ไม่น่ารอด 'บวรศักดิ์' ยันควบรวม 'กรรมการสิทธิ-ผู้ตรวจการแผ่นดิน'

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยคณะกรรมาธิการมีมติควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยใช้ชื่อ "ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน" พร้อมยืนยันไม่ได้ลดทอนอำนาจของสององค์กร
 
30 ม.ค. 2558 เว็บไซต์วิทยุรัฐสภารายงานว่านายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีมติควบรวม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยใช้ชื่อว่า "ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน" เนื่องจากทั้งสององค์กรมีลักษณะงานที่คล้ายคลึงกัน และเพื่อเป็นการยกระดับสององค์กรให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงสุด ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์และคุ้มครองประชาชน ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิหรือกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบราชการหรือการเมือง รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนไปร้องทุกข์ได้ในที่เดียวแบบวันสต็อปเซอร์วิส
 
ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังยืนยันด้วยว่า การควบรวมดังกล่าวไม่ได้มีการลดทอนอำนาจของสององค์กร แต่ยังคงอำนาจของแต่ละองค์กรไว้ตามเดิม โดยไม่กระทบต่อบุคคลากรทั้งสองหน่วยงาน และจะมีการยกระดับกฎหมายขององค์กร ให้เป็น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน จะมีจำนวน 11คน  แบ่งงานเป็น 11 ด้าน ตามความเหมาะสมเรื่องสิทธิเสรีภาพและความต้องการของประชาชนเป็นหลัก
 
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2558 การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา เป็นการพิจารณาหมวดว่าด้วยการใช้อำนาจรัฐ เรื่องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยปรับจำนวนของคณะกรรมการ จากที่กำหนดไว้ 10 คน เป็น 9 คน รวมตำแหน่งประธานกรรมการ มีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี ได้เพียงวาระเดียวและต้องไม่เคยเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช.มาก่อน ซึ่งไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีประสบการณ์ในด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทั้งนี้ ยังกำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจลงมติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พ้นจากตำแหน่งด้วยคะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เมื่อมี ส.ส.หรือประชาชนเข้าชื่อร้องขอ และหากมีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เรื่องการกระทำผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ฐานทุจริตต่อหน้าที่ ร่ำรวยผิดปกติ ห้ามไม่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างที่ศาลรับคำร้องไว้จนกว่าจะมีคำพิพากษา นอกจากนี้ กำหนดเพิ่มอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช. ในการไต่สวน จากเดิมไต่สวนเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้สามารถไต่สวนและวินิจฉัยกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และตัวการ ผู้ใช้และผู้สนับสนุนการกระทำความผิดในกรณีร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ด้วย
 
ขณะเรื่องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กำหนดให้มี จำนวน 7 คน วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี มีสัดส่วนของชายหญิงที่เหมาะสม และใช้องค์ประกอบของกรรมการสรรหาเช่นเดียวกับคณะกรรมการสรรหา กกต. อย่างไรก็ตาม มีกรรมาธิการบางส่วนเสนอให้ปรับองค์ประกอบการสรรหาให้ต่างจากการสรรหา กกต. โดยจะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เป็นที่ยอมรับ และมาจากการแนะนำของรัฐสภาเช่นเดิม ซึ่งภายในวันนี้กรรมาธิการจะพิจารณาหมวดว่าด้วยการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้แล้วเสร็จทั้งหมด
 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2558 พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กมธ. ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราเสร็จแล้วทั้งสิ้นจำนวน 120 มาตรา และพิจารณาต่อในภาค 3 นิติธรรม ศาล และองค์กรการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในหมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยได้มีการกำหนดเพิ่มให้กรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ใช้อำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของตน พร้อมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องของคู่สมรส และบุตร ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือองค์กรตรวจสอบอื่น พร้อมทั้งให้เปิดเผยต่อสาธารณชนโดยเร็ว จากเดิมกฎหมายบัญญัติให้แค่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา ( ส.ว.) ข้าราชการการเมืองอื่น ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินเท่านั้น นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเพิ่มบทบัญญัติเรื่องการกระทำที่เป็นการขัดแห่งผลประโยชน์ โดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องไม่กำหนดนโยบายหรือเสนอกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเอง และผู้มีส่วนได้เสีย รวมไปถึงไม่นำความสัมพันธ์ส่วนตัวมาประกอบการใช้ดุลยพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลนั้นๆ ด้วย
 
พลเอกเลิศรัตน์ กล่าวอีกว่า กมธ.ยังได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต้องไม่ดำรงตำแหน่งใดในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งที่เกี่ยวกับการบริหารส่วนท้องถิ่น รวมถึงต้องไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่มุ่งหาผลกำไร ตลอดจนจะต้องไม่แทรกแซงหรือก้าวก่าย หรือเข้ามาเป็นคู่สัญญากับรัฐในโครงการสัมปทานอันมีลักษณะเป็นผูกขาดตัดตอนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท