ถ้าข้าพเจ้าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ข้าพเจ้าจะปฏิรูปกองทัพ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ข้าพเจ้าต้องการปฏิรูปกองทัพเพียงสองประการ ประการแรกคือความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับประชาชน ประการที่สองคือความโปร่งใสและความมีเกียรติของกองทัพ

ในประการแรก กล่าวคือความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับประชาชน  ความขัดแย้ง หวาดระแวง หมางเมิน ที่กองทัพและประชาชนต่างมีต่อกันและกันนั้น เกิดมาจากความห่างเหินและไม่ยึดโยงกัน  ในหลาย ๆ แง่ ทหารนั้นก็เหมือนนักบวช ฝึกฝนอบรมอยู่ในโลกของตนเองจนขาดความเข้าใจต่อโลกภายนอก  ยิ่งกองทัพมีอำนาจ ก็ยิ่งไม่ฟังเสียงประชาชน  ยิ่งกองทัพจมปลักอยู่กับความคิดยุคสงครามเย็น กองทัพก็ตามไม่ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง

การปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับกองทัพให้ดีขึ้น ทหารต้องออกมาคลุกคลีกับประชาชนให้มากขึ้น  นักศึกษาทหารควรออกมาเรียนในมหาวิทยาลัยทั่วไปรวมกับพลเรือน พวกเขาควรได้เรียนรู้แนวคิดทางสังคมศาสตร์ ได้รับรู้แนวคิดที่แตกต่างหลากหลาย ได้เข้าใจว่าคนเราสามารถคิดไม่เหมือนกัน แต่ก็อยู่ร่วมกันได้ ทหารจะได้ไม่ตกใจจนขวัญหนีเมื่อพบว่าพลเรือนมีความคิดแตกต่างจากตน  ทหารควรเข้าใจว่าความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่คู่สังคม มันไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องไม่พึงประสงค์ และบางครั้งความขัดแย้งก็เป็นแรงผลักให้สังคมก้าวหน้า ตราบที่การแก้ไขความขัดแย้งไม่ใช้วิธีการรุนแรงและไม่กดปราบมันไว้

หากนักศึกษาทหารได้ออกมาเรียนรู้โลกกว้าง พวกเขาจะเข้าใจว่าความรักชาติรักสถาบันมีหลายแบบ การวิจารณ์ผู้อยู่ในอำนาจและชนชั้นนำไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความเกลียดชังหรือการล้มล้างใด ๆ  อีกทั้งผู้วิจารณ์ก็มีความรักในแบบของเขา  ทหารไม่พึงตั้งตัวเป็นผู้ผูกขาดความรักที่มีต่อชาติและสถาบัน ไม่พึงตั้งตัวเป็นผู้ผูกขาดการนิยามและวิธีแสดงออกของความรัก แล้วผลักคนอื่นที่รักต่างจากตนให้กลายเป็นศัตรู

กองทัพยุคใหม่ควรก้าวพ้นจากแนวคิดแบบสงครามเย็น  กองทัพควรเลิกใช้แนวคิดแบบยุคสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ เลิกหวาดระแวงประชาชน อย่ามองประชาชนเป็นศัตรู อย่ามองประชาชนเป็นเพียงผู้อยู่ใต้อาณัติที่กองทัพต้องคอยชี้ซ้ายชี้ขวา  กองทัพควรเข้าใจแนวคิดของ “รัฐประชาชาติ”  รัฐที่คนทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของ ไม่ว่าคนคนนั้นจะยากดีมีจนแค่ไหน ทุกคนต้องได้เป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน มีสิทธิ์มีเสียงมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมตัวเองร่วมกัน กองทัพไม่ควรกีดกันประชาชนจากความเป็นเจ้าของประเทศ ไม่ควรหวงประเทศจากประชาชนของตัวเอง และควรเข้าใจด้วยว่าประเทศชาติใด ๆ ก็มิอาจดำรงอยู่ได้หากประชาชนถูกพรากจากศักดิ์ศรีของความเป็นเจ้าของประเทศ

กองทัพควรเข้าใจด้วยว่าโลกเรานั้นอนุวัตรตามโลกาภิวัตน์มาหลายสิบปีแล้ว  สังคม การเมือง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศไทยผูกร้อยแน่นแฟ้นกับประเทศเพื่อนบ้านและโลกภายนอก  การปิดประเทศอยู่เพียงลำพังอย่างพอเพียงเป็นแค่ความเพ้อฝันที่ไม่มีทางเป็นจริง  การมองชนชาติอื่นเป็นศัตรูกลับจะยิ่งสร้างภาวะอ่อนแอให้ประเทศไทย  เราจำเป็นต้องพึ่งพิงแรงงานข้ามชาติ เราจำเป็นต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีจากโลกตะวันตก เราจำเป็นต้องค้าขายและพึ่งพิงสินค้าจากประเทศอื่น เราจำเป็นต้องเชิดหน้าชูตาได้อย่างมีเกียรติบนเวทีโลก “ความเป็นไทย” ที่อุปโลกน์ขึ้นมาและไม่อนุวัตรตามโลกาภิวัตน์จะไม่ช่วยให้ประเทศของเราอยู่รอด แต่กลับจะเป็นเครื่องถ่วงให้ประเทศของเราล้าหลังและอาจถึงขั้นจมดิ่งอยู่ในปลักตม

กองทัพต้องเลิกผูกความสำคัญของการดำรงอยู่ของกองทัพไว้กับการมีศัตรู  กองทัพควรมีความมั่นใจในตัวเอง  ประชาชนยังต้องการกองทัพเสมอแม้เมื่อไม่มีศัตรูภายในหรือภายนอกบ้านก็ตาม  ประชาชนยังคงต้องการหลักประกันความปลอดภัยและความมั่นคงตามชายแดน ความช่วยเหลือยามภัยพิบัติ  ต่อให้โลกนี้ไม่มีสนามรบอีกแล้ว กองทัพก็ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดเสียมิได้ของประเทศอยู่ดี ไม่มีความจำเป็นต้องกุสร้างศัตรูปลอม ๆ ขึ้นมาหลอกหลอนตัวเองและประชาชนเพียงเพื่อสร้างความมั่นคงให้ตัวเอง

กองทัพต้องยอมรับว่า การสั่งสมความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์และพิชัยสงครามย่อมแลกกับการมีความรู้ความเชี่ยวชาญน้อยกว่าพลเรือนในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านการบริหารประเทศ การบริหารเศรษฐกิจ ฯลฯ ดังเห็นได้จากตัวอย่างที่มีมากมายว่า รัฐบาลทหารไม่ว่าในประเทศไหน ๆ ก็ไม่สามารถบริหารประเทศชาติให้รุ่งเรืองยั่งยืนได้ แม้กระทั่งองค์กรเล็ก ๆ เช่น รัฐวิสาหกิจ ก็ไม่ปรากฏว่าการมีทหารไปนั่งเป็นกรรมการจะทำให้รัฐวิสาหกิจไหนมีกำไรหรือมีประสิทธิภาพ  การยอมรับความจริงพื้นฐานของชีวิตข้อนี้จะช่วยให้กองทัพสามารถโฟกัสไปที่สิ่งที่ตัวเองควรทำได้ดีที่สุด มิใช่พยายามเข้าไปก้าวก่ายในสิ่งที่ตัวเองแทบไม่มีความรู้ความชำนาญเลย

หากยอมรับความจริงพื้นฐานข้อนี้ได้แล้ว ก็จะทำให้กองทัพยอมรับการยึดโยงกับประชาชนในแง่ที่สำคัญที่สุด นั่นคือ กองทัพควรอยู่ใต้อำนาจของกระทรวงกลาโหมที่มีพลเรือนเป็นรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย  การอยู่ใต้อำนาจพลเรือนไม่ใช่การเสื่อมเกียรติ แต่เป็นการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน  ประชาชนจะไว้วางใจทหารที่ถืออาวุธได้อย่างไรหากไม่มั่นใจว่าทหารจะยึดโยงกับประชาชนเสมอ?  กองทัพไม่ควรหวาดระแวงหรือดูหมิ่นว่าพลเรือนไม่รู้เรื่องการทหาร  การอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนเป็นเพียงแค่การยอมรับอำนาจชี้นำของประชาชนเกี่ยวกับทิศทางของประเทศในภาพกว้างเท่านั้น  ถึงอย่างไรกองทัพก็ยังเป็นผู้รู้ดีที่สุดเกี่ยวกับการสงครามและการจัดกำลังพล  พลเรือนย่อมเคารพกองทัพในแง่นี้  กองทัพก็ควรเคารพประชาชนในแง่ของการบริหารประเทศเช่นกัน

เมื่อแบ่งงานกันทำแล้ว กองทัพจึงไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจ  ประเด็นนี้ควรบัญญัติไว้เป็นกฎหมาย เพื่อสกัดกั้นความทะเยอทะยานส่วนตัวของนายทหารบางคน  โครงสร้างการวางกองกำลังของกองทัพจึงควรอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางภูมิศาสตร์และยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศอย่างเคร่งครัด  กองทัพควรประจำการตามแนวชายแดน อาวุธของทหารควรหันปากกระบอกระวังภัยให้ประชาชน มิใช่หันปากกระบอกมาคุมเชิงประชาชนไว้ กองทัพต้องปฏิบัติตามและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการยกร่าง การรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญถือเป็นกบฏอย่างไม่มีเงื่อนไข

การควบคุมด้านความมั่นคงภายในประเทศ เช่น การปราบจลาจล ฯลฯ ควรเป็นหน้าที่ของตำรวจ (ซึ่งควรถูกปฏิรูปเช่นกัน)  ต้องมีการตรากฎหมายห้ามมิให้ทหารนำอาวุธสงครามเข้ามาในเมือง เพื่อป้องกันการรัฐประหารและสงครามกลางเมือง  กองทัพไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานด้านข่าวกรอง กองทัพถืออาวุธไว้ในมืออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องหวาดระแวงใครอีก งานข่าวกรองควรอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากประชาชน  ความมั่นคงของชาติควรเป็นสิ่งที่สมาชิกทุกคนในชุมนุมชนรับผิดชอบร่วมกันและตัดสินใจร่วมกันว่าอะไรคือความมั่นคง กองทัพไม่มีสิทธิ์ผูกขาดการกำหนดนิยามความมั่นคงไว้เพียงฝ่ายเดียว

เรื่องสำคัญประการที่สองก็คือ กองทัพต้องมีความโปร่งใสและมีเกียรติ  ความโปร่งใสอันดับแรกสุดก็คือการจัดทำงบประมาณ  รัฐบาลพลเรือนควรมีส่วนร่วมและรับรู้ รวมถึงท้วงติงการจัดทำงบประมาณของกองทัพได้  การจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพต้องมีการดำเนินการอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้และมีผู้รับผิดรับชอบ  กองทัพไม่ควรเป็นแดนสนธยาของการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์  กองทัพต้องไม่ครอบครองธุรกิจหรือมีผลประโยชน์ในธุรกิจใด ๆ  การปล่อยให้กองทัพครอบครองคลื่นสัญญาณวิทยุโทรทัศน์มากมายเช่นทุกวันนี้คือช่องทางแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ 

สถาบันกองทัพไม่ใช่ทางผ่านเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวของใคร  กองทัพควรมีแต่ทหารอาชีพ ไม่ใช่บันไดไปสู่การนั่งเป็นกรรมการหน่วยงานรัฐหรือเอกชน  ทหารต้องทำหน้าที่ของทหารเท่านั้น หากต้องการเข้าสู่วงการการเมืองหรือธุรกิจ ก็ต้องลาออกและละทิ้งยศตำแหน่ง เฉกเช่นเดียวกับนักบวชที่ต้องลาสิกขาเมื่อต้องการใช้ชีวิตทางโลก

การไต่เต้าในเส้นทางอาชีพของทหารควรตัดสินกันที่ความรู้ความสามารถ ไม่ใช่ที่นามสกุล รุ่น เพื่อนพ้อง เส้นสาย ประทวนหรือสัญญาบัตร  รัฐสภาหรือหน่วยงานอิสระควรเข้ามามีบทบาทในการแต่งตั้งโยกย้ายทหาร มิใช่มองว่าเป็นการล้วงลูก แต่เป็นการดึงคนนอกเข้ามาวัดผลการทำงาน มิใช่ปล่อยให้คนในกองทัพตัดสินกันเองด้วยอคติหรือฉันทาคติ  นี่คือการลดการใช้เส้นสายพวกพ้อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กองทัพ  ทุก ๆ ปีมีเยาวชนไทยหัวกะทิเก่ง ๆ จำนวนมากก้าวเข้าสู่กองทัพ อย่าให้กองทัพกลายเป็นหลุมดำที่นำคนเก่ง ๆ เหล่านี้ไปฝังไว้ในระบบที่เทอะทะไร้ประสิทธิภาพ

กองทัพต้องมีความสามัคคี  ในเมื่อเรียกร้องให้ประชาชนสามัคคีกัน แต่เหตุใดกองทัพจึงแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า เป็นบูรพาพยัคฆ์ เป็นวงศ์เทวัญ เป็นรุ่นเท่านั้นเท่านี้ เป็นคนสนิทของบิ๊กคนนั้นคนนี้  ทหารทุกคนต้องเป็นทหารของชาติของประชาชน ไม่ใช่แบ่งแยกแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันเช่นในปัจจุบัน  ประชาชนจะฝากความหวังไว้กับกองทัพที่ไม่มีความสามัคคีกันได้อย่างไร

ทหารทุกคนต้องมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีของทหารและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  เครื่องแบบทหารจะมีเกียรติได้อย่างไรหากพลทหารกลายเป็นคนรับใช้ตามบ้านของผู้บังคับบัญชา  ทหารควรมีเงินเดือนเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมต่อการทำงานเสี่ยงชีวิตเพื่อประชาชน  ชีวิตความเป็นอยู่ของทหารทุกคนควรมีความสุขสบายตามอัตภาพและไม่เหลื่อมล้ำอย่างน่าเกลียดระหว่างทหารชั้นผู้ใหญ่กับทหารชั้นผู้น้อย

การเพิ่มเงินเดือนให้ทหารอย่างเหมาะสมย่อมทำได้หากลดจำนวนทหารลง  ในโลกยุคปัจจุบัน เราสามารถยกเลิกการเกณฑ์ทหารได้แล้ว  หากอาชีพทหารเป็นอาชีพที่มีเกียรติและได้รับค่าตอบแทนมากเพียงพอ เชื่อว่าจะมีประชาชนพร้อมใจกันสมัครเป็นทหารจำนวนมาก การใช้งบประมาณของกองทัพก็จะคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ  เมื่องบประมาณของกองทัพไม่บานปลายมากเกินไป ประเทศก็จะมีงบประมาณมาใช้พัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อตัวทหารเองในฐานะที่เป็นประชาชนของประเทศเช่นกัน

ประเทศไทยผ่านความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับกองทัพมาหลายครั้ง ในช่วงชีวิตเดียวของข้าพเจ้าได้ประสบพบเห็นการสังหารหมู่ประชาชนครั้งใหญ่หลายครั้ง ไม่นับครั้งย่อย ๆ อีกนับไม่ถ้วน  นับตั้งแต่การสังหารหมู่ประชาชนครั้งที่ 1 ใน พ.ศ. 2516 การสังหารหมู่ประชาชนครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2519 การสังหารหมู่ประชาชนครั้งที่ 3 ใน พ.ศ. 2535 การสังหารหมู่ประชาชนครั้งที่ 4 ใน พ.ศ. 2547 การสังหารหมู่ประชาชนครั้งที่ 5 ใน พ.ศ. 2553  ห้าครั้งก็มากเกินไปแล้วสำหรับชีวิตเดียว  ข้าพเจ้าหวังว่าจะไม่ต้องเห็นครั้งที่ 6 ครั้งที่ 7 ครั้งที่ 8....อีก

ประชาชนไทยอยากได้กองทัพที่สามารถพึ่งพิงได้ในยามทุกข์เข็ญ มิใช่กองทัพที่สร้างความทุกข์เข็ญให้แก่ประชาชน  กองทัพที่สง่าภาคภูมิด้วยความเชื่อมั่นในตัวเอง มิใช่กองทัพที่กระทำการลับ ๆ ล่อ ๆ เพราะหวาดกลัวเพื่อนร่วมชาติ  กองทัพที่รักษาสัตย์เพื่อชาติ มิใช่กองทัพที่ตระบัดสัตย์เพื่ออำนาจของคนไม่กี่คน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท