ทหารกับความตายของผู้ชุมนุม เม.ย.-พ.ค.2553

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

แม้ว่าในช่วงที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ได้มีความคืบหน้าในกระบวนการคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตในการสลายการชุมนุมช่วง เม.ย.-พ.ค. 2553 จนอัยการได้สั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรี  และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในข้อหาร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา แต่กลับไม่ปรากฏความพยายามใดๆ ที่จะโยงใยไปถึงบทบาทของผู้นำทหารที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการสลายการชุมนุม

อีกทั้งเพียงสามเดือนหลังรัฐประหาร ในวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ  ด้วยเหตุผลว่าไม่มีอำนาจพิจารณาคดี แต่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่ และอำนาจในการพิจารณาคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง[1]

กระนั้นก็ตาม เรามักได้เห็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นถึงความวิตกกังวลของกองทัพต่อบทบาทของตนเองในเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ไม่น้อย กล่าวคือ แม้ว่าจะมีหลักฐานชัดเจนว่าในการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง มีการระดมกำลังทหารถึง 67,000 นาย ใช้กระสุนจริงไปกว่า 110,000 นัด และกระสุนสไนเปอร์อีกกว่า 2,000 นัด และผู้นำกองทัพก็ไม่เคยปฏิเสธว่าตัวเลขดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่ประการใด[2] แต่เราก็มักได้ยินการปฏิเสธแบบขอไปทีว่า ทหารไม่เคยใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุม[3]

ในเดือนธันวาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า

"คนที่ยิงคนในวัดปทุมวนาราม เรามีหลักฐานโยงถึงคนยิงทุกคน และตอนนั้นตำรวจก็อยู่ในวัดปทุมฯ ทำไมถึงไม่ออกมาปฏิบัติหน้าที่ ป้องกันเหตุร้าย และที่มีการถ่ายรูปทหารได้ ก็เป็นเพราะทหารคนนั้นไปยืนแอ๊คให้เขาถ่ายรูปเอง ผมทราบดีว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง กลุ่มใด หนังสือพิมพ์รับเงินจากใคร ให้มาเขียนด่าผม"[4]

ก่อนหน้ารัฐประหาร ในระหว่างการไต่สวนการตายโดยศาล เมื่อมีรายงานข่าวว่าพยานให้การที่ชี้ว่าการเสียชีวิตของทั้ง 6 คนเป็นผลจากการยิงของทหาร พลเอกประยุทธ์ แสดงความหงุดหงิด  และกล่าวว่าต้องการให้การพิจารณาคดีกระทำเป็นการลับ และยืนยันว่าจะปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชาของตนเอง[5]

ล่าสุด เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “ทหารปฏิรูปประเทศไทย” ระบุว่า “คนที่ฆ่าอาสาสมัครพยาบาล ไม่ใช่ทหาร แต่เป็นชายชุดดำ ที่ยิงสู้กับทหาร และยิงอาสาสมัครพยาบาล เพื่อใส่ความทหาร” พร้อมรูปประกอบวิถีกระสุนของทหารและชายชุดดำที่แสดงว่าวิถีกระสุนที่เข้าสู่ร่างกายของผู้ตายจากล่างสู่บน ชี้ว่าเป็นฝีมือของชายชุดดำ

ฉะนั้น ศปช.จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอข้อมูลบางคดีจากผลการไต่สวนการตาย 12 คดี (17 ศพ) โดยศาลอาญา (หากไม่มีรัฐประหาร ตัวเลขการไต่สวนการตายจะไม่หยุดเพียงเท่านั้น) เพื่อให้ประชาชนได้เปรียบเทียบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น 

 

6 ศพวัดปทุมวนาราม

กรณีที่สะเทือนใจผู้ชุมนุมและประชาชนที่ยึดมั่นในสิทธิมนุษยชนมากที่สุด และดูจะสร้างความกังวลให้กับกองทัพมากที่สุดด้วยคือ การเสียชีวิตของประชาชน 6 คนในเขต “อภัยทาน” ของวัดปทุมวนารามในช่วงบ่ายแก่ๆของวันที่ 19 พ.ค. ในจำนวนนี้ 2 คนเป็นพยาบาลอาสา 1 คนเป็นอาสากู้ชีพ

ทันทีหลังเหตุการณ์นี้ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ศอฉ. และกองทัพ อ้างว่ามีชายชุดดำซุ่มโจมตีทหารอยู่ในภายในวัด พบอาวุธและกระสุนมากมายในวัด อย่างไรก็ดี กรณี 6 ศพวัดปทุมเป็นคดีที่มีพยานหลักฐานที่แน่นหนามากที่สุดก็ว่าได้ ทั้งจากคำให้การของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จำนวนมาก ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ ฉะนั้น ผลการไต่สวนการตายเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ศาลจึงได้วินิจฉัยว่า[6]

  • กระสุนปืนยิงมาจากทหารที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ตามคำสั่งของ ศอฉ.
     
  • หลักฐานชี้ว่าผู้ตายทั้ง 6 คนไม่มีคราบเขม่าดินปืนที่มือทั้งสองข้าง แสดงว่าไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืนมาก่อนการเสียชีวิต
     
  • ในขณะที่ฝ่ายทหารอ้างว่ามีชายชุดดำ 4 คนยิงใส่ทหารในบริเวณที่เกิดเหตุ แต่ศาลได้พิเคราะห์ว่าไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ ด้วยเหตุผลว่าขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน และบริเวณดังกล่าวมีผู้สื่อข่าวทั้งชาวไทยและต่างประเทศอยู่เป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่ปรากฏภาพถ่ายของชายชุดดำมาแสดงแม้แต่ภาพเดียว ทั้งไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารได้รับบาดเจ็บหรือถึงแก่ความตายจากการยิงต่อสู้
     
  • จากการให้ปากคำของนายทหารอีกสองนายหนึ่งที่ประจำอยู่ชั้นล่างของสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมฯ ก็กล่าวว่า ตนไม่ได้รู้สึกว่าตกอยู่ในอันตราย จึงไม่ได้ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงใส่ผู้ชุมนุมในวัด
     
  • ศาลเห็นว่าการยึดอาวุธในวัดปทุมวนารามหลังเกิดเหตุ ไม่น่าเชื่อว่ามีการตรวจยึดอาวุธจริง เพราะหลังจากการตรวจยึดอาวุธของกล่าว กลับไม่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดได้ส่งอาวุธของกลางไปส่งพิสูจน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจหารอยนิ้วมือหรือดีเอ็นเอต่อไป อีกทั้งการตรวจยึดอาวุธก็ไม่ได้กระทำทันทีหลังเกิดเหตุวันที่ 19 พ.ค.
     
  • กรณีน.ส.กมนเกด อัคฮาด และนายอัครเดช ขันแก้ว สองอาสาพยาบาลที่เสียชีวิต แม้แพทย์ผู้ผ่าพิสูจน์ได้ลงความเห็นว่า บาดแผลในร่าง น.ส.กมนเกด มาจากทิศทางล่างขึ้นบน หลังไปหน้า และบาดแผลในร่างนายอัครเดช ไม่สามารถระบุถึงทิศทางกระสุนปืนได้ เนื่องจากทางเข้าของกระสุนรวมถึงตำแหน่งพบตะกั่วในร่างกายสั้นมากก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากภาพถ่าย จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ในขณะที่ทั้งสองคนถูกยิงนั้น กำลังคุกเข่าก้มลงกับพื้นโดยหันหน้าเข้าไปในวัด จึงเป็นเหตุให้ดูเสมือนหนึ่งว่าทิศทางวิถีกระสุนที่ยิงมายังผู้ตายทั้งสองนั้น ยิงมาจากล่างขึ้นบน  และหลังไปหน้า

ฉะนั้น หลักฐานนี้จึงหักล้างข้อมูลของเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “ทหารปฏิรูปประเทศไทย” ได้เป็นอย่างดี ว่าวิถีกระสุนในร่างของอาสาพยาบาลนั้น ไม่ได้มาจากชายชุดดำที่แอบซ่อนอยู่ภายในวัด แต่มาจากทหารบนรางรถไฟฟ้า

พยานและหลักฐานที่หนักแน่นของกรณี 6 ศพวัดปทุม จึงทำให้ประชาชนกังขาต่อการจับกุม น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา "แหวน" พยาบาลอาสา ผู้เป็นพยานปากสำคัญในกรณีนี้ ว่ามีความเกี่ยวข้องกับความพยายามของกองทัพที่จะ “ชำระล้าง” บันทึกเลือดนี้หรือไม่

สำหรับผลการไต่สวนการตายในกรณีอื่นๆ โปรดดูตารางต่อไปนี้

 

ตารางแสดงคำวินิจฉัยของศาลในการไต่สวนการตายของพลเรือนระหว่างวันที่ 10 เม.ย.-19 พ.ค.2553

ชื่อ-นามสกุล

สถานที่/เวลา

สถานะคดี

1.     นายพัน คำกอง

ราชปรารภ / 15-05-2010 เวลา 00.05 น.

ศาลออกคำสั่งแล้ว 17-09-2012 คำสั่งออกว่าเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามคำสั่ง

2.    นายชาญณรงค์  พลศรีลา

ราชปรารภ / 15-05-2010 เวลา 15.00 น.

ศาลออกคำสั่งแล้ว 26-11-2012 คำสั่งออกว่าเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามคำสั่ง

3.     นายชาติชาย ชาเหลา

กฤษณามาร์เก็ตติ้ง พระราม 4 / 13-05-2010

ศาลออกคำสั่งแล้ว 17-12-2012 คำสั่งออกว่าเสียชีวิตโดยวิถีกระสุนมาจากแนวด่านตรวจแข็งแรงของเจ้าพนักงานที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่บนถนนพระราม 4

4.     ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ

ราชปรารภ / 15-05-2010 เวลา 00.05 น.

ศาลออกคำสั่งแล้ว 20-12-2012 คำสั่งออกว่าเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามคำสั่ง

5.     6 ศพ วัดปทุมฯได้แก่ นายรพ สุขสถิตย์, นายมงคล เข็มทอง, นายสุวัน ศรีรักษา, นายอัฐชัย ชุมจันทร์, น.ส.กมนเกด อัคฮาด, นายอัครเดช ขันแก้ว

วัดปทุมฯ / 19-05-2010

คำสั่งออกวันที่ 06-08-2013 ศาลสั่งว่า ถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม.ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหารและบริเวณถนนพระรามที่ 1

6.     นายฟาบิโอ โปเลงกี

ราชดำริ / 19-05-2010

ออกคำสั่งแล้ว 29-05-2013 คำสั่งออกว่าเสียชีวิตจากกระสุนที่มาจากฝั่งเจ้าหน้าที่แต่ไม่ทราบว่าใครทำให้ตาย

7.     ร้อยตรีณรงค์ฤทธิ์ สาละ(อช.4/2555)

ดอนเมือง / 28-04-2010

ออกคำสั่งแล้ว 30-04-2013 คำสั่งออกว่าเสียชีวิตจากกระสุนของเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่

8.     นายนรินทร์ ศรีชมพู

ถนนราชดำริ / 19-05-2010 เวลา 11.10 น.

ออกคำสั่งแล้วเมื่อ 25-04-2014 กระสุนปืนมาจากทางด้านเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่แต่ไม่ทราบว่าใครยิง

9.     นายถวิล คำมูล

ถนนราชดำริ / 19-05-2010 เวลา 10.00 น.

ออกคำสั่งแล้ว 29-11-2013 กระสุนปืนมาจากทางด้านเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่แต่ไม่ทราบว่าใครยิง

10.  ชายไม่ทราบชื่อ กางเกงลายพราง(อช.5/2556)

ถนนราชดำริ / 19-05-2010 เวลา 10.00 น.

ออกคำสั่งแล้ว 17-02-2014 ถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูง ขณะเจ้าหน้าที่กำลังเคลื่อนกำลัง แต่ไม่ทราบว่าใครยิง

11.  นายจรูญ ฉายแม้น, นายสยาม วัฒนนุกูล(ช. 13/2555)

สตรีวิท ดินสอ / 10-04-2010

ออกคำสั่ง 30-09-2013 นายจรูญ ถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงที่ทรวงอกทำลายปอดและตับ ส่วนนายสยาม ถูกยิงด้วยกระสุนปืนที่ด้านหลังทะลุทรวงอกทำลายหลอดเลือดแดงใหญ่ช่องอก และเสียโลหิตมาก  ซึ่งวิถีกระสุนปืนยิงมาจากฝ่ายเจ้าพนักงานที่ถอยร่นจากแนวป้องกันบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยาไปที่บริเวณซอยข้างวัดบวรนิเวศใกล้แยกสะพานวันชาติโดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

12.  นายเกรียงไกร คำน้อย

มัฆวาน ถนนราชดำเนินนอก / 10-04-2010 บ่าย

ออกคำสั่ง 04-07-2014 เสียเลือดมากจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงซึ่งมีวิถีกระสุนมาจากเจ้าหน้าที่ทหารในการปฎิบัติหน้าที่ขอคืนพื้นที่

 



[1] “ศาลยกฟ้องคดีอภิสิทธิ์-สุเทพ สั่งสลายม็อบ ชี้อำนาจศาลฎีกาฯนักการเมือง”, ASTVผู้จัดการ, 28 สิงหาคม 2557, http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9570000098460

[2] “'ตัวเลขเป๊ะๆ หลุดมาได้อย่างไร’ เสียงบ่นจากพล.อ.ดาว์พงษ์ กรณียอดเบิกจ่ายกระสุนพฤษภามหาโหด”, มติชน, 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1301039135&grpid=no&catid&subcatid

[3] “ทหารยืนยันไม่ใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุมปี 53.” Voice TV, 4 July 2012 http://news.voicetv.co.th/thailand/43692.html

[5]“Prayuth wants temple testimony kept secret”, Bangkok Post, 23 June 2012, www.bangkokpost.com/news/local/299303/prayuth-wants-temple-testimony-kept-secret

[6] “เปิดคำสั่งศาลโดยย่อ ทำไม 6 ศพวัดปทุม เสียชีวิตจากทหาร”, ประชาไท, 7 สิงหาคม 2556, http://www.prachatai.com/journal/2013/08/48057

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท