Skip to main content
sharethis

ร้อนขึ้นอีกครั้ง  ในสถานการณ์ยางพาราราคาตกต่ำ โดยเฉพาะคนภาคใต้ที่อยู่ในเขตป่าไม้ เขตอุทยาน

กรมอุทยานดีเดย์ฟันยางพฤษภานี้ ตั้งเป้าปีครึ่ง 5.8 แสนไร่

‘สกัดนายทุนฮุบทรัพยากรชาติ’  พาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 5 พฤษภาคม 2558 มีเนื้อหารายละเอียดสำคัญ จากคำให้สัมภาษณ์ของ นายนิพนธ์ โชติบาล กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ

กรมอุทยานฯ  เปิดปฏิบัติการเพื่อบังคับใช้กฎหมายต่อพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกปลูกยางพาราทั่วประเทศ โดยเริ่มดีเดย์ในเดือนพฤษภาคม 2558 นี้ มีพื้นที่ต้องตัดฟันยางพาราทิ้งทันที 715,066. 16 ไร่ทั่วประเทศ แบ่งเป็นในพื้นที่อุทยานฯ 105 แห่ง วนอุทยานฯ 34 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 45 แห่ง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า 31 แห่ง รวม 215 แห่ง โดยใน 6 เดือนหลังของปี 2558 นี้ มีพื้นที่เป้าหมายที่จะรื้อถอน 2.8 แสนไร่ ปี 2559 อีก 3 แสนไร่

“สำหรับพื้นที่เป้าหมายสำคัญที่มีการบุกรุกป่าอนุรักษ์มากที่สุด ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก อาทิ จ.สุราษฎร์ธานี ที่อุทยานฯ แก่งกรุง 22,281 ไร่เศษ อุทยานฯ ใต้ร่มเย็น 19,056 ไร่เศษ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน 8,415 ไร่เศษ เป็นต้น จ.ตรัง ที่อุทยานฯ เขาปู่-เขาย่า 20,877 ไร่เศษ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง 42,675 ไร่เศษ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าคลองลำขาน 21,274 ไร่เศษ เป็นต้น จ.นครศรีธรรมราช ที่ อุทยานฯ เขาหลวง 29,166 ไร่เศษ เป็นต้น จ.กระบี่ ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาประ-บางคราม 5,026 ไร่เศษ เป็นต้น จ.พัทลุง ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบ 18,358 ไร่เศษ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาบรรทัด 10,300 ไร่เศษ เป็นต้น  จ.สงขลา ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาปะช้าง-แหลมขาน 52,014 ไร่เศษ อุทยานฯ เขาน้ำค้าง 11,173 ไร่เศษ เป็นต้น จ.นราธิวาส ที่อุทยานฯ บูโด-สุไหงปาดี 19,743 ไร่เศษ เป็นต้น” นายนิพนธ์  ระบุถึงภารกิจสำคัญ

5 จังหวัดรอบเทือกเขาบรรทัดร้อนรีบหารือ

17 พฤษภาคม 2558 ณ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ต.ละมอ อ.นาโยง จ.ตรัง เครือข่ายขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด พัทลุง,ตรัง,นครศรีธรรมราช,สงขลาและสตูล ประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินเขตภูมินิเวศน์เทือกเขาบรรทัด โดยมีชาวบ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  นายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลจากจังหวัดตรัง,พัทลุง,นครศรีธรรมราช,สงขลาและสตูล  รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน-พอช.) เข้าร่วมประมาณ 60 คน

 สภาพปัญหาร่วมของชาวบ้าน 43 ตำบลรอบเทือกเขาบรรทัด  โดยแบ่งเป็น  16 ตำบล จาก 6 อำเภอของจังหวัดตรัง   15 ตำบลจาก 6 อำเภอของจังหวัดพัทลุง  3 ตำบลจาก 2 อำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช 2 ตำบลจาก 1 อำเภอของจังหวัดสงขลา และ 7 ตำบลจาก 4 อำเภอของจังหวัดสตูล คือ ปัญหาการถูกจับดำเนินคดี  ฟ้องศาล ปรับ จำคุก โดนตัดฟันโค่นยางพาราจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ชาวบ้านไม่สามารถโค่นยางพาราที่หมดสภาพเพื่อปลูกยางพาราใหม่ทดแทน ไม่สามารถขอทุนสงเคราะห์ทั้งที่เดิมทีเคยขอได้ รวมถึงไม่สามารถปรับเปลี่ยนปลูกพันธุ์พืชอื่นทดแทนได้ หากต้องการถางสวนยางพารา โค่นยางพารา ปลูกยางพาราก็ถูกเรียกเงินจากเจ้าหน้าที่ฯ แม้แต่พื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิที่ดิน เช่น สน.3,สค.1,นค.1 และนค.3 ไม่สามารถขอออกโฉนดได้

ตั้งทีมรวบรวมข้อมูล-ศึกษากฎหมาย-สร้างกติการ่วมสู่การเจรจา

มติที่ประชุมก่อให้เกิดร่างบันทึกข้อตกลงร่วมขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด พัทลุง,ตรัง,นครศรีธรรมราช,สงขลาและสตูล โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญ คือ การมีคณะทำงานขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด  โดยให้แต่ละตำบลเสนอตัวแทนตำบลละ 2 คน จาก 38 ตำบลใน  5 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 76 คน และการมีคณะทำงานยุทธศาสตร์ขบวนแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเดิมแนวเทือกเขาบรรทัด โดยมาจากจังหวัดตรังและพัทลุง จังหวัดละ 5 คน สตูลและนครศรีธรรมราช จังหวัดละ 3 คน ส่วนจังหวัดสงขลา 2 คน โดยมีเจ้าหน้าที่พอช.เป็นกองเลขานุการ 2 คน รวมถึงมีที่ปรึกษา 5 คน

สำหรับคณะทำงาน และคณะทำงานยุทธศาสตร์มีอำนาจหน้าที่

1.รวบรวมข้อเท็จจริงของพื้นที่ตำบล จังหวัด เป็นข้อมูลระดับเครือข่าย

2.ศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้ง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มติคณะรัฐมนตรี กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ระเบียบ หลักเกณฑ์ คู่มือการปฏิบัติ ประกาศจังหวัด

3.พัฒนาข้อเสนอการแก้ปัญหาจำแนกตามประเภทปัญหา ข้อกฎหมาย ตามข้อเสนอของพื้นที่ตำบล

4.เจรจาแก้ปัญหากับหน่วยงานระดับพื้นที่จังหวัด ระดับนโยบาย และขอมาตรการคุ้มครองชั่วคราว

5.พัฒนาระเบียบ ข้อตกลง ข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ สู่ธรรมนูญเทือกเขาบรรทัด

นัดหารืออีกครั้ง 23 พฤษภา เตรียมงานด่วนยุติกันจับกุม-ตัดฟัน

ภารกิจเร่งด่วนของ ร่างบันทึกข้อตกลงร่วม  คือ การรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อมูลผู้เดือดร้อน สภาพปัญหาของแต่ละตำบลที่สามารถประสานงานได้ 38 ตำบล จากทั้งหมด 43 ตำบล ใน 19 อำเภอของ  5 จังหวัด ที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดประกาศครอบคลุมเพื่อประสานงาน  เจรจากับรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสกัดก่อนการถูกตัดฟันและยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้าน  นัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 ที่เทศบาลตำบลบ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง

ทุกตำบลทำข้อมูล-แผนที่ ดูแลป่า-นำสู่การรับรองข้อมูลที่ดินเดิม

ส่วนแนวทางการปฏิบัติการณ์หลักของพื้นที่แต่ละตำบล คือ

1.การทำข้อมูลผู้เดือดร้อน  แผนที่ทำมือ สืบค้นประวัติชุมชนและประวัติการถือครองรายแปลง ทำข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) รายแปลงลงในแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศมาตราส่วน 1:4000

2. การจำแนกแนวเขตพื้นที่ชุมชน พื้นที่ป่า จำแนกประเด็นปัญหาที่ดินทับซ้อน ลงในแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศมาตราส่วน 1:4000

3.ดำเนินการจัดทำกติกาของชุมชน ในการดูแลรักษาพื้นที่ป่า การใช้ประโยชน์ที่ดินเสนอเป็นข้อบังคับสภาองค์กรชุมชน และพัฒนาเป็นข้อบัญญํติท้องถิ่นว่าด้วยเรื่องการจัดทรัพยากรดิน น้ำ ป่า และสิ่งแวดล้อม

4.การรับรองข้อมูลการทำกินในที่ดินเดิมผ่านเวทีผู้เดือดร้อน สภาองค์กรชุมชน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และออกหนังสือรับรองข้อมูลรายชุมชน รายแปลง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net