สื่อนอกตีแผ่ ทางการพม่าจับชาวมุสลิม อ้างเอี่ยวกลุ่มก่อการร้ายที่ไม่น่าจะมีอยู่จริง

การอ้างภัยก่อการร้ายของกลุ่มที่ไม่น่าจะมีอยู่จริงและระบบศาลที่บิดเบี้ยวถูกครอบโดยอำนาจเผด็จการทหารทำให้มีประชาชนชาวมุสลิมในพม่าจำนวนหนึ่งถูกจับกุมโดยข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย "เมียนมาร์มุสลิมอาร์มี" (MMA) ซึ่งไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านกลุ่มก่อการร้ายคนใดเคยได้ยินชื่อมาก่อน

28 พ.ค. 2558 สำนักข่าวดิอินเตอร์เซปต์รายงานว่ารัฐบาลที่นำโดย พล.อ.เต็งเส่ง ของพม่ามีการปราบปรามชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโดยอ้างว่าพวกเขาเป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้าย "เมียนมาร์มุสลิมอาร์มี" (MMA) ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงบอกว่าไม่มีอยู่จริง

รัฐบาลพม่าจับกุมประชาชนสิบกว่าคนโดยอ้างว่าพวกเขาเป็นสมาชิกกลุ่ม MMA ซึ่งทางสำนักข่าวดิอินเตอร์เซปต์ได้รับข้อมูลเรื่องดังกล่าวจากเอกสารคดีความและการสัมภาษณ์พบว่ามีการกล่าวหาในเรื่องนี้ 3 คดี คดีแรกมีการจับกุมประชาชน 12 คน ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้าย MMA คดีที่สองมี 5 คนถูกกล่าวหาเรื่องวางแผนวางระเบิดทั่วประเทศโดยไม่ได้ระบุว่ามีที่ใดบ้าง คดีที่สามมีอีก 1 คนถูกกล่าวหาว่าคอยให้เงินทุนสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มดังกล่าว พวกเขาถูกจับตั้งแต่ช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. ปีที่แล้ว

ดิอินเตอร์เซปต์ตั้งข้อสังเกตว่าการที่รัฐบาลเต็งเส่งปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้อาจจะเป็นเพราะพวกเขาต้องการอ้างเรื่อง "ภัยการก่อการร้าย" ในการปราบปรามชาวมุสลิมซึ่งเป็นประชากรที่มีอยู่ราวร้อยละ 4 ถึง ร้อยละ 10 ในพม่า ซึ่งไม่ได้มีแต่กลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญาในรัฐระขิ่นเท่านั้น ถึงแม้ว่าชาวโรฮิงญาจะเป็นกลุ่มที่ถูกปราบปรามมากที่สุดและถูกปฏิเสธไม่ให้สัญชาติมาหลายปี แต่ก็ยังมีชาวมุสลิมเชื้อสายอื่นๆ กระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ของพม่า

ถึงแม้ว่าทางการพม่ากำลังพยายามแสดงให้ชาวโลกเห็นว่ากำลังเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการทหารไปสู่ระบอบที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ถึงแม้ว่าจะมีพัฒนาการด้านเสรีภาพในทางการเมือง แต่สภาพของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในพม่ากลับแย่ลง พวกเขาถูกทางการและกลุ่มขบวนการชาวพุทธชาตินิยมหัวรุนแรงมองว่าเป็นคนนอกและถูกทำให้กลายเป็นศัตรูร่วมกันซึ่งนักวิจารณ์มองว่าเป็นการทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความขัดแย้งทางการเมืองและเผด็จการทหารซึ่งไม่ได้รับความนิยม

ดิอินเตอร์เซปต์ระบุอีกว่ากลุ่มชาวมุสลิมในพม่าเพิ่งถูกสร้างภาพให้ดูเป็น "ภัยก่อการร้าย" โดยรัฐบาลหลังจากที่รัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ ประกาศนโยบาย "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ในปี 2544 ซึ่งมีการวิเคราะห์ว่าเป็นความพยายามเอาใจรัฐบาลสหรัฐฯ และเป็นความพยายามของเหล่าผู้นำทหารที่ต้องการยึดกุมอำนาจความชอบธรรมจากคะแนนเสียงเลือกตั้งในประเทศที่มีชาวพุทธเป็นคนส่วนใหญ่ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาตรงที่ในพม่าไม่เคยมีเหตุการณ์ก่อการร้ายโดยกลุ่มมุสลิมเลยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

โซโมอ่อง (Soe Moe Aung) เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกทางการพม่าบุกจับกุมถึงที่บ้านในตอนกลางคืนโดยไม่แสดงหมายจับ พวกเขาจับกุมโซโมอ่องไปกักขังไว้เป็นเวลา 10 วันโดยไม่อนุญาตให้เจอทนาย เขารู้ตัวอีกทีว่าถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธ MMA ก็ตอนที่เริ่มการไต่สวนดำเนินคดีแล้ว แม่ของโซโมอ่องบอกว่าเขาถูกกล่าวหาว่าไปเข้าร่วมการซ้อมรบกับ MMA แต่เป็นข้อกล่าวหาที่เป็นไปไม่ได้เพราะโซโมอ่องป่วยเป็นโรคเก๊าท์จึงไม่สามารถซ้อมการสู้รบได้

นอกจากนี้ยังมีผู้ถูกฟ้องร้องรายอื่นๆ ที่ถูกทางการฟ้องข้อหาเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธ MMA โดยอ้างกฎหมายข้อกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งออกมาในปี 2493 สหพันธ์ช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่าระบุว่ากฎหมายฉบับนี้มักจะถูกนำมาใช้ตามอำเภอใจเพื่ออ้างจับกุมนักกิจกรรมและใส่ร้ายกลุ่มต่อต้านรัฐบาล นอกจากนี้ทนายความฝ่ายผู้ต้องหายังเปิดเผยว่ารัฐบาลพม่าไม่ได้ส่งเสนอ "หลักฐานที่แท้จริง" ที่ใช้ตั้งข้อกล่าวหาอีกทั้งยังปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลในเรื่องกลุ่มก่อการร้ายที่พวกเขาอ้างถึง โดยฝ่ายเอกสารของทีมช่วยเหลือด้านกฎหมายระบุว่าตั้งแต่ปีที่แล้วมีชาวมุสลิมในพม่าราว 100 คนแล้วที่ถูกจับจากข้อกล่าวหาเรื่องเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย

ซอเท (Zaw Htay) ผู้อำนวยการทำเนียบประธานาธิบดีพม่ากล่าวปกป้องฝ่ายรัฐบาลว่าที่ต้องมีการปกปิดข้อมูลเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง

แต่ทั้งผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้าย ฝ่ายต่างประเทศของสหรัฐฯ รวมถึงกลุ่มสิทธิมนุษยชนก็ไม่มีใครยืนยันว่ากลุ่ม MMA มีตัวตนอยู่จริง ชื่อกลุ่มนี้เคยถูกกล่าวถึงลอยๆ เพียงครั้งเดียวโดยโรฮัน กูนารัตนา หัวหน้าศูนย์วิจัยความรุนแรงทางการเมืองและการก่อการร้ายซึ่งเป็นองค์กรในสิงคโปร์ซึ่งอ้างอิงจากรายงานที่ไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนั้นแล้วก็ไม่มีใครเคยได้ยินชื่อกลุ่ม MMA เลย

ในกรณีที่ทางการพม่าจับกุมตัวนักธุรกิจอายุ 44 ปี โดยอ้างว่าเขาเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือก่อตั้งกลุ่ม MMA ทนายความของเขาก็บอกว่าข้อกล่าวหาโยงถึงนักธุรกิจรายนี้มาจากการ "สารภาพ" ของผู้ต้องขังรายหนึ่งที่ถูกกักขังในเรือนจำทหาร ผู้ต้องขังคนดังกล่าวอ้างชื่อ "ยูซุฟ" แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดอย่างอื่น แต่ก็มีการโยงถึงตัวนักธุรกิจรายนี้ที่คนนิยมเรียกเขาว่ายูซุฟ แต่ก็ไม่มีหลักฐานอื่นๆ นอกจากนี้

ดิอินเตอร์เซปต์ยังนำเสนอเรื่องระบบศาลในพม่าที่ขาดความเป็นกลางแต่มีท่าทีคล้อยตามกระทรวงกิจการภายในซึ่งส่งอิทธิพลโดยตรงต่อศาล อีกทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญพม่ายังระบุให้รัฐมนตรีกระทรวงนี้ต้องเป็นสมาชิกของกองทัพและมาจากการก่อตั้งของกองทัพ ทำให้เห็นถึงความพยายามแผ่ขยายอำนาจครอบคลุมทุกภาคส่วนของเผด็จการทหาร เรื่องนี้ทำให้ แซม ซาริฟี ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของคณะกรรมการนักกฎหมายสากล (ICJ) กล่าวว่าเรื่องนี้อาจจะทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมของผู้ต้องหา เนื่องจากศาลขาดความเป็นอิสระ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการทารุณกรรมผู้ถูกจับกุมเพื่อให้รับสารภาพ เช่นในคดีที่มีคนถูกจับเพราะลักลอบค้าปุ๋ยที่ไม่ได้รับอนุญาตแล้วถูกทางการอ้างว่าพวกเขาจะเอาปุ๋ยไปทำระเบิด มีการทารุณกรรมผู้ต้องขังให้รับสารภาพโดยกองทัพและไม่มีหลักฐานใดๆ ที่ระบุว่าพวกเขาเป็นผู้ก่อการร้ายเลย

สำหรับ ดิอินเตอร์เซปต์ (The Intercept) ก่อตั้งโดยเกลน กรีนวัลด์ นักข่าวที่เผยแพร่ข่าวการสอดแนมจากเอกสารที่ได้จากเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน เป็นสำนักข่าวที่มุ่งเรื่องการเผยแพร่เอกสารจากสโนว์เดนและทำงานข่าวที่ท้าทายในประเด็นอื่นๆ ในระยะยาว

 

เรียบเรียงจาก

IN MYANMAR, MUSLIMS ARRESTED FOR JOINING TERROR GROUP THAT DOESN’T EXIST, CARLOS SARDIÑA GALACHE AND VERONICA PEDROSA, The Intercept, 26-05-2015
https://firstlook.org/theintercept/2015/05/25/myanmar-muslims-arrested-joining-terror-group-doesnt-exist/
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท