Skip to main content
sharethis

เทพชัยเสนอโมเดลกำกับแบบไทยพีบีเอส ใบตองแห้งเห็นต่างกำกับสื่อ ปล่อย กม.จัดการ สุดารัตน์เสนอมีองค์กรกำกับภายในองค์กรสื่อ พิรงรองแจง 4 สาเหตุทำสื่อยังกำกับกันเองไม่ได้ ประสงค์เสนอโมเดลกำกับกันเอง 3 ขั้น สปช.เสนอมีองค์กรที่เป็น 'ร่มใหญ่' ของทุกสื่อ  PEACE TV ถาม ก่อนกำกับดูแลกันเอง สื่อมีเสรีภาพหรือยัง?


30 เมษายน 2558 ในการประชุมเสวนาเรื่อง “สื่อมวลชน ... กำกับดูแลกันเองได้จริงหรือ” ที่ ห้องวิภาวดีบอลรูม เอ  โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว กรุงเทพฯ‎ ดำเนินรายการโดย ชนัญสรา อรณพ ณ อยุธยา   

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวเปิดการเสวนาโดยระบุว่า ประเด็นวันนี้มาจากโจทย์ว่า แม้ไม่อยู่ใต้อัยการศึก แต่ยังมีมาตรา 44 และรัฐธรรมนูญชั่วคราว การใช้อำนาจต่างๆ ต้องอิงกับประกาศ คสช. และบันทึกข้อตกลงต่างๆ ทิศทางการดูแลสื่อมีแนวโน้มที่รัฐจะเข้าไปใช้อำนาจทางตรงกำกับกิจการสื่อสารมวลชนมากขึ้น ขณะที่ความเห็นในสังคมก็แบ่งออกเป็นสองฝั่งคนละขั้ว ด้านหนึ่งบอกว่า สื่อเกินเยียวยา มีเสียงเชียร์ให้รัฐใช้อำนาจเข้มมากขึ้น อีกฝั่งบอกว่า รู้สึกไม่มีที่ยืนในสังคมและถูกควบคุมมากเกินไป 

สุภิญญา กล่าวว่า เมื่อพูดเรื่องโมเดลกำกับดูแล ยังหาทางออกไม่ได้ว่า จะให้รัฐกำกับหรือให้สื่อดูแลกันเอง  พร้อมตั้งคำถามว่า จะมีทางออกที่จะถ่วงดุลระหว่างการกำกับดูแลที่ใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็น กับการส่งเสริมให้สื่อกำกับดูแลกันเอง และระหว่างการธำรงหลักสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชนตามรัฐธรรมนูญกับความรับผิดชอบของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างไร

สุภิญญา กล่าวอีกว่า จากมุมคนใน กสทช. เห็นทิศทางใช้อำนาจมากขึ้นในมิติการเมือง แต่ด้านอื่น เช่น การกำกับผังรายการหรือการคุ้มครองผู้บริโภค รัฐอาจจะยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก เช่น ล่าสุด กรณี กสทช.ใช้อำนาจเพิกถอนใบอนุญาตสถานี PEACE TV โดยใช้อำนาจต่อเนื่องตามประกาศ คสช. และข้อตกลงที่เซ็นไว้ก่อนกลับมาออกอากาศหลังรัฐประหาร ทำให้ กสทช. ใช้อำนาจทางลัดได้ทันที ไม่ต้องทำตามขั้นตอน เตือน ปรับ แต่เพิกถอนเลย ซึ่งในอนาคต จะมีอีกหลายสถานีที่จะเข้าสู่กระบวนการให้ กสทช. พิจารณา

สุภิญญา ตั้งคำถามต่อวงเสวนาด้วยว่า หากต่อไปมีการใช้อำนาจเช่นนี้อีกในแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น วิทยุโทรทัศน์ ผู้ประกอบการอื่นจะคิดอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีคำถามว่า สุดท้ายบทลงโทษควรเป็นอย่างไร ไต่ระดับ ปิดทั้งสถานี หรือถอดทั้งรายการ จะมีเกณฑ์อย่างไร อะไรคือการวิจารณ์ปกติหรือปลุกปั่นยุยง เพราะปัญหาตอนนี้คือไม่มีเส้นแบ่งระหว่างการวิจารณ์กับการไปสู่ความแตกแยก ทำให้อยู่ที่ดุลพินิจของผู้ตัดสิน

เทพชัยเสนอโมเดลกำกับแบบไทยพีบีเอส
เทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย แสดงความเห็นว่า สื่อต้องกำกับดูแลกันเองได้ ทั้งนี้เชื่อว่านักวิชาชีพส่วนใหญ่พร้อมจะกำกับดูแลกันเอง พร้อมเล่าว่าเมื่อ 3-4 สัปดาห์ที่แล้ว สมาคมฯ เชิญผู้ประกอบการ ฝ่ายบริหารของทีวีดิจิตอล 18 ช่อง มาพูดคุยเรื่องการทำงานตามหน้าที่สื่อและยึดเรื่องเสรีภาพบนความรับผิดชอบ ซึ่งต่างก็เห็นปัญหาและพร้อมเป็นส่วนหนึ่งของกลไกเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม เทพชัยมองว่า ทุกวันนี้ มีกลไกกำกับสื่อแบบไม่เป็นทางการที่มีประสิทธิภาพ คือ โซเชียลมีเดีย ที่คอยชี้ว่าสื่อไหนมั่ว สื่อไหนเอียงข้าง สิ่งเหล่านี้เอื้อให้เกิดการกำกับกันเองโดยรัฐไม่มายุ่งได้มากขึ้น

ส่วนกรณีที่สุภิญญาเล่าภาพสถานการณ์สื่อปัจจุบันนั้น เขามองว่า เราไม่ควรเอาสถานการณ์ปัจจุบันมาเป็นบรรทัดฐาน เพราะเป็นเรื่องผิดปกติมากมีคนที่มีอำนาจล้นฟ้าที่สามารถมาด่าสื่อทุกวัน นี่เป็นภาวะผิดปกติอย่างมากที่เราไม่เคยเผชิญมาก่อน แต่ก็ไม่ควรเป็นสถานการณ์ที่เราจะใช้เป็นบรรทัดฐานตัดสินว่าสื่อจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

เทพชัย กล่าวต่อว่า แม้สื่อจะเห็นตรงกันว่าควรกำกับกันเองแต่ยังห่วงว่า จะทำได้จริงไหม จะปกป้องกันเองมากกว่าดูแลกันเองไหม นอกจากนี้ ถ้ามีกลไกใหม่ที่มีรัฐมาด้วย จะทำอย่างไรให้ไม่ถูกแทรกแซง จะมีการออกแบบให้สื่อกำกับกันเอง โดยภาคสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมและวางใจได้อย่างไร

เขากล่าวด้วยว่า มีหลายฝ่ายเสนอกลไกใหม่ในลักษณะ สภาวิชาชีพ ที่มีอำนาจรองรับตามกฎหมาย โดยที่คนทำสื่อต้องปฏิบัติตามด้วย อย่างไรก็ตาม คงต้องคุยกันต่อไปเพื่อออกแบบกลไกให้คนวงการสื่อ รู้สึกว่ามีหลักที่เห็นพ้องและยืนยันจะปฏิบัติตาม โดยต้องเอื้อต่อการทำงานของสื่อ ให้สื่อทำหน้าที่ได้อย่างมีความรับผิดชอบและสังคมมั่นใจว่ามีกลไกตรวจสอบสื่อ

ทั้งนี้ เทพชัย ชี้ว่า มีแบบอย่างที่พิสูจน์แล้วว่ากำกับกันได้จริงๆ คือ ไทยพีบีเอส ซึ่งมีทั้งกลไกสภาผู้ชม กระบวนการอบรมจริยธรรม และกลไกรับเรื่องร้องเรียน หากทุกสื่อมีแบบนี้สามารถดูแลกันเองในระดับองค์กรสื่อได้เลย โดยไม่ต้องพูดถึงภาพใหญ่ที่อาจจะเกิดคำถามว่าจะเกิดการแทรกแซง ควบคุมไหม


เห็นต่างกำกับสื่อ ปล่อย กม.จัดการ-ปัญหาศีลธรรม ทำได้แค่ประณาม ไม่ควรมีอำนาจตัดสิทธิ
อธึกกิต แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง คอลัมนิสต์อิสระและบรรณาธิการอาวุโส Voice TV กล่าวถึงกรณีการมีองค์กรกำกับในสื่อว่า ความรับผิดชอบเป็นเรื่องของแต่ละสถานี กรณีไทยพีบีเอส ที่มีโมเดลเช่นนี้เพราะมาจากเงินภาษี สำหรับวอยซ์ไม่ได้มีองค์กรแบบนี้ แต่ผู้บริหารต้องสนใจเรื่องนี้ เช่น กรณีล่าสุด ที่มีการใช้คลิปในข่าว (ใส่ชุดไทยเดินห้าง) วอยซ์ก็เชิญเขามาออกอากาศ ซึ่งไม่ได้แปลว่าตัดสิทธิในการฟ้อง แต่เป็นการแสดงมารยาท ทั้งนี้ ความรับผิดชอบจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสื่อเอง ถ้าไม่มีความรับผิดชอบ ความน่าเชื่อก็จะลดลง

กรณี PEACE TV นั้น เขากล่าวว่า หากยังไม่มองว่าเห็นด้วยกับการปิดไหม ยังมีสองเรื่องซ้อนกัน เพราะเป็นการเอาอำนาจ คสช. มาใส่ในอำนาจ กสทช. ซึ่งเขาเห็นว่า ถ้าจะปิดด้วยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ปิดไปเลย จะได้ไม่ทำให้เรื่องใบอนุญาตสับสน หรือถ้า กสทช. จะใช้อำนาจตัวเองก็ต้องทำตาม มาตรา 37 พ.ร.บ.กสทช. จะใช้ประกาศ คสช. มายุ่งเกี่ยวไม่ได้

"กรณีนี้เลยตลกๆ ตรงที่ว่า เรามาพูดเรื่องเสรีภาพสื่อและความรับผิดชอบสื่อในยุคที่สื่อไม่มีเสรีภาพ"

สำหรับการคุมสื่อนั้น อธึกกิตแบ่งเป็นสองเรื่อง คือ เรื่องผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม ซึ่งเรื่องผิดกฎหมาย เช่น หมิ่นประมาท ละเมิดสิทธินั้น เขาเห็นว่าควรเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องผ่านการพิสูจน์ สู้คดี ส่วนเรื่องศีลธรรม จรรยาบรรณนั้น มองว่า มีความคิดเห็นปนอยู่เยอะมาก จะใช้อำนาจบังคับไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องนานาจิตตัง

นอกจากนี้ เขาตั้งคำถามถึงการกำกับกันเองถึงโมเดลที่ว่าต้องมีองค์กรที่ใช้อำนาจนั้น จะตัดสินอย่างไรในโลกสมัยใหม่ ที่ความเป็นสื่อนั้นกว้าง ครอบคลุมตั้งแต่สิ่งพิมพ์ ทีวี สื่อในโซเชียลมีเดีย เช่น สโปกดาร์ก วีอาร์โซ เว็บ รวมถึงคนที่แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กที่มีคนตามอ่านมากกว่า นสพ. และว่า นี่คือความกว้างที่ไม่รู้จะขีดวงตรงไหนและจะคุมใคร

อธึกกิต ย้ำว่าไม่เห็นด้วยกับการกำกับดูแลกันเอง เขาถามว่าที่บอกว่า ถ้าไม่ให้รัฐควบคุม ก็ต้องควบคุมกันเอง ตีความได้ไหมว่า ถ้าไม่อยากให้รัฐเซ็นเซอร์หรือจำกัดเสรีภาพ ก็ต้องเซ็นเซอร์หรือจำกัดเสรีภาพกันเอง ซึ่งเขามองว่าต้องต่อสู้เพื่อเสรีภาพสื่อเป็นหลัก ไม่ใช่จำกัดเสรีภาพกันเอง

เขาย้ำว่า สื่อไม่มีอำนาจถอดถอนพิธีกร โดยชี้ว่าเราอาจจะประณามได้ว่ามีพิธีกรรับเงินสองแสนเพื่อพูดชวนคนไปงานท้ายรายการ แต่จะใช้อำนาจถอดถอนกันเองโดยไม่มีกรอบกติกาของกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ หากใช้เมื่อไหร่จะมีปัญหาและเกิดความลักลั่น

เขาชี้ว่า ที่ผ่านมา มีองค์กรวิชาชีพมาสิบๆ ปี เราอยู่กันเองและมาจากการสรรหา จึงได้คนดี แต่เมื่อไหร่ที่สมาคมนักข่าว องค์กรวิชาชีพ มีอำนาจปลดจากการเป็นนักข่าว จะเริ่มยุ่ง คงมีคนมาสมัครกันเต็มไปหมด พร้อมย้ำว่า ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันของการบอกว่าเมื่อมีอำนาจรวมศูนย์แล้วจะมีมาตรฐาน ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องความเห็น

สำหรับกลไกตรวจสอบสื่อ อธึกกิตมองว่า อาจใช้โซเชียลมีเดีย เพียงแต่บางเรื่องไม่มีคนเป็นเจ้าทุกข์ อาจต้องมีองค์กรแบบ watch dog รณรงค์ตรวจสอบสื่อ ประณาม ตำหนิ แต่ตัดสิทธิการเป็นสื่อไม่ได้ นอกจากนี้ ยังตรวจสอบกันเองได้โดยการแข่งขันด้วย
 

เสนอมีองค์กรกำกับภายในองค์กรสื่อ
สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และกรรมการอิสระ บริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิกฤตความเชื่อมั่นในสื่อลดลงทุกยุค แต่ในนามของสื่อต้องยืนยันเรื่องเสรีภาพภายใต้ความรับผิดชอบ ต้องอยู่ที่สำนึกของคนที่เป็นสื่อเป็นหลัก ไม่ควรให้ใครมาควบคุม

สุดารัตน์ กล่าวว่า ในการกำกับดูแลกันเองมีหลายขั้นตอน โดยเรื่องของนโยบายองค์กรเป็นสิ่งที่สำคัญมาก จะต้องยึดกรอบรับผิดรับชอบ ขณะที่กรอบการตลาดต้องสมดุลกับกรอบอื่นๆ ทั้งความรับผิดรับชอบ จริยธรรมวิชาชีพ กฎ ระเบียบ และความรับผิดชอบต่อสาธารณะ

สุดารัตน์ เล่าว่า เมื่อคืนวานนี้ มีการประชุม บอร์ด อสมท คุยกันเรื่องขั้นตอนรับเรื่องร้องเรียน ตรวจสอบดูแล แก้ไข คิดกันว่า ต้องมีคณะกรรมการจริยธรรม หรือ media ombudsman ในองค์กร ก่อนจะไปสู่สภาจริยธรรมที่อยู่ข้างบน โดยคณะกรรมการนี้จะต้องดูแลเรื่องสวัสดิการและจัดการองค์ความรู้สื่อด้วย ส่วนสมาคมหรือสภาวิชาชีพนั้น คิดว่ามีได้หลายองค์กร แต่อยากให้องค์กรระดับชาติที่เป็นที่รวมของสื่อทั้งหมด

กรณีองค์กรเล็กอาจจะรวมกลุ่มกัน แชร์ผู้ตรวจการร่วมกัน เพื่อลดต้นทุน พร้อมชี้ว่า สื่อต้องยอมเสียบางส่วนเพื่อรักษาชีวิต เช่น ยอมลงทะเบียนบ้าง ไม่ใช่เพื่อควบคุมได้ แต่เพื่อรักษาเสรีภาพ

"ถ้าทำทุกอย่างให้เป็นระบบ เขาจะมายุ่งกับเราไม่ได้ เราต้องทำให้เราเข้มแข็งก่อน" สุดารัตน์กล่าว


4 สาเหตุทำสื่อยังกำกับกันเองไม่ได้
พิรงรอง รามสูต ศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สื่อยังกำกับดูแลกันเองไม่ได้จริง โดยมีสาเหตุ 4 ประการ ได้แก่ หนึ่ง แรงจูงใจไม่เพียงพอ โดยแรงจูงใจที่สำคัญคือความอยู่รอดทางธุรกิจ พร้อมยกตัวอย่างกรณีฮอลลีวูด ซึ่งมีแรงจูงใจในการกำกับผูกโยงกับเรื่องการเผยแพร่ภาพยนตร์ ที่จะฉายได้ ต้องได้ประทับเรตติ้ง ซึ่งทำโดยองค์กรวิชาชีพของภาคอุตสาหกรรมมารวมตัวกัน สกรีนกัน โดยตามข้อตกลงกับโรงหนังว่า ถ้าไม่มีการประทับก็ฉายไม่ได้ หรือวงการโฆษณาในไทย ที่มีการกำกับดูแลกันเองตั้งแต่ปี 2537 โดยผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ 3, 5, 7, 9 มานั่งสกรีนกับตัวแทนจากสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยและนักวิชาการ ก็จะเห็นว่าโฆษณาในไทยไม่ค่อยมีปัญหานัก

พิรงรองชี้ว่า ขณะที่สภาการ นสพ. ของไทยนั้น รวมตัวเมื่อปี 2540 ไม่ใช่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่เพราะเหตุผลทางการเมือง ที่ต้องการกำกับดูแลกันเอง โดยที่รัฐไม่เข้ามายุ่ง

สอง การรวมตัวกันขององค์กรสื่อเป็นองค์กรวิชาชีพนอกจากแรงขับการเมืองแล้ว ยังอยู่บนผลประโยชน์ของกลุ่มสื่อมากกว่าสังคม จากการวิจัย พบว่า กิจกรรมขององค์กรวิชาชีพสื่อ คือการออกแถลงการณ์เรื่องเสรีภาพสื่อมากที่สุด ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ แต่ควรมองถึงคนที่ถูกกระทบและการเยียวยาด้วย  

พิรงรอง ชี้ว่า นี่ทำให้กระบวนการกำกับดูแลไม่ค่อยเข้มแข็ง เพราะรวมตัวกลุ่มมากกว่าเยียวยาประโยชน์ประชาชน ขณะที่การร้องเรียนผ่านสื่อเป็นเรื่องที่คนเข้าไม่ถึง ทั้งที่สื่อมีพื้นที่ของตัวเอง แต่กลับไม่มีการประชาสัมพันธ์ว่าจะร้องเรียนสื่อได้อย่างไร และทำให้คนต้องไปร้องเรียน กสทช.

สาม แนวโน้มของการใช้กฎหมายกำกับดูแล ซึ่งสืบเนื่องมาจากข้อสองคือ พอคนไม่รู้ช่องทาง เมื่อเกิดปัญหาก็วิ่งหา กสทช. ซึ่งก็ชอบใช้อำนาจ ทำให้ยิ่งบดบังบทบาทองค์กรวิชาชีพในการกำกับดูแล

และ สี่ สำคัญที่สุด คือ การขาดความเข้าใจของสังคมเรื่องการกำกับดูแล เห็นได้ชัดที่สุดจากการรับเรื่องราวร้องเรียน ตราบที่ประชาชนไม่ทราบว่ามีกลไกตรวจสอบสื่อ คนจะบ่นบนเฟซบุ๊ก พันทิป ไม่รู้ช่องทางว่าจะจัดการกับสื่อที่ไม่มีจริยธรรมได้อย่างไร

ทั้งนี้ พิรงรอง ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะมีองค์กรที่กำกับดูแลทุกสื่อรวมกัน เพราะบทบาทจะกว้างขวาง กลัวจะกลายเป็นร่มสีเทา ไม่ตอบโจทย์ ตั้งคำถามว่า ใครจะเก่งพอมาดูได้ทุกสื่อ เพราะมีทั้งความหลากหลายด้านแพลตฟอร์ม และวัฒนธรรมทางการเมืองของแต่ละสื่อก็ต่างกันค่อนข้างเยอะ หากมีพันธกิจ 4 อย่างตามมาตรา 49 ของร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ไม่แน่ใจว่าจะทำได้จริง โดยเฉพาะการพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรม ถามว่าจะเป็นขั้นไหน กึ่งตุลาการ หรือมีอำนาจทางปกครอง? เพราะยังไม่เคยเจอองค์กรวิชาชีพที่มีมาตรฐานทางจริยธรรมเป็นไบเบิลใดที่จะมีอำนาจทางปกครอง


เสนอโมเดลกำกับกันเอง 3 ขั้น
ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหาร สถาบันอิศรา เล่าในฐานะกรรมการปฏิรูปกฎหมายว่า คปก. มีการออกแบบการกำกับดูแลกันเองของสื่อเป็น 3 ขั้น คือ หนึ่ง องค์กรกำกับภายใน อาจจะเป็นแบบไทยพีบีเอสก็ได้ สื่อต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบรับเรื่องร้องเรียน เป็นการดูแลบุคคลภายใน

สอง สภาวิชาชีพระดับรวม ขั้นนี้จะไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล มีแนวโน้มจะแบ่งตามประเภทของสื่อ เช่น วิทยุ-โทรทัศน์ นสพ. โซเชียลมีเดีย

สาม สภากลาง ซึ่งมีหน้าที่กำหนดมาตรฐาน คอยให้ความรู้ทางวิชาการ สร้างแรงจูงใจ เช่น ฝึกอบรม ให้ความรู้ประชาชนให้เท่าทันสื่อ โดยสื่อที่ไม่เข้าสังกัดอาจถูกกฎหมายของรัฐโดยไม่มีกันชน

ส่วนกลไกกำกับร่วม ซึ่งตามมาตรา 39 และ 40 ของ พ.ร.บ.กสทช. ระบุว่า ให้ กสทช. ส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพ วินิจฉัย แล้วส่งกลับมาที่ กสทช. เขาเน้นว่าไม่เห็นด้วยกับโทษอาญา หรือผิดครั้งเดียวแล้วลงโทษเลย อาจจะเป็นว่า หากมีการทำผิดซ้ำสามครั้ง แล้วปรับทางปกครอง แต่อย่างไรต้องกำหนดขั้นตอนให้ชัดเจน

ทั้งนี้ ประสงค์กล่าวถึงกรณีการละเมิดจริยธรรมของสื่อว่า มีบางกรณีที่เป็นสีเทาๆ ไม่ผิดกฎหมาย แต่เป็นเข้าข่ายละเมิดสิทธิ เช่น กรณีสื่อเผยแพร่ภาพเด็กที่ถูกนำตัวมาแถลงข่าวโดยสวมหมวกไอ้โม่ง หรือการลงภาพศพอุจาด ตั้งคำถามว่าจะจัดการอย่างไร หากมีการผิดซ้ำๆ ทั้งที่ตักเตือนแล้ว

ส่วนการมีกลไกแบบไทยพีบีเอสนั้น ประสงค์มองว่า เป็นโมเดลที่ดี แต่การประชุมแต่ละครั้ง มีต้นทุนสูง ถามว่าสำนักข่าวเล็กๆ จะทำอย่างไร


สปช.เสนอมีองค์กรที่เป็น 'ร่มใหญ่' ของทุกสื่อ
วสันต์ ภัยหลีกลี้ รองประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ  สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า การกำกับกันเองของสื่อยังควรจะเป็นหลัก เพราะอาชีพสื่อให้คุณให้โทษได้ หากรัฐ ทุน หรือผู้มีอำนาจเข้ามาแทรกแซง จะทำให้ทำหน้าที่สื่อเบี่ยงเบน อย่างไรก็ตาม เพียงการกำกับกันเองอาจไม่เพียงพอ ควรมีส่วนอื่นเสริม เพื่อประสิทธิภาพโดยใช้กฎหมายเข้ามามีส่วน

เขาชี้ว่า ปัญหาในการกำกับกันเองขององค์กร อย่าง สภาการ นสพ. และสมาคมวิชาชีพข่าววิทยุฯ คือ เรื่องของความสมัครใจ ใครไม่สมัครใจเข้ามาให้กำกับก็จะอยู่นอกวงของการกำกับ นอกจากนี้ขึ้นกับคนที่เข้ามาร่วมที่จะยอมเสียอะไรบางอย่าง เช่น เคารพกติกากำกับกันเอง ตามผลการพิจารณา แม้สิ่งที่ตัดสินมาไม่มีอำนาจบังคับตามกฎหมาย แต่บ่อยครั้งที่เมื่อตัดสินแล้ว สมาชิกที่พอใจผลก็ไม่ยอมรับออกไป เท่ากับไม่อยู่ในการกำกับ

สอง คนในองค์กรวิชาชีพส่วนใหญ่นึกถึงส่วนรวมแล้ว แต่ผู้ประกอบการยัง โดยเห็นได้จากการสนับสนุนการดำเนินงานไม่เพียงพอ องค์กรวิชาชีพไม่มีทุน ไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต้นสังกัด หลายครั้งกังวลว่าองค์ประชุมจะล่มไหม คล้ายการทำงานการกุศล แบบสมัครใจ ไม่มีประสิทธิภาพพอ ยังไม่นับเรื่องการเกรงใจกันเอง อะลุ้มอะล่วยกัน

สำหรับโมเดลการกำกับสื่อ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ของ สปช.  อยากเห็นองค์กรสื่อ สังกัดสภาวิชาชีพที่มีมาตรฐานทางวิชาชีพที่มีจริยธรรมกำกับกัน ไม่ใช่พอเป็นสื่อแล้วจะทำอะไรก็ได้ โดยองค์กรแต่ละองค์กรกำกับกันเองก่อน มีหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน ต่อมา หากดูแลตัวเองไม่ได้ สภาวิชาชีพระดับอุตสาหกรรมจะเข้ามาดูแลอีกชั้น นอกจากนี้ จะมีร่มใหญ่ประสานสื่อทั้งหลาย เพราะสื่อวันนี้มีหลายแขนงมาก คนทำสื่อเองก็มีลักษณะคอนเวอร์เจนซ์ หากมีเรื่องร้องเรียน จะกำกับแบบแยกส่วนไม่ได้ ต้องดูภาพรวม และทำหน้าที่ส่งเสริม ให้ความรู้เรื่องการกำกับกันเอง สร้างแรงจูงใจ รวมถึงให้ความรู้ประชาชนในการดูแลประโยชน์ตัวเอง กำหนดมาตรฐานกลาง เชื่อมประสาน อำนวยให้เกิดการกำกับกันเองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วน กสทช. ก็ใช้อำนาจที่สอดรับกับมาตรฐานทางวิชาชีพที่กำหนดโดยองค์การวิชาชีพสื่อ 

PEACE TV ถาม ก่อนกำกับดูแลกันเอง สื่อมีเสรีภาพหรือยัง?
บูรพา เล็กล้วนงาม บรรณาธิการข่าว สถานีโทรทัศน์ PEACE TV กล่าวว่า ก่อนจะกำกับดูแลกันเอง ต้องมีสมมติฐานว่าสื่อมีเสรีภาพมากมายในการพูด ทำ หรือเสนออะไรก็ได้ แต่จริงๆ แล้ว ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ไม่ว่าสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นวันนี้ หรือก่อนหน้านี้ ถ้ามีเสรีภาพมากขนาดนั้น สื่ออย่างตนเองหรือคนอื่นจะโดนรังแกขนาดนี้หรือ

ทั้งนี้ เขาเสนอว่า หากจะให้สื่อกำกับดูแลกันเอง ควรบอกด้วยว่า สื่อที่เข้าไปสังกัดองค์กรวิชาชีพจะได้ประโยชน์อะไร เช่น มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานฯ เพื่อให้คนดูไว้ใจมากขึ้น เพราะมองว่า การเข้าสมาชิกต้องเกิดจากความสมัครใจและได้ประโยชน์ ไม่ใช่เข้าไปแล้ว มีการลงโทษ-กำกับกันเองเช่นนี้จะไม่สำเร็จ

นอกจากนี้ เขามองว่า เรื่องของกำกับดูแลมาตรฐานทางศีลธรรมนั้นเป็นเรื่องที่กำหนดไม่ได้ เพราะมาตรฐานของแต่ละคนต่างกัน จะบอกว่าใครถูกใครผิด หรือใช้วิธีโหวตก็คงไม่ได้ โดยเขายกตัวอย่าง กรณีสื่อเห็นด้วยกับรัฐประหาร กับสื่อที่ไม่เอารัฐประหาร พร้อมถามว่าถ้าเรื่องนี้เข้าสู่การกำกับดูแลกันเอง จะตัดสินมาตรฐานทางจริยธรรมสื่ออย่างไร หรือกรณีที่สื่อโจมตีโครงการของรัฐบาลที่แล้ว เรื่องจำนำข้าว รถไฟความเร็วสูง แต่รัฐบาลนี้ บางสื่อกลับเชียร์หรือเงียบไป ทั้งที่เขามองว่า บางโครงการใช้เงินมากกว่า ประสิทธิภาพต่ำกว่า เช่นนี้จะตัดสินอย่างไร 

บูรพา ย้ำว่า มาตรฐานทางศีลธรรมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทั้งยังขึ้นอยู่กับช่วงเวลา (timing) ขึ้นกับความรักความชอบของแต่ละคน ทุกคนควรมีสิทธิเสรีภาพในการพูดให้มากที่สุด และว่า แม้ตัวเองจะเป็นสื่่อช่องการเมือง แต่ไม่ได้เห็นว่าช่องอื่นที่เห็นต่าง ควรต้องถูกสั่งปิด ต้องพูดได้ แล้วประชาชนจะตัดสินเอง

เขากล่าวว่า การกำกับดูแลกันเองเหมือนเป็นการพูดให้ดูดี ถ้าจะขับเคลื่อนจริง ต้องพูดก่อนว่าสื่อมีเสรีภาพไหมในสถานการณ์ที่ผู้นำประเทศปัจจุบันบอกว่าจะประหารชีวิตสื่อ สั่งปิดสื่อ ชกหน้าสื่อที่ตั้งคำถามกับผลงาน ถามว่า สื่อคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร หรือคิดว่าถ้าเป็นคนฝั่งตรงข้ามทำได้? อย่างที่บอกว่า มาตรฐานยิ่งหลากหลายและยากจะกำกับดูแลกันเองเรื่องมาตรฐานทางศีลธรรม แต่สุดท้ายถ้าจะกำกับดูแลกันเองจริงๆ ในประเด็นเรื่องศีลธรรมจรรยา ควรใช้การว่ากล่าวตักเตือน ส่วนถ้าเป็นเรื่องผิดกฎหมายก็ใช้กฎหมาย เช่น ถ้าสถานีตนเองผิดก็ให้ทำตามกฎหมายที่มีขั้นตอนที่ถูกต้อง ไม่ใช่ใช้อำนาจ คสช. สั่งการผ่าน กสทช. หรือกสท. ในการสั่งปิดสถานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net