Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แม้ว่าวงการธุรกิจอุตสาหกรรมไทยจะขยายตัวขึ้นอย่างมากซึ่งทำให้จำนวนของ"ชนชั้นบริหาร"(executiveclass) ในวงการนี้ขยายตัวขึ้นตามไปด้วย ลองดูหน้าของบุคคลในชนชั้นบริหารทางธุรกิจอุตสาหกรรมไทยให้ดี ก็จะเห็นว่าไม่ได้เปิดกว้างแก่ผู้มีความสามารถทั่วไป

หากเป็นผู้บริหารระดับสูง เช่นกรรมการผู้จัดการของธนาคารหรือเครือบริษัทใหญ่ๆ ทั้งหลาย เขาเหล่านั้นคือลูกหลานของ "เจ้าของ" หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของกิจการแม้แต่ไปลงทุนในกิจการใหม่ที่ไม่สัมพันธ์กับกิจการเดิม เราก็อาจรู้ได้ว่ากิจการใหม่นี้สังกัดอยู่ในเครือเดียวกับอะไรเพียงแต่เหลือบดูนามสกุลของผู้บริหารระดับสูงเท่านั้นผมไม่มีความรู้พอจะบอกได้ว่าไต้หวัน,เกาหลี, ญี่ปุ่น เมื่อตอนที่เศรษฐกิจของเขาโตเท่ากับเราตอนนี้ วงการธุรกิจอุตสาหกรรมของเขาทำอย่างเดียวกับเราในตอนนี้หรือไม่ แต่เมื่อเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นขยายตัวขึ้นจนใหญ่โตอย่างเป็นอยู่ในปัจจุบัน ระบบบริหารแบบเถ้าแก่ในครอบครัวเช่นนี้ไม่ปรากฏเด่นชัดอีกแล้ว และชนชั้นบริหารของเขาครอบคลุมคนจำนวนมากและหลากหลาย

ระบบบริหารธุรกิจแบบเถ้าแก่ในครอบครัวเช่นนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียในด้านความมั่นคงของบริษัทในการเผชิญความผันผวนทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่ผู้รู้เถียงกันอยู่ผมไม่มีความรู้จะติดตามการถกเถียงได้แต่ที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ ด้านบนสุดของชนชั้นบริหารถูกปิดด้วยการสืบสายโลหิตจึงเป็นผลให้ชั้นล่างๆ ลงมาถูกตรึงไปด้วย จนถึงปากประตูทางเข้าก็ย่อมแออัดไปด้วยผู้คนที่แย่งชิงกันเข้าไปสู่ดินแดนของชนชั้นบริหาร

ผมอยากชวนให้พิจารณาระดับกลางค่อนข้างสูงและกลางจริงๆของชนชั้นบริหารในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมคนระดับนี้คือพลังที่แท้จริงของชนชั้นบริหารแม้เขาไม่ใช่ผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย แต่เขาคือผู้ที่เตรียมข้อมูลและประเมินทางเลือกต่างๆ ให้ผู้บริหารระดับสูงใช้ในการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล จำนวนมากทีเดียวของคนเหล่านี้สำเร็จการศึกษาจากโลกตะวันตก บางคนอาจเคยทำงานวิเคราะห์ข้อมูลในบริษัทระดับโลก หรือองค์กรระดับโลกมาแล้ว อันที่จริงการศึกษาและประสบการณ์คือใบเบิกทางให้เขาเข้ามายืนในชนชั้นบริหารระดับนี้ได้ และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่เปิดกว้างแก่ทุกคน เพราะการศึกษาระดับนี้เปิดให้แก่คนบางกลุ่มเท่านั้น ความสามารถเป็นเพียงส่วนเดียวของคุณสมบัติที่จะได้โอกาสทางการศึกษาเช่นนี้ ดังนั้นคนระดับนี้ในชนชั้นบริหารของธุรกิจอุตสาหกรรมก็ค่อนข้างปิดหรืออย่างน้อยก็ไม่ได้เปิดกว้างแก่ทุกคนที่มีความสามารถ

ลักษณะเฉพาะกลุ่มเช่นนี้ของชนชั้นบริหารระดับกลางยังทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถเชื่อมต่อกับชนชั้นบริหารระดับกลางของระบบราชการได้ง่ายด้วยเป็นเพื่อนกันมาในชั้นมัธยมเรียนมหาวิทยาลัยเมืองนอกแห่งเดียวกัน ได้พบกันในที่ประชุมที่ธุรกิจหรือราชการจัดอยู่เสมอ จนถึงที่สุดก็อาจเป็นญาติกัน

แม้ว่าในปัจจุบันราชการมีส่วนในการสร้าง "สิ่งแวดล้อม" ทางธุรกิจได้น้อยลงแต่ก็ยังมีส่วนสำคัญอยู่ ดังนั้นสายสัมพันธ์ของชนชั้นบริหารระดับกลางในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมกับราชการจึงเป็นข้อได้เปรียบของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยผมไม่ปฏิเสธว่าเงินใต้โต๊ะมีจริงและมีส่วนกำหนดการตัดสินใจในภาครัฐอยู่ไม่น้อยแต่ในขณะเดียวกันเงินที่บริษัทแต่ละแห่งลงไปเพื่อสร้างและกระชับสายสัมพันธ์กับผู้บริหารระดับกลางของราชการก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันเพียงแต่สื่อให้ความสนใจด้านนี้น้อยเกินไปเพราะไม่คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคอร์รัปชั่นซึ่งสลับซับซ้อนกว่าพื้นที่ใต้โต๊ะ

ชนชั้นบริหารระดับล่างคือพวกที่ยืนตายอยู่กับที่ เพราะไม่มีช่องให้ก้าวขึ้นไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ใครเคยได้ยินบ้างว่ามีโฟร์แมนที่สร้างผลิตภาพในกลุ่มของตนเองให้ประจักษ์ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้จัดการฝ่ายแรงงานบ้างผมไม่เคยได้ยินเลย(อาจมีบ้างแต่น้อยเต็มที)เพราะตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายแรงงานย่อมสงวนไว้แก่เอ็มบีเอจากวอร์ตัน ซึ่งไม่เคยพิสูจน์ความสามารถด้านผลิตภาพอะไรเลย

โดยสรุปก็คือ การขยายตัวของธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทยไม่ได้ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เลื่อนไหลทางสถานภาพได้อย่างเสรีถ้าดูแต่รายได้ทางเศรษฐกิจคนจำนวนมากรวมทั้งชนชั้นนำชายขอบขยับฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นแน่แต่เป็นการขยับทั้งโครงสร้างดันคนทุกสถานะให้ขยับขึ้นไปทางรายได้ (และวิถีชีวิตอันเป็นผลมาจากรายได้) แต่ทุกคนยังยืนอยู่ที่เก่าในความสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่ว่าจะมีเงินมากขึ้นแค่ไหน นายก็ยังเป็นนาย บ่าวก็ยังเป็นบ่าว

เมื่อเร็วๆ นี้มีนักวิชาการท่านหนึ่งซึ่งศึกษาคนชั้นกลางระดับล่างและคนชั้นล่างในชนบท พบว่าพวกเขาหาได้ยี่หระต่อความเหลื่อมล้ำแต่อย่างใด นักวิชาการท่านนั้นสรุปว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่ชนชั้นนำชายขอบ (คำของผม) "มโน" ไปเองว่าคือปัญหาใหญ่ต่างหาก ผมคิดว่าใช่เลยครับ เพียงแต่ว่าชนชั้นนำชายขอบไม่ได้ "มโน" เขารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ เจ็บปวดกับมัน น้อยใจกับมัน สิ้นหวังกับมัน เพราะนั่นคือประสบการณ์จริงที่เขาเผชิญอยู่ จนเมื่อมีโอกาสเปล่งเสียงบ้าง ก็นำประสบการณ์ส่วนตัวของตนไปอธิบายสังคมทั้งหมด (อย่างที่ปัญญาชนมักทำอย่างนั้นเสมอ... และบ่อยครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย)

ระบบราชการไทยเป็นอย่างไรคงไม่ต้องพูดละเอียด เพราะรู้ดีกันอยู่แล้ว นับตั้งแต่เกิดระบบราชการสมัยใหม่ขึ้น ระบบราชการในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ประกาศเปิดเผยมาแต่ต้นว่า "เส้นสาย" เป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้ารับราชการและก้าวหน้าในราชการ ระบบเส้นสายเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ทำให้การปฏิวัติ 2475 ประสบความสำเร็จ แต่สถานการณ์ทางการเมืองหลังการยึดอำนาจ เช่นการต่อต้านการปฏิวัติทุกวิถีทางของฝ่ายระบอบเก่า บีบบังคับให้คณะราษฎรต้องใช้ "เส้น" (ที่ไม่เกี่ยวกับสาย-โลหิต-โดยตรง) ในระบบราชการต่อไป และใช้สืบมาจนทุกวันนี้ แม้ว่าคณะราษฎรได้สลายไปนานแล้ว เพียงแต่ว่าเส้นที่ใช้คือสายสัมพันธ์กับนักการเมือง คำนี้ผมหมายถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงของรัฐ ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและการรัฐประหาร เหตุฉะนั้นระบบราชการกับการเมืองจึงสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ความรู้ความสามารถมีความสำคัญเป็นรองกว่าเส้น หลัง 6 ตุลา 2519 ระบบเส้นของราชการยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีก เมื่อ "ผู้ใหญ่" ระดับต่างๆ ที่ไม่ใช่นักการเมือง ใช้อิทธิพลของตนเป็นเส้นให้แก่ระบบราชการ โดยเฉพาะหน่วยงานขนาดใหญ่ที่มีอำนาจมาก เท่ากับกีดกันชนชั้นนำชายขอบ (หรือผู้มีศักยภาพจะเป็นชนชั้นนำชายขอบ) จำนวนไม่น้อยออกไปจากชนชั้นบริหารของระบบราชการ เพราะเข้าไม่ถึง "เส้น"

โดยทั่วไปในอีกหลายสังคม ชนชั้นนำ และชนชั้นนำชายขอบงอกออกมาจาก "กระฎุมพีน้อย" หากหันมาดูเส้นทางก้าวหน้าของกระฎุมพีน้อยในประเทศไทยก็จะพบเส้นทางที่ค่อนข้างตีบตันอยู่เหมือนกัน

จำนวนน้อยมากของกระฎุมพีน้อยในประเทศไทยที่รับเอาธุรกิจของตระกูลมาสืบต่อและพัฒนาจนกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ขึ้นตรงกันข้ามด้วยซ้ำครอบครัวกระฎุมพีน้อยมักอดทนส่งเสียลูกหลานให้ได้เรียนหนังสือเพื่อไปแสวงหาอนาคตที่ดีกว่าในวงการอื่น ทั้งนี้เพราะธุรกิจของกระฎุมพีน้อยขาดความมั่นคง ซ้ำมาในภายหลังยังถูกแข่งขันจากทุนขนาดใหญ่อย่างไม่มีทางสู้ (อย่าว่าแต่ชาวนาเลย ที่ไม่อยากให้ลูกเป็นชาวนา เจ้าของสวนยาง, ร้านชำ, โรงแรมห้องแถว, อู่ซ่อมรถยนต์ ฯลฯ ก็ไม่อยากให้ลูกอยู่ในอาชีพนั้นๆ เหมือนกัน)

ในวงวิชาการ มีนักวิชาการจำนวนค่อนข้างน้อยที่ได้รับการยอมรับนับถือ (แม้ในวงวิชาการด้วยกัน) เป้าหมายหลักในชีวิตของนักวิชาการไทยจำนวนไม่น้อยคือก้าวไปสู่ตำแหน่งบริหารมหาวิทยาลัย แม้ทำได้สำเร็จก็ยังไม่สามารถใช้ตำแหน่งนั้นก้าวเข้าสู่ชนชั้นนำชายขอบได้ มีอธิการบดีที่ถูกลืมชื่อไปแล้วจำนวนมากในประเทศไทย นักวิชาการอีกมากลาออกไปเพื่อหันไปไต่เต้าในตำแหน่งบริหารขององค์กรอื่นๆ หรือวงการอื่นๆ ในระยะหลังมีประตูทางเข้าสู่สถานภาพชนชั้นนำที่เปิดใหม่สองประตู คือสื่อและเวทีการเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่บทบาทของนักวิชาการที่ผ่านเข้าประตูทั้งสองก็ไม่ใช่บทบาททาง "วิชาการ" แท้ๆ

กล่าวโดยสรุปก็คือ โลกทางวิชาการซึ่งดึงเอากระฎุมพีน้อยของไทยเข้าไปจำนวนมาก ไม่ใช่เส้นทางที่จะนำใครเข้าสู่พื้นที่ของชนชั้นนำ แม้แต่ชนชั้นนำชายขอบด้วยซ้ำ หากจะเข้าไปได้ก็ต้องใช้ความสามารถด้านอื่นที่ไม่ใช่ "วิชาการ" โดยตรง

ในวงการศิลปะของไทยปัจจุบันนั้น ได้สูญเสียพลังในการกำหนดสถานภาพของคนในวงการตนเองไปแล้ว ต้องปล่อยให้รัฐเข้ามากำหนดให้เองฝ่ายเดียว ผมหมายความอย่างนี้ครับ ลองนึกถึงสุนทรภู่ เมื่อหมดที่พักพิงในราชสำนักแล้ว สุนทรภู่ก็ยังมีชื่อเสียงได้รับการยกย่องว่าเป็น "ครู" สืบมา เช่นเดียวกับศิลปินชาวบ้านอีกมาก ซึ่งได้รับสถานะสูงในหมู่คนในวงการเดียวกัน บางคนอาจได้รับอุปถัมภ์จากเจ้านาย แต่ที่ทรงอุปถัมภ์ก็เพราะความมีชื่อเสียงของเขาอยู่แล้ว พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือศิลปินไทยโบราณมี "สำนัก" ของตนเอง ได้รับชื่อเสียงเกียรติยศจากสังคม รัฐ (หรือเจ้านาย) เข้ามาอุปถัมภ์เพื่อผนวกเอาชื่อเสียงเกียรติยศของท่านเข้ามาเป็นของตนด้วย แต่ศิลปินไทยปัจจุบันไม่ได้มี "สำนัก" อย่างนั้นอีกแล้ว จะมีสถานภาพที่สูงขึ้นได้ก็ต้องได้การรับรองจากรัฐ (เช่นเป็นศิลปินแห่งชาติ) โดยตนเองไม่ได้มีอำนาจต่อรองแต่อย่างใด ศิลปินคนสุดท้ายที่มีอำนาจต่อรองกับรัฐได้คือ

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นเอกศิลปิน หรืออะไรสักอย่างที่ไม่ใช่ศิลปินแห่งชาติธรรมดา (ผมจำชื่อนั้นไม่ได้แล้ว)

เปรียบเทียบกับญี่ปุ่นเท่าที่ความรู้อันจำกัดของผมมี เขายกย่องศิลปินบางคนขึ้นเป็น "สมบัติประจำชาติ" แต่ศิลปินเหล่านั้นมักมี "สำนัก" ของตนเอง เช่นด้านเซรามิกนั้นมีสำนักสอนให้ลูกศิษย์ที่ฝีมือส่อแวว มีผลงานราคาแพงลิบลิ่วออกขาย ซึ่งแปลว่าตลาดหรือสังคมรับรู้คุณวิเศษของศิลปกรรมชิ้นนั้นๆ รัฐจะไม่ยกย่องขึ้นเป็น "สมบัติประจำชาติ" ก็กระไรอยู่

