ส.ส.อาเซียนพบภาคประชาสังคม-เสนอให้ยกเลิก “หลักไม่แทรกแซงกิจการภายใน”

ส.ส.อินโดนีเซียเสนออาเซียนทบทวนหลัก "ไม่แทรกแซงภายใน” เพราะสร้างอุปสรรคแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน - ส.ส.พรรครัฐบาลมาเลเซีย ชี้อาเซียนรวมตัวเศรษฐกิจ-การเมืองช้า แต่ที่ทำได้เลยคือส่งเสริม ปชช. ให้ใกล้ชิดกัน พร้อมห่วงใยไทยที่ทหารมีบทบาททางการเมือง ส่วนอินโดนีเซียทหารเลิกยุ่งแล้ว ด้าน “ไกรศักดิ์” ชี้ ปชต. ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ประเทศไทยเคยเกิดเผด็จการเสียงข้างมาก

 

22 เม.ย. 2558 – ตามที่ระหว่างวันที่ 22 ถึง 24 เมษายนนี้จะมีการจัดประชุมสมัชชาสังคมอาเซียน (ACSC/APF 2015) ที่อาคารสมาคมชาวจีนมาเลเซีย (Wisma MCA) กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย โดยมีภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรระดับชุมชน จากทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 1,400 คนนั้น

เมื่อวันที่ 22 เมษายน ซึ่งเป็นการจัดงานวันแรก ในช่วงบ่ายมีการประชุม “บทสนทนาเปิดสภาเมือง: ระหว่างภาคประชาสังคมและสมาชิกรัฐสภา” หรือ “A Town Hall Open Discussion Between Civil Society and Parliamentarians (APHR)”

โดยสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมอภิปรายได้แก่ ส่วยหม่อง ส.ส.พรรคสหสามัคคีเพื่อการพัฒนา (USDP) ประเทศพม่า, ชาร์ล ซานติอาโก ส.ส.พรรคกิจประชาธิปไตย (DAP) ประเทศมาเลเซีย, นูร์ จัซลัน โมฮัมเหม็ด ส.ส.พรรคองค์การสหมาเลย์แห่งชาติ (UMNO) ประเทศมาเลเซีย, ชาร์ล จง ส.ส.พรรคกิจประชาชน (PAP) ประเทศสิงคโปร์, มู สุขฮัว ส.ส.พรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ประเทศกัมพูชา, ไอรีน ยูเซียนา พรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซีย (PDI) ประเทศอินโดนีเซีย ดิอา ปิตาโลกา พรรคการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย (Democratic Party-Struggle) ประเทศอินโดนีเซีย และ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตวุฒิสมาชิก และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จากประเทศไทย

ส่วนตัวแทนจากภาคประชาสังคมที่ร่วมอภิปรายด้วยได้แก่ มาเรีย ชิน อับดุลลาห์ ประธานพันธมิตรเพื่อเลือกตั้งที่สะอาดและยุติธรรม หรือ BERSIH 2.0 เหงวียน ธิ โฮง วัน จากองค์กรสหภาพชาวเวียดนามเพื่อมิตรภาพ (VUFO) สำหรับผู้ดำเนินรายการคือ รามา รามานาธาน คอลัมนิสต์อาวุโสหนังสือพิมพ์ออนไลน์ “มาเลเซียนอินไซเดอร์”

 

..อาเซียนเสนอทบทวน “หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน”

โดยรามา ได้ตั้งคำถามแรกว่า ความท้าทายในฐานะที่เป็นตัวแทนรัฐสภา ในการผลักดันวาระประชาชนโดยเฉพาะในประเด็น "อาเซียนที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง" เป็นอย่างไร และวิสัยทัศน์อาเซียนปี 2015 ควรเป็นอย่างไร

จากนั้นไอรีน ยูเซียนา ส.ส. จากอินโดนีเซีย กล่าวว่า สำหรับวิสัยทัศน์ของอาเซียนปี 2015ควรเป็นเช่นไร ขอกล่าวว่า เพิ่งกลับมาจากภารกิจเยือนพม่า เพื่อดูแลเรื่องการเตรียมความพร้อมเรื่องเลือกตั้ง และพบว่าชาวพม่าเผชิญปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน “ดังนั้นจึงมีคำถามว่า ฉันจะช่วยเหลือชาวพม่าในฐานะครอบครัวของฉัน ในฐานะที่เป็นประชาคมอาเซียนเดียวกันได้อย่างไร ดังนั้นสิ่งที่อยากเห็นคือการทบทวนเรื่อง “หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน” (Principle of Non-interference) เพื่อให้ประชาคมอาเซียนสามารถช่วยเหลือกันได้ในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเรื่องสิทธิมนุษยชนต้องเป็นมากกว่าหลักการ ต้องเป็นกระแสหลักของ 3 เสาหลักประชาคมอาเซียนทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม

"อยากให้ประชาชนที่เข้าร่วมทั้งหลายนี้ ได้มั่นใจว่าดิฉันจะผลักดันนโยบายต่อรัฐบาลอินโดนีเซียในเรื่องส่งเสริมสิทธิมนุษยชน" ไอรีนกล่าว

ส่วน ชาร์ล จง ส.ส. จากสิงคโปร์ กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัว การที่แต่ละประเทศในอาเซียนไม่สามารถพูดถึงปัญหาของประเทศอื่น เพราะยึดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในนั้น แท้จริงจะทำให้เกิดผลกระทบต่อประเทศนั้นๆ ด้วย เพราะปัจจุบันปัญหาข้ามพรมแดน อย่างกรณีทะเลจีนใต้ก็เป็นปัญหาเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ

ส่วยหม่อง ส.ส.จากพม่า กล่าวว่า อยากเห็นอาเซียนมีอัตลักษณ์เดียว เป็นภูมิภาคเดียวกัน ไม่มีพรมแดน ทุกวันนี้เรามีปัญหาเรื่องวีซ่า เรื่อหนังสือเดินทาง สำหรับเรื่องสิทธิมนุษยชน สำหรับผม สิทธิมนุษยชนสำคัญสำหรับมนุษย์ สำหรับเรื่องหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน อยากให้มีการทบทวนเช่นกัน แต่เรื่องนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล และแท้จริงแล้วหลักการนี้สร้างอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาต่างๆ มาก

 

ไกรศักดิ์ชี้อาเซียนแทรกแซงกันตลอดเวลา
ส.ส.ฝ่ายค้านมาเลเซียชี้เรื่องไหนรัฐเสียเปรียบก็ไม่อยากให้แทรกแซง

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ กล่าวว่า เรื่องหลักการไม่แทรกแซงสำหรับอาเซียนนั้น ที่จริงก็มีการแทรกแซงตลอดเวลา เช่น ไทยแทรกแซงในเรื่องพม่า หรือการลงนามในการสร้างเขื่อน 11 เขื่อนในแม่น้ำสาละวิน เป็นต้น ที่จะทำให้คนนับพันครัวเรือนต้องอพยพ ไทยแทรกแซงในลาว โดยมีรัฐบาลทั้งสองฝ่ายลงนามระหว่างกันเพื่อซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี และทุกเขื่อนที่เกิดขึ้นก็สร้างโดยไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชน นี่เป็นเรื่องแทรกแซงกิจการภายในชัดเจน

ไกรศักดิ์ ยังกล่าวติดตลกด้วยว่า ผู้ดำเนินรายการแนะนำตำแหน่งเขาผิด เพราะเขาเป็นอดีต ส.ส. มานานแล้ว ส่วนปัจจุบันสมาชิกในรัฐสภาไทยทุกคนได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารทั้งหมด

จากนั้น ชาร์ล ซานติอาโก้ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน จากมาเลซีย กล่าวว่า เห็นด้วยกับไกรศักดิ์ 150% ว่าการแทรกแซงกิจการภายในเกิดขึ้นตลอดเวลา ดูได้จากสัญญาเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน รวมทั้งสัญญาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเรื่องอื่นๆ แต่เวลาจะพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่น เรื่องชาวโรฮิงยา เรื่องผู้อพยพ ผู้นำประเทศอาเซียนก็จะไม่พูดกัน จะพูดแต่เรื่องธุรกิจ เมื่อประเทศได้ประโยชน์ก็แทรกแซง ส่วนเรื่องสิทธิมนุษยชน พูดแล้วทำให้เสียเปรียบ ก็ไม่พูดถึงกัน หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในเช่นนี้จึงเป็นวิธีการของพวกฉวยโอกาสโดยแท้

จากนั้นผู้ดำเนินรายการตั้งคำถามเรื่องการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มู สุขชัว ส.ส.จากกัมพูชา กล่าวว่า รัฐบาลควรต้องยอมรับว่า หลักการพื้นฐานสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการสำคัญ เราจำเป็นต้องพูดในฐานะสมาชิกรัฐสภา นอกจากนี้มีหลายครั้งที่พรรคการเมืองเคยมีบทบาทสู้เพื่อเสรีภาพ ความยุติธรรม แต่เวลาไปอยู่ในสภาก็ถูกกดดันโดยรัฐบาลตัวเอง

 

..พรรครัฐบาลมาเลเซียชี้ประเด็นข้ามพรมแดนยังมีข้ออุปสรรค

คำถามต่อมาคือ อะไรคือประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน ที่สมาชิกรัฐสภาเผชิญ และเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นูร์ จัซลัน โมฮัมเหม็ด ส.ส.พรรคอัมโน ประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า เป็นเรื่องประเด็นข้ามพรมแดนที่ยังมีข้ออุปสรรคหากมองภาพรวมทั้งอาเซียน

ส่วนเหงียน ธิ หง แวน ผู้แทนจากองค์กรสหภาพชาวเวียดนามเพื่อมิตรภาพ (VUFO) กล่าวว่าเราพูดเรื่องประชาชนเป็นศูนย์กลางในอาเซียน ในระดับรัฐบาล แต่เรายังมีความท้าทายอีกหลายเรื่องในอาเซียน เราควรพิจารณาบทบาทขององค์กรภาคประชาสังคม (CSO) ว่าจะมีส่วนในการสร้างประชาสังคมอาเซียนต่อไปอย่างไร ส่วนเรื่องที่ว่าองค์กรภาคประชาสังคมและสมาชิกรัฐสภา ยังมีบทบาทที่ห่างไกลกันนั้น นี่เป็นโอกาสที่สำคัญที่เราได้มีบทสนทนาระหว่างเช่นนี้ หรือทำอย่างไรที่เราจะมีกลไกหารือเช่นนี้อีก

 

..กัมพูชา เสนอให้อาเซียนมีการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม ประชาชนเลือกผู้แทนโดยตรง

มู สุขฮัว ส.ส. จากกัมพูชา กล่าวว่า เรื่องการหารือกับองค์กรภาคประชาสังคมเป็นเรื่องพื้นฐานแท้จริง เพราะประชาชนในอาเซียนยังไร้เสียง และได้รับกระทบในชีวิตประจำวัน “ในกัมพูชาประเทศของฉัน พวกเราภูมิใจในผู้นำประชาคมรากหญ้า องค์กรสตรี พวกเขาคือประชาชนตัวจริง พวกเขาตอนนี้เริ่มสร้างอำนาจประชาชนแล้ว”

ส.ส. จากพรรคสงเคราะห์ชาติ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านกัมพูชาผู้นี้ กล่าวด้วยว่า เราอยู่ภายใต้ระบอบที่ปกครองประเทศนี้มานับ 20 ปีแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้เราเผชิญสงครามกลางเมือง และในปัจจุบันยังสูญเสียดินแดนที่เรียกว่า “กัมพูชากรอม” ให้เวียดนาม เขากล่าวด้วยว่า อยากให้อาเซียนปกป้องสิทธิมนุษยชนและมีเจตจำนงแท้จริงเพื่อสิทธิมนุษยชน ถ้าเราไม่ปกป้องสิทธิมนุษยชน เราจะกล่าวเรื่องวิสัยทัศน์อาเซียนที่ต้องการสังคมอาเซียนที่มีความกลมเกลียวได้อย่างไร

นอกจากนี้ มู สุขฮัว ยังเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม และระบบการเมืองที่มีผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนโดยตรง เป็นระบบพหุพรรคการเมือง เพราะไม่เช่นนั้น เราจะเรียกว่าประชาธิปไตยได้อย่างไร

 

ไกรศักดิ์เสนอให้ข้ามเส้นชาตินิยม มุ่งทำงานให้ประชาชนอาเซียน

จากนั้น ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตวุฒิสมาชิก และอดีต ส.ส. จากไทย กล่าวว่า เป็น ส.ส. ก็เหมือนเป็นแรงงาน เราต้องทำงานกับผู้นำประชาสังคมในประเทศให้มาก เขากล่าวตอบ ส.ส. จากกัมพูชาด้วยว่า มากไปกว่านั้น เราจะทำตัวเป็นพวกชาตินิยมได้อย่างไร ไม่อย่างนั้น ส.ส.ไทย ก็มาอ้างได้ว่านี่เราเสียกัมพูชาไปครึ่งประเทศ พรมแดนเราเคยอยู่ถึงโตนเลสาป เคยได้ดินแดนพม่ามาเกือบครึ่ง เป็นต้น

“ประเด็นของผมคือ พวกเรามาทำงานให้ประชาชนดีกว่า นี่สมบัด สมพอน หายไปเป็นปีแล้ว ที่ผ่านมานักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนไทยถูกสังหารไปกว่า 20 กว่าคน รวมทั้งทนายความอย่าง สมชาย นีละไพจิตร ดังนั้น สมาชิกรัฐสภาควรทำงานร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม ไม่ใช่ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับภาคประชาสังคม ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่ทุกประเทศในอาเซียน”

 

.. ฝ่ายค้านมาเลเซียเสนอให้เน้น “อาเซียนภาคสังคม” มากกว่า “อาเซียนภาคธุรกิจ”

ในประเด็นที่ว่าอาเซียน เน้นหนักด้านการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ชาร์ล ซานติอาโก้ กล่าวว่า เมื่อเราดูในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เขตการค้าเสรีอาเซียน ข้อตกลงการลงทุนอาเซียน ฯลฯ เราเห็นว่าอาเซียนเป็นโครงการของเหล่าชนชั้นนำ เป็น “Business ASEAN” หรืออาเซียนภาคธุรกิจ การประชุมอาเซียนเน้นแต่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เรายังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในอาเซียน เราจะทำอย่างไรให้กระบวนการทางเศรษฐกิจในอาเซียน มีความสมดุล ครอบคลุมทั้งความต้องการ ผลประโยชน์ของประชาชนด้วย ไม่ใช่แต่ผู้ประกอบการ โดยเขาเสนอว่า อาเซียนต้องมี “Social ASEAN” หรืออาเซียนภาคสังคม ที่เน้นเรื่องประชาชนเป็นสำคัญ กระจายทรัพยากรอย่างยุติธรรม และเอกชนต้องมีธรรมาภิบาล

 

.. พม่ายกเคสโรฮิงยา “สิทธิการได้รับสัญชาติ” เป็นสิ่งสำคัญสำหรับประชาชน

ส่วย หม่อง ส.ส. จากพรรครัฐบาลพม่า กล่าวว่า ประชาชนในเขตที่เลือกเขานั้น หลายคนก็บอกเขาตามตรงว่า “ฉันไม่รู้จักว่าอาเซียนคืออะไร เห็นแต่ผู้นำประเทศหารือกันออกทีวี” ส่วนเรื่องการดูแลประชาชนนั้น ต้องบอกว่าในการทำงาน ส.ส. เปิดโทรศัพท์มือถือเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ติดต่อตลอด เพราะบางครั้งเที่ยงคืนก็ยังมีเรื่องที่เขาจะต้องโทรศัพท์มา

ส่วนเรื่องที่ประชาชนในพื้นที่รัฐอาระกันที่เป็นเขตเลือกตั้งของเขามักจะถามก็คือ เรื่องที่ในพม่ายังมีการกล่าวหาชาวโรฮิงยาว่าเป็นพวกแรงงานต่างชาติ ซึ่งอันที่จริง ในสมัยราชวงศ์พม่า ชาวโรฮิงยา ก็อยู่ที่นั่น สมัยสงครามอังกฤษ-พม่า โรฮิงยาก็อยู่ที่นั่น เมื่อพม่าได้รับเอกราช โรฮิงยาก็อยู่ที่นั่น กระทั่งพม่าหลังปี 2010 มีการจัดการเลือกตั้งแล้ว แต่ก็คนตั้งคำถามต่อ ส.ส. ว่า ทำไมประชาชนกลุ่มนี้ถึงไม่ได้รับสิทธิพลเมือง ทำไมท่านถึงเงียบ นี่คือสิ่งที่ประชาชนมักจะถามผม นั่นก็คือเรื่อง “สิทธิการได้รับสัญชาติ” ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

 

.อัมโนชี้อาเซียนรวมตัวทางเศรษฐกิจ-การเมืองล่าช้า พร้อมห่วงหลังกองทัพไทยเข้ามามีบทบาทการเมือง

ด้าน นูร์ จัซลัน โมฮัมเหม็ด ส.ส.จากพรรครัฐบาลของมาเลเซีย กล่าวว่า สิ่งที่มองเห็นเรื่องการรวมกลุ่มของประชาคมอาเซียนก็คือ เรื่องการรวมกันทางการเมือง คิดว่ายังไม่เกิดขึ้นเร็ว เช่นเดียวกับเรื่องเศรษฐกิจ เพราะแต่ละประเทศยังมีความแตกต่างกัน แต่อย่างน้อย สิ่งที่ทำได้คือ น่าจะทำให้ประชาชนมาใกล้ชิดกัน ปัญหาของอาเซียนคือ ในอนาคตเราต้องบรรลุความเท่าเทียมกันทางเศษฐกิจในอาเซียน ดังนั้น ในอนาคต ทำอย่างไรให้มีการลงทุน โดยเฉพาะบทบาทจากภาคเอกชน ไม่ใช่รัฐบาล เราควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น

เขากล่าวด้วยว่า “ขอแสดงความเห็นใจกับผู้เข้าร่วมประชุมชาวไทย เพราะกองทัพไทยเข้ามามีบทบาททางการเมือง ขณะที่ในอินโดนีเซียทหารเลิกยุ่งทางการเมือง” เขาเสนอด้วยว่า ก่อนการรวมกันในประชาคมทางเศรษฐกิจ น่าจะทำให้อาเซียนมีความเท่ากันทางโอกาสด้วย

 

ภาคสังคมมาเลเซียเสนอปัญหาสิทธิมนุษยชนยังขาดการหารือระดับผู้นำอาเซียน

ด้าน มาเรีย ชิน อับดุลลาห์ ตัวแทนภาคประชาสังคมจากมาเลเซียกล่าวว่า ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน เช่น การหายไปของ สมบัด สมพอน นักพัฒนาจากประเทศลาว การที่ในอาเซียนยังมีการควบคุมตัวนักโทษการเมือง การละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ การค้ามนุษย์ เป็นต้น เหล่านี้ถูกยกขึ้นมาโดยภาคประชาสังคม แต่ยังขาดการหารือในระดับผู้นำอาเซียน

ดังนั้นประเด็นที่เราจำเป็นต้องหารือในวันนี้คือ ตอนนี้เรามีร่างกติกาต่างๆ ออกมามากมายแล้ว ที่ครอบคลุมเสาหลักอาเซียน ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยน แต่เราก็บอกว่า “นี่คือวิถีอาเซียน” เราต้องอดทนรอ แต่ถ้ารอเราจะไม่สามารถทำอะไรได้ต่อไป ดังนั้น เราควรมีการทำบางสิ่งบางอย่างแล้ว เพราะจะมีประชาคมอาเซียนในสิ้นปีนี้แล้ว แต่เรายังไม่รู้ว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร เราจะเปิดเสรีแรงงาน 7 ประเภท คำถามคือ เราจะแก้ไขปัญหาให้แรงงานประเภททักษะอื่นๆ อย่างไร

“สำหรับผู้นำอาเซียน ถ้าอยากให้มีประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางจริงๆ เขาต้องมาตอบคำถามทั้งหมดนี้ ไม่ใช่พูดเรื่องที่ว่า เรื่องพวกนี้ละเมิดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในหรือไม่อย่างไร”

ด้าน มู สุขฮัว ส.ส. กัมพูชา กล่าวว่า อย่าลืมเช่นกันว่า ส.ส. ก็เข้าไปอยู่ในคุกเหมือนกัน เช่น ดิฉันก็เคยติดคุกเพราะต่อสู้เพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก เขากล่าวด้วยว่า เป็น ส.ส. ที่ได้รับเลือกมาจากด้านตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา ติดกับชายแดนไทย ซึ่งมีชาวกัมพูชาข้ามไปเป็นแรงงานข้ามชาติ มารับจ้างตัดข้าวโพดในไทย เพราะเขาไม่มีอะไรเหลืออีกแล้วในบ้านเกิด

สมาคมอาเซียน มีหลายประเทศต่างๆ รวมกัน ตั้งแต่สิงคโปร์ ถึงกัมพูชา และเวลาที่มารวมกัน ดิฉันไม่อยากได้ยินคำว่า “Trickle Down” หรือการพัฒนาแบบไหลลงสู่เบื้องล่าง มันจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ ใครจะทำได้ดีกว่านี้ไม่มีเท่าองค์กรประชาสังคมอีกแล้ว ดังนั้นในกัมพูชา พวกเรา ส.ส.ฝ่ายค้าน และภาคประชาชน อย่าห่างเหินกันเลย ขอให้มาทำงานร่วมมือกัน เพื่อประชาชน กลุ่มชาติพันธุ์ สิทธิสตรี สำหรับชุมชนต่างๆ อย่าให้ชุมชนของท่านห่างจากการเมือง ขอให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และจัดการศึกษาทางการเมือง เพื่อให้ประชาชนในชุมชนตัดสินใจทางการเมืองได้อย่างเที่ยงแท้

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ กล่าวต่อจาก ส.ส.กัมพูชาว่า ที่ผ่านมา 20 ส.ส. กัมพูชา ส่งจดหมายประท้วงที่ธนาคารไทย 4 แห่ง สนับสนุนเขื่อนที่ใหญ่ในประเทศ บางคนที่ลงชื่อจากมาจากพรรคท่าน ที่ผ่านมา เขื่อนไซยะบุรี ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะทำให้เวียดนามจะได้รับผลกระทบมากที่สุด และมีผลกระทบต่อสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงและกัมพูชาด้วย นอกจากนี้โตนเลสาปของกัมพูชาก็จะได้รับผลกระทบจากเขื่อนดอนซะโฮง ที่จะสร้างในลาวด้วย

“ดังนั้นเราทำงานด้วยกัน กับทั้งสมาชิกรัฐสภาจากลาว กัมพูชา และองค์กรประชาสังคม เราต้องหยุดพวก “ASEAN Corporation” หรือบรรษัทอาเซียน มันคือ “ASEAN Destruction” หรือการทำลายล้างของอาเซียน เราต้องเตะพวกนี้ออกไป ถ้าคุณต้องการให้มีการพัฒนาแบบนี้ คุณต้องฆ่าคนอีกมาก เราต้องการเศรษฐกิจที่สมดุล มีความมั่นคงทางอาหาร อย่างเช่นเวียดนาม ได้รับโปรตีนจากแม่น้ำร้อยละ 70% เราหวังให้ประชาสังคมอาเซียนพูดถึงเรื่องนี้ ถ้าเราไม่หยุดโครงการใหญ่นี้ เราก็ยุติสมาคมอาเซียนนี้ไปเลย”

 

ผู้เข้าร่วมชาวลาว เสนอให้รัฐบาลลาวยอมรับสิทธิการเลือกตั้ง

ในช่วงแสดงความเห็น มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากเข้าแถวเพื่อขอแสดงความคิดเห็น ในช่วงหนึ่งมีชาวลาวพลัดถิ่น กล่าวว่า พวกเราชาวลาวไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่มีเสรีภาพในการรวมตัวสมาชิก ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องการให้ประเทศลาวรับรองสิทธิการเลือกตั้ง และระบบพรรคการเมือง ด้านชาวเวียดนามพลัดถิ่นรายหนึ่ง ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมที่ให้ เหงวียน ธิ โฮง วัน เป็นตัวแทนจากเวียดนามมากล่าวบนเวที เพราะองค์กรสหภาพชาวเวียดนามเพื่อมิตรภาพ (VUFO) เป็นองค์กรฝ่ายรัฐบาล

ในช่วงท้าย ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ กล่าวในช่วงท้ายว่า การมีประชาธิปไตยไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง กรณีประเทศไทยเมื่อมีประชาธิปไตยก็จะมีเผด็จการเสียงส่วนมาก แบบที่รัฐบาลพรรคไทยรักไทยก่อสงครามยาเสพย์ติด ฆ่าคนนับพัน ซึ่งต่อมาหลายคนพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ฆ่าคนมากกว่าจอมเผด็จการ โรเบิร์ต มูกาเบ้ แห่งซิมบับเวเสียอีก

ส่วนชาร์ล ซานดิอาโก้ กล่าวว่า อาเซียนต้องมีขบวนการที่รณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม กรณีเขื่อนดอนสะโฮง รัฐบาลมาเลเซียมักตอบว่า สร้างโดยบริษัทเอกชน ดังนั้นอาเซียนน่าจะมีประมวลทางจริยธรรม (Code of Conduct) เพื่อการลงทุนที่คำนึงด้านสิ่งแวดล้อม อาจจะรวมไปถึงการลงทุนที่คำนึงด้านสิทธิแรงงานด้วย สิ่งนี้จะช่วยสร้างมาตรฐานให้กับการลงทุนในอาเซียนอย่างยิ่ง

ด้านเหงวียน ธิ โฮง วัน ชี้แจงว่าตัวเธอมีความชอบธรรมที่จะกล่าวบนเวทีในฐานะภาคประชาสังคมจากเวียดนาม และในโครงสร้างองค์กรตัวประธานองค์กรก็เกษียณจากตำแหน่งต่างๆ แล้ว

ทั้งนี้การประชุมภาคประชาสังคมอาเซียน (ACSC/APF 2015) ดังกล่าวจะดำเนินไปจนถึงวันที่ 24 เมษายนนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท