Skip to main content
sharethis
กรมทรัพย์สินทางปัญญายืนยันไทยทำเต็มที่ เพื่อให้พ้นจากบัญชี PWL แต่สหรัฐฯ ยังไม่พอใจ โดยมองว่ายังไม่เข้มข้นเพียงพอและต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการออกกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาไทยด้วย
 
1 พ.ค. 2558 สำนักข่าวไทยรายงานว่านางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวถึงกรณีสหรัฐประกาศคงอันดับไทยให้ยังคงอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ด้านทรัพย์สินทางปัญญาต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ว่า ที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญาทำงานร่วมกับทางผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ในการให้ความรู้กับผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรและการสอบสวนการละเมิดสิทธิ์ทางอินเทอร์เน็ต ตลอดจนรณรงค์ให้ผู้ประกอบการใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ในการผลิตสินค้า และรัฐบาลนี้ยังให้ความสำคัญกับการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาอีกหลายฉบับที่ค้างมานานหลายสิบปีจนเป็นผลสำเร็จ แต่สหรัฐมองว่ากฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยยังอยู่ในขั้นประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา
 
นอกจากนี้ สหรัฐก็ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาของไทยด้วย โดยเห็นว่ากฎหมายไทยยังไม่เข้มงวดเพียงพอ เช่น สหรัฐเห็นว่าควรจะมีกฎหมายเอาผิดกับเจ้าของสถานที่ที่ให้เช่าร้านจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย ซึ่งไทยทำการศึกษาเรื่องดังกล่าวแล้วพบว่ามีกฎหมายอาญาที่จะเอาผิดได้อยู่แล้ว หากนำมาเขียนไว้ในกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอีกก็จะเกิดความซ้ำซ้อน ส่วนการปราบปรามก็ดำเนินการอย่างเข้มข้นและมีความคืบหน้าอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วง 7 ปีก่อน จึงผิดหวังกับท่าทีดังกล่าวของสหรัฐ และคาดหวังว่าไทยจะพ้นจากบัญชี PWL
 
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อการเข้ามาลงทุนของต่างชาติขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้น แต่อาจจะมีผลทางอ้อมในแง่ของภาพลักษณ์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเข้าหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการให้ไทยพ้นจากบัญชี PWL ในการจัดอันดับครั้งต่อไปในปีหน้า โดยปีนี้นอกจากสหรัฐอเมริกาคงอันดับไทย PWL แล้ว ยังมีประเทศในเอเชียอีก 12 ประเทศ คือ แอลจีเรีย อาร์เจนตินา ชิลี จีน เอกวาดอร์ อินเดีย อินโดนีเซีย คูเวต ปากีสถาน รัสเซีย ยูเครน เวเนซุเอล่า ที่อยู่ในสถานะ PWL ซึ่งไทยถูกจัดอยู่ในบัญชี PWL ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net