สงสัยจะเสียของ 33,000 รายชื่อ ที่สนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินการแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงเกินไป

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

ตามที่คุณปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา รณรงค์ผ่านทางเวบไซต์ change.org ให้มาลงชื่อสนับสนุนให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคาค่ารักษาแพงเกินไปนั้น นับว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ธรรมดาเพราะได้รายชื่อ 33,000 รายชื่อในเวลาเพียงสองสัปดาห์ แสดงว่ามีคนที่รับรู้และประสบพบกับเรื่องนี้กันอย่างทั่วถึง ประกอบกับในร่าง รัฐธรรมนูญ ปี 2558 ที่กำลังรับฟังความเห็นนั้น ในภาคว่าด้วยการปฏิรูปและการปรองดองมีเขียนไว้ชัดเจนใน มาตรา 294 (4) ให้มีการพัฒนากลไกการกำกับดูแลระบบสุขภาพและการให้บริการสุขภาพในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่เป็นธรรม กำกับควบคุมราคายาและค่าบริการทางการแพทย์ให้มีราคาและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้รับบริการ  ซึ่งนับว่าเป็นการเข้าใจและเห็นปัญหาอย่างแท้จริงของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ

แต่ผ่านไปเกือบจะหนึ่งเดือนแล้ว รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมและอาจกำลังถูกชี้นำให้ไขว้เขวไปกับเสียงของผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า บริการโรงพยาบาลเอกชนเป็นทางเลือก เราพร้อมจะประกาศราคาขายบริการรักษาของเรา ติดประกาศให้เห็น และพร้อมให้ขึ้นเว็บไซต์  กลายเป็นว่าหากคุณมีเงินมากพอก็มาซื้อบริการเราได้ หรือมีเงินน้อยแต่อยากได้บริการราคาแพงก็แล้วแต่คุณจะเลือก ทำให้ประเด็นค่ารักษาแพงหายไปกับสายลมและรายชื่อ 33,000 ชื่อก็ไม่มีความหมายเป็นอันเสียของที่ประชาชนต่างร่วมใจกันแสดงออก ที่น่าเจ็บใจคือกระทรวงสาธารณสุขเองก็เห็นดีเห็นงามไปกับวิธีการนี้

ก่อนอื่นต้องย้ำกันก่อนว่าราคาค่ารักษาแพงเกินนั้นจริง ดังที่มีผู้ป่วยหลายรายออกมาให้ข้อมูล ตอนเข้าไปรักษานั้นเข้าไปอย่างสง่าผ่าเผยได้รับการต้อนรับอย่างดี แต่ตอนจะออกกลับออกไม่ได้หากไม่เซ็นรับสภาพหนี้ก่อน บางราย 4-5 วันค่ารักษาเป็นแสน บางรายผ่านไปอาทิตย์หนึ่งโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินทุกวันจวนจะถึง 1 ล้านบาท บางรายต้องจ่ายล้านกว่าบาท มันเป็นไปได้อย่างไรที่คนเราต้องจ่ายค่ารักษากันขนาดนี้ พอเข้าไปดูใบเสร็จต่างๆก็จะมีทั้งค่ายา ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าห้อง ค่าบริการของหมอ(doctor fee) บางรายการเห็นว่ามีการโกงเห็นๆเช่นจำนวนถุงมือยางที่เรียกเก็บจากหนึ่งรายแทบจะใช้กับคนทั้งโรงพยาบาลได้(เรียกเก็บค่าถุงมือยางของเจ้าหน้าที่ได้ด้วยหรือ) 

ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้ทางโรงพยาบาลเรียกเก็บได้เองไม่มีการควบคุมใดๆ ทั้งที่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับคือ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งต้องควบคุมราคาค่าบริการของโรงพยาบาล การออกตรวจว่าติดป้ายราคาค่ารักษาหรือไม่ เป็นการไขว้เขวเรื่องราคาแพงอย่างชัดเจน สิ่งที่ต้องกำกับคือราคานั้นสูงเกินไปหรือไม่มากกว่า ในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ทั้ง องค์การอาหารและยา(อย.)ที่ต้องตรวจสอบโครงสร้างราคายาก่อนขึ้นทะเบียนยา คณะกรรมการยาแห่งชาติที่พิจารณากลไกเกี่ยวกับยาทั้งระบบ กองประกอบโรคศิลป์ที่ควบคุมการให้ใบอนุญาติการให้บริการของโรงพยาบาลเอกชน แพทยสภาที่ควบคุมจริยธรรมของแพทย์  สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)ซึ่งไม่สามารถจัดการเรื่องร้องเรียนราคาแพงของค่ารักษาได้เลยแค่เรื่องคลีนิกเสริมความงามกับคอร์สสปาฟิตเนสต่างๆก็ยังจัดการไม่ได้

ทั้งนี้ หน่วยงานที่กล่าวมาทั้งหมดต่างคนต่างทำงาน และไม่มีใครจัดการเรื่องราคาแพงได้ โดยเฉพาะกรมการค้าภายในไม่สามารถควบคุมราคาได้เพราะไม่รู้ต้นทุนของค่าบริการ ค่ายาใดใดเลย และไม่ดำเนินการตรวจสอบราคายาในโรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนเพื่อเปรียบเทียบและคำนวณส่วนต่างที่บริษัทยาใช้ในการส่งเสริมการขาย(อาชีพส่งเสริมการขายยามีค่าคอมมิสชั่นสูงมาก) รวมถึงประสานงานอย่างใกล้ชิดกับอย. ซึ่งควรมีข้อมูลโครงสร้างราคายาโดยเฉพาะยาใหม่ที่มาจดทะเบียน ตลอดจนการควบคุมไม่ให้ยาที่มาขอจดสิทธิบัตรที่อาจไม่สมควรได้สิทธิบัตรเพราะไม่ใช่การคิดค้นใหม่เพียงแต่ต่อยอดจากของเดิม ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์อีกเช่นกัน 

ยาและบริการรักษาเป็นสินค้าคุณธรรมจำเป็นต้องมีการกำกับควบคุมใกล้ชิดไม่ให้กลายเป็นสินค้าไร้มนุษยธรรม ในท่ามกลางความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประเทศไทย การส่งเสริมให้โรงพยาบาลเป็นธุรกิจเพื่อการค้ากำไรในโลกทุนนิยมใครมีเงินมากก็ซื้อได้มากนั้นไม่อาจลดความเหลื่อมล้ำได้ ยิ่งทำให้ไม่เกิดความเป็นธรรม

สังคมไทยมีทางออกเดียวคือการส่งเสริมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การควบคุมราคายา ควบคุมโรงพยาบาลเอกชน การลดมายาคติว่ายาแพงคือยาดี ควบคุมการใช้ยามากเกินไปจนกลายเป็นอันตรายจากการใช้ยาเกินจำเป็นโดยการสั่งยาของแพทย์ซึ่งต้องได้รับการควบคุมกำกับด้านจริยธรรมโดยแพทยสภา ตลอดจนการสั่งตรวจเกินจำเป็นหรือไม่เกี่ยวกับอาการที่เป็นเพื่อเรียกเก็บค่าบริการมหาโหด

หลักการสำคัญคือคุ้มครองประชาชนผู้ไปรับบริการรักษาพยาบาลให้ได้รับบริการที่เหมาะสม คุ้มค่า ในราคาที่เป็นธรรม ซึ่งต้องใช้ความสามารถในการรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม มีกลไกกำกับที่เป็นกลางโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน 

อย่ากลัวที่จะตั้งตัวแทนประชาชนที่เป็นพลเมืองที่เข้มข้นอย่างคุณปรียานันท์และองค์กรประชาสังคมด้านสุขภาพเข้าไปเป็นกรรมการกลางกำกับติดตามการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมอย่างแท้จริง

ทั้งนี้  กรรมการจะมีผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้าร่วมได้โดยต้องมีความโปร่งใส และชี้แจงการมีผลประโยชน์นั้นอย่างชัดแจ้ง เช่นเดียวกับ สมาชิกของแพทยสภา สมาชิกของกรรมาธิการสาธารณสุข ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  กรรมาธิการปฏิรูปสาธารณสุข ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่หลายคนมีบทบาทเป็นทั้งเจ้าของ ผู้ถือหุ้น ผู้ทำงานให้กับโรงพยาบาลเอกชน ก็ต้องชี้แจงตนเองก่อนจะพิจารณาและให้ความเห็นเรื่องใดเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขและการปฏิรูประบบสาธารณสุขว่าจะไม่เป็นการปกป้องผลประโยชน์แห่งตนเองเท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้แทนประชาชนต้องทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองผู้รับบริการสาธารณะสุข ผู้รับบริการในโรงพยาบาลด้วยราคาที่เป็นธรรมอย่างเต็มความสามารถเพราะมีผลประโยชน์ได้เสียในฐานะผู้รับบริการ ไม่ใช่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดใด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท