สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 21-27 พ.ค. 2558

นักศึกษาจัดทำแฟ้มสะสมผลงานของชาวแรงงานต่างด้าว 
 
ในโลกออนไลน์เป็นที่ฮือฮา เมื่อเว็บไซต์หนึ่งเผยแพร่พอร์ตฟอลิโอของชาวแรงงานต่างด้าว ของ นายหรอด อ่องมู แรงงานชาวพม่า  ซึ่งรายละเอียดเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและความรู้สึกของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นแรงงานต่างด้าวจริงๆ
 
ทั้งนี้ ภายในแฟ้มสะสมงานนี้ ประกอบไปด้วยข้อมูลพื้นฐานสมัครงานปกติเหมือนชาวไทย ทั้งการเข้ามาทำงานที่นี่ ประสบการณ์ ทัศนคติต่างๆซึ่งแฟ้มผลงานชิ้นนี้จัดทำขึ้นโดยนักศึกษา สาขาวิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต
 
(MThai, 24/05/2558)
 
อเมริกัน เอ็กซ์เพรส คว้ารางวัล ‘สุดยอดนายจ้างดีเด่น’
 
อนัคฆวัชร์ ก่อวัฒนกุล และ คาโรลิน่า โบกาโดโกเมส รับรางวัลอเมริกันเอ็กซ์เพรสเอเชียฯ มี ดร.อดิศักดิ์ จันทรประภาเลิศ, พัณณ์ชิตา สวนศิลป์พงศ์ และ เจเรมี แอนดรูลิส ร่วมยินดี
 
อเมริกัน เอ็กซ์เพรส คว้ารางวัล “นายจ้างดีเด่นในประเทศไทย” (Best Employer Thailand) และ “นายจ้างดีเด่นแห่งภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก” ประจำปี 2015 จัดโดย เอออน ฮิววิท ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรบุคคล ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีคาโรลิน่า โบกาโดโกเมส ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ บริษัท อเมริกัน เอ็กซ์เพรส ประเทศมาเลเซีย-ไทย และ อนัคฆวัชร์ ก่อวัฒนกุลรองประธานฝ่ายสมาชิกบัตรประเทศไทย บริษัท อเมริกัน เอ็กซ์เพรส (ไทย) จำกัด เป็นตัวแทนขึ้นรับรางวัล ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ
 
(แนวหน้า, 25/05/2558)
 
กรมบัญชีกลางเสนอขึ้นเงินเดือนลูกจ้างประจำใหม่
 
กรมบัญชีกลางเตรียมเสนอกระทรวงการคลัง ปรับโครงสร้างเงินเดือนให้สอดคล้องกับข้าราชการ ซึ่งข้าราชการจะได้รับโอนเงินตามโครงสร้างใหม่ และเงินตกเบิกในเดือนมิถุนายนนี้ หลังกฏหมายการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการมีผลบังคับใช้
 
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางพร้อมที่จะโอนเงินส่วนที่ปรับขึ้นไปให้ส่วนราชการได้ทันที ในรอบการจ่ายเงินเดือนของเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งปกติจะจ่ายทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน ส่วนสาเหตุที่ไม่สามารถโอนได้ทันในรอบเดือนพฤษภาคมนี้ เนื่องจากได้โอนเงินเดือน เข้าบัญชีของหน่วยราชการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่กฏหมายการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการจะมีผลบังคับใช้ 
 
ขณะเดียวกัน ส่วนราชการต่าง ๆ ต้องใช้เวลาในการจัดทำบัญชีเงินเดือนของข้าราชการแต่ละคนใหม่ ซึ่งจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับจำนวนข้าราชการในสังกัด โดยประเมินว่าจะมีหน่วยราชการมากกว่าร้อยละ 80 สามารถส่งเรื่องมายังกรมบัญชีกลางได้ภายใน 15 มิถุนายน เพื่อให้ทันการโอนเงินในงวดวันที่ 25 มิถุนายน โดยจะเป็นการจ่ายทั้งเงินเดือนใหม่ของเดือนมิถุนายน และเงินตกเบิกอีก 6 เดือน ตั้งแต่ธันวาคม 2557 ซึ่งมีข้าราชการจะได้รับโอนราว 2 ล้านคน คิดเป็นเงินรวมมากกว่า 10,000 ล้านบาท
 
ขณะที่ลูกจ้างประจำ กรมบัญชีกลางเตรียมเสนอกระทรวงการคลัง ปรับโครงสร้างเงินเดือนลูกจ้างประจำใหม่ให้สอดคล้องกับข้าราชการ โดยมีหลักเกณฑ์ คือ
 
1.ลูกจ้างประจำของส่วนราชการทุกราย ได้ปรับอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 1 ขั้น 
2.ขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นสูงของลูกจ้างประจำของส่วนราชการ ทุกตำแหน่งเพิ่มขึ้น 3 ขั้น
3.ลูกจ้างประจำที่ได้รับค่าจ้างขั้นสูงสุดของตำแหน่ง และได้รับค่าตอบแทนพิเศษ ในรอบการประเมินที่แล้ว ให้นำค่าตอบแทนพิเศษมานับรวมเป็นค่าจ้างตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2557 ซึ่งจะมีลูกจ้างประจำได้ประโยชน์ 155,053 คน ใช้งบฯ 984 ล้านบาท 
 
(ครอบครัวข่าว, 25/05/2558)
 
แรงงานภาคเกษตรตกงานอื้อ เหตุภัยแล้ง-เลิกจำนำข้าวฉุดรายได้วูบหนัก
 
สศช.ไตรมาสแรก ผู้มีงานทำภาคเกษตรติดลบ 4.4% จากปัญหาภัยแล้ง-เลิกจำนำข้าว จับตารายได้เกษตรกรต่ำหนัก จากปัจจุบันเฉลี่ยเดือนละ 5,700 บาท ต่ำกว่านอกภาคเกษตรเท่าตัว ด้านภาคผลิต นายจ้างลดชั่วโมงทำงานลง หลังออร์เดอร์หด ส่วนหนี้ครัวเรือนยังเพิ่ม 7.6% ขณะที่หอการค้าไทยจับมือหอการค้าต่างประเทศพัฒนาศักยภาพชาวนาให้ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ
 
นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 58 ว่า มีผู้มีงานทำ 37.6 ล้านคน ลดลง 0.5% หรือ 200,000 คน จากไตรมาสเดียวกันปี 57 ที่มีผู้มีงานทำ 37.8 ล้านคน โดยผู้มีงานทำภาคเกษตรลดลง 4.4% เพราะภัยแล้ง รวมทั้งยังเป็นช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยว และการเพาะปลูกข้าวลดลงหลังจากยุติมาตรการรับจำนำ ส่วนผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.3% ตามการฟื้นตัวของภาคการผลิต ก่อสร้าง โรงแรมและภัตตาคาร ส่งผลให้อัตราการว่างงานโดยรวมอยู่ที่ 0.94%
 
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวังต่อไปนั้น คือ ผลกระทบด้านรายได้ของแรงงาน ซึ่งในปี 58 ภัยแล้งมาเร็วกว่าปกติ และมีสัญญาณรุนแรงขึ้น โดยตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.57-21 พ.ค.58 มี 12,364 หมู่บ้านได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง คิดเป็น 16.47% จากทั้งหมด 74,965 หมู่บ้านทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ของเกษตรกร จากปัจจุบันค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรเฉลี่ยรายละ 5,700 บาทต่อเดือน ต่ำกว่านอกภาคเกษตรรายได้ที่เฉลี่ยรายละ 12,500 บาทต่อเดือน ประมาณ 1 เท่า “เมื่อการจ้างงานภาคเกษตรลดลง ประกอบกับผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรลดลง จะยิ่งซ้ำเติมปัญหารายได้ของครัวเรือนเกษตร และลูกจ้างเกษตรที่ค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว”
 
สำหรับภาคการผลิตที่ต้องเฝ้าติดตาม คือ แม้ว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการลดชั่วโมงการทำงานลง โดยไตรมาสแรก ชั่วโมงการทำงานภาคการผลิตเฉลี่ยลดลง 2.2% ภาคบริการลดลง 1.8% ทำให้ผู้ที่ทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงขึ้นไปในภาคการผลิตลดลง 2.4% และบริการลดลง 1.8% นอกจากนั้นยังพบว่า จำนวนผู้ที่ทำงานต่ำกว่าระดับการศึกษาในภาคการผลิตเพิ่มขึ้น 24.6%และภาคบริการเพิ่มขึ้น 4.6% แสดงให้เห็นถึงผลกระทบต่อรายได้ของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่อาศัยรายได้จากการทำงานล่วงเวลาเป็นรายได้เสริมเพื่อดำรงชีวิตและชำระหนี้สิน
 
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า โอกาสในการหางานทำลดลง เห็นได้จากสัดส่วนผู้สมัครงานต่อตำแหน่งงานว่างคิดเป็น 1.14 เท่า เพิ่มขึ้นจาก 1.09 เท่า ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่สัดส่วนต่อการบรรจุงานต่อตำแหน่งงานว่างอยู่ที่ 0.86 เท่า และการบรรจุงานต่อผู้สมัครงานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.76 เท่า อีกทั้งผู้ประกอบการยังชะลอการขยายตำแหน่งงาน เพราะความกังวลต่อสถานการณ์และการลดคำสั่งซื้อ และจากผู้สมัครงานที่มีมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสเลือกรับคนที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการมากขึ้น
 
นางชุตินาฏกล่าวว่า คาดว่าในปีนี้จะมีแรงงานจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาถึงปริญญาตรี 637,610 คน จากผู้จบการศึกษา 2,137,424 คน เป็นผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 63.9% อาชีวศึกษา 21.5% และมัธยมศึกษา 14.7% ซึ่งในปี 57 ระดับปริญญาตรีว่างงานสูงสุด 1.54% โดยเฉพาะสายสังคมศาสตร์ เช่น วารสารศาสตร์และสารสนเทศว่างงาน 2.77% ศิลปกรรมศาสตร์ว่างงาน 2.76% และมนุษยศาสตร์ว่างงาน 2.71% เพราะผลิตกำลังคนเกินความต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม ในอนาคตต้องเตรียมคนเพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านคมนาคมขนส่ง ทำให้เกิดความต้องการแรงงาน โดยเฉพาะวิศวกรและช่างเทคนิคด้านต่างๆ เช่น ไฟฟ้า อิเล็ก-ทรอนิกส์ ก่อสร้าง สำรวจ เป็นต้น เป็นจำนวนมาก
 
ขณะที่หนี้สินครัวเรือน พบว่าชะลอตัว โดยยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 7.6% ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้น 10.7% ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนหนี้เพื่อการบริโภคอื่นเพิ่มขึ้น 12.4% ชะลอลงจาก 17.6% แต่มูลค่าหนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มีมูลค่า 92,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% การผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนเพิ่มขึ้น 27.4% คิดเป็นมูลค่า 15,469 ล้านบาท และยอดคงค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือน เพิ่มขึ้น 22% คิดเป็นมูลค่า 8,933 ล้านบาท มีสัดส่วน 3.1% ต่อยอดคงค้างรวม ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
ด้านนายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยร่วมกับหอการค้าต่างประเทศ และหน่วยงานภาครัฐจัดทำโครงการพัฒนาชาวนาให้เป็นผู้ประกอบการด้านข้าวแบบครบวงจร ด้วยการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะส่งผู้เชี่ยวชาญไปให้ความรู้ ตั้งแต่การจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี จัดหาปุ๋ย ลดต้นทุนทำนา รวมถึงการทำตลาดเพื่อนำสินค้าไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศตามช่องทางต่างๆ เพื่อตัดวงจรพ่อค้าคนกลางที่กดราคา โดยจะเน้นผลิตข้าวคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงแปรรูปข้าว เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า รวมทั้งส่งเสริมให้ลูกหลานชาวนาที่จบการศึกษาปริญญาตรี ประกาศนียบัตรชั้นสูง และประกาศนียบัตรวิชาชีพ กลับมาช่วยพัฒนางานในวิสาหกิจชุมชนด้วย.
 
(ไทยรัฐ, 26/05/2558)
 
สตง. ลงพื้นที่ด่วน "เชียงใหม่-อุดร-กระบี่" เพื่อสุ่มตรวจสอบ อปท. ดูเอกสารการเบิกจ่ายโบนัส เพื่อศึกษาถึงความเหมาะสม
 
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีกำหนดการจะเข้าตรวจเพื่อศึกษาวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมของหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการกำหนดเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปี (เงินโบนัส) สำหรับพนักงานส่วนท้องถิ่น และลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
 
โดย สตง. วางกำหนดการไว้ในระหว่างที่ 27-29 พฤษภาคม 2558  จะลงพื้นที่ อบจ.เชียงใหม่ , เทศบาลตำบลบ้านหลวง , อบต.ดอนแก้ว โดยให้หน่วยงานข้างต้นเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาจ่ายโบนัสให้พร้อม ทั้งนี้ยังให้ผู้บริหารท้องถิ่น ปลัด และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเข้าร่วมชี้แจงรายละเอียดในการประชุมแบบสัมภาษณ์
 
ประเด็นในการตรวจหลักๆครั้งนี้ ตรวจสอบเพื่อศึกษาวิเคราะห์ถึงความเหมาะสมของหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการกำหนดเงินประโยชน์ตอบแทนอื่นเป็นกรณีพิเศษอันมีลักษณะเป็นเงินรางวัลประจำปี (เงินโบนัส) สำหรับพนักงานส่วนท้องถิ่น 
 
ซึ่งในชุดคณะที่จะมาตรวจสอบครั้งนี้ นำทีมโดยผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบการดำเนินงานที่ 3 (จากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) พร้อมทีมงาน และพ่วงท้ายมาด้วยผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่น (จากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น)
 
ทั้งนี้ อบจ.เชียงใหม่ , เทศบาลตำบลบ้านหลวง , อบต.ดอนแก้ว เป็นองค์กรที่ได้รับรางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นการบริหารจัดการที่ดี
 
(ชุมชนคนท้องถิ่น, 26/05/2558)
 
ผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนเมษายน พ.ศ. 2558
 
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนเมษายน พ.ศ. 2558 ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ
 
สาระสำคัญของเรื่อง
ด้วยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเป็นประจำทุกเดือน โดยสอบถามประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่าง ทุกจังหวัดทั่วประเทศมีครัวเรือนตกเป็นตัวอย่าง 27,960 ครัวเรือนต่อเดือน คิดเป็นจำนวนประชากรที่ตกเป็นตัวอย่างทั้งสิ้นประมาณ 97,860 คน ซึ่งขนาดตัวอย่างดังกล่าวนำเสนอข้อมูลในระดับ ภาค และยอดรวมทั้งประเทศ  สำหรับแนวคิดและคำนิยามที่ใช้ในการสำรวจใช้ตามสภาพที่เหมาะสมกับประเทศไทย และตามข้อเสนอแนะขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และหน่วยงานสหประชาชาติ (UN) ซึ่งเป็นมาตรฐานทางสถิติที่ประเทศต่าง ๆ นำไปใช้ในการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเพื่อให้ได้ข้อมูลการทำงาน การว่างงาน และ การประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจของประชากร ที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ในระหว่างประเทศ
 
สำหรับในเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 ในภาพรวมสถานการณ์แรงงานมีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 2.0 หมื่นคน (จาก 3.44 แสนคน เป็น 3.24 แสนคน) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 หากเปรียบเทียบกับช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2558 จำนวนผู้ว่างงานลดลง 5.40 หมื่นคน (จาก 3.78 แสนคน เป็น 3.24 แสนคน) สำหรับสาระสำคัญการสำรวจสรุปได้ ดังนี้
 
2.1 ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน
ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 38.28 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.53 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.24 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 4.30 แสนคน ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 จำนวน 2.5 แสนคน (จาก 38.03 ล้านคน เป็น 38.28 ล้านคน)
 
2.2 ผู้มีงานทำ
ผู้มีงานทำ 37.53 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557 จำนวน 2.0 แสนคน (จาก 37.33 ล้านคน เป็น 37.53 ล้านคน) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ซึ่งมีผู้ทำงานเพิ่มขึ้นและลดลง ในสาขาต่าง ๆ ได้ดังนี้
 
2.2.1 ผู้ทำงานเพิ่มขึ้น  ได้แก่ สาขาการผลิต 4.0 แสนคน (จาก 6.41 ล้านคน เป็น 6.81 ล้านคน) สาขาที่พักแรมและการบริการด้านอาหาร 1.0 แสนคน (จาก 2.68 ล้านคน เป็น 2.78 ล้านคน) สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า 9.0 หมื่นคน (จาก 1.17 ล้านคน เป็น 1.26 ล้านคน) สาขาการบริหารราชการ การป้องกันประเทศและการประกันสังคมภาคบังคับ 8.0 หมื่นคน (จาก 1.54 ล้านคน เป็น 1.62 ล้านคน) สาขากิจกรรมด้านสุขภาพ และงานสังคมสงเคราะห์ 7.0 หมื่นคน (จาก 0.65 ล้านคน เป็น 0.72 ล้านคน)  สาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ 4.0 หมื่นคน (จาก 0.14 ล้านคน เป็น 0.18 ล้านคน) และที่เหลือเป็นอื่น ๆ
 
2.2.2 ผู้ทำงานลดลง ได้แก่  สาขาเกษตรกรรม 4.3 แสนคน (จาก 11.04
ล้านคน เป็น 10.61 ล้านคน) สาขาการศึกษา 1.2 แสนคน (จาก 1.23 ล้านคน เป็น 1.11 ล้านคน) สาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย 8.0 หมื่นคน (จาก 0.63 ล้านคน เป็น 0.55 ล้านคน) สาขาการก่อสร้าง 6.0 หมื่นคน (จาก 2.62 ล้านคน เป็น 2.56 ล้านคน) สาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ 3.0 หมื่นคน  (จาก 6.51 ล้านคน เป็น 6.48 ล้านคน) สาขากิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ 1.0 หมื่นคน (จาก 0.72 ล้านคน เป็น 0.71 ล้านคน)
 
2.3 ผู้ว่างงาน
2.3.1 ผู้ว่างงานทั่วประเทศมีจำนวน 3.24 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน
ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม (ลดลง 2.0 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2557) ประกอบด้วย ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.51 แสนคน  อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.73 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานที่มาจากภาคบริการและการค้า 8.2 หมื่นคน ภาคการผลิต 7.2 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 1.9 หมื่นคน
 
2.3.2 ผู้ว่างงานเป็นผู้มีการศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษา 1.39 แสนคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 7.1 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 5.4 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4.9 หมื่นคน และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 1.1 หมื่นคน
 
2.3.3 ผู้ว่างงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9.9 หมื่นคน ภาคกลาง 7.4 หมื่นคน ภาคใต้ 5.6 หมื่นคน ภาคเหนือ 5.1 หมื่นคน และกรุงเทพมหานคร 4.4 หมื่นคน หากคิดเป็นอัตราการว่างงาน ภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 1.1 รองลงมาเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ1.0 กรุงเทพมหานครและภาคเหนือมีอัตราการว่างงานเท่ากันคือร้อยละ 0.8 และภาคกลางน้อยที่สุด ร้อยละ 0.6
 
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 พฤษภาคม 2558--
 
(มติคณะรัฐมนตรี, 26/05/2558)
 
“พยาบาล-ครูสอนพยาบาล” สมองไหล เหตุสายงานไม่ก้าวหน้า เร่งผลิตเพิ่ม
 
(26 พ.ค.) นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังขาดแคลนพยาบาล เพราะงานพยาบาลใน รพ.รัฐ ถือว่าหนัก ทั้งยังไม่เปิดให้บรรจุเป็นข้าราชการ ทำให้เกิดภาวะสมองไหลไปยังภาคเอกชน นอกจากนี้ ครูพยาบาลที่ทำหน้าที่สอนและผลิตพยาบาลก็เกิดภาวะสมองไหลเช่นกัน เพราะไม่มีความก้าวหน้าในวิชาชีพ แม้จะจบการศึกษาระดับปริญญาโทมาจากต่างประเทศ แต่ก็ก้าวหน้าได้เพียงระดับซี 8 เท่านั้น สธ. จึงได้หารือร่วมกับสภาการพยาบาล และสถาบันผลิตพยาบาลในสังกัด ว่า จะดำเนินการอย่างไรเพื่อผลิตพยาบาลเพิ่มเติม และให้คงอยู่ในระบบมากที่สุด เบื้องต้นมี 3 แนวทางคือ 1. ผลักดันร่าง พ.ร.บ.สถาบันพระบรมราชชนก ที่ค้างมานาน ซึ่งร่าง พ.ร.บ. นี้ จะช่วยให้ครูพยาบาลมีความก้าวหน้าในวิชาชีพมากขึ้นถึงระดับศาสตราจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์
       
นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า 2. ให้พยาบาลวิชาชีพเป็นครูฝึกสอนพยาบาลให้รู้ว่าการปฏิบัติหน้าที่จริงเป็นอย่างไร เช่น การทำงานในห้องผ่าตัด ห้องฉุกเฉิน เป็นต้น ซึ่งเป็นการฝึกระยะสั้น และ 3. หามาตรการการคงอยู่ของพยาบาลเอาไว้ในระบบ เช่น ความมั่นคงในวิชาชีพ ถ้าไม่ให้มีการบรรจุเป็นข้าราชการก็ต้องมีความมั่นคงในการหาการจ้างงานรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่ลูกจ้างชั่วคราว เช่น พนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ฯลฯ เป็นต้น
       
“ยอมรับว่า ในอนาคตพยาบาลของเราจะไม่พอ เพราะคนแก่เยอะขึ้น โรคภัยไข้เจ็บจะมากตาม จึงจะต้องส่งพยาบาลไปทำงานเชิงรุกเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรคด้วย แต่ขณะนี้พยาบาลในโรงพยาบาลก็ยังขาดแคลน ดังนั้น ในระยะยาว สธ. จะต้องคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องการผลิตพยาบาลเพิ่ม และจะผลิตเพิ่มอย่างไร จะให้มีครูพยาบาลเพิ่มเป็นสัดส่วนเท่าไรต่อนักเรียนพยาบาล” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวและว่า อย่างน้อยตอนนี้ต้องบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการรอบที่ 3 จำนวน 7,547 คน ให้สำเร็จ จากเดิมที่ตั้งเป้าว่าต้องเสร็จใน 1 ม.ค. 2557 ก็ขยับมาเป็น 1 เม.ย. 2558 ก็ยังไม่สำเร็จ เพราะต้องรอ คณะกรรมการปฏิรูประบบกำลังคนภาครัฐ (ครป.) ประชุมก่อน
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 26/05/2558)
 
เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านร้องขอเข้าประกันสังคม ม.33 แทน ม.40
 
นางสมร พาสมบูรณ์ ประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย กล่าวว่า วันที่ 25 พฤษภาคม ได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาชีวิตแรงงานและอาชีพ เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ นางปราณิน มุตตาหารัช เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.)กระทรวงแรงงาน โดยมีนายรักษ์ศักดิ์ โชติชัยสถิตย์ รองเลขาธิการสปส.เป็นผู้รับหนังสือแทน ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สำนักงานใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
 
เพื่อขอให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 33 เพราะ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกันสังคม พ.ศ.2558 กำหนดนิยาม ลูกจ้าง ว่าหมายถึงผู้ที่ทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ซึ่งความหมายครอบคลุมถึงกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านที่มีนายจ้างชัดเจน
 
สาเหตุที่ต้องการเข้าสู้มาตรา 33 เนื่องจากบางครั้งลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ไปพบแพทย์ กลับถูกนายจ้างหักเงินค่าจ้าง บางคนถูกไล่ออก รวมทั้งไม่สะดวกในการใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพราะส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด จะต้องไปตรวจขั้นต้นที่ภูมิลำเนาทำให้เดินทางไกลและต้องลางาน
 
นางสมร กลางอีกว่า หากลูกจ้างทำงานบ้านได้เข้าไปอยู่ในมาตรา 33 จะทำให้มีหลักประกันในการทำงาน เช่น ถูกไล่ออกจากงานก็ยังมีสิทธิประโยชน์ว่างงานรองรับ มีเงินเลี้ยงชีพในระหว่างหางานใหม่ ในเรื่องของการรักษาพยาบาลก็สะดวก รวมทั้งมีสิทธิตลอดบุตร อีกด้วย หากเปรียบกับมาตรา 40 หากไปพบแพทย์ นอนพักรักษา 3 วัน ได้เงินเชยขาดรายได้เพียง 600 บาท
 
"ปัจจุบันมีแรงงานไทยและต่างชาติทำงานบ้านประมาณ 2 ล้านคน เครือข่ายมีสมาชิกจำนวน 500 คน และจากการหารือกับสมาชิก ต่างพร้อมจะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกันสังคม พ.ศ.2558 จะไม่ให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 33 แต่จะให้เข้ามาตรา 40 แทน"
 
ด้านนายรักษ์ศักดิ์ โชติชัยสถิตย์ รองเลขาธิการสปส. กล่าวว่า จะนำข้อเรียกร้องไปหารือกับเลขาธิการสปส.และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมายลำดับรอง เจตนารมณ์ของกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่ต้องการให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าสู่มาตรา 33 แต่ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมายลำดับรอง ได้หารือแต่ยังไม่มีข้อสรุป
 
เนื่องจากอนุกรรมการบางคนมองในแง่กฎหมาย และนำข้อสังเกตของสมาชิกสภานิติบัญัติแห่งชาติ(สนช.)มาพิจารณาในเรื่องของคำว่าลูกจ้างจะรวมไปถึงลูกจ้างทำงานบ้านด้วยหรือไม่ รวมทั้งความพร้อมของนายจ้างและลูกจ้างด้วย จะหารือกับประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองร่างกฎหมายลำดับรองขอให้เปิดโอกาสให้ประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านฯ เข้าชี้แจงต่อในการประชุมวันที่ 12 มิถุนายนนี้ที่สปส.นนทบุรี แต่หากในที่สุดแล้วคณะอนุกรรมการสรุปว่าไม่ให้เข้ามาตรา 33 ก็จะให้เข้ามาตรา 40 แทน
 
(มติชน, 26/05/2558)
 
เตรียมพร้อมแรงงานนอกระบบ-พิการ เข้าถึงไอทีรู้ข่าวสาร มีรายได้ ใช้ชีวิตมั่งคง สู่ระบบประกันสังคม
 
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานการประชุมกระทรวงแรงงานครั้งที่ 5/2558 ณ ห้องประชุมประสงค์ รณะนันทน์ ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน ว่า การเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมประชุมใหญ่ประจำปี สมัยที่ 104 ของ ILO ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน 2558 นั้นกระทรวงแรงงานจะเสนอเรื่องการคุ้มครองแรงงาน การสร้างโอกาสสร้างงานให้มีคุณค่า แนวคิดการดำเนินงานของแรงงานนอกระบบ แรงงานพิการ ความก้าวหน้าเรื่องการรับอนุสัญญาอย่างน้อย 3 ฉบับที่จะรับรองในปีนี้ คือ อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 (MLC) ซึ่งผ่าน สนช.แล้ว ส่วนฉบับที่ 187 เรื่องความปลอดภัยของของพี่น้องแรงงาน และฉบับที่ 111 ว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ เหลือเพียงขั้นตอนนำเรื่องเข้า สนช. พิจารณา ส่วนเรื่องแรงงานนอกระบบ เราคงต้องพัฒนาผู้นำเครือข่ายให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านแรงงานได้ เราต้องเตรียมความพร้อมผู้นำแรงงานนอกระบบรวมถึงแรงงานกลุ่มพิการ ซึ่งจะมาพร้อมกับแอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ของกระทรวงแรงงานที่เขาสามารถท่องเทคโนโลยีได้ เราจะพัฒนาเขาไปสู่การพัฒนาแบบก้าวกระโดดได้อย่างไรนั้น ทั้งนี้เพื่อทำให้เขามั่งคง มีรายได้มากขึ้นและนำเข้าสู่ระบบประกันสังคม
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า การดำเนินงานของรัฐบาล คงต้องดำเนินงานตามโรดแม็พ คสช. 3 ระยะ ระยะแรกเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบเรียบร้อย ระยะที่สองเป็นการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้เรากำลังอยู่ในช่วงที่สอง ส่วนระยะที่สามเป็นการส่งต่อการแก้ปัญหาระยะยาวเพื่อวางรากฐานที่สำคัญของแต่ละหน่วยงานของประเทศเพื่อให้รัฐบาลได้ดำเนินการต่อไปได้ ส่วนข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ได้กำชับให้ข้าราชการระดับปฏิบัติเข้าใจเนื้องานของกระทรวงและสามารถนำไปสู่การปฏิบัติและถ่ายทอดได้ เพื่อให้งานที่ติดขัดในบางเรื่องสามารถเดินหน้าให้สำเร็จไปได้
 
ส่วนการพัฒนากำลังแรงงานรองรับอาเซียนนั้นได้จัดกิจกรรม 3 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ กิจกรรมการเพิ่มผลิตภาพแรงงานตามความต้องการของสถานประกอบกิจการ 260 แห่ง เพิ่มศักยภาพฝีมือแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 6,800 คน ส่วนที่สองการเพิ่มศักยภาพกำลังแรงงาน มีกิจกรรรมยกระดับฝีมือแรงงานในสถานประกอบกิจการให้เป็นแรงงานมีฝีมือในด้านภาษาต่างประเทศ ไอที ในอุตสาหกรรมสำคัญเพื่อการพัฒนาประเทศ 80,169 คน ทดสอบมาตรฐานฯ ส่งเสริมให้พัฒนาฝีมือ 1,025,000 คน และส่วนที่สามการพัฒนาฝีมือเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ ฝึกพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับเขตเศรษฐกิจตามแนวชายแดน 33,380 คน
 
ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมการจัดหางานเมื่อวันที่ 27 พ.ค.58 เปิดเผยว่า ผลการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 มี.ค.58 พบว่า มีแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนเพื่อขอรับบัตรใหม่ทั้งสิ้น 613,478 คน นายจ้าง 127,864 คน และการจดทะเบียนในกิจการประมงทะเล 22 จังหวัด ทั้งสิ้น 41,936 คน นายจ้าง 6,496 คน
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 27/05/2558)
 
'บิ๊กเต่า' สั่ง สปส.ศึกษาลูกจ้างทำงานบ้านขอเข้า ม.33
 
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านยื่นหนังสือต่อสำนักงานประกันสังคม(สปส.) เพื่อขอให้พิจารณาออกกฎหมายลูกกำหนดให้ลูกจ้างทำงานบ้านสามารถเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ด้วย เนื่องจากถือว่ามีนายจ้างชัดเจน ว่า ในเรื่องนี้สปส.ต้องรับเข้ามาพิจารณาและดูในเนื้อหาของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ประกันสังคม พ.ศ.2558 ว่าได้กำหนดไว้อย่างไรบ้าง หากมีการขยายจริงก็ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ เพราะอาจเกิดการแอบอ้างได้ว่ามีนายจ้างทั้งที่ความจริงไม่มี
 
“ถ้าจะให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้ามามาตรา 33 นั้น จะต้องดูด้วยว่ามีความมั่นคงหรือไม่ ไม่ใช่ว่าทำงานกับนายจ้างแค่ 6 เดือนแล้วลาออก แล้วจะไปทำงานเป็นลูกจ้างทำงานบ้านต่อหรือไม่ คงจะต้องนำรายละเอียดทั้งหมดมาศึกษาอีกครั้ง”
 
(มติชน, 27/05/2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท