Skip to main content
sharethis
29 พ.ค. 2558 นายนรชิต สิงหเสนี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ว่าการประชุมครั้งนี้มีเฉพาะประเทศที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการบาหลี (Bali Process) ซึ่งเป็นประเทศที่เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น และบรรยากาศเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ โดยทุกประเทศขอบคุณไทยที่จัดการประชุมในช่วงเวลาที่เหมาะสม  นอกจากจะมีการเสนอมาตรการแก้ปัญหาผู้ย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียแล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศสหรัฐฯ ยังตกลงที่จะให้เงินช่วยเหลือเพิ่ม 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 99 ล้านบาท) ขณะที่ ออสเตรเลีย  ให้เงินเพิ่ม 5 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพื่อช่วยประชาชนในรัฐยะไข่ของเมียนมาร์และเมืองคอกบาซา ประเทศบังกลาเทศ ส่วนญี่ปุ่นจะรีบพิจารณาให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม
 
ด้านอินโดนีเซียและมาเลเซีย ตกลงใจที่จะเดินหน้าให้ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม และให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่ผู้อพยพ 7 พันคน และกระบวนการส่งกลับประเทศต้นทาง จะดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 1 ปี
 
ทั้งนี้ที่ประชุมได้สรุปเสนอมาตรการในการรับมือกับปัญหาผู้ย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย เป็น 3  มาตรการ โดยมาตรการแรก เป็นรับมือแบบเร่งด่วน เช่น เพิ่มปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้อพยพทางทะเลให้มากยิ่งขึ้น เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และต้องให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ หรือ UNHCR และองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ IOM สามารถเข้าถึงผู้อพยพได้ รวมทั้ง ส่งต่อความช่วยเหลือจากประชาคมโลกไปให้องค์กรที่ทำหน้าที่รับมือกับผู้อพยพฉุกเฉิน
 
มาตรการที่สอง เน้นการป้องกันการอพยพแบบไม่ปกติ การลักลอบ และการค้ามนุษย์แบบครอบคลุม เช่น ตรากฎหมายในการต่อสู้กับขบวนการค้ามนุษย์ให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อกำจัดอาชญากรรมข้ามชาติ และมาตรการที่สาม คือ การแก้ปัญหาผู้ย้ายถิ่นแบบไม่ปกติที่ต้นเหตุ ยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยการสร้างงาน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ทำมาหากินในประเทศตัวเอง
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้เพิ่มความร่วมมือในด้านการข่าวโดยแบ่งปันข้อมูลเพื่อให้สามารถระบุ ที่อยู่ของเรื่องผู้โยกย้ายถิ่นฐานได้ รวมถึงจะตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมในการให้ความสนับสนุนที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละประเทศ โดยแบ่งปันทรัพยากรต่างๆ ตามที่องค์การระหว่างประเทศได้ร้องขอ
 
ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ความร่วมมือในการป้องกันการค้ามนุษย์และการโยกย้านถิ่นฐาน โดยเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย ผ่านกรอบความร่วมมือขององค์การสหประชาชาติ ในการป้องกันอาชญากรรมข้ามชาติ (UNTOC) รวมถึงความร่วมมืออในการปฏิบัติการต่อต้านอาชยากรรมข้ามชาติ  จัดตั้งการปฏิบัติการสืบสวนพิเศษ เรื่องการค้ามนุษย์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบ เพิ่มความโปร่งใสในการบรรจุเจ้าหน้าที่ของรับมาทำหน้าที่มีกระบวนการให้ข้อมูลถึงความอันตรายของการอพยพทางทะเลและอันตรายของขบวนการค้ามนุษย์ รวมทั้งเพิ่มช่องทางในการเป็นผู้เข้าเมืองถูกกฎหมาย เช่น ผ่านเอ็มโอยู เพื่อให้อพยพทางอื่นได้อย่างปลอดภัย
 
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยอีกว่า ประเทศเมียนมาร์ ที่ก่อนหน้านี้ปฏิเสธเข้าร่วมการประชุม แต่เมื่อเข้าร่วมประชุม ก็เห็นชอบกับผลการประชุมดังกล่าว และยินดีกับการที่ต่างชาติจะเข้าร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ต้นเหตุ แต่อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธที่จะมีการพูดคุยถึงเรื่องการให้สัญชาติกับชาวโรฮิงญา
 
นางแอน ซี ริชาร์ด ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ด้านประชากร ผู้ลี้ภัยและการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน กล่าวว่า การตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม ไม่ใช่ขั้นตอนแรกที่จะแก้วิกฤตในครั้งนี้  สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือการช่วยชีวิต ซึ่งสหรัฐฯจะติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะหาทางแก้ไขในระยะยาว  ส่วนความร่วมมือในการบินลาดตระเวนของสหรัฐฯ ในน่านฟ้าไทยจะเริ่มปฏิบัติการในสุดสัปดาห์นี้ ซึ่งทางการไทยตกลงที่จะให้การปฏิบัติการนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 11 มิถุนายน2558  โดยการลาดตระเวนครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้
 
 
 
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net