เมื่อเป็นเช่นนี้ในประเทศไทย เกณฑ์การพิจารณาว่าศิลปินใดควรได้รับเกียรติและสถานภาพ จึงเป็นเกณฑ์ของรัฐฝ่ายเดียว ไม่มีเกณฑ์ของสำนักหรือสังคมถ่วงดุลเลย ผมไม่ทราบหรอกว่าการเป็นศิลปินแห่งชาติต้องใช้เส้นหรือไม่ แต่หากต้องใช้ก็ไม่แปลกใจอะไร ศิลปินแห่งชาติของรัฐที่เต็มไปด้วยเส้นสาย จะไม่มีเส้นเลยสิ น่าประหลาด

หันมาดูด้านนักเขียนบ้าง โดยทั่วๆ ไปก็ไม่ต่างจากศิลปินแห่งชาติสาขาอื่นๆ แต่เนื่องจากตลาดผู้อ่านเริ่มโตมากขึ้น ตลาดจึงมีส่วนสร้างสมดุลกับรัฐบ้าง คนอย่างคุณทมยันตี หรือคุณกฤษณา อโศกสิน ซึ่งมีผู้อ่าน (และผู้ชมละครโทรทัศน์) เต็มเมือง จะไม่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติย่อมเกินกำลังของรัฐไทยจะทำได้ ศิลปินที่ผลงานของเขาเกี่ยวพันกับตลาดในสาขาอื่นๆ เช่น นักร้อง, ครูเพลง, นักสร้างภาพยนตร์ ฯลฯ ก็เช่นเดียวกัน

สหภาพแรงงานอ่อนแอ บางส่วนมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับกองทัพหรือหน่วยงานความมั่นคงมานาน อันที่จริงจำนวนของแรงงานในประเทศไทยมีมากพอที่จะเกิดชนชั้นบริหารในกลุ่มสหภาพแรงงานแล้ว เพื่อประสานและวางแผนยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของแรงงาน แม้เรามีสหภาพแรงงานมานาน แต่ก็ไม่เกิดชนชั้นบริหารสหภาพเป็นกลุ่มก้อน พอที่จะมีส่วนทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย หรือมีส่วนในการปกป้องประชาธิปไตย สหภาพแรงงานจึงไม่เป็นพื้นที่การเติบโตของชนชั้นนำชายขอบเลย

ประตูที่แคบหรือบางครั้งปิดตายเช่นนี้กีดกันคนที่พร้อมมิให้กลายเป็นชนชั้นนำชายขอบและกีดกันชนชั้นนำชายขอบมิให้ทะลุทะลวงขึ้นไปได้พร้อมกันมีคนออแน่นอยู่ตรงทางเข้า เบียดเสียดยัดเยียดกันแน่นขนัด ช่องใดที่แง้มเปิดออกเพียงเล็กน้อยก็มีคนที่พร้อมจะแทรกเข้าไป แทรกเข้าไปได้แล้วก็ไม่แน่ว่าจะถูกผลักดันกลับออกไปอีกหรือไม่ (อันเป็นชะตากรรมปกติของชนชั้นนำชายขอบ) ความเครียดจึงสูง และพร้อมจะกระโดดไปแสดงบทบาทนำในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในความเคลื่อนไหวของฝ่ายเสื้อแดงก็มี และในความเคลื่อนไหวของเสื้อเหลือง-สลิ่ม-นกหวีดก็มี แยะด้วย

ในตอนต่อไป ผมจะพูดถึงสภาวะผันผวนทางการเมืองในระยะหลังนี้ เปิดโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ชนชั้นนำชายขอบ (ทั้งที่เป็นจริงและเป็นโดยสำนึก) อย่างไร



เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนรายวัน 25 พ.ค.2558

ที่มา: มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net