โพลล์ระบุแรงงานมองค่าแรงควรเป็น 398 บาท อีก 3 ปี เป็น 491 บาท และอีก 5 ปี 561 บาท

โพลล์ ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจ พบหนี้สินแรงงานไทยพุ่ง 1.17 แสนบาทต่อครัวเรือน เหตุเศรษฐกิจไม่ดีทำรายได้-โอที หด แต่ส่วนใหญ่ยังใช้หนี้ได้เพราะกู้แหล่งอื่นมาโปะ มองว่าควรปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มอีกเป็นเฉลี่ยวันละ 398 บาท จากปัจจุบันวันละ 300 บาท ส่วนในอีก 3 ปีข้างหน้าควรปรับเพิ่มเป็น 491 บาท และ อีก 5 ปีข้างหน้าควรเพิ่มเป็น 561 บาท
 
1 พ.ค. 2558 เนื่องในช่วงวันแรงงานแห่งชาติ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทยในปี 2558 (บางส่วน) เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมาว่าขณะนี้ภาระหนี้ของครัวเรือนแรงงานไทยในปี 2558 อยู่ที่ 117,839.9 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.9% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้รายได้จากการทำงานล่วงเวลา (โอที) ลดลงหรือไม่มี ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้แรงงานโดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ใช้บริการเงินกู้ ทั้งในระบบ และนอกระบบมากขึ้น โดยวัตถุประสงค์ในการกู้เงินส่วนใหญ่ 31% นำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รองลงมา 19.8% ใช้คืนเงินกู้, 15.3% ค่าที่อยู่อาศัย, 14.7% ค่ายานพาหนะ, 5.9% ค่าลงทุน, 3.2% ค่ารักษาพยาบาล และอื่นๆอีก 0.4%
 
ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่าในปีนี้แรงงานไทยมีภาระหนี้สิน 94.1% และไม่มี 5.9% ซึ่งจากการสำรวจก็พบว่าสัดส่วนของหนี้นอกระบบปรับขึ้นอย่างมากจากปีก่อน เนื่องจากแรงงานส่วนหนึ่งไม่สามารถเข้าเงินกู้ในระบบได้ และบางกลุ่มมีวงเงินกู้ในระบบเต็มวงเงินแล้ว จึงต้องไปหาเงินกู้นอกระบบมาเป็นค่าใช้จ่ายแทน ขณะที่ผลสำรวจการชำระหนี้ของแรงงานไทยพบว่าแรงงานไทยมีปัญหาเรื่องของการชำระหนี้ถึง 81.8% ซึ่งเพิ่มจากปีก่อนเล็กน้อย โดยมีปัญหาไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ 2-3 เดือน  เนื่องจากเงินหมุนไม่ทัน, รายได้ไม่แน่นอน,เงินไม่พอจ่าย และหนี้เพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่ก็สามารถที่จะนำเงินมาชำระหนี้ได้ เช่น การกู้เงินจากแหล่งอื่นทั้งหนี้นอกระบบ การยืมเพื่อน หรือญาติพี่น้องมาจ่ายหนี้เดิม เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตามหอการค้าไทยเห็นว่ารัฐควรเร่งนโยบายนาโนไฟแนนซ์ให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด เพราะจะช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมาก รวมถึงต้องเร่งกระตุ้นการเบิกจ่ายของหน่วยงานต่างๆ และ การลงทุนตามจังหวัดต่างๆ ให้เกิดการจ้างงานคนในท้องถิ่น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ
 
สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลงอีก 0.25% หรือจาก 1.75% เหลือ 1.5% มองว่าจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและเรื่องของหนี้สินแรงงาน เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เงินบาทอ่อนค่า ส่งผลดีต่อการส่งออก และการท่องเที่ยว แต่ทั้งนี้ก็อยากให้รัฐบาลดูแลเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และก็คาดว่าในการประชุม กบง.รอบหน้า มีโอกาสที่จะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงอีก 0.25% หากว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น
 
นอกจากนี้ ในส่วนของผลสำรวจการใช้จ่ายในช่วงวันแรงงาน ปี 2558 คาดว่าจะมีจะมีมูลค่า 1,999 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน 1.72% โดยประชาชนจะใช้จ่ายผ่านการท่องเที่ยว, การสังสรรค์, เที่ยวห้าง, ทำบุญ, ดูหนัง, กลับบ้านต่างจังหวัด, ไปสวนสนุก และไปสถานที่จัดงานวันแรงงาน
 
ขณะเดียวกันแรงงานส่วนใหญ่ยังมองว่าควรมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มอีกจากปัจจุบันอยู่ที่วันละ 300 บาท โดยให้เพิ่มเป็นเฉลี่ย 398 บาทต่อวัน และในอีก 3 ปีข้างหน้า ก็ควรปรับเพิ่มเป็น 491 บาทต่อวัน และ อีก 5 ปีข้างหน้าค่าจ้างขั้นต่ำควรปรับเพิ่มเป็น 561 บาต่อวัน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำแล้วแรงงานส่วนใหญ่ ระบุว่าหากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นกว่าปัจจุบันไม่สามารถรับได้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท