หลวงพ่อคูณ : พินัยกรรมแห่งสติของสังคม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ตามประกาศของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งได้รายงานว่าพระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ได้มรณภาพลงแล้วเมื่อเวลา 11.45 น. ทำให้สื่อทุกแขนงภายในประเทศได้นำเสนออกไปอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยนำประวัติ คติธรรมคำสอนสำคัญ พร้อมผลงานสาธารณประโยชน์มาเผยแพร่ ทำให้ข่าวอื่น ๆ ลดความสำคัญลงไปโดยอัตโนมัติ 

เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการมรณภาพของหลวงพ่อคูณ สามารถหยุดความรู้สึกอันร้อนแรงต่าง ๆ ที่พลุ่งพล่านตามกระแสสื่อทุกวัน และยิ่งทำให้ผู้คนหลากหลายชนชั้น ตั้งแต่ พระสงฆ์ วงการแพทย์ ประชาชน ต่างฉุกคิดติดตามวัตรปฏิบัติของท่านอย่างเป็นอัศจรรย์ โดยเฉพาะ “พินัยกรรม” ที่ทำให้กระตุกสติของใครต่อใครได้หันกลับมามอง “ภายใน” ของแต่ละคนอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ๆ ความรู้สึกที่เคยมุ่งแต่จะ “เอา” เริ่มคลี่คลายกลายมาเป็น “ผู้ให้” มากขึ้น เมื่อหลวงพ่อคูณได้สะท้อนความเป็นอนิจจังผ่านสรีระร่างกายอันไร้แก่นสารของท่านแต่นั่นกลับเป็น “แก่นสารแห่งปัญญา” และเป็น “สติ” แห่งสังคมอย่างแยบยลเกินกว่าจะคาดเดาภูมิธรรมภายในจิตใจของหลวงพ่อ

ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าพบหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ จำนวน 3 ครั้ง 3 โอกาส ครั้งแรก เมื่อปียี่สิบกว่าปีที่แล้ว (พ.ศ. 2537)  และวาระอื่น ๆ อีก 2 ครั้ง ทุกครั้งก็จะได้มีโอกาสเข้าไปกราบพร้อมกับรับการ “เคาะศีรษะ” ให้หนึ่งที การได้มีโอกาสไปนมัสการก็เพื่อไปทำบุญ และขอความเป็นสิริมงคลแก่ตัวและครอบครัว ไม่ได้ไปหาวัตถุมงคลอะไรเป็นพิเศษ แต่ทุกครั้งที่ได้กราบท่าน จะบังเกิดความรู้สึกอิ่มเอมทางใจ แต่ก็ไม่ได้ระลึกนึกในเชิงนัยยะ หรือความหมายอื่นที่สะท้อนผ่านจากปฏิปทาของท่าน

ครั้นมาถึงวันนี้ วันที่หลวงพ่อปลงสังขารแล้ว ประกอบกับสื่อได้พยายามค้นหาและเสนอโอวาทธรรมคำสอนต่าง ๆ ทำให้ผู้เขียนใคร่จะบูชาปฏิปทาทางธรรมที่ท่านดำเนินมาว่ามีประโยชน์ และคูณปการทั้งทางจิตวิญญาณและประเทศชาติบ้านเมือง ดังพินัยกรรมที่ทำไว้เมื่อท่านอายุได้ 77 ปี ลงวันที่ 25 มิ.ย. 2543  แต่ใจความสำคัญที่ถือว่าเป็นพินัยกรรมแห่งสติ  ถ้อยคำสำคัญซึ่งกลายมาเป็นพินัยกรรมแห่งสติ ผู้เขียนขออนุญาตถอดใจความจากการบันทึกเสียงของหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ หลวงพ่อได้ปรารภว่าการพูดในวันนั้นเป็นหัวข้อสำคัญ และเป็นมหามงคลอันใหญ่หลวงที่ได้พูดหัวข้อ “กเฬวราก-ซากศพ” (อ่านว่า กะ-เล-วะ-ราก) โดยขึ้นต้นด้วยพระบาลีว่า อนิจจา วะตะ สังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ เกิดขึ้นก็ดับไปเป็นของธรรมดา เป็นข้อธรรมที่แสดงถึงหลักไตรลักษณ์ของสังขารร่างกายที่ต้องตกอยู่ในสภาวะธรรมดาคือ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาได้อย่างชัดเจนที่สุด ข้อความมีดังนี้  (ยูทูบ  ที่ https://www.youtube.com/watch?v=D7pVXyWcgPU)

“ ...กูก็นึกได้ว่า อยากจะสร้างบารมีในเรื่องเอาศพไปฝากโรงพยาบาลขอนแก่น นึกได้เมื่อไหร่กูก็ดีใจ จะเป็นฝ่ายบิดาก็ตาม มารดาก็ตาม หรือวงศาคณาญาติทั้งฝ่ายพ่อฝ่ายแม่พี่น้องญาติวงศ์พงศาก็ไม่เคยมีใครไปฝากศพ กูก็มานึกว่าอยากจะสร้างบารมีในเรื่องบริจาคศพ ดีกว่าไปเผาทิ้ง ให้เขาเอาไป เป็นทาน ไปเป็นครูเขา เขาจะได้เอาไปไว้พิจารณาหาเหตุผลในเรื่องแพทย์ กูนึกได้อย่างนั้นกูก็อยากสร้างบารมีของกู พวกลูกหลาน เมื่อเวลากูหมดชีวิตหรือหมดลมหายใจเข้า-ออกแล้ว พวกมึงก็อย่าได้หน่วงเหนี่ยวเลย (ลากเสียง) ให้เขาไปเถอะ มันจะเสียเจตนากู มึงจะเอาไว้ได้ก็อย่าให้เกิน 7 วัน ถ้าเกิน 7 วันไปไม่ได้ดอก อย่างมากที่สุดก็ 7 วันก็พอแล้ว พี่น้องจะมาถวายน้ำสรง หรือจะไม่มา ถ้าไม่มีคนมาก็ส่งไปเสียเลย ถ้ามีคนมาก็ให้รอ 7 วัน แล้วค่อยส่งไป อย่าให้เสียเจตนาของพี่น้องลูกหลาน...กูบริจาคไปพวกมึงก็ควรโมทนาสาธุการกะกู ทำบุญร่วมกับกูเถอะลูกหลานเอ๊ย (ลากเสียง) ของอะไรทุกอย่างเกิดมาแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา มันไม่เที่ยงแท้แน่นอนดอก พวกเพื่อนฝูงญาติมิตรสหาย เมื่อเวลาดับจิตหรือว่าหมดลมหายใจเข้า-ออกแล้วเขาก็ไปส่งได้แค่เมรุเท่านั้นแหละเน้อ (ลากเสียง) ต่อไปเขาก็ไปส่งไม่ได้ดอก (ลากเสียง) จะไปสู่สุคติหรือทุคติ ตัวของตัวเองแหละ...บุญทานการกุศลที่เราได้สร้างได้ทำนี่แหละจะประคับประคองเราไป หมู่พวกเพื่อนฝูงก็ไปส่งได้แค่เมรุ...เราไปเองที่จะสร้างทำเอาไว้นี่แหละตัวสำคัญจินำไปสู่สุคติทุคติ เพราะฉะนั้น พี่น้องลูกหลานพยายามสร้างคุณงามความดี

อย่าเป็นคนเนรคุณต่อประเทศชาติบ้านเมือง คนเราเกิดมาก็มาสร้างของ 2 อย่าง คือ ไม่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองอย่างหนึ่ง (อีกอย่างหนึ่ง) เกิดมาสร้างคุณงามความดีให้ประเทศชาติบ้านเมือง พยายามสร้างคุณงามความดีเอาไว้ ไม่พอร้อยปีเดี๋ยวก็ได้พลัดพรากจากกันไปอีกแล้ว ไม่ได้อยู่นานแค่ไหนดอก (ลากเสียง)”

พระที่มาในงานศพของกู มึงก็รู้อยู่แล้วว่าความตายเป็นของธรรมดา ท่านก็รู้อยู่แล้วเน้อ (ลากเสียง) ญาติโยมพี่น้องที่มาจากใกล้จากไกลก็อย่างไปร้อง ร้องได้ก็ไม่ได้คืน ร้องทำไม ให้ปลงว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาตาม ๆ กันไปเถอะ (ขึ้นเสียงสูง) อย่าได้ไปนั่งร้อง นั่งพิรี้พิไรอยู่อะไรเล่า (ลากเสียง) อย่าไปสงสัยเน้อว่าจิไม่ตาย คนร้องตามกูก็ตาย  !!! ไม่อยู่พอได้ร้อยปีพันปีดอก เดี๋ยวก็จิตายอย่างกูนี่แล้ว....”

จากถ้อยคำสำคัญดังกล่าว จึงกลายเป็นที่มาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในรูปของ “พินัยกรรม” เพียงแต่แตกต่างจากพินัยกรรมฉบับอื่น ๆ ที่มุ่งจัดสรรทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกหลาน แต่นี่เป็นพินัยกรรมเตือนสติให้แก่ลูกหลานที่เคารพนับถือและศรัทธาในตัวท่าน เตือนสติผ่านคำสอนในหลาย ๆ เรื่อง ในที่นี้จะยกมาเสนอ 4 เรื่อง ได้แก่

1) มรณสติธรรม ธรรมคือมรณสตินั้นเป็นสัจธรรมที่สอนให้มนุษย์ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น หลวงพ่อสอนว่าทุกสิ่งมีเกิดต้องมีดับ อย่าได้เสียดายอาลัยอาวรณ์ หรือนั่งร้องไห้พิรี้พิไรรำพัน ท่านยังสอนสวนกลับมาให้มองตัวเองนั่นแหละว่าคนที่นั่งร้องนั่งรำพันก็ต้องตายเหมือนท่าน ทั้งพระทั้งโยมก็ควรหันมาพิจารณาตัวเอง การพูดสอนตัดบทหักมุมอย่างนี้ทำให้สะท้านและทำลายความรักความหลงลงได้

2) จาคธรรม หรือการบริจาคเสียสละของหลวงพ่อคูณนั้น เป็นการแสดงเจตนาอย่างมีจุดมุ่งหมาย การบริจาคสรีระสังขารเป็นการสะท้อนให้เราเห็นว่าคุณธรรมภายในของท่านนั้นไม่ธรรมดา โดยเฉพาะการบริจาคร่างให้เป็นทาน หรือเพื่อให้เป็น “อาจารย์ใหญ่” แก่นักศึกษาแพทย์ย่อมแสดงถึงมุมมองที่กว้างไกลของหลวงพ่อ  นอกจากแพทย์จะใช้ความรู้ด้านกายวิภาคให้เป็นประโยชน์แล้ว ผลจากการศึกษานั้นจะขยายไปสู่ชีวิตของคนเจ็บไข้ได้ป่วยอีกนับไม่ถ้วน และที่สำคัญ “การให้” ครั้งนี้ของหลวงพ่อได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนจำนวนมากที่เคยลังเลสงสัยในการบริจาคศพให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ โดยหวั่นกลัวว่าชาติหน้าเกิดมาอวัยวะจะไม่ครบสมบูรณ์เพราะร่างกายถูกชำแหละหรือผ่านการศึกษาจากแพทย์  ผู้คนเริ่มมีความมั่นใจในการบริจาคร่างกายให้แพทย์ ด้วยคำพูดที่ว่า “กูก็มานึกว่าอยากจะสร้างบารมีในเรื่องบริจาคศพ ดีกว่าไปเผาทิ้ง ให้เขาเอาไป เป็นทาน ไปเป็นครูเขา”

คำว่า “กูก็มานึกว่าอยากจะสร้างบารมี” ในที่นี้หมายถึง การให้ทานเป็นบารมี ซึ่งในพระพุทธศาสนาจัดแบ่งไว้ 3 ชั้น ชั้นแรกเรียกว่า ทานบารมี ซึ่งหมายถึงการสละให้สิ่งของนอกกายทั่วไป ชั้นที่สองเรียกว่า ทานอุปบารมี หมายถึง การสละให้อวัยวะในตัว เช่น บริจาคดวงตา และชั้นสูงสุดเรียกว่า ทานปรมัตถบารมี หมายถึง การสละชีวิตให้เป็นทาน กรณีของหลวงพ่อคูณจัดอยู่ในทานขั้นที่สองคือ ทานอุปบารมี แต่สิ่งที่สำคัญกว่าลำดับขั้นคือ ลำดับจิตใจของหลวงพ่อคูณ ที่ไม่เพียงเป็นการสร้างบารมีเพื่อตัว แต่เป็นการสร้างสติปัญญาความเข้าใจในทานคือการสละร่างกายให้เป็นทานต่างหาก เพราะการที่คนเราจะ “เป็นผู้ให้” ได้นั้น จิตใจต้องสละได้เสียก่อน ไม่นึกหวงแหน ไม่นึกเสียดาย และที่สำคัญคือนึกถึงประโยชน์ที่คนอื่นจะได้ ประโยชน์ในการศึกษาทางกายวิภาคศาสตร์  หรือแม้กระทั่งเงินทองที่ผู้คนนำมาทำบุญนั้นให้ส่งทอดต่อไปยังโรงพยาบาลสงฆ์ที่นอกเหนือจากโรงพยาบาล สถานศึกษาหรือโรงเรียนที่หลวงพ่อเคยสร้างไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิตอีกจำนวนมาก

3) สามัคคีธรรม หลวงพ่อคูณเป็นพระสงฆ์ที่มีความรักประเทศชาติบ้านเมือง พยายามสอนสั่งให้คนที่มาหาท่านในทุกโอกาส มีเลือดคนโคราชเข้มข้นเป็นคนรักชาติบ้านเมือง ดังที่หลวงพ่อสอนว่า “อย่าเป็นคนเนรคุณต่อประเทศชาติบ้านเมือง คนเราเกิดมาก็มาสร้างของ 2 อย่าง คือ ไม่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองอย่างหนึ่ง (อีกอย่างหนึ่ง) เกิดมาสร้างคุณงามความดีให้ประเทศชาติบ้านเมือง”

4) โลกธรรม แม้ธรรมดาของมนุษย์จะยึดฝ่ายลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แต่หลวงพ่อคูณได้สอนให้มองกลับบ้านไว้ด้วยสำหรับการใช้ชีวิต คือ ไม่หลงลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แม้จะเป็นพระสงฆ์ที่มียศศักดิ์ (สมณศักดิ์ที่ พระเทพวิทยาคม) แต่ก็ขอเป็น “คนธรรมดา” ตามพินัยกรรมว่า “ให้จัดงานแบบเรียบง่าย ละเว้นการพิธีสมโภชน์ใดๆ และห้ามขอพระราชทานเพลิงศพ โกฏิและพระราชพิธีอื่นๆ เป็นกรณีพิเศษเป็นการเฉพาะ”   เป็นการสะท้อนถึงสาระที่แท้จริงของชีวิตในซีกที่ถูกละเลยไป

ทั้งหมดที่กล่าวมา อยากจะชวนให้ผู้อ่านนึกถึงเอกลักษณ์ที่สำคัญของหลวงพ่อคูณเมื่อผู้คนเข้าไปกราบ คือ “การเคาะศีรษะ” นัยว่าเป็นวิชาที่หลวงพ่อได้รับถ่ายทอดมาจากครูบาอาจารย์เมื่อครั้งไปฝึกสมาธิภาวนา  ศีรษะ เป็นผลรวมพลังงานของชีวิตที่รวมเอาพลังงานต่าง ๆ รวมถึงคุณภาพของจิตไว้ด้วย การนึกคิด อารมณ์ต่าง ๆ จะทำงานประสานสัมพันธ์ไปกับเส้นสมองอย่างอัศจรรย์  การเคาะ เหมือนดังการสะกิด กระตุกเตือนให้เราระลึกหรือรู้ตัวในการทำ คำที่พูด จิตที่คิด ตามวินมอเตอร์ไซค์ มักมีแผ่นป้ายที่มีคำสอนหลวงพ่อคูณว่า  “กูห่วงหัวมึง” คือห่วงทั้งความปลอดภัย และ “ให้สติ” ในการประกอบสัมมาชีพ  บางครั้งอาจต้อง “เคาะให้เจ็บ” หรือ “เคาะให้จำ” หรือ “เคาะให้สำนึก” บ้างกับกะโหลกของเรา 

หลังจากดองเก็บสรีระของหลวงพ่อไว้หนึ่งปี อีกสองปีจะเป็นการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ เราก็อยากจะทราบเหมือนกันว่าศีรษะของหลวงพ่อคูณนั้นเป็นอย่างไร ทำไมถึงคิดได้สูง ทำได้ประเสริฐ เกิดประโยชน์แก่คนทุกวงการได้ถึงเพียงนี้ การมรณกรรมของหลวงพ่อคูณ จึงเท่ากับเป็นพินัยกรรมแห่งสติของสังคม ความกระด้างกระเดื่อง เย่อหยิ่งผยอง ความอหังการที่เคยมี ได้รับการกำราบลงบ้างแล้ว หรือจิตใจของเราได้อ่อนน้อมลงบ้างแล้วหรือยัง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท