Skip to main content
sharethis

รัฐบาลกัมพูชาเผยเกาหลีใต้จะเพิ่มโควต้าจำนวนแรงงานชาวกัมพูชาที่ได้รับใบอนุญาตให้เข้าทำงานในภาคการผลิต การก่อสร้าง และการเกษตรของประเทศขึ้น 2 เท่า ก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้วแอมเนสตี้ได้ออกมาระบุว่าแรงงานต่างชาติในภาคเกษตรของเกาหลีใต้โดนละเมิดสิทธิหนัก
 

 


เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2015 ที่ผ่านมา The Cambodia Daily รายงานว่าเจ้าหน้าที่กัมพูชาอ้างคำกล่าวของทูตเกาหลีใต้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ได้ตัดสินใจที่จะเพิ่มโควตาแรงงานขึ้น 2 เท่า โดยการให้ข่าวของเจ้าหน้าที่กัมพูชาเกิดขึ้นหลังจากการหารือระหว่างเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำกัมพูชาที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่ และนายเฮง สัมริน ประธานรัฐสภากัมพูชา เมื่อวันจันทร์ (16 ก.พ.) ที่ผ่านมา ส่วนเจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตเกาหลีใต้ในกรุงพนมเปญระบุว่าแม้จำนวนโควตาในขั้นสุดท้ายจะยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่คาดว่าเกาหลีใต้จะรับแรงงานกัมพูชาเข้าไปทำงานในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน  

โดยเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ยังระบุอีกว่าจำนวนใบอนุญาตที่จะมอบให้นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ปัจจุบันมีแรงงานชาวกัมพูชามากกว่า 35,000 คน ทำงานอยู่ในเกาหลีใต้ ซึ่งส่งเงินกลับประเทศราว 200 ล้านดอลลาร์ต่อปี โดยในปี 2014 เกาหลีใต้กำหนดโควตาอนุญาตแรงงานชาวกัมพูชาเข้าทำงานในประเทศที่ 4,600 คน ตามการระบุของเจ้าหน้าที่สถานทูตเกาหลีใต้
       
ปัญหากดขี่แรงงานต่างชาติในภาคเกษตร

ทั้งนี้เมื่อเดือนตุลาคม 2014 ที่ผ่านมาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยรายงานการละเมิดสิทธิแรงงานในเกาหลีใต้ ซึ่งอ้างอิงการสัมภาษณ์และข้อมูลจากแรงงานต่างต่างชาติในเกาหลีใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกัมพูชา เวียดนาม และเนปาล โดยระบุว่าแรงงานต่างชาติในภาคเกษตรกรรมประมาณ 20,000 คน จากแรงงานต่างชาติทั้งหมด 250,000 คนในเกาหลีใต้เป็นกลุ่มที่ถูกนายจ้างกดขี่มากที่สุด โดยในรายงานระบุว่า แรงงานต่างชาติถูกละเมิดสิทธิด้วยการข่มขู่ ความรุนแรง และชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป รวมถึงการให้แรงงานอยู่ในที่พักสกปรกไม่ได้มาตรฐาน  โดยแรงงานต่างชาติเหล่านี้ทำสัญญาจ้างงานภายใต้ระบบใบอนุญาตการทำงานของรัฐบาลหลีใต้ (Employment Permit System - EPS) ซึ่งรายงานของแอมเนสตี้วิพากษ์วิจารณ์ว่าเอื้อประโยชน์ให้กับนายจ้างมากเกินไปและทำให้แรงงานเสียเปรียบโดยไม่มีการคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเพียงพอ

ภายใต้ระบบดังกล่าวนายจ้างสามารถไล่แรงงานออกได้ตามอำเภอใจ แต่แรงงานซึ่งส่วนใหญ่มาจากกัมพูชา เวียดนาม และเนปาลจะสามารถเปลี่ยนงานได้ก็ต่อเมื่อนายจ้างปัจจุบันลงนามในใบอนุญาตให้เท่านั้น แต่เนื่องจากแรงงานเหล่านี้มีหนี้สินก้อนโตจากการกู้เงินจำนวนมากเพื่อเดินทางมาทำงานที่เกาหลีใต้ ทำให้พวกเขาไม่ต้องการตกงานและไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมได้หากถูกเอารัดเอาเปรียบ นอกจากนี้ หน่วยงานของเกาหลีใต้ยังไม่ให้ความร่วมมือกับแรงงานที่มาขอความช่วยเหลือด้วย ทั้งนี้ องค์การนิรโทษกรรมสากลเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้รับรองสิทธิพื้นฐานของแรงงานเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานและวันหยุด รวมถึงอนุญาตให้พวกเขาเปลี่ยนงานได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตจากนายจ้าง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net