สำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิ ยูเอ็น แนะพิจารณาข้อเสนอควบรวม กสม.-ผู้ตรวจการใหม่

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชน ยูเอ็น ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนะหากไทยพิจารณาควบรวม กสม.-ผู้ตรวจการฯ ใหม่ ย้ำหากจะควบรวม ต้องสอดคล้องหลักการปารีส คงอำนาจเรียกเอกสาร-บุคคลมาให้ถ้อยคำ

1 เม.ย. 2558  สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำความเห็นทางเทคนิคเรื่องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2558 โดยตอนหนึ่ง มีคำแนะนำให้ กมธ.ยกร่างฯ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  (คสช.) พิจารณาข้อเสนอในการควบรวม กสม.กับผู้ตรวจการแผ่นดินใหม่ อีกครั้ง โดยหากตัดสินใจว่าจะคง กสม.ไว้ โดยไม่รวมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ต้องเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับ กสม. ด้วยการให้มีการจัดการทรัพยากรมนุษย์ และการเงินอย่างมีอิสระ

แต่หากตัดสินใจควบรวม 2 องค์กรเข้าด้วยกัน คณะกรรมการใหม่ที่เกิดขึ้น ต้องเป็นสถาบันสิทธิมนุษยแห่งชาติ ที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับหลักการปารีส รวมทั้งมีบทบัญญัติชัดเจนระบุรายละเอียดว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ของคณะกรรมการชุดใหม่ จะทำภารกิจที่ต่างจากเดิมได้อย่างไร รวมถึงต้องคงอำนาจทั้งหมดของคณะกรรมการสิทธิมนุษยแห่งชาติ ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550  และ พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปี 2542 โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการเรียกเอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ

ทั้งนี้ ระบุด้วยว่าไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ขอให้จัดการสรรหาใหม่ที่สอดคล้องกับหลักการปารีสสำหรับหน่วยงานที่เป็นอิสระ รวมถึงให้มีตัวแทนที่มีความหลากหลายโดยรวมถึงภาคประชาสังคมและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียสำคัญๆ กลุ่มอื่นโดยคณะกรรมการคัดเลือก กำหนดให้คณะกรรมการสรรหาและมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางกับหน่วยงานพัฒนาเอกชนในขั้นตอนยื่นใบสมัครคัดกรอง และคัดเลือก และจัดทำเกณฑ์ที่ชัดเจนและมีรายละเอียดในการประเมินความสามารถของผู้สมัครที่มีสิทธิเพื่อให้มีการปฏิบัติภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพโดยพิจารณาประสบการณ์ที่น่าเชื่อถือของผู้สมัครในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงประกันว่า กสม.จะเป็นตัวแทนของประชากรจากสังคม ชาติพันธุ์ ศาสนา เพศ และภูมิภาคที่มีความหลากหลายในประเทศไทย

และก่อนที่การยกร่างรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้น ขอให้หารือกับสมาชิกภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรสิทธิมนุษยชน ตลอดจนปัจเจกชน หรือชุมชนที่ได้รับประโยชน์จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยแห่งชาติอย่างกว้างขวางด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท