรงโทษจะเบาไปในศาลพลเรือน แต่เหรียญอีกด้านคือ การอะลุ่มอะหล่วยให้พวกเดียวกันเอง

 3.บางพื้นที่ศาลพลเรือนไม่มีเขตอำนาจไปถึง เช่น การไปสู้รบในต่างประเทศ ปัจจุบันเรามีศาลอาญาศึกที่ทำหน้าที่แบบนั้น

ลักษณะศาลทหาร

1.สังกัดกระทรวงกลาโหม ข้อนี้ขัดกับหลักการเดอโก้ (อ็มมานูเอล เดอโก้ (Emmanuel Decaux) นักกฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยปารีส 2 เป็นผู้เชี่ยวชาญผู้ศึกษที่ได้รับมอบหมายจากสหประชาชาติไปศึกษาและตั้งมาตรฐานขั้นต่ำของศาลทหาร) 

2.ชั้นของศาล มีศาลทหารชั้นต้น ศาลทหารชั้นกลาง ศาลทหารสูงสุด ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ถ้าอุทธรณ์ฎีกาจะต้องไปสู่ศาลพลเรือน

3.ประเภทของศาล

3.1 ศาลทหารในเวลาปกติ คือ ศาลทหารที่จัดตั้งเป็นปกติอยู่แล้ว แยกต่างหากจากศาลยุติธรรม เขตอำนาจคือ พิจารณาพิพากษาคดีที่มีบุคคลที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร เป็นจำเลยในคดีความผิดตามกฎหมายทหารหรือกฎหมายอื่นในทางอาญา สามารถสั่งลงโทษบุคคลไม่ว่าพลเรือนหรือทหารในการละเมิดอำนาจศาล ข้อนี้ก็ขัดหลักการของเดอโก้

บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร คือ นายทหารระดับต่างๆ, นักเรียนทหาร, ทหารกองเกินที่เข้ากองประจำการ, พลเรือนที่อยู่ในราชการทหาร, บุคคลที่ต้องขังหรืออยู่ในการควบคุมของทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย, เชลยศึก

ข้อยกเว้นที่ให้ไปขึ้นศาลพลเรือน คือ คดีที่ทหารกับพลเรือนกระทำผิดด้วยกัน หรือ ทหารกับพลเรือนทะเลาะวิวาทกัน , เป็นคดีที่เกี่ยวพันกับอำนาจศาลพลเรือน เรียก “คดีปะปน” เช่น ทหารลักทรัพย์ราชการแล้วไปขายให้พลเรือนที่รับซื้อ, เป็นคดีต้องดำเนินคดีในศาลเยาวชน เด็กและครอบครัว, คดีที่ศาลทหารเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร แต่กรณีนี้ไม่เคยมีการวินิจฉัย

3.2 ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ หมายถึง ศาลทหารปกติที่ทำหน้าที่ในสถานการณ์ที่มีการสงคราม หรือมีสถานการณ์ไม่ปกติ มีหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ต่างไป คดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารจะเพิ่มขึ้นจากการประกาศตามกฎอัยการศึก โดยอ้างว่าเวลาไม่ปกติต้องพิจารณาคดีรวบรัดรวดเร็ว ครอบคลุมบุคคลทุกฝ่าย รวมพลเรือนด้วย ซึ่งแน่นอน ขัดหลักการเดอโก้อีก

องค์คณะและตุลาการ

การแต่งตั้งถอดถอน

พระมหากษัตริย์จะตั้งตุลาการในศาลทหารสูงสุด และศาลทหารกลาง แต่ถ้าเป็นตุลาการในศาลชั้นต้น คนแต่งตั้งคือ ผู้บังคับบัญชาทหารและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

คุณสมบัติและความรู้ความสามารถของตุลาการ

ตุลาการมีสองประเภท คือ ตุลาการพระธรรมนูญ ต้องเป็นทหารสัญบัตร จบนิติศาสตร์ , ตุลาการ(เฉยๆ) เป็นนายทหารสัญบัตร ไม่ต้องจบนิติศาสตร์ แต่ต้องมียศสูงกว่าหรือเท่ากับจำเลย ผู้บังคับบัญชาของจำเลยจะเป็นผู้แต่งตั้งเข้าไป

องค์คณะในศาลทหารชั้นต้น ประกอบด้วย ตุลาการพระธรรมนูญ 1 นาย ตุลาการ 2  นาย

องค์คณะในศาลชั้นกลาง ประกอบด้วย ทหารพระธรรมนูญ 2 นาย ตุลาการ 3 นาย

องค์คณะในศาลทหารสูงสุด ประกอบด้วย ทหารพระธรรมนูญ 3 นาย ตุลาการ 2 นาย

“จะเห็นว่ามันกระทบต่อความยุติธรรม แม้แต่กับทหารเอง ยิ่งถ้าพลเรือนอยู่ใต้ศาลทหารยิ่งน่ากลัว”

ทั้งนี้มีมาตราหนึ่งในกฎหมายศาลทหารที่อาจช่วยบรรเทาผลร้ายได้ คือ มาตรา 37 แต่ไม่เคยถูกใช้ นั่นคือ ผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการมีอำนาจแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลพลเรือนเป็นตุลาการ รวมถึงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่เหมาะสมเป็นพนักงานอัยการ หรือจ่าศาลทหารได้ในเวลาไม่ปกติ

3.3 ศาลอาญาศึก

หากทหารยังให้เหตุผลว่าศาลทหารยังจำเป็น กล่าวอย่างเคร่งครัดศาลที่ควรคงอยู่ได้ที่สุดคือศาลอาญาศึก เพราะน่าจะเป็นไปตามหลักการสากลที่สุด และพอรับฟังได้ว่ามีความพิเศษในสถานการณ์และเขตพื้นที่

มันจะเกิดเมื่อมีทหารออกไปรบ อย่างน้อยหนึ่งกองพัน และกำหนดพื้นที่แคบชัดเจนเฉพาะในเขตทหาร มีตุลาการ 3 นายในกองพันนั้น จำเลยแต่งทนายสู้ไม่ได้ คู่ความไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกา

วิธีพิจารณาความอาญาในศาลทหาร

โดยหลักศาลทหารจะยึดถือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นหลัก เช่นเดียวกับศาลของพลเรือน แต่มีส่วนที่ต่างคือ 1.การควบคุมตัว ผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งควบคุมตัวทหารใต้บังคับบัญชาที่กระทำความผิดอาญาทั้งปวง ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลทหารก็ได้ เป็นเวลา 90 วัน ตำรวจควบคุมตัวไม่ได้ แต่ถ้าเป็น ป.วิอาญาที่ใช้กับพลเรือน ตำรวจจะควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ 48 ชม.หากจะเพิ่มจากนั้นต้องขอศาล

2.การสอบสวน จะทำโดยนายทหารพระธรรมนูญ อัยการทหาร หรือนายทหารสัญบัตรอื่นๆ ที่ไม่รู้กฎหมายตามแต่ผู้บังคับบัญชาสั่ง คนเหล่านี้จะไม่ถูกจำกัดพื้นที่ ทำได้ทั่วราชอาณาจักร

“น่าสนใจว่า คนที่แสวงหาหลักฐานก็เป็นคนพวกเดียวกัน ขนาดในคดีพลเรือนยังต้องมีดีเอสไอ ทำคดีพิเศษ ประเภทหนึ่งคือ ผู้ต้องหาเป็นผู้มีอิทธิพล ให้คุณให้โทษพนักงานสอบสวนปกติได้”

3.การฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา หมายถึงทั้งคดีอาญา คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา

คดีอาญา ถ้าผู้เสียหายเป็นพลเรือน ฟ้องเองไม่ได้ ต้องให้อัยการทหารเป็นผู้ฟ้องเท่านั้น ผู้เสียหายที่เป็นพลเรือนตั้งทนายสู้คดีเองไม่ได้ แต่ถ้าทหารด้วยกันเป็นโจทก์ สามารถฟ้องคดีเองได้ อันนี้คือเวลาปกติ ถ้าเวลาไม่ปกติ อัยการทหารเท่านั้นที่เป็นโจทก์ได้

ความเสียหายในทางแพ่ง คนที่จะเรียกคืนทรัพย์ได้คือ อัยการทหารเท่านั้น และเรียกคืนให้รัฐบาลได้เท่านั้น ถ้าผู้เสียหายเป็นพลเรือนหรือทหาร ก็ต้องไปเรียกจากศาลอื่น ศาลทหารไม่เรียกคืนให้

กระบวนการพิจารณาคดี

จำเลยแต่งทนายสู้คดีในศาลทหารได้ทั้งเวลาปกติและไม่ปกติ แต่ทำไม่ได้ในศาลอาญาศึก

โจทก์ ถ้าเป็นพลเรือนไม่มีสิทธิแต่งทนาย ต้องอัยการทหารเท่านั้น

นอกจากนี้พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ ถ้าจำเลยรับสารภาพหรือไม่ติดใจมาฟัง

สุดท้าย อุทธรณ์ ฎีกาได้เฉพาะในศาลทหารในเวลาปกติ ฉะนั้น ในปัจจุบันซึ่งเป็นเวลาไม่ปกติ คดีต่างๆ ที่ขึ้นศาลทหารจะอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ 

“โครงสร้างองค์กร คุณสมบัติผู้พิพากษาตุลาการ วิธีการพิจารณาคดี ศาลทหารจะแตกต่างกับพลเรือนค่อนข้างมาก ลักษณะเหล่านี้ถูกตั้งคำถามหมด มันอาจขัดต่อหลักการและไม่ยุติธรรมต่อตัวทหารที่ขึ้นศาล มิพักต้องพูดถึงพลเรือนที่ต้องขึ้นศาลทหารด้วย”

“สุดท้ายเราอาจต้องพิจารณาทบทวนว่ายังต้องมีศาลทหารอยู่อีกหรือไม่ หรือแค่ศาลอาญาศึกไหม ถ้าคงไว้ดังเดิมอาจต้องมีการปฏิรูป ให้พลเรือนเข้าไปตรจสอบถ่วงดลุการทำงานของศาลทหารมากขึ้น”

“ที่เยอรมันยังมีศาลทหารอยู่ คนจะไปนั่งเป็นตุลาการต้องมีคุณสมบัติหรือผ่านกระบวนการเช่นเดียวกับในศาลพลเรือน ส่วนของอังกฤษ ฝรั่งเศส จะเอาผู้พิพากษาศาลพลเรือนมานั่งในศาลทหาร แต่ถ้าสู้จนศาลสูงปุ๊บ ต้องขึ้นศาลพลเรือนเลย”

“ข้ออ้างว่าควรมีเพราะประเทศต่างๆ ก็ยังมีอยู่ ถูกโต้แย้งได้ ประเทศจำนวนมากยกเลิกแล้ว ไม่ว่าสวีเดน ออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมัน(ตะวันตก) ขณะที่ประเทศที่ยังคงมีอยู่ก็พยายามปฏิรูป แต่ที่แน่ๆ ที่ยึดถือโดยทั่วกันคือ ไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลโดยเด็ดขาด ไม่ว่าสถานการณ์ไหน”

“และไม่ทราบว่ารู้กันหรือไม่ว่า ศาลทหารถ้าสั่งลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีจะไปเรือนจำทหาร แต่ถ้ามากกว่า 3 ปีจะไปเรือนจำพลเรือน ตอนแรกก็คิดว่าไปเรือนจำทหารอาจน่ากลัว แต่ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าเรือนจำพลเรือนจะดีกว่าไหม เพราะปัญหาความแออัดอย่างมาก”

“โดยสรุปแล้วศาลทหารของไทยท็อปฟอร์มมาก คือ ไม่เข้าหลักการของเดอโก้สักข้อหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม ในร่างแก้ไขธรรมนูญศาลทหาร  มีการขยายเวลาควบคุมตัวบรรดาทหารด้วย ที่แต่เดิมควบคุมตัวได้ 90 วันโดยไม่ต้องขอหมายศาลนั้น ให้ขยายมาสู่การควบคุมตัวพลเรือนได้ด้วย และหากยังมีเหตุก็สามารถควบคุมตัวต่อได้อีก

อีกส่วนคือ มาตรา 11/1 มีการเพิ่มเงินเดือนกับเงินประจำตำแหน่งให้ตุลาการ อัยการทหารเหมือนตุลาการและพนักงานอัยการปกติ

ปิยบุตร แสงกนกกุล : มาตรฐานสากลของกระบวนการยุติธรรมในศาลทหาร

ศาลทหารมีกี่ระบบ ?

หากใช้ความสัมพันธ์ของศาลทหารกับศาลพลเรือนเป็นเกณฑ์แบ่ง จะแบ่งได้เป็น

1.ประเทศที่ไม่มีระบบศาลทหารเลย ทุกคนขึ้นศาลเดียวกันหมด

2.ประเทศที่ไม่มีระบบศาลทหารแยกต่างหาก แต่มีแผนกคดีทหารในศาลพลเรือน

3.ประเทศที่แยกศาลทหารออกมาอีกระบบ โดยมีพลเรือนไปเป็นผู้พิพากษามากกว่าทหาร

4.ประเทศที่มีระบบศาลทหารแยกออกมาต่างหาก โดยมีนายทหารเป็นผู้พิพากษามากกว่าพลเรือน

5.ประเทศที่มีระบบศาลทหารแยกออกมาต่างหาก และมีแต่ทหารเป็นตุลาการศาลทหาร

>>>>>> ของไทยอยู่ในแบบสุดท้าย

หากใช้การดำรงอยู่ การปรากฏตัวของศาลทหารเป็นเกณฑ์แบ่ง จะแบ่งได้เป็น

1.ไม่ว่าสภาวะไหนก็ไม่มีศาลทหาร

2.ศาลทหารจะปรากฏขึ้นในสถานการณ์พิเศษ เช่น สภาวะสงคราม

3.ศาลทหารดำรงอยู่ตลอดเวลาเคียงคู่ศาลพลเรือน

>>>>>> ของไทยอยู่ในกลุ่มสุดท้าย

โดยสรุป

“ศาลทหารไทยแยกต่างหากจากศาลพลเรือน มีข้าราชการทหารเป็นตุลาการทั้งหมด ดำรงอยู่ตลอดเวลา”

ทำไมต้องมีศาลทหาร ?

การเกิดขึ้นของระบบศาลทหารที่แยกออกจากศาลพลเรือนปกติ และการแบ่งแยกกระบวนการยุติธรรมในคดีทหารเป็นเอกเทศออกจากกระบวนการยุติธรรมในคดีทั่วไปหรือคดีของพลเรือนหรือข้าราชการพลเรือน มีเหตุผลสนับสนุนอยู่ ๓ ประการ

ประการแรก เหตุผลในทางอุดมการณ์หรือทางการเมือง เหตุผลข้อนี้ มองว่าระบบศาลทหารมีความจำเป็นต่อการป้องกันประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อย การรักษาความมั่นคงของรัฐและสถาบันการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤต ระบบศาลทหารมีประสิทธิภาพในการจัดการคดีต่างๆในสถานการณ์ดังกล่าวได้ดีกว่าระบบศาลพลเรือนปกติ อย่างไรก็ตาม เหตุผลดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับในปัจจุบันอีกต่อไป เพราะ กระบวนการยุติธรรมของศาลทหารในหลายประเทศแสดงให้เห็นว่า ในกรณีที่ทหารละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง มักจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ว่าทหารไม่ต้องรับผิดใดๆ เลย

“พูดง่ายๆ คุณเป็นคนตัดสินความผิดขององค์กรหรือตัวคุณเอง มันก็กลับกลายเป็นช่วยทหารด้วยกัน”

ประการที่สอง เหตุผลในทางองค์กร เหตุผลข้อนี้เน้นไปที่ลักษณะความแตกต่างในสาระสำคัญระหว่างข้าราชการทหารกับข้าราชการพลเรือน ดังนั้นจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับวินัยทางทหารที่แยกออกจากวินัยของข้าราชการพลเรือน การดำเนินการทางวินัยและการดำเนินคดีความผิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของทหารจึงต้องขึ้นกับศาลทหาร ซึ่งผู้พิพากษาเป็นทหารด้วยกันย่อมเข้าใจลักษณะพิเศษของข้าราชการทหารได้เป็นอย่างดี หากให้ศาลพลเรือนในระบบปกติมีอำนาจดำเนินคดีของทหาร ย่อมไม่เหมาะสม

เหตุผลดังกล่าวไม่สมเหตุสมผล เพราะหากอ้างเรื่องลักษณะพิเศษของวินัยทางทหารหรือลักษณะเฉพาะของข้อพิพาทเกี่ยวกับทหารแล้ว แต่ในความเป็นจริงก็มีข้อพิพาทอีกจำนวนมากที่มีลักษณะเฉพาะและอาศัยเทคนิคซึ่งอยู่ในอำนาจของระบบศาลพลเรือนปกติ หรือการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการอื่นๆที่มีลักษณะเฉพาะ (เช่น ข้าราชการในมหาวิทยาลัย หรือข้าราชการตุลาการ) ก็ใช้ระบบศาลพลเรือนปกติ ตรงกันข้าม การให้เหตุผลเรื่องลักษณะเฉพาะของทหารเพื่อ “หลีกเลี่ยง” ไม่ขึ้นศาลในระบบปกติแต่ไปขึ้นศาลพิเศษของตนเอง อาจเป็นการสร้างอภิสิทธิ์ให้แก่ทหารเพื่อยกเว้นไม่นำระบบกฎหมายที่ใช้กันทั่วไปมาใช้กับตนเอง

“ถ้าพูดเรื่องลักษณะพิเศษ ทุกอย่างมีลักษณะพิเศษหมด ประเทศนี้อาจมีเป็นร้อยศาล”

ประการที่สาม เหตุผลเรื่องขยายเขตอำนาจศาลให้ครอบคลุมไปถึงทหารในบางกรณี เป็นเหตุผลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันและสากลยอมรับมากที่สุด คือ เวลากองกำลังทางทหารไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างแดน เขตอำนาจในทางอาญาไปไม่ถึง การทำความผิดของทหารไม่รู้จะขึ้นศาลไหน จึงต้องสร้างศาลทหารตามเข้าไปประกบ กรณีสหรัฐอเมริกา ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ไหนต้องตั้งศาลนี้ไปประกบ

มาตรฐานศาลทหารระดับสากล

กระบวนการยุติธรรมในระบบศาลทหารที่ดำเนินการอยู่ในหลายประเทศมีแนวโน้มไปในทิศทางที่เป็นอันตรายต่อหลักการนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และการเคารพสิทธิมนุษยชนในสองประการ คือ ประการแรก ในกรณีที่ทหารเป็นจำเลยในศาลทหาร ทหารมักจะไม่ต้องรับผิด ประการที่สอง ในกรณีที่พลเรือนเป็นจำเลยในศาลทหาร พลเรือนไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และต้องได้รับโทษจากการพิจารณาคดีโดยศาลทหาร าลทหาร

ประการแรก ศาลทหารเป็นเครื่องมือในการช่วยให้ทหารพ้นจากความรับผิด - ทหารเป็นจำเลยในศาลทหาร

จากการสำรวจของคณะอนุกรรมาธิการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ พบว่า การดำเนินคดีในศาลทหารของหลายประเทศนั้น ทหารที่ถูกกล่าวหากระทำความผิดอาญาและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง มักได้รับการพิพากษาให้ไม่มีความผิด กรณีดังกล่าว ก็เนื่องมาจากความไม่เป็นกลางและไม่เป็นอิสระของศาลทหาร นำมาซึ่งการตัดสินคดีในลักษณะที่ปกป้องช่วยเหลือทหารด้วยกันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากจำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูง ก็มักจะหลุดพ้นจากความรับผิดเสมอ

สภาวการณ์เช่นนี้ทำให้ผู้เสียหายและเหยื่อจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทหารไม่อาจใช้ช่องทางการฟ้องคดีเพื่อเยียวยาความเสียหายที่ตนเองได้รับ นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิดฝังรากลึกลงไป จนอาจทำให้ทหารไม่เกรงกลัวที่จะใช้อำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เพราะมั่นใจว่า อย่างไรเสีย กระบวนการยุติธรรมก็ไม่สามารถเอาผิดพวกเขาได้

ประการที่สอง ศาลทหารเป็นเครื่องมือในการลงโทษพลเรือน - พลเรือนเป็นจำเลยในศาลทหาร

เหตุผลความจำเป็นของการมีศาลทหารประการหนึ่งซึ่งมักถูกหยิบยกขึ้นอ้างเสมอ คือ ข้าราชการทหารและวินัยทหารมีลักษณะพิเศษ จึงจำเป็นต้องมีศาลทหารโดยเฉพาะเพื่อตัดสินคดีของทหาร หากเรายอมรับว่าเหตุผลความจำเป็นดังกล่าวว่าถูกต้องจริง ก็หมายความว่า ศาลทหารต้องมีเขตอำนาจเฉพาะกรณีคดีของทหาร มีทหารเป็นคู่ความเท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นใดๆที่พลเรือนต้องอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร เลย อย่างไรก็ตาม ศาลทหารในหลายประเทศได้ขยายเขตอำนาจของตนออกไปครอบคลุมถึงคดีที่พลเรือนเป็นจำเลยด้วย ในขณะที่วิธีพิจารณาความในศาลทหารนั้นไม่ได้ให้หลักประกันแก่จำเลยที่เป็นพลเรือนเพียงพอ และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (Right to a fair trial) ในศาลทหารนั้นไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน เช่น กระบวนพิจารณาที่ไม่รับรองสิทธิในการโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานไว้เพียงพอ หรือคู่ความไม่มีสิทธิในการอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษา เป็นต้น

เมื่อกระบวนการยุติธรรมในศาลทหารไม่ยุติธรรมเพียงพอ แต่ก็มาในนามของ “กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม” เช่นนี้ ทำให้ระบอบเผด็จการทหารอาจกำหนดให้ศาลทหารมีเขตอำนาจเหนือพลเรือน เพื่อให้ “กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม” ของศาลทหารเป็นเครื่องมือในการกำจัดพลเรือนที่ต่อต้านระบอบเผด็จการทหารได้

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อศาลทหารยังคงมีอยู่ แล้วจะทำอย่างไรให้ศาลทหารได้มาตรฐาน จึงมีการตั้งผู้เชี่ยวชาญไปศึกษาและตั้งมาตรฐานขั้นต่ำ ผู้ศึกษาที่ได้รับมอบหมายจากสหประชาชาติ คือ เอ็มมานูเอล เดอโก้ (Emmanuel Decaux) นักกฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยปารีส 2

เดอโก้ ได้ร่างหลักการพื้นฐานที่ศาลทหารต้องมี 20 ข้อ โดยเขาไม่ถกเถียงว่าควรมีศาลทหารหรือไม่ ข้ามเรื่องนี้ไปเลย แต่พยายามามาตรฐานว่ามีแล้วควรเป็นอย่างไรเพื่อให้ไม่เกิดการละเมิดสิทธิมากเกินความจำเป็น สรุปโดยรวบยอดแบ่งเป็น 3 เรื่องใหญ่ 1.เขตอำนาจศาล 2.ความเป็นกลางและความเป็นอิสระ 3.กระบวนพิจารณาความ

1.เขตอำนาจ 

1.1 เขตอำนาจในทางบุคคล

ศาลทหารมีเขตอำนาจเหนือบุคคลเฉพาะบุคคลที่มีสถานะเป็นทหารเท่านั้น ดังที่หลักการข้อ 4 ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของหลักการ Decaux กำหนดไว้ว่า ศาลทหารต้องไม่มีเขตอำนาจในการพิพากษาพลเรือน ในทุกสถานการณ์ รัฐต้องรับประกันว่าพลเรือนอาจถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาได้เฉพาะต่อศาลพลเรือน

ในคำอธิบายหลักการข้อ 5 นี้ ได้อ้างถึง มาตรา 14 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งรับรองสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของ ICCPR (1) ได้ให้ความเห็นประกอบมาตรา14 ว่า ในหลายประเทศศาลทหารหรือศาลพิเศษมีเขตอำนาจเหนือพลเรือน กรณีนี้นับเป็นปัญหาอย่างร้ายแรงในเรื่องกระบวนพิจารณาคดีที่เป็นธรรม ความเป็นกลาง ความเป็นอิสระของศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกิดขึ้นของศาลทหารหรือศาลพิเศษมักอ้างเหตุผลว่าจำเป็นต้องใช้กระบวนพิจารณาคดีแบบพิเศษ ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้ว กระบวนพิจารณาคดีเหล่านั้นไม่ได้มาตรฐานทั่วไปของกระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมในระบบศาลปกติ

ประเด็นปัญหาพื้นฐานของหลักการข้อ 5 ที่ต้องพิจารณา คือ คำว่า “พลเรือน” มีนิยามอย่างไร และครอบคลุมใครบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเรายอมรับให้มีศาลทหารได้ก็เพื่อพิจารณาคดีของทหารเท่านั้น และศาลทหารต้องไม่มีอำนาจเหนือพลเรือนแล้ว การจำแนกว่าบุคคลใดมีสถานะเป็น “พลเรือน” หรือเป็น “ทหาร” และการแบ่งแยกความเป็น “พลเรือน-ทหาร” ออกจากกันให้ชัดเจน ย่อมส่งผลสำคัญต่อการกำหนดเขตอำนาจของศาลทหาร ในด้านหนึ่ง หากบุคคลใดเป็น “พลเรือน” บุคคลนั้นก็จะไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร ไม่ต้องเป็นจำเลยในศาลทหาร และอยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรมในศาลปกติของพลเรือนซึ่งมีกระบวนพิจารณาคดีที่เป็นธรรมกว่าศาลทหาร ในอีกด้านหนึ่ง หากบุคคลใดเป็นทหาร ก็ต้องการให้สถานะ “ทหาร” ติดตัวตนเองเสมอ แม้บางกรณีอาจจะกระทำความผิดในฐานะส่วนตัวโดยแท้ก็ตาม เพราะ เมื่อเป็น “ทหาร” การกระทำความผิดของบุคคลดังกล่าวก็เป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร และบุคคลนั้นเป็นจำเลยในศาลทหารซึ่งอาจได้รับเอกสิทธิ์ ตลอดจนมีโอกาสได้รับการพิพากษาว่าไม่มีความผิด มากกว่ากรณีที่ตนเองต้องเป็นจำเลยในศาลพลเรือน

ปฏิบัติการทางทหารอาจมีบุคคลที่ไม่ได้เป็นข้าราชการทหาร แต่มีสถานะเป็นพลเรือนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เช่น พลเรือนที่เดินทางร่วมไปกับกองทัพ พลเรือนที่ปฏิบัติงานร่วมกับกองทัพอย่างใกล้ชิด พลเรือนที่เป็นผูกพันตามสัญญาจ้างกับกองทัพ หรือพลเรือนที่ปฏิบัติงานร่วมกับกองกำลังของสหประชาชาติ เป็นต้น หากบุคคลเหล่านี้กระทำความผิดในการปฏิบัติหน้าที่ เราจะพิจารณาว่าบุคคลนั้นเป็นพลเรือนที่ไม่อาจเป็นจำเลยในศาลทหารได้ หรือเป็นทหารที่อาจเป็นจำเลยในศาลทหาร? ความยากลำบากในการแบ่งแยกนี้ ในเอกสารหลักการ Decaux ก็ยอมรับความยากลำบากในการแบ่งแยกกรณีเหล่านี้ และไม่ได้วินิจฉัยลงไปชัดเจนว่าบุคคลเหล่านั้นมีสถานะเป็นพลเรือนหรือทหาร ซึ่งคงต้องรอแนวทางปฏิบัติและแนวทางการพิพากษาของศาลภายในและศาลระหว่างประเทศต่อไป

อย่างไรก็ตาม มีกรณีที่น่าสนใจซึ่งพึ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้ที่สหรัฐอเมริกา คือ กรณีทหารอเมริกัน 8 นายข่มขืนเด็กผู้หญิงอายุ ๑๔ ปีและฆ่าเด็กผู้หญิงพร้อมครอบครัวที่แคว้น Mahmudiya ประเทศอิรัก เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2006 ปรากฏว่า ทหารนายหนึ่งซึ่งร่วมกระทำความผิด ได้พ้นจากการเป็นทหารก่อนที่จะถูกฟ้องคดี เขาจึงถูกฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลในระบบปกติ และถูกศาลมลรัฐเคนตัคกี้พิพากษาลงโทษจำคุก 90 ปี ในความผิดฐานข่มขืนและฆ่าเด็กผู้หญิง และฐานฆ่าพ่อ แม่ และพี่สาวของเด็กผู้หญิง (2) ในขณะที่ทหารที่เหลืออีก 7 นาย ถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาลทหาร จากแนวคำพิพากษาของสหรัฐอเมริกาดังกล่าว สรุปได้ว่า หากบุคคลหนึ่งกระทำความผิดในขณะที่ยังเป็นทหาร แล้วต่อมาพ้นจากตำแหน่งทหาร บุคคลนั้นต้องถูกฟ้องคดีต่อศาลระบบปกติ ไม่ใช่ศาลทหาร

1.2 เขตอำนาจในทางเนื้อหา

ข้อ 8 ของหลักการ Decaux กำหนดว่า เขตอำนาจของศาลทหารต้องจำกัดที่การกระทำความผิดที่มีลักษณะทางทหารอย่างเคร่งครัดซึ่งกระทำโดยบุคลากรทางทหาร คำว่า “การกระทำความผิดที่มีลักษณะทางทหารอย่างเคร่งครัด” (infractions d’ordre strictement militaire; offences of a strictly military nature) ตามข้อ 8 นี้ คือ การกำหนดเขตอำนาจในทางเนื้อหาของศาลทหารให้ครอบคลุมเฉพาะการกระทำความผิดเหล่านี้เท่านั้น ดังนั้น หากบุคลากรทางทหารกระทำความผิดที่ไม่เข้าข่าย “การกระทำความผิดที่มีลักษณะทางทหารอย่างเคร่งครัด” แล้ว บุคลากรทางทหารก็ต้องถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาลพลเรือนในระบบปกติ

ประมวลกฎหมายทหารหรือพระธรรมนูญศาลทหาร กำหนดการกระทำความผิดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารแตกต่างกันไป ซึ่งอาจแบ่งได้ 3 กรณี

กรณีแรก การกระทำความผิดที่มีลักษณะทางทหารอย่างชัดแจ้ง ได้แก่ การหนีทัพ การไม่ยอมอยู่ใต้บังคับบัญชา การปฏิเสธไม่เชื่อฟังผู้บังคับบัญชา การละทิ้งตำแหน่ง การขัดคำสั่งหรือแข็งข้อต่อผู้บังคับบัญชา เป็นต้น การกระทำความผิดเหล่านี้มีลักษณะทางทหารอย่างชัดแจ้ง เพราะ เป็นการกระทำความผิดทางวินัยที่เกี่ยวข้องกับระบบการบังคับบัญชาของทหารและอยู่ใน “วงงาน” ของทหาร

กรณีที่สอง การกระทำความผิดของทหารที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ความผิดในกรณีเหล่านี้มีลักษณะที่ไม่ใช่ทางทหารโดยแท้ และส่งผลกระทบออกไปสู่ภายนอก “วงงาน” ของทหาร เช่น มีบุคคลภายนอกเป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิด ดังนั้น การกระทำความผิดเหล่านี้จึงควรต้องอยู่ในเขตอำนาจของศาลพลเรือนและระบบกฎหมายตามปกติ แต่ด้วยการกระทำความผิดนั้นเกิดขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร ระบบกฎหมายบางประเทศก็จัดให้การกระทำความผิดนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหารด้วย 

กรณีที่สาม การกระทำความผิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางทหาร แต่ถูกทำให้เป็นทางหาร (militarized) ด้วยเหตุผลพิเศษ เพื่อให้การกระทำความผิดเหล่านั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร เช่น อ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงเพื่อกำหนดให้ความผิดบางประเภทอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยในประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการทหาร โดยกำหนดฐานความผิดบางประเภทที่ผู้ปกครองเห็นว่าเป็นภัยหรือคุกคามต่อระบอบเผด็จการ ให้อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร เพื่อใช้ศาลทหารเป็นเครื่องมือในการปราบปราม ในกรณีนี้

หากยึดถือตามข้อ 8 ของหลักการ Decaux แล้ว การกระทำความผิดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารที่ถือว่าเป็น “การกระทำความผิดที่มีลักษณะทางทหารอย่างเคร่งครัด” นั้นได้แก่ การกระทำความผิดที่มีลักษณะทางทหารอย่างชัดแจ้ง เท่านั้น ในกรณีที่รัฐใดกำหนดให้การกระทำความผิดของทหารที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารด้วย ก็สามารถทำได้โดยไม่ถึงขนาดขัดหรือแย้งกับหลักการ ข้อ 8 อย่างไรก็ตาม การกำหนดความผิดกรณีนี้ให้อยู่ในเขตอำนาจศาลทหารต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัด กล่าวคือ ต้องเป็นการกระทำความผิดของทหารที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่อย่างแท้จริง ห้ามมิให้ตีความขยายขอบเขตการกระทำความผิดของทหารในทุกเรื่องให้กลายเป็นความผิดที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ในทุกกรณี การกระทำความผิดที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางทหาร แต่ถูกทำให้เป็นทางหาร (militarized) ด้วยเหตุผลพิเศษ เพื่อให้การกระทำความผิดเหล่านั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร นั้น ไม่สอดคล้องกับหลักการ ข้อ 8

การกระทำความผิดของทหารในหลายกรณีอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง หากความผิดเหล่านี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร ก็อาจเป็นไปได้ว่าทหารผู้กระทำความผิดอาจได้รับความช่วยเหลือจนพ้นผิดและไม่ต้องรับผิดใดๆ ผู้เสียหายหรือเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงย่อมไม่มีโอกาสได้รับการเยียวยาชดเชย และส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรม “ไม่ต้องรับผิด” ได้ในหมู่ทหาร ต่อไป ทหารเหล่านี้ก็พร้อมที่จะกระทำการป่าเถื่อน รุนแรง และละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อีก เพราะ มั่นใจว่าหากตนถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาลทหาร ก็อาจได้รับการตัดสินคดีที่เป็นคุณแก่ตนเอง

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว หลักการ Decaux ข้อ 9 จึงกำหนดไว้ชัดเจนว่า ในทุกสถานการณ์ ให้ศาลพลเรือนในระบบปกติเข้ามามีเขตอำนาจแทนศาลทหาร ในกรณีที่การกระทำความผิดนั้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น วิสามัญฆาตกรรม การบังคับให้บุคคลสูญหาย และการทรมานทารุณกรรม บุคคลผู้กระทำความผิดดังกล่าวต้องถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาลพลเรือน และศาลทหารไม่มีเขตอำนาจในกรณีดังกล่าวอีกต่อไป ทหารผู้กระทำความผิดไม่อาจอ้างได้ว่าวิสามัญฆาตกรรม การบังคับให้บุคคลสูญหาย หรือการทรมานทารุณกรรมนั้นเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่จึงอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร เพราะ การกระทำเหล่านี้ คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงจนถึงขนาดที่การกระทำนั้นแยกออกจากการปฏิบัติหน้าที่ได้ เอกสิทธิ์ของความเป็นทหารสิ้นสุดลงจนไม่อาจใช้พึ่งพาอาศัยเพื่อให้การกระทำความผิดนั้นอยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร

2.ความเป็นกลางและความเป็นอิสระ

เอกลักษณ์ขององค์กรตุลาการที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ความเป็นกลางและอิสระ หากองค์กรใดต้องการมีสถานะเป็นองค์กรตุลาการ องค์กรนั้นต้องมีความเป็นกลางและอิสระ ตรงกันข้าม หากองค์กรใดปราศจากความเป็นกลางและอิสระ แม้จะใช้ชื่อว่า “ศาล” ก็ไม่ถือว่าองค์กรนั้นมีสถานะเป็นองค์กรตุลาการ

ความเป็นกลางและอิสระขององค์กรตุลาการจึงเป็นหลักการพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ ตลอดจนกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศรับรองไว้ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 10 “ทุกคนย่อมมีสิทธิในความเสมอภาคอย่างเต็มที่ในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และเปิดเผยจากศาลที่อิสระและไม่ลำเอียงในการพิจารณากำหนดสิทธิและหน้าที่ของตนและข้อกล่าวหาอาญาใดต่อตน” กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 วรรคแรก “บุคคลทั้งปวงย่อมเสมอกันในการพิจารณาของศาลและคณะตุลาการในการพิจารณาคดีอาญาซึ่งตนต้องหาว่ากระทำผิด หรือการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตน บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการพิจารณาอย่างเปิดเผยและเป็นธรรมโดยคณะตุลาการซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย มีความสามารถ เป็นอิสระ และเป็นกลาง สื่อมวลชนและสาธารณชนอาจถูกห้ามเข้าฟังการพิจารณาคดีทั้งหมดหรือบางส่วนก็ด้วยเหตุผลทางศีลธรรม ความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของชาติในสังคมประชาธิปไตยหรือเพื่อความจำเป็นเกี่ยวกับส่วนได้เสียในเรื่องชีวิตส่วนตัวของคู่กรณี หรือในสภาพการณ์พิเศษซึ่งศาลเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่ง เมื่อการพิจารณาโดยเปิดเผยนั้นอาจเป็นการเสื่อมเสียต่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แต่คำพิพากษาในคดีอาญา หรือคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีอื่นต้องเปิดเผย เว้นแต่จำเป็นเพื่อประโยชน์ของเด็กและเยาวชน หรือเป็นกระบวนพิจารณาเกี่ยวด้วยข้อพิพาทของคู่สมรสในเรื่องการเป็นผู้ปกครองเด็ก”

ในส่วนของศาลทหารนั้น หากต้องการก่อตั้งศาลทหารขึ้นในระบบกฎหมาย โดยให้มีสถานะเป็นองค์กรตุลาการ และใช้อำนาจตุลาการตัดสินคดีของทหาร ศาลทหารก็ต้องอยู่ภายใต้หลักความเป็นกลางและอิสระ ดังนั้น หลักการ Decaux ข้อ 13 จึงกำหนดว่า “การจัดองค์กรและการดำเนินงานของศาลทหารต้องรับประกันอย่างเต็มที่ถึงสิทธิของบุคคลทั้งหลายในการมีศาลที่มีความสามารถ อิสระ และเป็นกลาง ในทุกขั้นตอนของกระบวนพิจารณา ทั้งในชั้นไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงและในชั้นพิจารณาคดี บุคคลที่ถูกเลือกให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นตุลาการในศาลทหาร ต้องซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ มีความสามารถ และเป็นที่ประจักษ์ชัดถึงความรู้และคุณสมบัติอันจำเป็นในทางกฎหมาย สถานะของตุลาการต้องได้การรับรองซึ่งความเป็นอิสระและความเป็นกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิสระและเป็นกลางจากการบังคับบัญชาตามลำดับชั้นทางทหาร ไม่มีกรณีใดที่ศาลทหารสามารถพิจารณาคดีได้ภายใต้ตุลาการและอัยการที่ไม่เปิดเผยชื่อ”

ในหลักการข้อ ๑๓ ศาสตราจารย์ Emmanuel Decaux ผู้ยกร่าง ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ตุลาการศาลทหารต้องได้รับการคุ้มครองความเป็นอิสระจากการบังคับบัญชาทางทหารอย่างเคร่งครัด โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ภายใต้บังคับสั่งการใดๆไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการจัดโครงสร้างองค์กรและการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งระบบการบริหารงานบุคคลของตุลาการศาลทหารด้วย เงื่อนไขนี้ ย่อมหมายความว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพหรือปลัดกระทรวงกลาโหมต้องไม่มีอำนาจแต่งตั้งหรือโยกย้ายตุลาการศาลทหาร ต้องไม่มีอำนาจในการบังคับบัญชาหรือสั่งการตุลาการศาลทหาร ต้องไม่มีอำนาจให้คุณให้โทษตุลาการศาลทหาร และศาลทหารต้องไม่ใช่หน่วยงานที่สังกัดและอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาในระบบของกองทัพหรือกระทรวงกลาโหม

ความเป็นกลางของศาลทหารเรียกร้องว่า คู่ความต้องได้รับการประกันว่าตุลาการศาลทหารต้องไม่มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับคดี ตามหลักการที่ว่า “ไม่มีผู้ใดที่เป็นตุลาการได้ในคดีของตนเอง” ตุลาการศาลทหารต้องไม่ใช่เป็นคู่กรณีเสียเอง หากตุลาการศาลทหารมีสถานะเป็นข้าราชการทหาร และพิจารณาคดีที่มีข้าราชการทหารเป็นคู่ความฝ่ายหนึ่ง เช่นนี้ ย่อมไม่อาจสร้างหลักประกันเรื่องความเป็นกลางของศาลให้แก่คู่ความอีกฝ่ายได้ ดังนั้น การให้พลเรือนเป็นตุลาการในระบบศาลทหารย่อมทำให้ศาลทหารมีความเป็นกลางมากกว่า

ตุลาการศาลทหารต้องมีความรู้ความสามารถในทางนิติศาสตร์เพียงพอที่จะเป็นตุลาการอาชีพได้ ในฐานะที่ตุลาการทหารต้องเป็นตุลาการที่โปร่งใสและมีความรับผิดชอบ ดังนั้นตุลาการทหารจึงต้องมีความรู้ความสามารถ จรรยาบรรณ และจริยธรรมตามวิชาชีพ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นองค์ประกอบอันสำคัญของความเป็นอิสระและความเป็นกลางของตุลาการทหาร ทำให้สาธารณชนและคู่ความเชื่อมั่นว่าตุลาการทหารจะไม่ถูกแทรกแซงจากบุคคลหรือองค์กรใด บุคคลที่จะถูกเลือกให้ดำรงตำแหน่งตุลาการทหารต้องสำเร็จการศึกษาวิชานิติศาสตร์ และมีประสบการณ์ทำงานในทางกฎหมาย การกำหนดให้นายทหารที่ไม่มีความรู้ความสามารถทางกฎหมาย ไม่สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์ มาร่วมเป็นองค์คณะพิจารณาและตัดสินคดี จึงไม่ชอบด้วยหลักการข้อ 13

นอกจากหลักการ Decaux แล้ว องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับสากลและระดับภูมิภาคต่างก็ยืนยันว่าหลักการเรื่องความเป็นกลางและความเป็นอิสระของศาลต้องนำมาใช้กับศาลทหารด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) ของ ICCPR ยืนยันไว้ว่า “สิทธิในการได้รับการพิพากษาโดยศาลที่เป็นกลางและเป็นอิสระ เป็นสิทธิเด็ดขาดซึ่งไม่อาจมีข้อยกเว้นใด” (3) ดังนั้น ข้ออ้างที่ว่าศาลทหารเป็นศาลพิเศษเฉพาะกรณี หรือเป็นศาลที่เกิดขึ้นและทำหน้าที่ในสภาวะพิเศษหรือสถานการณ์ภัยคุกคามต่อความมั่นคง ไม่อาจใช้เป็นเหตุยกเว้นหลักเรื่องความเป็นกลางและความเป็นอิสระได้

ในส่วนของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป ได้วางแนวไว้ว่า ศาลทหารต้องเป็นกลางและอิสระทั้งในทางอัตวิสัย (subjective) และภาววิสัย (objective) กล่าวคือ ตุลาการศาลทหารต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นกลางและอิสระ ไม่เพียงแต่ในแง่ของคุณสมบัติหรือพฤติกรรมส่วนตนเท่านั้น แต่ต้องแสดงให้เห็นถึงความเป็นกลางและอิสระอย่างประจักษ์ชัดในแง่ของภาววิสัยด้วย การจัดโครงสร้างองค์กรของศาลทหาร และกระบวนพิจารณาคดีของศาลทหารต้องสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สาธารณชนว่าศาลทหารมีความเป็นกลางและอิสระ ดังนั้น การกำหนดไว้ในกฎหมายลายลักษณ์อักษรว่าศาลทหารเป็นกลางและอิสระก็ดี หรือตุลาการศาลทหารยืนยันว่าตนมีความประพฤติดี มีศีลธรรมก็ดี เพียงเท่านี้ ยังไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าศาลทหารเป็นกลางและอิสระ ตรงกันข้าม สาธารณชนต่างหากที่เป็นผู้ประเมินว่าศาลทหารเป็นกลางและอิสระหรือไม่ ดังสุภาษิตกฎหมายอังกฤษที่ว่า “Justice should not only be done, but should also be seen to be done”

ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปเคยตัดสินกรณีศาลทหารของตุรกี (ศาลความมั่นคงของรัฐ) ไว้ในหลายคดีในแนวทางเดียวกันว่า องค์คณะตุลาการที่มีตุลาการนายหนึ่งที่เป็นข้าราชการทหาร สังกัดฝ่ายบริหาร อยู่ภายใต้ระเบียบวินัยของทหาร และถูกเสนอชื่อแต่งตั้งโดยกองทัพนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า ศาลความมั่นคงของรัฐของตุรกีไม่เป็นกลางและไม่อิสระ (4)

หลักการเดอโก้เรียกร้องต่อไปอีกว่า ต้องเปิดเผยชื่อผู้พิพากษาและอัยการ เหตุเพราะคู่ความจะได้รู้ว่าเป็นใคร มีส่วนได้เสียกับคดีไหม และสามารถร้องคัดค้านได้

3.กระบวนพิจารณา

การจับต้องมีหมาย การคุมตัวคุมได้จำกัด การพิจารณาคดีต้องเปิดเผย เปิดโอกาสให้คู่กรณีสู้คดีเต็มที่ มีทนาย เมื่อพิพากษาแล้วคู่ความมีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งได้ และอุทธรณ์โต้แย้งดังกล่าวต้องไปที่ศาลพลเรือน ส่วนโทษประหารชีวิตนั้นต้องจำเป็นถึงที่สุดจึงจะใช้ในกรณีประเทศที่ยังไม่ยกเลิกโทษนี้

แล้วยังไงต่อ ?

“ถ้าท่านเห็นว่าที่บรรยายมา ระบบศาลทหารไทยไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ขัดนู่นนี่เต็มไปหมด จะต่อสู้เรื่องนี้ยังไงได้บ้าง กลไกของต่างประเทศอย่าง ICCPR เขาทำได้แค่เข้ามาตรวจสอบ ทำรายงานประจาน กลไกในประเทศหากต้องการโต้แย้ง จะทำอย่างไร? มีคนลองโต้แย้ง คดีอาจารย์วรเจตน์ คุณหนิง จิตรา คุณจาตุรนต์ คุณสมบัติ และอีกหลายคน ศาลทหารให้คำตอบมาว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ไม่ให้อำนาจศาลทหารส่งประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา แต่มีคดีหนึ่งคือ ขอนแก่นโมเดล ทนายก็ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเช่นเดียวกันว่าประกาศ คำสั่ง คสช ที่เกี่ยวกับศาลทหารนั้นขัดกับ ICCPR และสิทธิและเสรีภาพตามที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองในอดีต ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 4 รับรองไว้ ศาลทหารไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ และลงไปวินิจฉัยเองว่า ประกาศ คำสั่ง คสช ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะ รัฐธรรมนูญ มาตรา 47 รับรองไว้ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ นี่เป็นครั้งแรกที่องค์กรผู้มีอำนาจใช้และตีความรัฐธรรมนูญ ได้หยิบ มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 มาใช้ ดังนั้น หากใครต้องการโต้แย้งว่าประกาศ คำสั่ง คสช ขัดรัฐธรรมนูญ ก็เจอมาตรา 47 ขวางไว้อีก”

“เหลืออีกช่องทางเดียว คือ เสนอเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินร้องศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากผู้ตรวจการแผ่นดินยอมส่งเรื่องให้ ก็ต้องตามดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะกล้าใช้มาตรา 47 ไหม”

“บางคนบอกให้รอรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วค่อยหาโอกาสโต้แย้งว่าประกาศ คำสั่ง คสช ขัดรัฐธรรมนูญ ผมเห็นร่างแล้ว ในมาตราสุดท้าย เหมือนลอก ม.309 ของรัฐธรรมนูญ 50 มาเลย คือ รับรองว่าประกาศ คำสั่ง คสช และการกระทำเกี่ยวเนื่อง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฉะนั้น ระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจของ คสช มันตันไปหมด”

อ้างอิง

(1) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือ Human Rights Committee เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตาม ICCPR เพื่อทำหน้าที่ ๑.) ตรวจรายงานของรัฐภาคี ให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะแก่รัฐภาคีในการตีความพันธกรณี ๒.) ให้ความเห็นทั่วไป (General Comments) เกี่ยวกับเรื่องต่างๆเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตาม ICCPR ๓.) รับข้อร้องเรียนจากรัฐภาคีใด เมื่อรัฐภาคีนั้นถูกละเมิดจากรัฐภาคีอื่นจากการไม่ปฏิบัติตามพันธกรณี ๔.) รับข้อร้องเรียนจากบุคคล ในกรณีที่บุคคนั้นถูกละเมิดสิทธิตามที่ ICCPR ได้รับรองไว้ คณะกรรมการประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจำนวน ๑๘ คน โดยเลือกจากบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากรัฐภาคี มีวาระ ๔ ปี

(2) United States vs Green, Steven D., 15 november 2006.

(3) Communication No. 263/1987; คดี Gonzalez del Rio v. Peru, 20 November 1992.

(4) Incal v. Turkey, 9 June 1998 ; Gerger v. Turkey, Karatas v. Turkey, Baskaya and Okcuoglu v. Turkey, Okcuoglu v. Turley, Surek and Ozdemir v. Turkey, 8 July 1999.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท