Skip to main content
sharethis

นัชชชา เผย พล.อ.ฉัตรเฉลิม ขอ มีข้อเสนออะไรให้เสนอในเวที อย่าไปพูดผ่านสื่อ เล็งเข้าร่วมเวทีกองทัพอีกเพื่อติดตามประเด็นเสรีภาพการแสดงออกที่ตัวเองเสนอไป ชี้หากไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติ ไม่เข้าร่วมอีก พิชิต ชี้ ศปป.ไม่ได้ห้ามพูดข้างนอก ส่วนตัวเสนอ คสช.เข้าใจนักวิชาการ

23 เม.ย. 2558 นัชชชา กองอุดม นักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หนึ่งในผู้ได้รับเชิญจาก ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ให้เข้าร่วมการหารือเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้ง ที่สโมสรกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ว่า ในเวทีมีผู้เข้าร่วมประมาณ 30-40 คน จากที่นั่งที่จัดไว้ประมาณ 80 ที่ พลเอกฉัตรเฉลิมเป็นผู้ดำเนินรายการ เริ่มอธิบายเท้าความตั้งแต่สถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจนถึงรัฐประหารและได้แจ้งถึงผลงานทางการเมืองของทหารได้ทำอะไรไป จากนั้นจึงเปิดให้ผู้เข้าร่วมอภิปรายแสดงความคิดเห็น ซึ่งในเวทีได้มีกลุ่มบุคคลที่หลากหลายเข้าร่วมอภิปราย อาทิ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, จาตุรนต์ ฉายแสง, จตุพร พรหมพันธุ์, ธิดา ถาวรเศรษฐ, ศุภชัย ใจสมุทร, พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, เอกชัย ไชยนุวัติ, พะเยาว์ อัคฮาด, วิญญัติ ชาติมนตรี สำหรับในส่วน น.ศ. ได้เข้าร่วมสามคนคือ ตนเอง สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และปิยณัฐ จงเทพ จากศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) 

นัชชชาเล่าว่า ในวงได้พูดคุยไปในแนวทางเดียวกันก็คือ จำเป็นที่จะต้องมีความยุติธรรมก่อนจึงสามารถจะเกิดความปรองดองในสังคมไทยได้ ซึ่งเป็นเรื่องเดิมๆ ไม่มีอะไรใหม่ ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมส่วนหนึ่งก็ได้ขอตัวกลับในช่วงเที่ยงโดยเหลือผู้ร่วมเวทีภาคบ่ายประมาณยี่สิบกว่าคน

เธอเล่าว่า ท้ายที่สุด พล.อ.ฉัตรเฉลิมได้กล่าวว่าการคุยครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นนำไปสู่ความปรองดอง จะมีการจัดเวทีอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ โดยมีความคิดข้อเสนอทางการเมืองอย่างไรขอให้นำมาพูดในเวที โดยขออย่าให้เอาไปพูดผ่านสื่อ พร้อมกันนี้ พล.อ.ฉัตรเฉลิมได้กล่าวขอความร่วมมือให้ผู้เข้าร่วมเวทีปรองดองเป็นตัวแทนเป็นวิทยากรเพื่อนำแนวคิดเรื่องการปรองดองลงไปเผยแพร่ในพื้นที่ต่อไป

ในเวทีตัวแทน ศนปท.ได้พูดถึงการเชิญเข้าร่วมแบบกระชั้นชิดว่ามีเหตุผลอย่างไร แต่ผู้จัดงานไม่ได้ให้คำตอบ

เมื่อถามว่าจะเข้าร่วมกิจกรรมที่ทางทหารจะจัดครั้งต่อไปหรือไม่ นัชชชากล่าวว่า โดยส่วนตัว จะเข้าร่วมอีกหนึ่งครั้งเพื่อติดตามประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองที่เธอและผู้เข้าร่วมอีกหลายคนเสนอจะได้รับการนำไปปฎิบัติหรือไม่ ถ้าไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติ เธอก็จะไม่เข้าร่วมกิจกรรมอีกต่อไป


พิชิต ชี้ ศปป.ไม่ได้ห้ามพูดข้างนอก ส่วนตัวเสนอ คสช.เข้าใจนักวิชาการ

ต่อมา เวลาประมาณ 21.00 น. พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. โพสต์เฟซบุ๊กเล่าถึงการประชุมวันนี้ ชี้เป็นรูปแบบ "รับฟังความเห็น" แจงไม่มีการห้ามพูดข้างนอก เพียงแต่เป็นมารยาทว่าแต่ละคนควรพูดเรื่องของตัวเอง เพราะคนอื่นอาจมีประเด็นที่ไม่อยากพูดในที่สาธารณะ แก้ข่าวลือ ไม่มีการคุมตัว ส่วนตัวเสนอให้ คสช.เข้าใจนักวิชาการ ซึ่งชอบคิด พูด เขียน จัดเสวนา เป็นทั้งอาชีพและความชอบ และทำอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งก็คือการพูดความเป็นจริงอยู่แล้ว

"วันนี้คุยกันกับ "ศูนย์ปรองดองฯ" เดิมคิดว่า คงแค่สักบ่ายโมงก็เสร็จ แต่กลายเป็นเลิกเอาบ่ายสามครึ่ง เพราะผู้เข้าร่วมอยากเสนอความคิดกันเยอะ พูดได้ไม่ทั่วถึง

"รูปแบบเป็นการ "รับฟังความเห็น" คือ ศปป.เสนอแนวคิดเบื้องต้น แล้วผู้รับเชิญก็อภิปรายเสนอแนวคิด ศปป.รับฟังและสอบถาม พูดกันเต็มที่ มีทั้งเสริมและแย้งกัน บรรยากาศจริงจังมากจนผู้รับเชิญไม่ยอมเลิก แต่ศปป.ต้องขอหยุดพักก่อน เพราะมีผู้จองใช้สถานที่ตอนเย็น

"ผมไม่ได้พูดอะไร แค่เสนอสั้นๆ ว่า นักวิชาการชอบคิด พูด เขียน จัดเสวนา เป็นทั้งอาชีพและความชอบของเขา ขอให้คสช.เข้าใจนักวิชาการ และนักวิชาการก็พูดสร้างสรรค์อยู่แล้ว เพราะการพูดสร้างสรรค์คือการพูดความจริง

"ศปป.ไม่ได้ขอ "ห้ามพูดข้างนอก" แต่เป็นมารยาทคือ เราบอกได้ว่า เราพูดอะไร แต่คนอื่นพูดอะไรบ้างนั้น ต้องให้เจ้าตัวเขาเปิดเผยเอง เพราะอาจมีประเด็นที่เขาไม่อยากพูดในที่สาธารณะ แล้วที "ลือ" กันว่า ผู้รับเชิญ "โดนคุมตัว" ก็ไม่มี เขาก็ให้เดินออกมาพักผ่อน จับกลุ่มคุยข้างนอก เข้าห้องน้ำ สูบบุหรี่ บางคนไม่มีเวลา พอพูดเสร็จก็ขอตัวกลับก่อนหลายคน

"มีเพื่อนๆ หลังไมค์ถามด้วยความเป็นห่วง ก็ขอขอบคุณทุกท่าน ผมก็ยังอยู่ตรงนี้ ไม่ไปไหน!" พิชิตระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net