มาฆบูชา ถึงวาระประชุมสงฆ์แห่งชาติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

 

ถึงเวลาที่สงฆ์ทั่วประเทศจะหันกลับมาทบทวนธรรมวินัยในตนเองแล้ว โดยอาศัยวาระสำคัญคือวัน “มาฆบูชา” ที่จะทำให้อารมณ์ศาสนา (สำนวนอาจารย์นิธิ) หวนกลับคืนมาสู่ความเป็นจริงอย่างแท้จริง ไม่ใช่ปล่อยให้วันมาฆบูชาเป็นเพียง “เทศกาล” เชิญชวนให้คนทำบุญ แท้จริงแล้วเป็น “กิจสงฆ์ล้วนๆ “ ไม่ได้เกี่ยวกับประชาชนแต่อย่างใด โดยสาระสำคัญที่สุดคือ พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทหลัก ๆ ไว้สำหรับพระสงฆ์ทั้งหมด (ในขณะนั้น) จำนวน 1,250 องค์ เพื่อให้ได้ทบทวนตนเองให้จงหนักและทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์เสียก่อน นี่คือวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของวันมาฆบูชามิใช่หรือ?

คงไม่ต้องเสียเวลาเล่าท้องเรื่องที่เกิดขึ้นในวันมาฆบูชาว่าคืออะไร มีใครมาประชุม จำนวนกี่องค์ แต่เพื่อต้องการสะท้อนบทบาทของพระสงฆ์ในพ.ศ.นี้ว่าหากจะระลึกถึงวาระนั้น นัยที่แท้จริงในทางปฏิบัติควรทำอย่างไรมากกว่า  มันไม่ใช่ปาฏิหาริย์ของจำนวนคนที่มาร่วมประชุม แต่แท้จริงมันคือ “ปาฏิหาริย์แห่งธรรม” (อนุสานีปาฏิหาริย์) คือการทำให้คำสอนที่พระพุทธองค์ที่ได้ทรงประทานไว้นั้นมาปฏิบัติกันจริงจัง และผลก็จะเกิดตามอย่างแน่นอน  เพราะสาระที่แท้จริงคือการ “เข้าถึงธรรม” จึงจะ “เข้าถึงความจริง”  แต่หลายคนอาจตั้งคำถามว่า แล้ววันนี้จะถือเป็น “บุญใหญ่” ได้หรือไม่ โดยถือโอกาสไปทำบุญ  ถวายทานกันอย่างเต็มที่ เกิดการเชิญชวนเข้าวัด ที่จริงก็ดีกว่าเข้าวิก เข้าบ่อน นั่นเป็นสิ่งที่ “ทำได้” แต่ก็ต้องบอกตนเองว่าที่ทำนั้นเป็นเพียง “ความสบายใจ” ชั่วคราว หรือ เป็นการแสวงหา “ความพ้นทุกข์” ที่ถาวร ซึ่งต้องถามตนเอง เราต้องการตอบคำถามแค่ไหน ก็จะได้คำตอบแค่นั้น เพียงแต่พุทธศาสนิกชนเองก็พึงสะท้อนถึงสาระที่แท้จริงด้วย เพราะวันเวลา และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ เป็นวาระแห่งสงฆ์ต่างหากครับ

สาระหลักในโอวาทปาฏิโมกข์ พระพุทธองค์ได้ทรงประทานไว้ก็เพื่อให้ที่ประชุมสงฆ์ทั้งมวลให้ยึดเป็นหลักการ รวมถึงเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา หลักการใหญ่สำคัญ ที่ชาวพุทธมักถือว่าเป็น “หัวใจของพระพุทธศาสนา” ได้แก่

1) สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง หมายถึง การไม่กระทำความชั่วทั้งปวง ปาฏิหาริย์คำสอนนี้คือ ความชั่วเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำให้คนกระทำร่มเย็นเป็นสุข สิ่งที่ควรทำคือ “การละเว้น” ต่างหาก 

2) กุสะลัสสูปะสัมปะทา  หมายถึง การทำความดีที่สมบูรณ์ ในขณะที่ชาวพุทธละเว้นที่จะไม่ทำความชั่ว ได้แล้ว ก็ไม่พึงหยุดไว้เท่านั้น แต่ควรเพิ่มด้วยการกระทำที่ดีต่อผู้อื่นด้วย

3) สะจิตตะปะริโยทะปะนัง หมายถึง การชำระจิตใจให้บริสุทธิ์สะอาด ซึ่งภารกิจนี้เป็นส่วนบุคคล คือการให้เวลาการทำสมาธิภาวนา หรือการทำใจให้เป็น “มโนสุจริต” ตั้งจิตในทางที่ชอบ ไม่คิดเบียดเบียนรังแกผู้อื่นในทางที่ทุจริต ซึ่งจะส่งผลให้จิตบริสุทธิ์สะอาดได้อีกแนวทางหนึ่ง

แต่การที่ผู้เขียนได้จูงประเด็นว่า “มาฆบูชา” ถึงวาระประชุมสงฆ์แห่งชาติ เนื่องด้วยช่วงจังหวะเวลานี้มีเหตุอันเนื่องด้วยพระสงฆ์ และพระศาสนาอยู่ไม่หยุดหย่อน ที่สำคัญมีการเรียกร้องหา “แก่นธรรมวินัย” ดังขึ้น ๆ แล้วใครล่ะจะเป็นผู้เปิดเผย ชี้แจง แสดงให้ประจักษ์ ก็โดยพระสงฆ์ผู้ดำเนินตามรอยพระพุทธองค์มิใช้หรือ ควรถึงเวลาที่ประมุขสงฆ์จะเชิญชวนพระสงฆ์ทั่วสงฆมณฑลไทยได้มาพร้อมเพรียงกัน ณ พุทธมณฑล เพื่อแสดงหลักการ หลักธรรม วิธีการการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และการดำรงตนที่เหมาะสมสำหรับพระสงฆ์ด้วยกันเองนี่แหละ ไม่ใช่การรวมพลญาติโยมเพื่อทำบุญ แต่ถึงเวลาที่ต้องรวมพลังสงฆ์ (ไม่ใช่ขัดหรือแย้งกับประกาศคสช.) เพื่อประกาศพระศาสนาตามหลักการในโอวาทปาฏิโมกข์ต่างหาก

อาจไม่ต้องกล่าวอ้างว่าแต่ละวัดต้องมีกิจกรรมที่ทำอยู่แล้ว เพราะเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เวลานี้คำว่า “วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา” คืออะไร?  คือสถานการณ์ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่มีผู้ก่อรูปให้เป็น “การปฏิรูป” ก่อนที่ฝ่ายรัฐจะปฏิรูปสงฆ์ สงฆ์ก็สามารถปฏิรูปตนเองก่อน เพราะโดยนัยของคำว่าปฏิรูปในพระพุทธศาสนานั้น หมายถึงการทำให้เหมาะ ให้ควรจากสิ่งที่เป็นอยู่ซึ่งอาจไม่อยู่ในภาวะเหมาะควรบางอย่างบางประการ และโดยพระธรรมวินัย ไม่ใช่โดยกฎหมายบังคับ

พระสงฆ์ในฐานะเป็นพระชั้นปกครองตั้งแต่ เจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาสก็ควรเห็นพ้องเป็นฉันทามติที่จะมาร่วมกันแสดงถึงทิศทาง แนวทางในการประกาศพระศาสนาและการดำรงตนตามหลักโอวาทปาฏิโมกข์ รวมพระสงฆ์โดยพร้อมเพรียง (สมัครใจ) ให้ได้มากที่สุด หากจะมีข้อแม้บ้าง เช่น เจ้าอาวาสต้องอยู่จัดกิจกรรมในวันมาฆบูชาที่วัด  ก็อาจปรับเปลี่ยนให้รองเจ้าอาวาสเป็นผู้กระทำหน้าที่แทนได้  พระสงฆ์เจ้าอาวาส หรือในฐานะพระปกครองซึ่งมีจำนวนหลักแสน หากดำเนินการได้นี่เป็นโอกาสที่เหมาะที่สุดและตรงกับแนวทางเดิมตามที่ปรากฏการณ์ในวันมาฆบูชา  ไม่ต้องกังวลว่าจะจัด จะประดับประดาวัดอย่างไร กิจที่ชาวบ้านจะทำก็ให้ดำเนินไป เช่น ไหว้พระ 9 วัด 10 วัดอะไรก็ว่าไป แต่บทบาทของสงฆ์ในวาระนี้ต้องเป็น “วาระสงฆ์แห่งชาติ” หรืออาจอาศัยฐานของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งก่อนซึ่งมีจำนวนพระนิสิต นักศึกษาจำนวนเรือนหมื่นแล้ว และเพราะพระสงฆ์เหล่านี้เป็นฐานสำคัญในการประกาศพระศาสนาในปัจจุบันและอนาคตอยู่แล้ว   หากจะบอกว่าเหลือเวลาวันสองวันจะรวมพลอย่างไร คงตัดปัญหาดังกล่าวไปเลย เพราะในยุคเทคโนโลยี การออกสื่อเพียงครั้งเดียวก็ทั่วถึงทั้งโลกแล้ว พร้อมกันนี้ก็อาจให้สมัชชาสงฆ์ในต่างประเทศร่วมประชุมทางไกลได้ด้วย

สาเหตุที่ผู้เขียนเสนอแนวทางนี้เนื่องมาจากความปรารถนาดีว่าสงฆ์จะต้องแกร่งด้วยสงฆ์ก่อน ส่วนทางโลกหรือรัฐที่สงฆ์เป็นห่วงกังวลว่าจะมาครอบงำนำทางนั้นถือว่าเป็นเรื่องรอง (แต่ตอนนี้กลายเป็นเรื่องหลัก)  ฝ่ายศาสนจักรนั้นเป็นอิสระด้วยธรรมและวินัยอยู่แล้ว กฎหมายฝ่ายโลกเป็นสิ่งที่เกิดทีหลัง เป็นกระบวนการจัด หรือทำให้สังคมอยู่ร่วมกันด้วยกติกา แม้ว่าสงฆ์จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ยอมรับกติกา  แต่สิ่งที่สงฆ์ประพฤติปฏิบัติอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ฝ่ายโลกก็ต้องให้ความสำคัญก่อนกฎหมาย เพียงแต่ปัจจุบัน มีเพียงสงฆ์บางรูปเท่านั้นที่มองข้ามกระบวนการตามธรรมวินัย มุ่งอาศัยแต่กฎหมายฝ่ายโลกที่จะจัด หรือทำกับสงฆ์ด้วยกันเอง  เมื่อเป็นดังนี้ ก็ควรถึงเวลาที่สงฆ์จะถือเป็นกิจหลักร่วมกัน เพื่อแสดงทิศทางในการเผยแผ่ การประพฤติปฏิบัติ และการอยู่ร่วมกับสังคมอยู่เข้าใจกันและกัน ไม่ใช่ต่างรูปต่างเผยแผ่ และต่างรูปต่างปฏิบัติไม่ว่าจะขัดหรือไม่ขัดต่อธรรมวินัยหรือไม่ก็ตาม นี่แหละครับ ฝ่ายสงฆ์น่าจะอาศัย “วันมาฆบูชา เป็นวาระประชุมสงฆ์แห่งชาติ”
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท