เมื่อ 'ตัวลามะ' กลายเป็นความหวังใหม่ของนักวิจัยยารักษาโรคเอดส์

เร็วๆ นี้นักวิทยาศาสตร์พบลามะมีความสามารถทนทานต่อเชื้อเอชไอวีได้ เนื่องจากลักษณะของสารภูมิต้านทานในตัวมันสามารถต่อต้านเชื้อได้มากกว่า 95% ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่ามนุษย์ เปิดทางสู่ความเป็นไปได้ใหม่ในการค้นคว้าวิจัยวัคซีน-รักษาโรคเอดส์

26 ก.พ. 2558 สัตว์หน้าตาทะเล้นอย่างลามะที่อยู่ในแถบอเมริกาใต้ฝั่งตะวันตกกลายเป็นความหวังใหม่ของนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามค้นคว้าวัคซีนต้านไวรัสเอชไอวีและช่วยเหลือในการป้องกันหรือรักษาโรคเอดส์ เนื่องจากเมื่อไม่นานมานี้มีการค้นพบว่าตัวลามะมีความสามารถในการต้านทานเชื้อเอชไอวีได้

ทีมนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) วิทยาลัยการแพทย์ฮาร์วาร์ด และศูนย์ไวรัสวิทยาสัตว์ของอาร์เจนตินา ร่วมกันศึกษาพบว่าเมื่อลามะตัวหนึ่งได้รับเชื้อเอชไอวีเข้าไปแล้วมันสามารถสร้างสารภูมิต้านทาน (antibody) ที่สามารถยับยั้งไวรัสสายพันธุ์เอชไอวีได้มากกว่าร้อยละ 95 โดยมีการเผยแพร่งานวิจัยผ่านวารสาร PLOS ตั้งแต่เมื่อเดือน ธ.ค. 2557

จากงานวิจัยดังกล่าวทำให้เห็นว่าลามะมีความสามารถในการต้านทานเชื้อได้ดีกว่าคน ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์สงสัยมานานว่าเหตุใดสารภูมิต้านทานในตัวคนถึงไม่สามารถยับยั้งเชื้อเอชไอวีได้ดีในระดับนี้ จนกระทั่งในงานวิจัยล่าสุดมีการตรวจสอบเลือดของลามะ 3 ตัวหลังมีการให้เชื้อเอชไอวีก็พบว่าสารภูมิต้านทานของลามะมีความแตกต่างจากของคนตรงที่มีลักษณะเป็นโปรตีนห่วงโซ่เดี่ยว (Single chain of proteins) ทำให้ตั้งเป้าหมายต่อต้านไวรัสได้แม่นยำ ต่างจากสารภูมิต้านทานของคนที่มีทั้งห่วงโซ่สายสั้นและห่วงโซ่สายยาวที่ระดมกำจัดไวรัสแปลกปลอมทั้งหมดโดยไม่เน้นความแม่นยำเท่าทำให้ไม่สามารถกำจัดไวรัสเอชไอวีได้ดีเท่า

นอกจากลามะแล้ว สัตว์ในตระกูลใกล้เคียงกันอย่างอัลปากาก็มีความสามารถต่อต้านไวรัสคล้ายๆ กัน โดยมีแพทย์ในเปรูกำลังทดลองการป้องกันหรือรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีด้วยการใข้สารภูมิต้านทานของอัลปากา

อย่างไรก็ตาม ทีมทดลองเรื่องเชื้อเอชไอวีกับลามะกล่าวว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการค้นพบความหวังในการสร้างวัคซีนต้านเอชไอวีหรือการรักษาโรคเอดส์ และกระบวนการทดลองยังอยู่ในระดับสถานปฏิบัติการเท่านั้นพวกเขายังต้องค้นคว้าต่อไปอีกมากในเรื่องนี้ แต่ก็ถือเป็นการเปิดทางสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ซึ่งในตอนนี้มีอยู่ 5 สถานศึกษาในเปรูที่กำลังค้นคว้าเกี่ยวกับการต้านทานโรคของอัลปากาและลามะ

ในแง่ความเป็นห่วงว่าสัตว์ที่นำมาทดลองจะได้รับอันตรายหรือไม่ ผู้วิจัยก็รับรองว่าลามะที่นำมาทดลองถูกฉีดไวรัสเข้าไปในจำนวนที่ไม่มากพอจะทำให้พวกมันเป็นโรคได้

เรียบเรียงจาก

Scientists hope an AIDS vaccine lies in llamas, Globalpost, 23-02-2015
http://www.globalpost.com/dispatch/news/health/150222/aids-hiv-llamas-vaccine

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท