Skip to main content
sharethis


27 มี.ค. 2558 วิจักขณ์ พานิช นักวิชาการอิสระด้านปรัชญาศาสนา บรรยายใน "เรียนเล่นเล่น" คาบที่ 7 หัวข้อ สถานการณ์พุทธเถรวาทในสังคมไทย ประชาไทสรุปความมานำเสนอ

0000

พุทธเถรวาทจริงๆ แล้วคืออะไร เป็นคำถามที่คนจำนวนมากยังตั้งคำถามอยู่ ซึ่งเขามองว่า เป็นการพยายามสร้างความบริสุทธิ์โดยอ้างอิงกับวิถี ธรรมวินัย ธรรมบัญญัติ พยายามอ้างวิถีในอดีตเพื่ออ้างอิงว่าเราเป็นผู้ที่ปฏิบัติได้ถูกต้องที่สุด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่แปลก ทุกศาสนาจะต้องมีกลุ่มที่พยายามสร้างอัตลักษณ์ดั้งเดิม เป็นสิ่งที่มีในทุกศาสนา แต่พุทธเถรวาทนั้นเป็นความพยายามที่จะรักษาวัตรปฏิบัติ

คำถามที่น่าสนใจคือ พุทธเถรวาทอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น ทำไมเมื่อขยับไปข้างบนถึงเป็นมหายาน ซึ่งเขามองว่าการพยายามจะรักษาบริบท ความดั้งเดิมของรูปแบบวิถีหรือการตีความบางอย่างที่ยึดอยู่กับอดีตต้องการบริบททางสังคมหรือสภาพอากาศคล้ายๆ กัน เช่น พระต้องห่มอย่างนี้ มีศีลเท่านี้ ซึ่งเป็นประเทศในแถบภูมิอากาศเดียวกัน สังคมที่คล้ายกัน เช่น สังคมเกษตร สังคมหมู่บ้าน ที่ช่วยให้การรักษาธรรมวินัยแบบดั้งเดิมเป็นไปได้

แต่สิ่งที่ท้าทายคือ ถ้าเถรวาทพยายามรักษาวัตรปฏิบัติไว้แบบดั้งเดิมจริงๆ นั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรักษาวัตรปฏิบัตินั้นในสังคมยุคปัจจุบัน  สิ่งที่ตามมาคือความเลื่อนไหลของการอ้างอิงและตีความวัตรปฏิบัติระหว่างในวัดกับนอกวัด ทำให้พระต้องมีความกะล่อนไปตามสถานการณ์ และถูกตั้งคำถามว่าตกลงแล้วคุณรักษาวัตรแบบดั้งเดิมจริงหรือไม่

ลักษณะของการเรียนรู้ศาสนาของพุทธเถรวาทนั้นเป็นการเรียนจากครูอาจารย์ เป็นการเรียนจากครู เป็นรูปแบบวิถีชีวิตดั้งเดิม ในจินตนาการของเขา มองเถรวาทไม่เหมือนคนอื่น ยังคงมีความเคารพในพุทธเถรวาท ยังคงถือว่าตัวเองเป็นเถรวาท แต่เป็นแบบไม่เป็นทางการเพราะมีคนที่เป็นแบบทางการที่พยายามรักษาอัตลักษณ์บางอย่าง แต่ส่วนตัวเขามีอาจารย์พุทธสายเถรวาทอยู่

จินตนาการเกี่ยวกับเถรวาทสำหรับวิจักขณ์ คือ การเรียนแบบอาจริยวาท คือ นักเรียนเรียนกับครู ถ้าเราต้องการจะเรียนกับอาจารย์ แต่ไม่มีอำนาจของรัฐเข้ามาควบคุมว่าเราควรเรียนจากใคร  เป็นจินตนาการของเถรวาทในอดีตสำหรับเขา นั่นคือ มีอาจารย์หลากหลายสาย มีการแตกแขนงของคำสอน ตามแต่สถานการณ์ ประสบการณ์ และ passion ของอาจารย์ เป็นรูปแบบของการเรียนที่เป็นมนุษย์ สัมพันธ์กับประสบการณ์จริง

อย่างไรก็ตามมีแก่นแกนอยู่ที่การอ้างอิงคำสอน หรือหลักธรรม พุทธวจนะ อ้างอิงคำสอน พระไตรปิฎก แต่รูปแบบการเรียนนั้นอิสระ การตีความคำสอนของอาจารย์แต่ละคนต่างกัน หรือแม้แต่การตีความแบบเดียวกันก็ปฏิบัติต่างกัน ในฐานะศิษย์สามารถเลือกครูได้ ว่าชอบอาจารย์คนนี้ รู้สึกว่าคนนี้พูดแล้วเข้าไปในหัวใจของเราได้

การบวชจึงไม่ใช่เรื่องพิธี สมมติเช่น วันหนึ่งมีพระเข้ามาในหมู่บ้าน เหมือน Backpacker เข้ามาแล้วบอกว่าชีวิตมันไม่เที่ยง ความหมายของชีวิตคือการเดินทาง ต้องออกเดินทางไปเผชิญ คนที่อยู่ในหมู่บ้านที่เคยแต่ขุดดินจับจอบก็อาจจะมีแรงบันดาลใจ อยากเดินตามคนนี้ไป

แต่คำถามคือจินตนาการนี้หายไปได้อย่างไรในสังคมไทย ซึ่งเขาเห็นว่าความพยายามทำให้ศาสนาพุทธบริสุทธิ์นั้นมีส่วนทำให้หายไป สถาบันทางศาสนาที่ผูกโยงกับอำนาจบางอย่างที่ทำให้เขาสามารถสังคายนาได้ เขาเรียกรูปแบบการทำให้ศาสนาพุทธบริสุทธิ์เป็น ศาสนาเชิงสถาบัน ซึ่งจะมีประวีติศาสตร์การสังคายนาต่างๆ ซึ่งเขาไม่สนใจประวัติศาสตร์ชุดนี้เท่าไหร่ เป็นเพียงการอ้างอิงรูปแบบของเถรวาทแบบทางการแบบนี้

แต่อำนาจของสถาบันที่จะสังคายนากรอบในจินตนาการแบบนี้มีมากแค่ไหนในอดีต เขามองว่าสถาบันเหล่านี้ในอดีตไม่น่าจะมีอำนาจมากขนาดนั้น เพราะในความจริงมีลักษณะที่กระจายตัวกว่านั้น และรูปแบบของวิถี เช่น พระธุดงค์ ไม่มีใครไปควบคุมได้ เพราะวิถีชีวิตที่เขาเลือกคือสิ่งที่เขาต้องการเลือกเป็นอิสระ ฉะนั้นจินตนาการของศาสนาที่พยายามจะจัดการ (organize) คนอื่น มีอิทธิพลน้อยมาก

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ รัฐชาติสมัยใหม่ ซึ่งทำให้เสรีภาพของสงฆ์ลดลง

ในอดีตพระบางรูปมีคำสอนที่น่าสนใจ เจ้าอาจจะดึงตัวพระที่ธุดงค์ หรือพระในหัวเมืองมาช่วยงานในส่วนกลาง ซึ่งพระเหล่านี้ก็เข้ามามีส่วนกับอำนาจในศูนย์กลางบ้าง แต่น้อยกว่าทุกวันนี้

ขณะที่รูปแบบเถรวาทสมัยนี้ที่มีอำนาจมาก เป็นผลจากการเกิดของรัฐชาติสมัยใหม่ เปลี่ยนจินตนาการอย่างรุนแรงเพราะอำนาจศูนย์กลางมีอิทธิพลมากในการควบคุมและจัดการศาสนา สิ่งที่มีผลมากต่อจินตนาการคือ เรื่องของเสรีภาพ ถูกรัฐเข้ามาควบคุมจัดการโครงสร้างของคณะสงฆ์ พระทุกรูปต้องขึ้นตรงต่อคณะสงฆ์
ในกรณีของการมีพระอุปัชฌาย์ จะต้องได้รับการรับรองจากคณะสงฆ์

แต่จริงๆ ศาสนาพุทธเป็นอะไรที่ควบคุมยาก เพราะพูดเรื่องความไม่มีตัวตน จึงกลายเป็นเรื่องประหลาดมากๆ ที่จะพยายามสร้างอะไรขึ้นมา เพราะว่า หลักของศาสนาพุทธคือการบอกว่าไม่มีตัวตน ศาสนาพุทธนั้นมีความชัดเจนในเรื่องความเป็นอิสระ วางกรอบได้ยาก เป็นศาสนาแบบอเทวนิยม

ที่มาของการสร้างอัตลักษณ์ของศาสนาพุทธในไทย ส่วนหนึ่งมาจากการสร้างรัฐชาติ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิ และอิทธิพลจากความกลัวของภัยภายนอกคือตะวันตกที่เป็นความกลัวร่วมของประเทศแถบนี้ เพราะการเข้ามาของโลกาภิวัตน์นั้นมาพร้อมปืนและศาสนาคริสต์ จึงต้องหาอัตลักษณ์ของชาติที่จะสู้กับภัยภายนอก จึงต้องมีความพยายามในการสร้างอัตลักษณ์ที่มีความกลัวภัยตลอดเวลาเช่น วัตถุนิยม ทุนนิยม คอมมิวนิสต์ ทักษิณ ธรรมกาย เป็นต้น ซึ่งสามารถหาภัยภายนอกได้หมด

คำถามว่า ผู้หญิงเป็นภัยของศาสนาพุทธตั้งแต่เมื่อไหร่
“ผู้หญิงไม่ใช่ภัยของผม แต่จินตนาการของศาสนาแบบเป็นทางการ ที่เคร่งเครียดเคร่งครัดได้ค่อยๆ สร้างภัยจากความกลัวของผู้หญิงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง อารมณ์ความรู้สึก ร่างกาย ความ Chaos ของชีวิต ความพยายามที่จะหาหลักการมา organize ให้เกิดการรวมศูนย์ ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำให้ศาสนานั้นเคร่งเครียดและเคร่งขรึม”

ต่อคำถามว่า ธรรมกายก็สร้างความกลัวภัยภายนอกเหมือนกัน
เขาบอกว่า คนพุทธส่วนหนึ่งกลัวธรรมกายว่าสอนอย่างบิดเบือนคำสอน แต่ตัวธรรมกายเองก็มีความกลัว ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้ต่างไปจากพุทธทางการ มี Mentality แบบพุทธสายอื่น จริงๆ ธรรมกายควรจะเป็นศาสนาประจำชาติด้วยซ้ำไป ไปด้วยกันได้ดีสังคมไทยมาก  ถามว่ามีความเปิดกว้างในเรื่องคำสอนไหม ผมก็คิดว่าไม่มี มีคำสอนเรื่องโลก เสรีนิยม ความหลากหลายทางเพศ เป็นธรรม หรือเท่าเทียมไหม ก็ไม่มี

กรณีของอาจารย์พุทธทาสเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ พุทธทาสเป็นพระบ้านนอก แต่สนใจในศาสนธรรม จนวันหนึ่งก็เข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ ซึ่งเกิดความคิดเปรียบเทียบกับต่างจังหวัดว่าด้วยความที่สังคมสงฆ์ในต่างจังหวัดเป็นชุมชนเล็กๆ ทำให้มีการตรวจสอบกันตลอดเวลา ขณะที่พระในกรุงเทพฯ ผิดศีลกันระนาว แต่ยังสร้างความบริสุทธิ์ให้ตัวเองได้ โดยอ้างธรรมวินัยอย่างเป็นทางการ เป็นการเรียนที่เต็มไปด้วยความแข็ง ตายตัว เรียนแล้วทำให้พระเป็นเจ้า ระบบโครงสร้างนี้ทำให้เกิดความสะเทือนใจและตัดสินใจไม่เรียนและกลับบ้านนอก และไปอยู่วัดร้าง และการตั้งสวนโมกข์ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าอาจารย์พุทธทาสนั้นทำให้เห็นว่ามีจินตนาการบงอย่างเกี่ยวกับเถรวาท คือมีความเรียบง่าย การสร้างสวนโมกข์คือการท้าทายจินตนาการของพุทธศาสนาอย่างเป็นทางการอย่าง Radical มาก คือเน้นความเรียบง่าย ซึ่งสิ่งที่พุทธทาสทำนั้นพระผู้ใหญ่เห็นและเข้าใจ เห็นได้จากการมาเยี่ยมเยียน แต่ในปัจจุบันก็ได้พัฒนาขึ้นไปอีก ความเป็นทางการ  และอำนาจนั้นทำให้เกิดคำถามต่อความเข้าใจของพระสงฆ์ผู้ใหญ่ในรัฐ

สวนโมกข์ที่พุทธทาสพยายามสร้างจินตนาการใหม่ และออกไปอยู่กับความเรียบง่าย พยายาม reform พุทธธรรมในแง่ของวัฒนธรรม แต่กลับอยู่ได้เพียงชั่วรุ่นเดียว ทำให้เห็นว่าคนไม่เข้าใจแก ว่าแกทำอะไร พูดง่ายๆ ว่าแกโดดเดี่ยว แม้แต่ลูกศิษย์แกก็ไม่เข้าใจ ปัจจุบันสวนโมกข์กลายเป็นวัดทั่วๆ ไป มีเจ้าอาวาสที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางการ คนที่อยู่ตามเคานเตอร์ต่างๆ มีเงินเดือน มีกล้องวงจรปิด เป็นสิ่งที่พบได้ตามวัดของประเทศไทย ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่าความเข้าใจเรื่องศาสนาบ้านเรามันรวมศูนย์

ศาสนากลายเป็นการขายของ เราอยากได้สินค้าอะไร ก็ไปเลือกสินค้านั้น เป็นลักษณะของการเลือกแบบฉาบฉวย ปรากฏการณ์ของคนที่ชื่นชมศาสนา หรือพระ เขาอาจจะฆ่ากันได้ แต่เขาต้องการใช้พระ เสพพระในสิ่งที่เขาต้องการ ส่วนที่เขาไม่ต้องการเขาก็ทิ้งไป เช่นเราไปหาพระรูปหนึ่ง พระเขาเตือนเราเราก็อาจจะไม่ฟัง กรณีของสวนโมกข์นั้นประชาชนที่เข้าไปศรัทธาสวนโมกข์ก็อาจจะเลือกตัดพุทธทาสทิ้งไป

คำถามว่า ชาวบ้านจินตนาการเรื่องพระ สิ่งหนึ่งที่เขาจินตนาการคือความหวังที่จะได้เขยิบฐานะ ทำมาสู่การศรัทธาพระที่ให้หวยแม่น
ฟังก์ชั่นพวกนี้ต้องตอบโจทย์พวกนี้ถ้ายังปนเปื้อนอยู่กับโลก แต่ต้องผูกโยงกับโลกกุตระด้วย ไม่ใช่ตัดขาดจากกัน ซึ่งกลับมาสู่ประเด็นเรื่องการมีเสรีภาพ ถ้ามีเสรีภาพ การตั้งคำถามกับปรากฏการณ์เหล่านี้ก็จะเปิดกว้าง และเปิดกว้างสำหรับการตั้งคำถามในมิติอื่นๆ

ปรากฏการณ์ของศาสนาพุทธตอนนี้มันงง และเข้าใจแบบงงๆ ต่างคนต่างหลอกกัน ซึ่งในความสัมพันธ์แบบศิษย์กับครูบาอาจารย์ เราจะทะเลาะกันตลอดเวลา แต่ทุกวันนี้เป็นการสัมพันธ์กันแบบคุณอยากได้อะไรฉันให้คุณหมด ความสัมพันธ์เชิงกัลยาณมิตร ความใกล้ชิด การตักเตือนกันได้ มันหมดไป จนผมก็ไม่รู้ว่าพุทธแบบทางการมันเหลืออะไรที่ควรรักษาไว้บ้าง

คำถามว่า ไตรภูมิพระร่วงมีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อ แต่มันมีฟังก์ชั่นอย่างไร เพราะดูเหมือนมันทำหน้าที่ให้คนยอมรับสถานะของตนเองไม่ต่อสู้ มันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคำสอนทางศาสนาหรือไม่
วิจักขณ์มองว่า ไม่ใช่ เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้คนเกิดจินตนาการไปกับมัน และทำให้เกิดความรู้สึกว่ามันสำคัญ แต่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าไหม มันไม่ใช่ และถ้าถามว่ามันมีการตีความอย่างอื่นไหม มันก็มีแต่ทำไมเรายึดกับไตรภูมิพระร่วง

แต่การสร้างให้ไตรภูมิพระร่างมีความเป็นสถาบันขึ้นมาได้ ก็เพราะมันมาตอบโจทย์เรื่องนี้ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ได้ตอบไว้ อ่านแล้วก็อิน แล้วก็รู้สึกว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์มีกรรม มีอิทธิพลในฟังก์ชั่นนี้ ทำให้ศาสนาพุทธมีความยิ่งใหญ่มี originality

อนาคตของเถรวาทในสังคมไทย
เถรวาทนั้นเป็นพุทธของชนชั้นนำ ที่ต้องหล่อหลอมจินตนาการของคน คนที่ศึกษาพุทธแบบนี้ต้องวิพากษ์วิจารณ์มัน ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นเจ้า

พัฒนาการของพุทธแบบสถาบันมีความพยายามที่จะทำให้มันแข็งตัวมากขึ้น งี่เง่ามากขึ้น แต่พุทธแบบนี้เพิ่งเกิดมาได้เพียงร้อยกว่าปีมานี้เอง อย่างศาสนาคริสต์เองก็มีประวัติศาสตร์มายาวนานและปรับตัว ในอดีต ศาสนาคริสต์ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะ โป๊ปคนปัจจุบันก็มีความ amazing มาก

ขณะที่พุทธของไทยในปัจจุบันนี้น่าสนใจมากเพราะมันไม่มั่นคง เพราะยึดโยงกับสถาบันอื่นๆ ด้วยซึ่งก็ไม่มั่นคงพอกัน ปรากฏการณ์เคลื่อนไหวปกป้องศาสนาพุทธด้วยข้อเสนอร่างพระราชบัญญัติปกป้องพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นก็น่าสนใจ เพราะแสดงว่าความกลัวภัยนั้นเพิ่มขึ้น และกำลังทำให้ศาสนาที่เป็นอเทวนิยมกลายเป็นเทวนิยม

แต่อเทวนิยมนั้นกำลังผันเป็นเทวนิยม เพราะไปดึงอำนาจนอกตัวมาปกป้อง และทำให้อำนาจนั้นเป็นอำนาจที่สูงสุด ดีงามที่สุดแทนที่ศาสนาพุทธจะทำให้คนได้ทำให้ตัวเองบริสุทธิ์ขึ้นกลับกลายเป็นการรับใช้ความดีที่สูงกว่า เช่น ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน หรือในกรณีของพม่า ฆ่าโรฮิงญาไม่บาป หรือฆ่าปลาใส่บาตรพระไม่บาป ทำให้เราอยู่ในวาทกรรมแบบนี้ ทำให้คนรุนแรงมากขึ้น เป็นวัฒนธรรมที่สะสมความรุนแรงมาก พร้อมจะรับใช้ความดีที่สูงกว่า

ถามว่าศาสนาพุทธรับใช้เพื่อนมนุษย์ไหม มันไม่มีมิติที่จะรับใช้คนด้วยกันตรงๆ เลย ทำดีหวังชาติหน้า ทำให้สงสัยว่านี่เป็นพุทธภาษาอะไร ซึ่งเขามองเปรียบเทียบกรณีพุทธที่สุดโต่งในเมียนมาร์ ก็สะท้อนปรากฏการณ์บางอย่างในประเทศแถบนี้ว่ามีลักษณะร่วมของความรู้สึก Postcolonial ที่ยังไปไม่พ้นความรู้สึกนี้

อะไรเป็นความกลัวของพุทธวันนี้
ประการแรก คือ ความกลัวอิสลาม มีความกลัวว่าจะถูกกลืน แม้แต่การตั้งธนาคารอิสลาม และมีความพยายามจะตั้งธนาคารพุทธมาสู้

ประการต่อมา คือความกลัวฮินดู เพราะฮินดูจะใช้วีธีกลืนเทวะของศาสนาอื่นๆ ไม่ปฏิเสธ ยอมรับคนอื่นก่อน และสุดท้ายก็จะสามารถกลืนเข้าด้วยกัน ซึ่งจริงๆ เป็นวิธีเดียวกับพุทธสมัยก่อน ที่พยายามยอมรับคนอื่น แต่ปัจจุบันมีความพยามยามอธิบายและรักษาวิถีพุทธดั้งเดิม ซึ่งส่วนตัวเขาคิดว่าคำว่าสังคายนาในศาสนาพุทธนั้น เขาไม่ค่อยรู้สึกร่วมด้วย การสังคายนาแบบทางการเป็นสิ่งที่ตลกเพราะไม่รู้ว่าพุทธแท้คืออะไร

ประการที่สาม คือ กลัวการแตกนิกาย มีการอ้างประวัติศาสตร์ความเสื่อมของพุทธในอินเดีย ว่าเป็นเพราะพุทธตันตระเข้ามา หรือมีพุทธแบบทิเบตเข้ามา ไม่ได้มีความ critical มากพอที่จะยอมรับ ที่ไปเที่ยวทิเบตกัน ก็ไปดูเขาพูดถึงดาไลลามะ หรือ ติช นัท ฮันห์ แล้วน้ำตาไหล แต่ไม่รู้ว่านั่นเขาเป็นสายมหายาน ที่มีการเผชิญรูปแบบชีวิต สัญญะที่ละเอียดมากขึ้น เราไม่ตีความในแง่นั้น ทำให้เราเสียโอกาสในการเรียนรู้จากคนอื่นมาก ทำให้เรา ignorance มากขึ้น

ความกลัวอื่นๆ ก็เช่น กลัวผู้หญิง เชื่อว่าถ้าอนุญาตให้ผู้หญิงมาบวช ศาสนาจะเสื่อมภายใน 500 ปี เป็นต้น

สุดท้ายถ้าเราก้าวข้ามมายาคติเหล่านี้ไปได้เราไม่ต้องเป็นพุทธก็ได้ ถ้าเราเป็นคนปฏิบัติจริง ถ้าเราเริ่มเรียนอย่างปัจเจกก็จะเริ่มเข้าใจว่าอดีตเขาเรียนกันอย่างไร มหายานปนกับเถรวาท พุทธปนผี ปนไสยศาสตร์ ปะปนกันไปหมด

 

หมายเหตุ การเสวนานี้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาบันทึกวิดีโอการเสวนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net