Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อวันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวอวยพรวันตรุษจีนว่า "ซินเจียยู้อี่ ซินนี้ฮวดไช้" และได้หันไปทางผู้สื่อข่าวโดยถามว่า "ใครเป็นจีนมั่งนะ จีนทุกคนละใช่ไหม จะคล้ำหน่อยก็จีน เดินทางมาจากเทือกเขาอัลไตไม่ใช่หรือ" พร้อมเตือนคนไทยอย่าเป็นไก่ตรุษจีน จิกตีกันอยู่ในเข่ง

เมื่อนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรัฐประหาร อธิบายว่า ทั้งคนไทยและคนจีนต่างก็เดินทางมาจากเทือกเขาอัลไตด้วยกัน จึงกลายเป็นประเด็นทางประวัติศาสตร์ เพราะแนวคิดเรื่องถิ่นเดิมของคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต เป็น”ประวัติศาสตร์ปลอม” หรือมายาคติอันสำคัญเรื่องหนึ่ง ที่เป็นผลิตผลมาจากสมัยชาตินิยม และยังคงสร้างเชื่อให้กับนักเรียนรุ่นของ พล.อ.ประยุทธ์สืบมาจนปัจจุบัน ทั้งที่มายาคตินี้ถูกวิจารณ์ และไม่ได้เป็นที่เชื่อถืออีกต่อไป นับตั้งแต่นักเรียนรุ่น พ.ศ.2521 เป็นอย่างน้อย

ที่มาของแนวคิดเรื่องถิ่นกำเนิดของคนไทย เริ่มเกิดเมื่อชนชั้นนำไทยรับเอาแนวคิดทางประวัติศาสตร์แบบตะวันตก ซึ่งจะนำมาสู่ความสนใจใคร่รู้ในอดีตความเป็นมาของตนเอง แต่ในพระราชพงศาวดารส่วนมาก มักจะเริ่มต้นราชอาณาจักรไทยราวสมัยของการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.1893 หรือจะเก่าขึ้นไปกว่านั้นก็ไม่มากนัก ต่อมา การนำเอาหลักฐานจากการอ่านศิลาจารึกเข้ามาเพิ่มเติม ก็ทำให้การอธิบายที่มาของประเทศสยามย้อนหลังไปได้ถึงการก่อตั้งกรุงสุโขทัย พ.ศ.1800 แต่กระนั้น ในความรู้สึกของนักชาตินิยม จุดเริ่มต้นนี้ยังไม่เก่าเพียงพอ ความต้องการที่จะให้ชนชาติไทยมีประวัติความเป็นมาอันเก่าแก่จึงกลายเป็นแรงจูงใจทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง

ด้วยการพัฒนาของความรู้สังคมวิทยาแบบเชื้อชาติ ได้มีการอธิบายกันว่า ชนชาติไทยนั้นเป็นเผ่ามองโกลอยด์ ดังนั้น จึงนำมาสู่การตั้งสมมตฐานที่ว่า กลุ่มมองโกลอยด์ทั้งหลายน่าจะมีถิ่นกำเนิดในบริเวณเดียวกัน ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างคำอธิบายเรื่องนี้ คือ หมอสอนศาสนาชื่อ วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ (William Clifton Dodd) ชาวอเมริกัน หมอดอดด์ เกิดที่ไอโอวา เมื่อ พ.ศ.2400 ได้เข้าเป็นหมอสอนศาสนาในนิกายเปรสไบธีเรียน และเดินทางมายังล้านนาใน พ.ศ.2429 มาตั้งศูนย์เผยแพร่ศาสนาที่เชียงใหม่ และขยายไปยังลำปาง แล้วไปประจำที่เชียงราย ต่อมา ได้พยายายขยายสาขาไปยังเชียงตุง และเชียงรุ้ง เขาถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.2462 ขณะที่อยู่ที่เมืองเชียงรุ้ง

ระหว่างที่อยู่ที่ล้านนา หมอดอดด์ได้เดินทางขึ้นไปเผยแพร่ศาสนาและสำรวจในอาณาบริเวณ แคว้นฉาน สิบสองปันนา ยูนนาน กวางสี กวางตุ้ง และตังเกี๋ย และได้พบคนไทกระจายอยู่หลายแห่งจึงมีความสนใจอย่างมาก ในที่สุด เขาก็เขียนหนังสือเรื่อง The Tai Race - The Elder Brother of the Chinese (2452) ด้วยความเชื่อที่ว่า ชนชาติไทมีความเก่าแก่กว่าชนชาติจีนและฮิบรู แต่เดิมคนไทถูกเรียกว่า “ต้ามุง” หรือ “อ้ายลาว” เป็นเจ้าของถิ่นเดิมในจีน ก่อนที่จะถูกจีนโจมตีจนต้องถอยร่นลงมาทางใต้จนเข้าสู่คาบสมุทรอินโดจีน ดังนั้น ชนชาติไทจึงถือว่าเป็น “พี่อ้าย”ของชนชาติจีน และด้วยการที่ชนชาติไทเป็นเชื้อสายมองโกล ถิ่นเดิมของชนชาติไทน่าจะอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไตในมองโกเลีย

หนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลมาก เพราะได้ช่วยตอบคำถามถึงที่มาอันเก่าแก่ของชนชาติไท-ไทย ดังนั้น ขุนวิจิตรมาตรา(สง่า กาญจนานาคนันท์) ได้นำเอาข้อมูลนี้มาเขียนในหนังสือชื่อ หลักไทย พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2471 อธิบายว่า ที่มาของชนชาติไทยอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไตในเอเชียกลาง หนังสือเล่มนี้ได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านชาวไทยอย่างมาก สำหรับหนังสือของหมอดอดด์เอง ต่อมา หลวงนิเพทย์นิติสรรค์(ฮวดหลี หุตะโกวิท) แปลเป็นภาษาไทยใช้ชื่อว่า ชนชาติไทย” พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2474 และ หลวงวิจิตรวาทการก็นำมาเขียนเล่าใหม่ในหนังสือเรื่อง งานค้นคว้าเรื่องชนชาติไทย (2504)

แนวคิดที่ว่า ชนชาติไทยมีกำเนิดจากเทือกเขาอัลไต ได้รับการอธิบายให้ชัดเจนขึ้นโดย ประภาศิริ(หลวงโกษากรณ์วิจารณ์) ในหนังสือ วิเคราะห์เรื่องเมืองไทยเดิม (2478) โดยประภาศิริอธิบายความหมายของคำ”อัลไต”ว่า อัล หมายถึง อะเลอ เป็นภาษาไทยโบราณแปลว่าแผ่นดิน ไต ก็คือ ไท เทือกเขาอัลไตจึงแปลว่า เป็นแผ่นดินของคนไท

คำอธิบายเรื่องที่มาของไทยว่ามาจากเทือกเขาอัลไตมีพลัง เพราะตอบคำถามเรื่องความเก่าแก่ของชนชาติไทยได้ดีที่สุด และยังไปเชื่อมโยงกับคำอธิบายว่า อาณาจักรน่านเจ้าในจีนตอนใต้เป็นอาณาจักรไทยก่อนสุโขทัย ดังนั้น ความรู้ทั้งชุดนี้จึงถูกบรรจุเข้าไปในตำราของกระทรวงศึกษาธิการ ให้เด็กนักเรียนได้เรียนเพื่อความภูมิใจในความเป็นไทย และยิ่งสมัยที่ชนชันนำรู้สึกว่าไทยถูกคุกคาม กรมวิชาการได้นำหนังสือ ชนชาติไทย ฉบับของหลวงนิเพทย์นิติสรรค์มาใช้เป็นแบบเรียนเมื่อ พ.ศ.2520

แต่ปัญหาสำคัญของแนวการอธิบายเรื่องนี้ คือ หลักฐานอ่อนมาก จึงได้เริ่มมีนักวิชาการตั้งคำถามในเชิงข้อเท็จจริงกับการอธิบายนี้ อย่างน้อยที่สุด ก็ตั้งแต่ พ.ศ.2509 ในบทความเรื่อง “ปัญหาก่อนประวัติศาสตร์ไทย” ของ เฟรเดอริก โมต ที่ตีพิมพ์ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ (2509) ก็ได้แสดงความเห็นแย้งด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น วัฒนธรรมของชาวมองโกลในเอเชียกลางเป็นวัฒนธรรมเลี้ยงสัตว์และขี่ม้า ขณะที่ชนชาติไท มีวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำ และไม่มีร่องรอยทั้งภาษาและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับม้าเลย หลักฐานที่ยืนยันว่า มีการอพยพคนขนาดใหญ่จากเหนือลงใต้ของประเทศจีนก็ไม่เคยมีเลย และน่านเจ้าก็เป็นอาณาจักรของชนชาติหลอหลอและมีภาษาเป็นกลุ่มธิเบต-พม่า ไม่ใช่ชนชาติไทย คำว่า “อัลไต” ก็แปลว่า “ทอง” ในภาษาถูจื่อ ซึ่งเป็นชนชาติเติร์ก ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับชนชาติไท

ปัญหาเรื่องที่มาของชนชาติไทยนี้ ต่อมากลายเป็นประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญเรื่องหนึ่งที่มีการถกเถียงกันหลังกรณี 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ต่อมา กาญจนี ละอองศรี ได้นำมารวบรวมและเขียนเป็นบทความชื่อ “ถิ่นกำเนิดของชนชาติไทย : พรมแดนแห่งความรู้” ลงในวารสารธรรมศาสตร์ (2524) จึงทำให้ข้อคัดค้านเรื่องความเป็นมาของชนชาติไทยจากเทือกเขาอัลไตเป็นที่ชัดเจนขึ้น ดังนั้น กรมวิชาการจึงได้ปรับเนื้อหาการเรียนการสอน เป็นลักษณะว่า ความเชื่อที่ว่าชนชาติไทยมาจากเทือกเขาอัลไตนั้นเป็นเพียงทฤษฎีหนึ่ง แต่ต่อมาก็ได้มีการลดน้ำหนักการอธิบายเช่นนี้ลง นักเรียนที่เรียนประวัติศาสตร์ในรุ่นหลังจึงไม่มีใครจะมาอธิบายอีกแล้วว่า คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต

ดังนั้นเมื่อมีผู้กล่าวถึงเรื่องเทือกเขาอัลไตในลักษณะเช่นนี้ อาจจะประเมินได้ว่า คนพูดคงจะแทบไม่ได้อ่านหนังสือความรู้ทางสังคมอย่างใดเลย อย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ.2524 เป็นต้นมา ซึ่งก็สะท้อนลักษณะของชนชั้นนำไทยจำนวนมากที่อ่านหนังสือน้อย และไม่มีความรู้ทางสังคมหรือประวัติศาสตร์ แต่กระนั้น สำนักข่าวเอเอสทีวี ก็พยายามรายงานเรื่องนี้ว่า นายกรัฐมนตรีแค่ “เล่นมุก” คือ พูดล้อเล่น มิใช่ว่าจะมีความหมายเช่นนั้นจริง

แต่ไม่ว่าจะมามุกไหน ก็เป็นการสะท้อนว่า คณะรัฐประหารน่าจะทำโครงการ “ส่งเสริมการอ่าน”ในหมู่ชนชั้นนำไทยเสียบ้าง จะได้มีความรู้เทียบเท่ากับประชาชนทั่วไป

 


เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้ วันสุข ฉบับ 504 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net