นักวิชาการฮัมบูร์ก ยก ‘รธน.เยอรมนี’ บัญญัติไม่ให้ทหารมีบทบาทการเมืองมาก

อูลริก คาร์เพน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ยก ‘รธน.เยอรมนี’ บัญญัติไม่ให้ทหารมีบทบาททางการเมืองมาก ให้ประชาชนต่อต้านคนล้มล้างรัฐธรรมนูญได้ กลางวงแกนนำ ‘แม่น้ำ 5 สาย’

27 พ.ค.2558 ที่กระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วย กมธ.ยกร่างฯ สมาชิก สนช. และ สปช. ร่วมฟังการบรรยายพิเศษ “ถอดบทเรียนการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมือง สู่การปฏิรูปประเทศในระบอบประชาธิปไตย : ประสบการณ์จากต่างประเทศ” โดย อูลริก คาร์เพน (Prof. Dr. iur.Ulrich Karpen) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ที่ได้บรรยายในหัวข้อ “บทบาทของรัฐธรรมนูญในการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมือง”

อูลริก คาร์เพน กล่าวตอนหนึ่งว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญประเทศเยอรมนี จัดอำนาจอยู่ในทั้งแนวนอนและแนวตั้ง อยู่บนพื้นฐานการยอมรับของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐบาลต้องรับฟังการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ และทุกคนต้องยอมรับรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญไม่ควรละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเท่ากับเป็นการละเมิดสาธารณรัฐด้วย

“เยอรมนี มี ส.ส. 598 คน มาจากการเลือกตั้ง ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากสหพันธรัฐ ซึ่งเข้าใจว่าประเทศไทยคงเทียบกับจังหวัด และรัฐธรรมนูญเยอรมนี ไม่ได้แสดงความเห็นใดในเรื่องที่มาของ ส.ส. แต่เป็นภาพกว้างๆ ว่า การเลือกตั้งต้องเป็นไปอย่างเสรี แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าต้องดำเนินการอย่างไร ทำอย่างไรจึงจะถ่วงดุลและรับมือสถานการณ์ การเลือกตั้งของเยอรมนีมีความยุ่งยาก เป็นการผสมผสานกันระหว่างการเลือกตั้งแบบเขตและสัดส่วน”

อูลริก คาร์เพน กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนี มีความเข้มงวด และเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจตุลาการ มีความพยายามให้คนในเยอรมนีเข้ามามีส่วนร่วมในการมีประชาธิปไตยโดยตรงมากขึ้น ประเทศเราไม่ชอบการทำประชามติ แต่เรามีระบบของเรา และการเปลี่ยนแปลงควรมี แต่ไม่ใช่แบบพลิกฝ่ามือ จะใช้ระบบนี้ได้ต้องเป็นประชาธิปไตยที่มั่นคง เที่ยงธรรม และเชื่อมั่นในผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีหน้าที่ปกป้องสิทธิความเป็นมนุษย์ของเรา ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็แนะนำให้ใช้ระบบการเลือกตั้งของเยอรมนีได้ แต่ก็ไม่ใช่การตัดสินใจของตน

อูลริก คาร์เพน กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญควรเขียน เช่น ในรัฐธรรมนูญของเยอรมนีเองที่มีบทบัญญัติเพื่อป้องกันไม่ให้ทหารมีบทบาททางการเมืองมากนัก รวมถึงควรให้อำนาจประชาชนสามารถออกมาต่อต้านผู้จะล้มล้างรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งในเยอรมนีการใช้อำนาจทางการทหาร รัฐบาลจะเป็นผู้เสนอเรื่องเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน

อูลริก คาร์เพน ตอบคำถามถึงการทุจริตเลือกตั้งในเยอรมนี ว่า เราไม่มีอะไรอย่างนั้นเลย พรรคการเมืองจำเป็นจะต้องใช้เงิน เราสามารถบริจาคเงินให้พรรคการเมืองได้ และได้คืนเงินภาษีระดับหนึ่ง ไม่มีการทุจริตหรือการฉ้อโกง ถ้าเราพบว่าพรรคการเมืองมีการรับเงินสำหรับการรณรงค์การหาเสียง อาจสูญเสียการสนับสนุนจากรัฐที่เป็นเงินให้เปล่าและมีมากพอสำหรับการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

ต่อข้อถามว่าจะทำอย่างไรให้รัฐบาลต่อไป ดำเนินการในเรื่องการปฏิรูปต่อจากนี้ อูลริก คาร์เพน กล่าวว่า ตามความเข้าใจของตน การปฏิรูปคือรูปแบบของการนำกฎหมายหลาย ๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ มาออกเป็นกฎหมายโดยรัฐสภา หลักพื้นฐานของระบบรัฐสภาคือความต่อเนื่อง ถ้ามีรัฐบาลใหม่ขึ้นมารัฐบาลอาจตัดสินใจต่อเนื่องในประเด็นเดียวกัน ถ้าพิจารณาว่าเป็นเรื่องดีก็ดำเนินการต่อไป แต่บางเรื่องรัฐบาลต่อมาอาจไม่เห็นด้วย มาตรการพื้นฐานที่เรามีจึงต้องใส่ส่วนประกอบของการปฏิรูปไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีผลผูกมัดต่อรัฐบาลในอนาคต

 

เรียบเรียงจาก : ASTVผู้จัดการออนไลน์, เดลินิวส์ เว็บ และ มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท