ไทยรั้งที่ 57 ของโลกและที่ 4 ของอาเซียน: ดัชนีทุนมนุษย์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

รายงานฉบับล่าสุดเรื่องทุนมนุษย์ (The Human Capital Report 2015) ของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) [1] ออกเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 โดยได้กล่าวถึงความสำคัญของคุณภาพของทุนมนุษย์ในชาติ (Nation's human capital endowment) ซึ่งเป็นทักษะและความสามารถในตัวประชาชนที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ว่าสามารถเป็นปัจจัยสำคัญของความสำเร็จทางเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าทรัพยากรอื่นๆ ซึ่งทุนดังกล่าวนี้สามารถลงทุนและหวังผลในผลตอบแทนต่อบุคคลและเศรษฐกิจโดยรวม

แนวคิดที่ใช้วัดระดับของทุนมนุษย์ในชาติประกอบด้วยกัน 3 หลักการ 1) ผลลัพธ์จากการเรียนและการจ้างงาน ดัชนีที่ใช้วัดทางด้านการเรียน เช่น อัตราการเข้าเรียนในระดับประถมศึกษาและอุดมศึกษา และอัตราการอ่านออกเขียนในได้ในเด็ก เป็นต้น สำหรับดัชนีด้านการจ้างงาน มีดัชนีที่หลากหลาย เช่น อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (Labor force Participation Rate) รวมถึงอัตราการว่างงาน เป็นต้น 2) ลักษณะประชากร โดยมีการแบ่งประชากรออกเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย ต่ำกว่า 15 ปี, 15-24 ปี, 25-54 ปี, 55-64 ปี และ 65 ปีขึ้นไป และ 3) ทุกประเทศถูกคำนวณดัชนีโดยใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งหมด โดยมีประเทศที่พิจารณาทั้งสิ้น 124 ประเทศ

การจัดระดับมีทั้งแบบเฉลี่ยในทุกกลุ่มอายุและแยกตามอายุ สำหรับโดยเฉลี่ยในภาพรวมแล้ว ประเทศที่มีอันดับด้านทุนมนุษย์สูงสุด ได้แก่ ฟินแลนด์ รองลงมาเป็นนอร์เวย์ สวิสเซอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น สวีเดน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ และเบลเยียม

 


ที่มา: World Economic Forum (2015)

จากภาพจะเห็นว่าแม้ฟินแลนด์จะมีอันดับโดยรวมที่ 1 แต่กลุ่มอายุ 55-64 ปีกลับตกลงมาอยู่ที่ 6  และกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นอยู่ในอันดับที่ 7 ซึ่งในกลุ่มผู้สูงอายุพบว่าญี่ปุ่นมีอันดับที่ดีมากแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของประชากรญี่ปุ่นที่ยังคงมีประสิทธิภาพแม้มีอายุเยอะแล้วก็ตาม
สำหรับไทยมีคะแนนโดยเฉลี่ยทุกกลุ่มอายุอยู่ที่ 68.78 รั้งอันดับที่ 57 ของโลก ทั้งนี้ อันดับที่ดีที่สุดของไทยคือช่วงอายุ 15-24 ปี อยู่ในอันดับที่ 41 ของโลกและเป็นที่..??..ในอาเซียน

 


ที่มา: World Economic Forum (2015)

เมื่อแยกตามภูมิภาค พบว่า ญี่ปุ่นมาเป็นอันดับ 1 ของทวีปเอเชียและแปซิฟิก รองลงมาเป็นนิวซีแลนด์และออสเตรเลียตามลำดับ เมื่อพิจารณาในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน พบว่า สิงคโปร์ (24) เป็นที่ 1 ในอาเซียน รองลงมาเป็นฟิลิปปินส์ (46) และมาเลเซีย (52) ไทยรั้งอันดับ 4 ในอาเซียน ตามติดมาด้วยเวียดนามในอันดับที่ 5 และรองลงมาเป็นอินโดนีเซีย (69) กัมพูชา (97) ลาว (105) และพม่า (112) ส่วนบรูไนไม่มีข้อมูลปรากฏ และเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลเมื่อปี 2556 ไทยอยู่ในอันดับที่ 44 เป็นที่ 3 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งนับว่าสถานการณ์ของไทยไม่สู้ดีนัก

ทั้งนี้ เว็บไซต์ CNN [2] ได้ให้ความสำคัญกับกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี เพราะเป็นกลุ่มอายุที่กำลังจะเข้าสู่การทำงานและถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญของเศรษฐกิจหลังจากนี้ เราพบว่า ไทยมีอันดับที่ไม่ค่อยดีนัก หล่นลงไปอยู่อันดับที่ 68 ตามหลังหลายประเทศที่ได้ยินแล้วจะต้องตกใจเพราะมี GDP ต่ำกว่าไทยมาก เช่น โครเอเชีย ลัตเวีย อิสราเอล มอลตา มอริเชียส ศรีลังกา ตรินิแดดและโตเบโก อาเซอร์ไบจาน และจาไมก้า เป็นต้น ในระดับอาเซียน เราพบว่ากลุ่มอายุดังกล่าว ไทย ตามหลัง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสังเกตว่าฟิลิปปินส์ร่วงหล่นไปอยู่ที่ 73 จากอันดับในกลุ่มอายุนี้

ทั้งนี้ รายงานระบุว่าภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีความแตกต่างของระดับการพัฒนา (วัดจากคะแนนของผู้ที่ได้อันดับสูงสุดและต่ำสุด ซึ่งในที่นี้คือญี่ปุ่นกับปากีสถาน) มาเป็นอันดับ 2 ของทุกทวีป รองจากทวีปตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือ (ความแตกต่างของคะแนนของประเทศอิสราเอลและเยเมน)

และเมื่อจัดอันดับตามกลุ่มประเทศ (รายได้ต่ำ 18 ประเทศ รายได้ปานกลางระดับล่าง 31 ประเทศ รายได้ปานกลางระดับบน 30 ประเทศ และรายได้สูง 45 ประเทศ) พบผู้นำของแต่ละกลุ่มประเทศดังนี้

 


ที่มา: World Economic Forum (2015)

จากภาพเป็นการเสนอ 10 อันดับแรกของผู้มีคะแนนสูงสุดแยกตามกลุ่มรายได้ จะเห็นว่าประเทศที่อยู่ในอันดับ 1-10 ด้านทุนมนุษย์เป็นกลุ่มประเทศรายได้สูงทั้งสิ้น ซึ่งสะท้อนแนวคิดของการพัฒนาเศรษฐกิจหรือพัฒนามนุษย์ว่าจำเป็นที่จะต้องอาศัยปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มประเทศรายได้สูง 45 ประเทศนี้ ไม่ได้มี 45 อันดับที่ได้คะแนนด้านทุนมนุษย์สูงสุด (มีเฉพาะ 30 ประเทศที่มีคะแนนด้านทุนมนุษย์สูงที่สุดที่เป็นประเทศรายได้สูง) โดยประเทศที่น่าสนใจคือ คูเวต ซาอุดิอาระเบีย บาร์เบโดส  เป็นกลุ่มประเทศรายได้สูงแต่มีอันดับในทุนมนุษย์อยู่ในอันดับที่ 93 85 และ 77 ตามลำดับ ขณะที่ยูเครนและฮังการีได้รับอันดับที่ 31 และ 32 จากการอันดับทุนมนุษย์แต่อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างและบน ตามลำดับ หรือคาซัคสถานที่มีคะแนนด้านทุนมนุษย์อยู่ในอันดับที่ 37 แต่ไม่ใช่ประเทศรายได้สูง

 


ที่มา: World Economic Forum (2015)

ทั้งนี้ ได้มีการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวกับคะแนนด้านทุนมนุษย์ พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรทั้งสอง ซึ่งยืนยันถึงทฤษฏีทางเศรษฐศาสตร์ที่ระบุว่า เมื่อระดับรายได้ของประเทศเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การสร้างและเพิ่มพูนทุนมนุษย์ ความสามารถในระยะยาวในการเพิ่มขึ้นของระดับรายได้จึงขึ้นมีผลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงในทุนมนุษย์ที่มีอยู่ในรูปของทักษะและการเรียนรู้ของประชากร

ทั้งนี้ รายงานยังได้ชี้ให้เห็นถึงกรณีที่ประเทศมีรายได้แตกต่างกันแต่มีผลลัพธ์ในทุนมนุษย์ที่ใกล้เคียงกันหรือประเทศที่มีผลลัพธ์ในทุนมนุษย์ที่แตกต่างกันแต่กลับมีรายได้ใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องศึกษาต่อไปว่าทำไมจึงเกิดกรณีเหล่านี้ขึ้น ซึ่งรายงานได้เน้นไปที่ 3 คู่ศึกษาด้วยกัน 1) แม้นอร์เวย์จะมีระดับของ GDP ต่อหัวที่สูงกว่าฟินแลนด์ค่อนข้างมาก (ประมาณ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ) แต่พบว่าอันดับของฟินแลนด์นั้นสูงกว่านอร์เวย์ 2) สวิสเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และซาอุดิอาระเบีย เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกันแต่กลับมีอันดับในทุนมนุษย์แตกต่างกันอย่างมาก และ 3) ไนจีเรีย เคนย่า และกานามีระดับของ GDP ต่อหัวใกล้เคียงกันแต่อันดับในทุนมนุษย์แตกต่างกันมากเช่นกัน และผมขอเพิ่มกรณีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับอาร์เจนตินาหรือชิลีเข้าไป กล่าวคือ ซาอุดิอาระเบียมี GDP ต่อหัวสูงกว่าทั้ง 2 ประเทศเกือบ 3 เท่าแต่กลับมีคะแนนด้านทุนมนุษย์ใกล้เคียงกัน ซึ่งคำตอบอาจไปอยู่...ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพราะอะไรก็เป็นได้ถ้าพูดถึง..GDP

เพิ่มเติมปิดท้ายสำหรับสถิติของไทย ไทยรั้งอันดับที่ 57 ของโลกในด้านทุนมนุษย์ (เฉลี่ยทุกกลุ่มอายุ) โดยมีกำลังแรงงาน (Working age population) ทั้งสิ้น 48.59 ล้านคน จำนวนผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาขั้นต่ำ (Tertiary-educated population) จำนวน 5.77 ล้านคน สัดส่วนการพึ่งพิงตามวัย (Aged dependency ratio) หรือจำนวนคนที่ไม่ได้ทำงานเชิงเศรษฐกิจ ต่อจำนวนคนที่อยู่ในวัยทำงานเชิงเศรษฐกิจ เท่ากับ 12.4% อัตราการเป็นภาระในเด็ก (Child dependency ratio) เท่ากับ 26.9% GDP ต่อหัวอยู่ที่ 14,443 ดอลลาร์สหรัฐ อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงาน 72.3% สัดส่วนการจ้างงานต่อประชากรทั้งหมด 71.7%  และอัตราการว่างงาน 0.7% สำหรับสัดส่วนการทำงานแยกตามสาขาการผลิต พบว่าโดยเฉลี่ยประชากรทำงานในภาคการเกษตร 29.7% ภาคอุตสาหกรรม 14.4% และภาคบริการ 26.7% ในด้านการเรียน พบว่านักศึกษาส่วนใหญ่เรียนเกี่ยวกับสังคมศาสตร์ บริหารธุรกิจ และกฎหมายกว่า 1.34 ล้านคน รองลงมาเป็นด้านวิศวกรรมศาสตร์และศึกษาศาสตร์

เอกสารอ้างอิง

[1] World Economic Forum. (2015). The human capital report 2015. Geneva: World Economic Forum.
[2] CNN. (2015). U.S. ranks below Borat's country in preparing youth to excel. Retrieved May 17, 2015,  from http://money.cnn.com/2015/05/14/news/economy/world-economic-forum-human-capital- index.

เกี่ยวกับผู้เขียน วรรณพงษ์  ดุรงคเวโรจน์ เป็นนักวิชาการประจำ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท