Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ในช่วงเวลานี้ผู้เขียนได้ร่วมเวทีการสมัชชาใหญ่ของเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน “เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์” ซึ่งเป็นองค์กรชาวบ้านที่อยู่ในจังหวัดขอนแก่น และเป็นหนึ่งในเครือข่ายสมาชิกของเครือข่ายสลัม 4 ภาค   ในเวทีสมัชชาใหญ่นี้เองเป็นเวทีที่ต้องมาสรุปกิจกรรมที่ผ่านมาตลอดปีของเครือข่ายเอง   พร้อมทั้งมาร่วมวางแผนการทำงานในปีถัดไป   เครือข่ายฟื้นฟูฯเองมีความพิเศษตรงที่ชุมชนสมาชิกของเครือข่ายเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งหมดจำนวน 16 ชุมชน ดังนี้


รายชื่อชุมชนสมาชิกเครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์รายชื่อชุมชนสมาชิกเครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์

จากสถานการณ์ที่มีความต้องการพัฒนาประเทศในปัจจุบันนี้เองทำให้เครือข่ายฟื้นฟูฯจำเป็นต้องระดมสมองกันอย่างเข้มข้น   เนื่องจากการพัฒนาในด้านระบบคมนาคมระบบรางกำลังเป็นที่จับตาและเป้าหมายแรกๆที่รัฐบาลจะดำเนินการก่อน ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วง จิระ – ขอนแก่น หรือ โครงการก่อสร้างทางรถไฟรางมาตรฐาน (ความเร็วสูงเดิม) จาก กรุงเทพฯ – หนองคาย ทั้ง 2 โครงการนี้เองเป็นเหคุผลที่ชาวเครือข่ายฟื้นฟูฯจำเป็นต้องมาร่วมออกแรงทั้งทางความคิด และพละกำลังกาย

หากจะย้อนเวลากลับไป เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ ได้ร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค ในการผลักดันการปฏิรูปที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยมาเป็นที่อยู่อาศัยของคนจนได้สำเร็จ   จากที่คณะกรรมการรถไฟฯได้มีมติในวันที่ 13 กันยายน 2543 ซึ่งมีเนื้อหาถึงพื้นที่การรถไฟฯที่ปล่อยทิ้งร้างไม่ได้ทำประโยชน์ใดๆสามารถนำมาให้คนจนเช่าราคาถูกเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยให้พ้นจากความเป็นชุมชนแออัด หรือสลัมได้   โดยเครือข่ายฟื้นฟูฯ ก็ได้นำมติดังกล่าวมาขับเคลื่อนจนสามารถนำพาสมาชิกชุมชนในจังหวัดขอนแก่นและที่ไม่ใช่สมาชิกบางส่วน รวม 15 สัญญาเช่าแปลงที่ มีชาวบ้านได้รับประโยชน์กว่า 500 ครอบครัว  โดยการเช่าที่ดินชาวชุมชนจะเช่าในพื้นที่ที่วัดจากกึ่งกลางรางออกมา 20 เมตร ซึ่งเว้นไว้สำหรับการพัฒนาในอนาคต  ถัดจากพื้นที่ดังกล่าวก็จะพัฒนาที่อยู่อาศัยตามนโยบายโครงการบ้านมั่นคง  อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นพลเมืองชั้นสองอีกต่อไป

ชุมชนหลักเมืองกำลังพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยเช่าที่ดินรถไฟชุมชนหลักเมืองกำลังพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยเช่าที่ดินรถไฟ

แต่สถานการณ์การพัฒนาระบบรางในปัจจุบันนี้เองที่ทำให้ชาวเครือข่ายฟื้นฟูฯต้องกลับมาอกสั่นขวัญหายกันอีกครั้ง เพราะมีข่าวจากทางการรถไฟฯถึงการใช้พื้นที่ในการก่อสร้างทั้ง 2 โครงการว่า อาจจะต้องใช้เนื้อที่ที่วัดออกจากกึ่งกลางรางไปข้างละ 40 เมตร รวม 2 ข้างเป็น 80 เมตร  ส่งผลให้ชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ตามสองข้างทางต้องได้รับผลกระทบทั้งหมดไม่ว่าจะได้เช่าที่ดิน หรือยังไม่ได้เช่าแล้วก็ตาม

ที่ผ่านมาเครือข่ายฟื้นฟูฯและเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้เจรจาถึงแนวทางการแก้ปัญหาโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ จิระ – ขอนแก่น ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในรัฐบาลที่แล้ว  ซึ่งได้ข้อยุติเป็นที่พอใจทั้งสองฝ่ายคือ ชาวบ้านสามารถอาศัยอยู่ในที่ดินเดิมในระยะที่ห่างออกมาจากกึ่งกลางราง 20 เมตร ได้ หากมีบ้านเรือนที่ล้ำไปในเขต 20 เมตรแรกก็จะทำการรื้อขยับปรับเข้ามาอยู่ในเขต 20 เมตรหลัง ทำให้การก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ จิระ – ขอนแก่น สามารถดำเนินการไปต่อได้  โดยรูปแบบการก่อสร้างที่จะมีการยกระดับรางขึ้นในช่วงที่เข้าตัวเมืองขอนแก่น  ต้องใช้งบประมาณการก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากเดิมที่จะสร้างในรูปแบบเลียบบนดินตามรางเดิมไปอีก 2,000 ล้านบาท นับว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ถือว่าเยอะเกินไปหากจะต้องมีการขับไล่ชาวบ้านให้ไปอยู่ที่ใหม่ที่ไกลออกไปจากตัวเมืองกว่า 2,000 ครอบครัว ถ้าหากต้องดูจากด้านต่างๆที่ชาวบ้านต้องสูญเสียไป และรัฐต้องอุดหนุนช่วยเหลือทดแทนด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การหาที่ดินแห่งใหม่ , ระบบคมนาคมในพื้นที่แห่งใหม่ , การสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ หรือการลงทุนระบบสาธารณูปโภคในที่ดินแห่งใหม่ด้วยนั้น อีกทั้งยังต้องมีการก่อสร้างเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาจุดตัดระหว่างถนนกับรางรถไฟหลายจุดอีกด้วย ยังไม่รวมผลที่จะเกิดตามมาของชาวบ้านที่จะต้อง หางานใหม่ , หาที่เรียนให้ลูกใหม่ , ต้องเปลี่ยนวิถีความเป็นอยู่ใหม่ หากดูผลกระทบที่ตามมาเหล่านี้ จำนวนเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นมาจากการก่อสร้างที่จะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนเดิมนั้นจึงถือว่ารัฐบาลคุ้มมากนัก

สิ่งที่ตรงกันเครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ และเครือข่ายสลัม 4 ภาค ไม่ได้มีเจตจำนงที่จะขัดขวางการพัฒนาของประเทศ หรือจังหวัดขอนแก่น แต่อย่างใด   เพราะที่ผ่านมาการรับผิดชอบต่อผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐส่วนมากคนจนที่เป็นผู้เสียสละให้กับคนกลุ่มต่างๆ  กลับไม่เคยได้รับการเหลียวแลมาก่อน  จะดูได้จากงบประมาณโครงการการก่อสร้างขนาดใหญ่ในหลายโครงการส่วนใหญ่จะไม่มีงบประมาณในด้านที่ช่วยเหลือ ทดแทน ให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ หรือถ้ามีก็ไม่เคยที่จะจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอต่อการช่วยเหลือ

แต่นั้นก็เป็นหนึ่งในโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในจังหวัดขอนแก่นเพราะโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่จะก่อสร้างด้านฝั่งขวามือเท่านั้น (หันหน้าไปทางหนองคาย) ส่วนฝั่งซ้ายยังคงสงวนไว้สำหรับการก่อสร้างรถไฟรางมาตรฐานซึ่งรูปแบบการก่อสร้างยังไม่มีข้อยุติว่าจะใช้พื้นที่การก่อสร้างขนาดไหน นี่คือจุดเริ่มต้นอีกครั้งที่ชาวเครือข่ายฟื้นฟูฯจะต้องระดมสมองในการหาแนวทางการแก้ปัญหากันอีกครั้ง

โครงการก่อสร้างทางรถไฟขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตร ซึ่งจะนำรถไฟความเร็วระหว่าง ๑๖๐-๑๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือกึ่งความเร็วสูง (Medium-Speed Rail) มาใช้วิ่งในเส้นทางดังกล่าว ส่วนอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงสามารถนำรถไฟความเร็วสูง (High-Speed Rail) ที่มีความเร็วกว่า 250 กิโลเมตรมาวิ่งในรางรถไฟได้เช่นกัน

ในช่วงรัฐบาลก่อนหน้านี้เคยเสนอรูปแบบการก่อสร้างไว้เป็นโมเดลเดิม  ซึ่งมีการคัดค้านในหลายภาคส่วน  ในหลายความเห็นที่ยังไม่พร้อมจะดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นความเห็นของศาลระหว่างการสืบคดีการขอกู้งบประมาณในการก่อสร้างที่ว่า ควรจะดำเนินการพัฒนาระบบคมนาคมด้านอื่นให้ดีเสียก่อนแล้วค่อยมาสร้างระบบความเร็วสูงนี้  หรือกลุ่มองค์กรภาคประชาชนกลุ่มต่างๆที่สะท้อนถึงความไม่คุ้มในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในช่วงนั้น


แผนที่ตั้งชุมชนในเมืองขอนแก่นแผนที่ตั้งชุมชนในเมืองขอนแก่น


โครงการก่อสร้างรถไฟรางมาตรฐานในครั้งนี้ จึงจะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่ารัฐมีความใส่ใจต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ในช่วงเวลาที่กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ( สนข.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการศึกษาการก่อสร้างโครงการนี้  การสร้างการมีส่วนร่วมในทุกส่วน โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบยิ่งควรจะต้องเปิดโอกาสให้เขาเหล่านั้นได้มีพื้นที่ในการแสดงความเห็น และเสนอแนวทางเลือกอื่นๆด้วย

แต่ที่ผ่านมาบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯที่ได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลราว 200 ล้านบาท ที่จะต้องสร้างกระบวนการเหล่านี้กลับไม่ทำให้เกิดความมีส่วนร่วมจากทุกส่วน จะเห็นได้จากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในจังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา การสื่อสารบอกกล่าวถึงการจัดเวทีประชาชนในจังหวัดขอนแก่นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบกลับไม่ได้รับการติดต่อให้ร่วมเวทีแต่อย่างใด เครือข่ายฟื้นฟูฯหลังจากที่ได้ทราบข่าวการจัดเวทีดังกล่าวก่อนล่วงหน้า 1 วัน จึงเร่งรีบประสานผู้แทนชุมชนต่างๆไปเข้าร่วมเวทีนั้นเพื่อแสดงจุดยืนในการหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน ฉะนั้นความจริงใจที่จะเปิดโอกาสรับฟังความเห็นอย่างเป็นกลาง และเป็นธรรม ควรจะเริ่มต้นตั้งแต่ในช่วงที่ศึกษา   ไม่เช่นนั้นแล้วความเข้าใจที่ไม่ตรงกันอาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินการก่อสร้างก็เป็นได้

การพัฒนาที่มีความจริงใจและโปร่งใส  พร้อมที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมจะได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี   หากแต่การพัฒนาโครงการใดๆที่ไม่มีความจริงใจและไม่โปร่งใสก็ย่อมที่จะเห็นประชาชนออกมาสร้างเวทีแสดงความเห็นของตนเอง   นี่คืออีกหนึ่งบททดสอบความจริงใจของรัฐที่มีความรับผิดชอบมากน้อยเพียงใดกับประชาชน 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net