Skip to main content
sharethis

จังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซีย เป็นจุดที่อพยพทางเรือมาขึ้นฝั่งมากที่สุด หลังลอยเรืออยู่หลายสัปดาห์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่าชาวประมงท้องถิ่นเป็นผู้เข้าช่วยเหลือเรือเหล่านั้น โดยไม่ฟังคำเตือนของทางการว่าไม่ให้นำผู้อพยพขึ้นเรือ เมื่อขึ้นฝั่งชาวบ้านช่วยกันบริจาคอาหาร ที่พักอาศัย นอกจากนี้เด็กๆ ที่มากับผู้อพยพ ยังได้เข้าเรียนในโรงเรียนด้วย

ที่มาของภาพ: บีบีซี

20 พ.ค. 2558 - จังหวัดอาเจะห์ของอินโดนีเซีย กลายเป็นจุดที่ผู้อพยพชาวโรฮิงญาและบังกลาเทศขึ้นฝั่งมากที่สุด อย่างไรก็ตามผู้อพยพทางเรือจำนวนมากอยู่ในภาวะทุพโภชนาการ และจำเป็นที่จะได้รับการรักษาทางการแพทย์ ทั้งนี้จากรายงานของบีบีซี

ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติกล่าวว่าจากวิกฤตกาลในรอบปัจจุบัน มีผู้มาถึงฝั่งที่อาเจะห์ 1,396 ราย ขณะที่มีผู้ได้รับการช่วยเหลือ 430 รายในวันพุธนี้

นายกเทศมนตรีเมืองลังสา เมืองหนึ่งของอาเจะห์ บอกกับผู้สื่อข่าวบีบีซีว่างบประมาณของเมืองที่ใช้เพื่อช่วยเหลือผู้อพยพเหล่านี้เหลือน้อยลงแล้ว และรัฐบาลกลางของอินโดนีเซียยังไม่ได้สนับสนุนงบประมาณเข้ามา

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวบีบีซีเข้าไปตรวจสอบว่าผู้คนท้องถิ่นในอาเจะห์ได้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างนี้อย่างไร โดยพบว่า ชาวประมงท้องถิ่นของอาเจะห์ได้ใช้เรือประมงลำเล็กช่วยเหลือผู้อพยพในน่านน้ำหรือจากเรือที่กำลังจะจม

มีรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียเคยบอกพวกเขาว่าไม่ให้นำผู้อพยพขึ้นเรือ แม้ว่าเรือของพวกเขากำลังจะจมก็ตาม อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนชาวประมงอาเจะห์จะเป็นผู้ช่วยเหลือผู้อพยพเหล่านี้อย่างไม่สนใจคำเตือน และเป็นที่แรกๆ ที่มีการติดต่อจากผู้อพยพที่ลอยเคว้งคว้างอยู่ในทะเลนับหลายสัปดาห์

ราซาลี ปูเต๊ะ เป็นหนึ่งในชาวประมงที่ช่วยเหลือผู้อพยพจากเรืออวนที่มีคนอยู่แน่นขนัด เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (20 พ.ค.) โดยเขากล่าวว่า ผมอยู่ห่างจากฝั่งอาเจะห์ประมาณ 60 กม. เมื่อผมเห็นเรือ "เมื่อเรือลอยมาใกล้ๆ ผมประหลาดใจมากกับภาพที่ผมมองเห็นบนลำเรือ" เขากล่าวกับผู้สื่อข่าวเอพี "เรือเต็มไปด้วยผู้คน ผมพูดไม่ออกและกลับต้องร้องไห้ เมื่อมองเห็นพวกเขากรีดร้อง โบกทั้งมือโบกทั้งเสื้อ"

"ผมไม่สามารถปล่อยให้พวกเขาตาย เพราะพวกเขาก็เป็นมนุษย์เหมือนผม ผมดีใจที่สามารถช่วยชีวิตคนนับร้อย"

และเมื่อมาถึงฝั่ง สิ่งจำเป็นเร่งด่วนอย่างเช่น ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ก็ถูกเตรียมที่เต็นท์สนามซึ่งทำหน้าที่เหมือนโรงพยาบาล ส่วนที่เหลือที่จะมีการเตรียมก็คือที่พักอาศัยชั่วคราว โดยชาวบ้านท้องถิ่นได้บริจาคอาหาร น้ำ เสื้อผ้า และเงินจำนวนเล็กน้อย

ชาวบ้านที่เมืองลังสา และหมู่บ้านจูลก ได้บริจาคข้าวที่เก็บเกี่ยวจากที่นาของเขา รวมทั้งผักและไข่ด้วย ผู้สื่อข่าวบีบีซีระบุ นอกจากนี้พวกเขายังบริจาคเงินเพื่อให้เป็นของขวัญสำหรับเด็ก และโรงเรียนยังอนุญาตให้เด็กๆ จากครอบครัวผู้อพยพเรียนในชั้นเรียนด้วย

บีบีซี รายงานว่า อาสาสมัครจากหลากหลายกลุ่มทางศาสนา และเอ็นจีโอท้องถิ่นก็ร่วมช่วยเหลือด้วย

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 20 พ.ค. หลังการประชุมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 3 ชาติทั้งไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย ทั้งอินโดนีเซีย และมาเลเซีย แถลงว่าจะสนับสนุนที่พักพิงชั่วคราวให้ผู้อพยพทางเรือ 7,000 คน และขอนานาชาติร่วมช่วยเหลือ และจะจัดให้มีการโยกย้ายไปประเทศที่ 3 หรือส่งกลับภูมิลำเนาภายใน 1 ปี (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

ที่มาแปลและเรียบเรียงจาก: The Indonesian villagers saving migrants, 20 May 2015, http://www.bbc.com/news/world-asia-32807799 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net